คุณสมบัติของผู้วิจารณ์ นาฏศิลป์

Lesson: หลักการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดงละคร

  • Overview
  • Exercise Files

About Lesson

รูปแบบของการแสดง เป็นการวิเคราะห์รูปแบบการแสดงว่าเป็นแบบมาตรฐานหรือแบบพื้นบ้าน ซึ่งการแสดงจะมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ระบำ รำ ฟ้อน โขน และละคร

ความเป็นเอกภาพ การแสดงในชุดหนึ่งๆ ผู้แสดงจะต้องมีความเป็นอันหนึ่ง-อันเดียวกัน เช่น ผู้แสดงละครรำทุกคนต้องมีลีลาในการร่ายรำให้ถูกต้องและสอดคล้องกับละครแต่ละประเภท เป็นต้น ความเป็นเอกภาพ หมายความว่า การแสดงแต่ละชุดต้องมีลีลา ท่ารำเหมือนกัน เช่น

๑.ระบำกวาง ผู้แสดงต้องเลียนแบบลีลาท่าทางของกวาง

๒.ระบำม้า ผู้แสดงต้องเลียนแบบลีลาท่าทางของม้า

๓.การแสดงละครรำ ผู้แสดงทุกคนต้องมีลีลาท่ารำเหมือนกันตามแบบจารีตของละครแต่ละชนิด เช่น ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ละครดึกดำบรรพ์ เป็นต้น

การร่ายรำและองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ความถูกต้องตามแบบแผนของท่ารำ แม่ท่า ลีลาท่าเชื่อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ท่ารำ ความสามารถในการรำ ลักษณะพิเศษในท่วงท่าลีลา และเทคนิคเฉพาะตัวของผู้รำ เช่น การวิเคราะห์ละครใน เรื่อง “อุณรุท”

      โครงเรื่อง หมายถึง โครงสร้างของละครทั้งเรื่อง การวิจารณ์โครงเรื่อง มีดังนี้

  • เหตุการณ์ต่างๆ ในละครชัดเจนหรือไม่
  • สิ่งใดที่ทำให้เรื่องมีความน่าสนใจมากที่สุด เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร เป็นต้น
  • การจบเรื่องเหมาะสมหรือไม่

       แนวความคิดที่เป็นแก่นของเรื่อง มีข้อที่ควรพิจารณาเพื่อใช้ในการวิจารณ์ ดังนี้

  • ดูแล้วได้ประสบการณ์ แนวคิด ปรัชญาใดบ้าง มีโอกาสเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้หรือไม่
  • บทเจรจาของตัวละคร มีคติ คำคมที่น่าจดจำบ้างหรือไม่
  • เนื้อเรื่อง ฉาก ตัวละครมีความสอดคล้องเหมาะสมกันหรือไม่

ตัวละคร วิเคราะห์ด้านบทบาทของตัวละครและการสร้างตัวละคร โดยการวิจารณ์ตัวละครมีข้อที่ควรพิจารณา ดังนี้

  • การสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละคร มีชีวิต จิตใจคล้ายมนุษย์จริงหรือไม่ (ละครประเภทสมจริง ตัวละครจะมีบุคลิกลักษณะที่เหมือนมนุษย์ปกติ)
  • ตัวละครสามารถดึงดูดให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตามได้มากน้อยเพียงใด
  • ตัวละครแสดงได้สมบทบาทเพียงใด ตีบทแตกหรือไม่

ทัศนองค์ประกอบต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับตัวละคร ช่วยสร้างบรรยากาศได้อย่างเหมาะสม สร้างอารมณ์ที่สอดคล้อง เช่น ฉาก เครื่องแต่งกาย แสง สี เป็นต้น ข้อที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อใช้ในการวิจารณ์ มีดังนี้

  • ทัศนองค์ประกอบต่างๆ นั้น ล้วนสอดคล้องกับตัวละคร ดังนั้น จึงต้องพิจารณาดูว่าทัศนองค์ประกอบต่างๆ ช่วยสร้างอารมณ์ และสร้างบรรยากาศได้สมเหตุสมผลหรือไม่
  • ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก ช่วยสร้างบรรยากาศให้ละครดูสมจริงได้หรือไม่
  • เครื่องแต่งกาย ฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม ประเพณี ยุคสมัยตามเนื้อเรื่องหรือไม่

Exercise Files

No Attachment Found

               การวิจารณ์และการวิเคราะห์การแสดง เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการแสดงให้ดีขึ้น  ในการวิเคราะห์  วิจารณ์การแสดงนั้น ผู้ที่วิเคราะห์ วิจารณ์งานศิลปะจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์  มีความคิด มีเหตุผลที่ดีในการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดง

             หลักและวิธีการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ มีดังนี้

     ๑. ผู้วิจารณ์ควรมีพื้นฐานทางนาฏศิลป์

         ผู้วิจารณ์สามารถพิจารณาได้ว่า การแสดงมีความถูกต้องหรือไม่ เช่น เรื่องของท่ารำที่ใช้สื่อความหมายว่าสอดคล้องกับบทร้องและทำนองเพลงหรือไม่

     ๒. ผู้วิจารณ์มีความสามารถด้านการแต่งกาย

       ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้เรื่องการแต่งกายประกอบการแสดงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้แสดงแต่งกายได้ถูกต้องและเหมาะสมกับการแสดงหรือไม่

    ๓. ผู้วิจารณ์มีความสามารถทางด้านดนตรีประกอบการแสดง

       ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับดนตรี บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง สามารถวิเคราะห์และวิจารณ์ได้ว่าดนตรีหรือบทเพลงมีความถูกต้อง  เหมาะสมกับการแสดงหรือไม่

    ๔. ผู้วิจารณ์ทราบเนื้อเรื่องที่ใช้แสดงเป็นอย่างดี

       ผู้วิจารณ์ควรศึกษาเนื้อเรื่องโดยสังเขปก่อนชมการแสดงเพื่อที่จะทำให้เข้าใจการแสดงและสามารถวิเคราะห์ และวิจารณ์ได้ถูกต้อง

       นอกจากหลักและวิธีการวิเคราะห์ วิจารณ์การแสดงนาฏศิลป์ดังกล่าวแล้ว  ผู้วิจารณ์ควรคำนึงสถานที่ ที่ใช้ในการประกอบการแสดงว่าเหมาะสมหรือไม่ และที่สำคัญผู้วิจารณ์ควรมีความเป็นธรรมในการวิจารณ์ไม่ลำเอียงหรือวิจารณ์ด้วยเหตุผลส่วนตัว  หรือฟังจากบุคคลต่างๆ เพราะจะทำให้การวิจารณ์ไม่เที่ยงตรง

คำถามท้าทาย 

 การวิจารณ์การแสดงโดยใช้ถ้อยคำรุนแรง จะส่งผลต่อการแสดงอย่างไร