นอนไม่หลับ คิด แต่เรื่องงาน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่ต้องปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานไปจากเดิม เช่น การทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือการทำงานที่บ้าน สลับกับการไปทำงานที่ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้หลาย ๆ คนต้องเจอกับความเครียดเรื่องงาน เช่น ปัญหาเรื่องการปรับตัวในการทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ทัน หรือทำงานเกินเวลา ซึ่งส่งผลให้หลายคนเกิดความเครียดสะสม และนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพร่างกายและสภาพจิตใจได้ 

Show

นอนไม่หลับ คิด แต่เรื่องงาน

เครียดเรื่องงาน เกิดจากอะไร?

ความเครียด คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีความรู้สึกไม่สบายใจ กังวลใจ หรือกดดัน ซึ่งส่งผลต่อสภาพ ร่างกายและจิตใจ โดยความเครียดอาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความเครียดจากงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อสมองเกิดความเครียดขึ้น ร่างกายจะตอบสนองโดยการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” ขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการตื่นตัว พร้อมรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ได้ทันท่วงที แต่หากผลิตฮอร์โมนดังกล่าวมากจนเกินไป จะส่งผลเสียตามมาเช่นกัน ซึ่งความเครียดเรื่องงานเป็นความเครียดที่มีผลอย่างมากต่อสภาวะอารมณ์และจิตใจ รวมไปถึง มีผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง โดยเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ  ดังนี้

• รับผิดชอบงานปริมาณมาก

การรับผิดชอบงานปริมาณมากสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การที่เราไม่เข้าใจในตัวงาน หรือ การที่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานมอบหมายงานให้เรามากจนเกินไป ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้าและอาจเกิดการสะสมปริมาณงานที่ทำไม่เสร็จหรือทำไม่ได้มากขึ้น ส่งผลให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความเครียดเรื่องงานตามมาได้

• บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี

เมื่อต้องเจอกับลักษณะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้องปรับตัวในการทำงาน หรือต้องรับผิดชอบกับงานปริมาณมากขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญของเนื้องานไม่ถูก เช่น ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดตามมา จนอาจต้องทำงานเกินเวลา รวมไปถึง เกิดความเครียดเรื่องงาน

• สภาพแวดล้อมในการทำงาน

สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานอย่างมาก เพราะนอกจากสภาพแวดล้อมในการทำงานจะแสดงถึงภาพลักษณ์ของบริษัทแล้ว ยังสะท้อนถึงความเป็นอยู่ในองค์กรอีกด้วย เช่น บรรยากาศในออฟฟิศที่วางโต๊ะทำงานติด ๆ กัน หรือการให้พื้นที่ของพนักงานแต่ละคนอย่างจำกัด เป็นต้น  ซึ่งหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและทำให้เกิดปัญหาความเครียดเรื่องงานได้

• ถูกคาดหวังจากคนอื่น

ในการทำงาน การถูกคาดหวังจากเพื่อนร่วมงานหรือผู้อื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอาจเกิดจากเราที่สามารถรับผิดชอบในหน้าที่การงานนั้นได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้คนอื่นมองว่าเราสามารถพึ่งพาได้ และคาดหวังว่าจะสามารถทำงานที่มอบหมายให้ลุล่วงได้เช่นกัน เช่น เพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ หรือหัวหน้างานมอบหมายงานให้เรารับผิดชอบเพิ่มเติม เป็นต้น 

ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจจะไม่จำเป็นต้องสามารถจัดการกับงานดังกล่าวได้เพียงคนเดียวก็ได้ ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ได้ส่งผลร้าย ก่อให้เกิดความผิดพลาดและความเครียดตามมาได้

• เกิดจากตนเอง

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากว่าความเครียดเรื่องงานมีสาเหตุที่เกิดจากตัวของเราเอง เพราะในการทำงาน อาจมีสาเหตุหรือปัจจัยต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาด้านสุขภาพหรือปัญหาด้านจิตใจที่ส่งผลต่อการทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับปริมาณงานที่เยอะ และถูกคาดหวังจากผู้อื่นมากเกินไป จึงอาจทำให้เกิดความเครียดเรื่องงานตามมา

นอนไม่หลับ คิด แต่เรื่องงาน

อาการที่ส่งสัญญาณว่าคุณกำลังเครียดเรื่องงานมากเกินไป

ในทางกลับกัน เมื่อเราเครียดเรื่องงานมากเกินไป ร่างกายก็จะส่งสัญญาณเตือนให้ตัวเราได้รับรู้เช่นกัน โดยเฉพาะกับวัยทำงานที่ต้องรับมือกับความเครียดเรื่องงานและเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต จึงทำให้เกิดอาการเครียดสะสมขึ้นในจิตใจ ซึ่งจะมีอาการแบบไหนบ้าง ไปดูกัน

• ไม่มีสมาธิ

เมื่อเกิดความเครียดเรื่องงานซึ่งเกิดจากปัญหาปริมาณงานที่เยอะจนเกินไป  ไม่สามารถที่จะบริหารหรือจัดการได้ อาจส่งผลต่อการขาดสมาธิได้ เช่น สมองของเราไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ และเมื่อทำงาน ทำให้ตัวงานไม่มีความคืบหน้า หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง 

• อารมณ์ไม่ดีหรือหงุดหงิดบ่อย

เมื่อเครียดเรื่องงานมากจนเกินไป โดยมีสาเหตุจากการถูกคาดหวัง ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกกดมากจนเกินไป อาจทำให้เราเกิดอารมณ์และความรู้สึกในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดคนอื่นง่าย โกรธอยู่เป็นประจำ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ 

• รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา

เมื่อเกิดความเครียดมากเกินไป ร่างกายและจิตใจจึงรับภาระมากขึ้น ทำให้เกิดความเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอ่อนล้าได้ง่าย ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว อาจมาจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความรู้สึกวิตกกังวลใจอยู่ตลอดเวลา

• วิตกกังวลกับทุกเรื่อง

เมื่อเกิดความวิตกกังวลใจขึ้น จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ มีอาการไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา มือและเท้าเย็น หรือเหงื่อแตก โดยสาเหตุของความวิตกกังวลอาจมาจากปัญหาในการทำงานได้ เช่น ความรู้สึกกลัวว่างานที่ทำจะออกมาไม่ดี หรือกลัวทำงานผิดพลาด เป็นต้น

• มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

ปัญหาความเครียดเรื่องงานมากเกินไป เช่น คิดถึงแต่เรื่องงานที่ทำไม่เสร็จอยู่ตลอดเวลา หรือกังวลว่างานที่ทำจะขาดคุณภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลใจ ส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ เกิดอาการกระสับกระส่าย และอาจมีผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น

นอนไม่หลับ คิด แต่เรื่องงาน

วิธีจัดการความเครียดในการทำงาน

เมื่อความเครียดเป็นเหตุ วิธีการจัดการความเครียดในการทำงานจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาจากสภาพอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีวิธีการอะไรบ้าง มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลย

• พิจารณาตนเอง

การรู้จักตนเองและทำความเข้าใจในตัวตนของเราเองนั้น นอกจากจะช่วยจัดลำดับความสำคัญ ในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้แล้ว ยังช่วยให้ตัวเรารับรู้ข้อดีและข้อเสีย รวมไปถึง นิสัยส่วนตัวของตนเอง เช่น เป็นคนคิดมาก หรือ มักมองโลกในแง่ลบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ชีวิตของตนเอง ตลอดจนการทำงาน ซึ่งรวมถึงการจัดการกับความเครียดได้อีกด้วย 

• จัดเรียงลำดับความสำคัญของงาน

หากรู้จักวางแผนและเรียงลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้น จะทำให้เราสามารถจัดการกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเริ่มทำงานที่มีความเร่งด่วนมากกว่าก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ ยังช่วยป้องกันความสับสนที่เกิดจากการทำงานหลาย ๆ ชิ้นพร้อมกันได้อีกด้วย

• เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ

คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไม่ปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าการปฏิเสธเป็นการแสดงถึงความไม่มีน้ำใจหรือไม่ให้ความช่วยเหลือ ส่งผลให้เราเกิดความกลัวว่าจะถูกคนอื่นมองไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปฏิเสธโดยการอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า เช่น ในการทำงาน หากเลือกปฏิเสธงานที่เราคิดว่าทำไม่ได้ พร้อมบอกเหตุผลไป ย่อมดีกว่าการรับงานชิ้นนั้นแล้วทำให้งานผิดพลาด ซึ่งจะทำให้ตกเป็นภาระของผู้อื่นในการแก้ไขงานต่อไป เป็นต้น 

• อย่าเก็บความเครียดไว้คนเดียว

ความเครียดเป็นสิ่งที่ควรได้รับการระบายออกมา ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บความเครียดไว้คนเดียว โดยเราอาจปรึกษาเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวกับคนใกล้ตัวหรือคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อนหรือคนในครอบครัวของเราได้

• พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงส่งผลต่อความเครียดได้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการนอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ อาจพักผ่อนโดยการทำสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การดูหนัง หรือการฟังเพลง เป็นต้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และส่งผลให้จดจำในสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

นอนไม่หลับ คิด แต่เรื่องงาน

เครียดเรื่องงาน ส่งผลอะไรบ้าง?

ความเครียดเรื่องงานเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะทำงาน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุหรือหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลต่อสมอง อารมณ์ ร่างกาย และ พฤติกรรมได้ 

• ส่งผลต่อสมอง

เมื่อมีความเครียดสะสม จะทำให้สมองซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอาจเกิดความเสี่ยงอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาวะสมองล้า ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมาอย่างอาการปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ เกิดอาการหลงลืมง่าย  หรือภาวะสมาธิสั้น ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน จำอะไรไม่ได้ และขี้หลงขี้ลืม เป็นต้น

• ส่งผลต่ออารมณ์ 

ความเครียดเรื่องงานจะทำให้จิตใจเกิดความกังวลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจเกิดความรู้สึกไม่สบายใจอยู่ตลอด บางคนอาจหงุดหงิดหรือโกรธได้ง่ายขึ้น และอารมณ์แปรปรวนเป็นประจำ ซึ่งล้วนส่งผลต่อระบบความคิดและความสามารถในการจัดการกับชีวิตตนเองได้ รวมไปถึง อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ หากเกิดอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือเข้ารับการรักษา

• ส่งผลต่อร่างกาย

หากเกิดความเครียดเรื่องานมากจนเกินไป จะไปกระตุ้นให้ระบบประสาททำงานหนักขึ้น เกิดอาการหน้ามืด หรือเป็นลมได้ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดหัว และท้องผูก นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกาย ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา รวมถึง มีผลทำให้ค่าความดันและชีพจรสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ

• ส่งผลต่อพฤติกรรม

หากเกิดความเครียดเรื่องงานมากจนเกินไป อาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น นอนหลับยากขึ้น กินอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงจากเดิม ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลงและเกิดพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม ทำให้กลายเป็นคนที่มีลักษณะชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร และอาจถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมของตนเองได้

ความเครียดเรื่องงานเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากงานหรือจากตัวเราเอง เช่น เกิดความกังวลว่าจะทำงานไม่สำเร็จหรือทำได้ไม่ดี ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสมอง อารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรมได้ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา ดังนั้น หากเรามีวิธีการจัดการกับความเครียดในการทำงานด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การหมั่นสังเกตตนเองว่ามีความเครียดสะสมจากการทำงานหรือไม่ จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความเครียดและหาทางรับมือกับสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ช่วยให้การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเสริมสร้าง Work-Life balance ที่ดีให้กับชีวิตของตนได้

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine