อะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัว พระยาจักรี

เหตุเกิดในวันที่ ๑๓ มีนาคม! อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี-เดียนเบียฟูแตก-วันช้างไทย!!

เผยแพร่: 12 มี.ค. 2564 10:34   ปรับปรุง: 12 มี.ค. 2564 10:34   โดย: โรม บุนนาค


๐ ๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี
อะแซหวุ่นกี้ เป็นวีรบุรุษของพม่าหลังจากทำสงครามยืดเยื้อกับจีนที่เชียงตุงถึง ๔ ปี ขนาดแม่ทัพจีนคุยว่า “ทหารจีนแค่ถ่มน้ำลายคนละที น้ำก็ท่วมทหารพม่าตายหมดแล้ว” แต่อะแซหวุ่นกี้ก็ตีทหารจีนแตกกระเจิง แม่ทัพที่เป็นพระอนุชาของฮ่องเต้เซียนหลง ต้องฆ่าตัวตายหนีอาย แต่ขณะที่พม่าทำสงครามติดพันกับจีนนั้น ก็ทำให้พระเจ้าตากสินมีเวลาตั้งตัวได้ และเกิดวีรบุรุษขึ้นเหมือนกัน คือ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ซึ่งต่อมาก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เมื่อเสร็จศึกกับจีน อะแซหวุ่นกี้ได้รับมอบหมายให้มาตีไทยในปี ๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้รู้ว่าทหารพม่าเกรงกลัวเจ้าพระยาสุสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลกกันมาก และตั้งฉายาให้ว่า “พระยาเสือ” อะแซหวุ่นกี้จึงสำแดงให้เห็นว่าวีรบุรุษอย่างเขาไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด พอยกทัพเข้ามาถึงเมืองสวรรคโลกรู้ว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ร่วมกับเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปตีเชียงใหม่ จึงหยุดทัพอยู่แค่สุโขทัย บอกทหารว่า

“เจ้าของเขาไม่อยู่ อย่าเพิ่งไปเหยียบเมืองเขาเลย”

เมื่อเจ้าพระยา ๒ พี่น้องทราบข่าวว่าอะแซหวุ่นกี้ก็รีบกลับมารับมือ หลังจากปะทะกันอยู่ ๓ วันเห็นว่าพม่ามากันมาก จึงถอยเข้ารับในเมือง และนำทหารออกมารบกับอะแซหวุ่นกี้ที่เข้าล้อมเมืองทุกวัน แต่ก็ไม่รู้ผลเด็ดขาด เจ้าพระยาจักรีจึงออกรับมือกับอะแซหวุ่นกี้แทนน้องชาย

พงศาวดารกล่าวว่า เมื่ออะแซหวุ่นกี้นำทหารออกมา เจ้าพระยาจักรีก็นำทหารออกตี ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะถึงเก้าวันสิบวัน ท่านขุนพลผู้เฒ่าวัย ๗๒ ปีเขี้ยวลากดิน ก็ให้ล่ามร้องบอกขุนพลหนุ่มวัย ๓๙ ว่า พรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย ให้เจ้าพระยาจักรีออกมาเราจะขอดูตัวหน่อย
รุ่งขึ้น ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๑๘ เจ้าพระยาจักรีก็ขี่ม้าพาทหารออกไปให้อะแซหวุ่นกี้ดูตัว ขุนพลผู้เฒ่าพิจารณารูปลักษณ์แล้วสรรเสริญว่า

“...รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้...”
ว่าแล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับหนึ่งกับสักหลาดพับหนึ่ง ดินสอแก้วสองก้อน น้ำมันดินสองหม้อ มาให้เจ้าพระยาจักรี แล้วว่าจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคง เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ไปภายหน้าพม่าจะตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว หลังจากนั้นก็มีการฉลองกัน ไทยเข้าไปกินเลี้ยงในค่ายพม่า พออิ่มหนำสำราญแล้วจึงกลับค่าย เตรียมตัวรบกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ขณะรบติดพันกันนั้น อะแซหวุ่นกี้ได้รับท้องตราจากเมืองอังวะว่า พระเจ้ากรุงอังวะสิ้นพระชนม์ ให้รีบกลับโดยเร็ว อะแซหวุ่นกี้จะรออีก ๒ ทัพที่ให้ไปให้ไปหาเสบียงที่เพชรบูรณ์กับกำแพงเพชรก็เกรงว่าช้าไปจะมีความผิด เลยรีบกลับออกไปทางด่านแม่ละเมา เมื่อพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาช่วยพิษณุโลก เลยรุมตีทัพพม่าที่ตกค้างเสียยับเยิน อะแซหวุ่นกี้วีรบุรุษหมาดๆ ถูกพระเจ้าจิงกูจา กษัตริย์องค์ใหม่ปลดออกจากราชการ ฐานมีแผนการรบที่เลว แทนที่จะชิงตีพิษณุโลกได้ง่ายๆ กลับควงหมัดเอาโก้อวดคนดู ทำให้ทหารล้มตายเป็นอันมาก วีรบุรุษเลยเสียคนเพราะอวดเก่งนี่เอง

๐ ๒๔๙๗ เวียตมินห์ถล่มเดียนเบียนฟูปิดฉากสงครามกู้ชาติ
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีนแทนฝรั่งเศส เมื่อสงครามสงบญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ เวียดนามจึงประกาศเอกราชในวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ แต่ฝรั่งเศสกลับมีพิษสงเข้ายึดครองอีก สงครามกู้ชาติจึงได้เริ่มขึ้น

กำลังหลักในการกอบกู้เอกราชครั้งนี้ กองกำลังเวียดมินห์ซึ่งก่อตั้งโดยโฮจิมินห์ ได้มอบให้ โวเหวียนเกี๊ยบ อดีตนักศึกษาวิชานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮานอย ซึ่งไม่เคยผ่านโรงเรียนการทหารเลย ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารขณะที่มีอายุ ๓๖ ปี

เวียดมินห์ปฏิบัติการณ์อยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม ฝรั่งเศสจึงไปตั้งป้อมค่ายอยู่ที่เดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นฐานที่มั่นเพื่อกวาดล้างเวียดมินห์ เพราะมีเทือกเขาสูงโอบล้อมเป็นชัยภูมิที่มั่นคง กองกำลังของฝรั่งเศสที่ป้อมนี้ นอกจากมีหน่วยกล้าตายของฝรั่งเศสและทหารจากอาณานิคมในแอฟริกาแล้ว ยังมีทหารนาซีที่หนีคดีอาชญากรสงครามมาร่วมด้วย กองกำลังของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูจึงเป็นหน่วยรบที่มีความมีสมรรถภาพอย่างยิ่ง

นายพลอองรี นาแวร์ ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน ได้กำหนดแผน “นาแวร์”ล่อให้เวียดมินห์ตามตีเข้ามาในเดียนเบียนฟูแล้วบดขยี้ แต่นายพลโวเหวียนเกี๊ยบไม่หลงกล กลับร่วมกับขบวนการปะเทดลาวเข้าโจมตีทุกภาคในลาว ล่อให้ฝรั่งเศสส่งทหารจากเดียนเบียนฟูไปช่วย จากนั้นเวียดมินห์ก็ถอนกำลังอย่างรวดเร็วมาล้อมเดียนเบียนฟูไว้

ฝรั่งเศสมีความมั่นใจว่า “คนเอเชียไม่สามารถยึดป้อมค่ายของฝ่ายตะวันตกได้เลย” อีกทั้งเดียนเบียนฟูถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาสูงทุรกันดาร ไม่สามารถนำอาวุธหนักขึ้นไปได้ แต่นายพลโวเหวียนเกี๊ยบกลับให้ถอดปืนใหญ่ขนาด ๗๕ มม.และ ๑๐๕ มม.ออกเป็นชิ้นๆ บรรทุกจักรยานเข็นขึ้นไป โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน ส่วนเสบียงนั้นมีไข่เค็มเป็นหลัก

และแล้วในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๙๗ สิ่งที่ฝรั่งเศสไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อปืนใหญ่ที่ลำเลียงขึ้นเขามาประกอบเสร็จ ทุกกระบอกที่เรียงรายอยู่รอบเดียนเบียนฟูก็คำรามขึ้นพร้อมกัน เป้าหมายคือที่ตั้งของหน่วยปืนใหญ่ของฝรั่งเศสเป็นจุดแรก จนยับเยินหมดสภาพจะตอบโต้ได้ ทำให้นายพลปิโรต์ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ต้องฆ่าตัวตายด้วยความอาย และสนามบินก็พังพินาศจนฝรั่งเศสส่งกำลังบำรุงมาเสริมไม่ได้ ต้องใช้วิธีโดดร่มลง

ต่อมาในวันที่ ๗ พฤษภาคม นายพลเดอ คัสตรีและนายทหารเสนาธิการก็ถูกจับในบังเกอร์บัญชาการ ทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมจำนน ทหารเกือบหมื่นคนตกเป็นเชลย
จักรยานและไข่เค็ม ได้สร้างปาฏิหาริย์ที่ฝรั่งเศสคาดไม่ถึง ทำให้เวียดนามได้เอกราชจากการพิชิตศึกในครั้งนี้ และสอนให้ฝรั่งเศสจดจำไปจนตายว่า “คนเอเชียทำได้”

๐ ๒๕๔๑ เริ่มกำหนดให้มี “วันช้างไทย”
ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับคนไทยมานาน ถึงกับเคยใช้รูปช้างอยู่ในธงชาติมาแล้ว ช้างมีส่วนอย่างมากกับความเป็นชาติไทยในวันนี้ ในสมัยโบราณใช้ช้างเป็นกำลังสำคัญในการทำสงครามปกป้องชาติ เป็นทั้งพาหนะของจอมทัพที่ทำให้ข้าศึกเข้าถึงตัวได้ยาก และใช้เหมือนเป็นรถถังในการบดขยี้ข้าศึก อีกทั้งในยามสงบก็ใช้กำลังมหาศาลของช้างในการชักลากของหนัก เช่นลากซุงออกจากป่า แม้แต่ในปัจจุบันช้างยังเป็นเสน่ห์ที่น่ารักในธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย

ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานองค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทย จึงเห็นว่าหากมีการสถาปนา “วันช้างไทย”ขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือในการอนุรักษ์ช้างกันมากขึ้น

คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาถึงวันที่ช้างมีบทบาทโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือวันที่สมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ใน ๑๘ มกราคม ๒๑๓๕ แต่วันนี้ก็ถูกเลือกเป็น “วันกองทัพไทย” ไปแล้ว จึงได้พิจารณาเห็นว่า วันที่ ๑๓ มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ ได้มีมติให้ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย น่าจะมีความเหมาะสมที่จะเป็นวันช้างไทย จึงนำเสนอสู่คณะรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.ได้ลงมติเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ เห็นชอบให้วันที่ ๑๓ มีนาคม เป็น “วันช้างไทย” และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑

นับเป็นการยกย่องและใช้เกียรติช้าง ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการยกย่องให้เกียรติคนไทยด้วย ที่เป็นคนไม่ลืมบุญคุณของสิ่งที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง แม้จะเป็นสัตว์ก็ตาม