เฉลย ใบ งาน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทาง การเมือง กับงานดนตรี

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับงานดนตรี

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับงานดนตรี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับงานดนตรีได้ส่งผลให้งานดนตรีมีการพัฒนาทั้งระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรี เครื่องบันทึกเสียง เครื่องขยายเสียง และการปรับปรุงรูปแบบดนตรีจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เฉลย ใบ งาน เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทาง การเมือง กับงานดนตรี

นายโธมัส อัลวาเอดิสัน

การนำเทคโนโลยีมาใช้กับดนตรีเริ่มต้นเมื่อ นายโทมัส อาวาเอดิสันได้ประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับให้บันทึกเสียงดนตรีขึ้นชื่อว่า ‘ เครื่องบันทึกเสียงเอดิสันโฟโนกราฟ ’ แต่คุณภาพยังไม่ดีนัก แต่ก็สร้างความมหัศจรรย์กับคนทั่วไปและยังเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาระบบเสียงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียงลงในกระบอกเสียงไขขี้ผึ้งการบันทึกเสียงลงจานเสียงหรือแผ่นเสียง ซึ่งใช้เปิดกับเครื่องเล่นแกรมโมโฟน

วิวัฒนาการของเครื่องดนตรีในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับงานดนตรี

 ดนตรีเปรียบเสมือนเป็นพื้นฐานของสังคม ซึ่งมันสามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมได้ บางครั้งสังคมอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ลงไปสู่ดนตรีโดยตรงทั้งหมด แต่ดนตรีมักถูกใส่ลงไปในสังคมเพื่อสร้างพลังบางอย่างให้กับกลุ่มชนต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความสำเหนียก (perceive) ให้เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าสังคมนั้นมีส่วนที่ทำให้เราเข้าใจดนตรีมากขึ้น ทำให้เรารำลึกถึงมุมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น มุมมองของความสำเร็จ มุมมองของข้อผิดพลาด หรือมุมมองของข้อผิดพลาดที่ลึกซึ้ง และอื่น ๆ เป็นต้น

       ดนตรีหรือบทเพลงคือการบันทึกภาพทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสะท้อนเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆทางสังคม หรือสะท้อนแนวคิดอุดมการณ์ในแต่ละยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเอาดนตรีและบทเพลงมาใช้เพื่อเป็นสื่ออำนาจของกลุ่มชนในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรม ในที่นี้หมายถึงดนตรีที่นำไปใช้กับการเมือง ซึ่งเป็นมุมมองทางดนตรีที่ทำหน้าที่ต่อสังคมและการเมือง ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นถ้านำมาวิเคราะห์ลงไปอย่างลึกซึ้งก็จะพบถึงวิธีคิด สาระ ตลอดจนภาพสะท้อนต่าง ๆ ในสังคมที่มีการเชื่อมโยงมิติสัมพันธ์หลาย ๆ ด้าน บางครั้งทำให้เราสามารถนำกลับมาทบทวนและกำหนดแนวคิดเชิงปรัชญาทางดนตรีใหม่เพื่อนำมาใช้กับการเมืองไทยได้

ดนตรีกับสื่อทางความคิด

            ดนตรีหรือบทเพลงนั้นถือได้ว่าเป็นภาษาแห่งอารมณ์ ซึ่งคีตกวีหรือนักแต่งเพลงได้พยายามกระตุ้นออกมาเป็นเสียงเพลง มีทั้งที่จงใจกระตุ้นและที่เกิดจากประสบการณ์ของตนเองซึ่งเพลงเป็นสื่อกลางในการติดต่อ และการทำความเข้าใจกันระหว่างมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด เพลงจึงเป็นภาษาหรือเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการสื่อความคิดต่อกัน ซึ่งการสื่อความคิดนี้จะมี ๒ ลักษณะคือ๑) การสื่อความคิดในเรื่องที่เป็นความจริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงมากนัก เนื่องจากเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เป็นจริงด้วยเหตุผลและสามารถพิสูจน์ได้ ๒) การสื่อความคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการยอมรับในคุณค่าเหล่านั้นได้ การสื่อความคิดประเภทนี้ก็คือ การชักจูงให้คล้อยตาม ซึ่งก็หมายถึงเพลงประเภทปลุกใจซึ่งมีใช้กันอยู่ในทุกสังคมมนุษย์นั่นเอง

       จากแนวคิดของ David J.Elliott นักปรัชญาดนตรี ได้ให้มุมมองของกระบวนการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการฟังไว้ว่า การฟังและกระบวนการรับรู้เป็นกระบวนการที่ไม่เป็นอิสระ ซึ่งมันจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับบริบทของความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการได้ยิน(context dependent process) ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และในการรับข้อมูลเกี่ยวกับการฟังของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัด เราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างได้ในการฟังครั้งเดียว การฟังและการรับรู้ของมนุษย์นั้นมีขอบเขตจำกัด แต่ในความเป็นจริงสมองของมนุษย์สามารถรับเสียงได้ทุกเสียง สมองของมนุษย์ไม่ได้ทำงานทีละภาคส่วน แต่ทุกส่วนของสมองทำงานพร้อมกัน ดังนั้นขณะที่มนุษย์กำลังรับรู้ถึงกระบวนการฟังต่าง ๆ นั้นสมองก็จะช่วยในการคัดสรรข้อมูลในขั้นต้น โดยพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏในด้านความตั้งใจ(attention) ความตระหนัก (awareness) ตลอดจนการทบทวน(produce revise) ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อการตัดสินใจในการรับการสื่อสารนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการดังกล่าวขึ้นอยู่กับบริบทของประสบการณ์ในแต่ละคนด้วย

       จากแนวคิดดังกล่าวมองเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของดนตรีเป็นตัวสื่อสารไปยังผู้รับสารโดยการแปลผลจากสิ่งที่ได้รับมาและส่งผ่านไปยังสมอง และส่งผลทางด้านจิตใจของผู้รับสารเป็นผู้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับ แต่ปัจจัยอีกอย่างในการตัดสินใจของผู้รับสารนั้นไม่สามารถละเลยบริบททางสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมันสามารถเป็นตัวสร้างการตัดสินใจในการรับสารได้เช่นกัน สิ่งที่ต้องตระหนักหรือสิ่งที่ต้องตัดสินใจในบางครั้งอาจจำเป็นต้องสนองตอบต่อสถานะของสังคมในแต่ละยุคสมัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือสัญลักษณ์ในการสร้างความเข้าใจ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ให้กับกลุ่มชน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มชน ไม่ว่าจะเป็นมิติของพลังอำนาจรัฐหรือมิติของพลังอำนาจประชาชน ซึ่งสามารถมองผ่านภาพสะท้อนของสังคมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้
นิยามดนตรีการเมือง

       ดนตรีการเมือง (music in politics) หมายถึงความหมายรูปแบบทางดนตรี เนื้อหา ตลอดจนสาระที่เป็นสื่อในการนำเสนอภาพตัวตนของกลุ่มชนในมิติต่างๆ เพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งหวัง โดยใช้สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนในทุกกลุ่มชนในสังคม ทั้งนี้อาจสะท้อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม บางครั้งดนตรีหรือบทเพลงดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นโดยรัฐ หรือถูกสร้างโดยประชาชน (สุชาติ แสงทอง,๖๔ : ปีที่๑๐ฉบับที่๑๒เดือนตุลาคม:๒๕๔๗)  ตัวบทที่เกี่ยวข้องกับคำร้องถือเป็นสาระสำคัญ ในการใช้เป็นสื่อกลางเพื่อสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนในทุกกลุ่มชน   ทั้งนี้ตัวบท(บทเพลง) และดนตรี จะเป็นองค์ประกอบที่เสริมสร้างดนตรีการเมืองให้มีประสิทธิภาพในการนำเสนอมากขึ้น
ดนตรีกับการแสวงหาเชิงอำนาจทางการเมือง

       จากแนวคิดของ Merriam กล่าวไว้ว่าพลังอำนาจทางสังคมนั้นมีอิทธิพลต่อกิจกรรมทางดนตรี ซึ่งมันไม่ได้เป็นเพียงแต่ที่จะควบคุมเฉพาะสภาวะสังคมแปลกแยก(exotic societies)เท่านั้น แต่จะสามารถควบคุมไปในทุกสภาวะของสังคม ทางมานุษยวิทยาหรือดนตรีวิทยาได้เล็งเห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานในการนำไปสู่การพัฒนามุมมองใหม่ในสังคมหนึ่ง ๆ โดยเป็นการเพิ่มค่าของความรู้สึกถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่าสะท้อนออกมาอย่างไรในสังคม ดังนั้นความสัมพันธ์ของดนตรีเป็นกระบวนการสำคัญที่นำไปสู่การค้นหาวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย ความเปลี่ยนแปลง และปัจจัยอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในสังคม ที่อาจเกิดจากการคิด การสร้างสรรค์ ของความต้องการในกลุ่มชน ทั้งนี้เพื่อที่จะพยายามแสดงให้เห็นถึงความเป็นอัตลักษณ์ของตน เป็นต้น

       ดังตัวอย่างความแตกต่างทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่แปลกแยกและอาจแก้ปัญหาโดยการทำสงคราม ซึ่งในกรณีดังกล่าวบทบาทของเพลงสงคราม (war songs) ก็ได้ถูกนำมาใช้มากมายในสถานที่ต่าง ๆ บทบาทของหน้าที่เพลงสงครามมันไม่เพียงแต่การนำไปสู่การระดมความรู้สึกในสงครามเท่านั้นแต่จะเป็นการซึมซับความรู้สึกร่วมในความกล้าหาญทีละน้อย รวมทั้งความกระตือรือร้นอันแรงกล้าในการต่อสู้ของพวกเขา เป็นต้น (Merriam,1967:89)

       กรณีของประเทศไทยดนตรีได้เข้ามามีบทบาทในสังคมการเมืองมานาน ถ้าพิจารณาจากข้อเขียนของ สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวไว้ว่า ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๕ มีทหารอังกฤษ ๒ คน เข้ามาเป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ในวังหลวงชื่อร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และครูฝึกในวังหน้าชื่อร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas G.Knox) โดยใช้เพลงกอดเสฟเดอะควีน (God save the Queen) เป็นเพลงฝึกทหารแตร ซึ่งในขณะนั้นอังกฤษใช้เพลงกอดเสฟเดอะควีนเป็นเพลงชาติแล้ว ในการฝึกทหารของไทยสมัยนั้นใช้แบบอย่างของอังกฤษหมด ดังนั้นเพลงกอดเสฟเดอะควีนจึงกลายเป็นเพลงเกียรติยศ ที่ใช้ในการทำความเคารพในกองทหารอีกด้วย เมื่อมีพระมหากษัตริย์เสด็จออก กองทหารแตรก็จะบรรเลงเพลงกอดเสฟเดอะควีนรับเสด็จ ซึ่งเพลงเกียรติยศสำหรับกองทหารไทยเป็นความคิดของทหารซึ่งเป็นครูฝึกชาวอังกฤษโดยนำแบบอย่างกองทหารเกียรติยศของอังกฤษเข้ามาใช้กับทหารไทย

       

อย่างไรก็ตามเพลงกอดเสฟเดอะควีนใช้เป็นเพลงเกียรติยศถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์สำหรับกองทหารไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๕ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๑๔ ซึ่งเรียกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่โดยใช้ทำนองเพลงกอดเสฟเดอะควีน โดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า จอมราชจงเจริญ (สุกรี เจริญสุข,๒๕๓๒:๖)  มิติเชิงซ้อนทำให้เราเห็นถึงว่า เพลงกอดเสฟเดอะควีน เปรียบเสมือนบทเพลงทางการเมืองที่ใช้ในการแสวงหาอำนาจของประเทศอังกฤษ เพื่อล่าอาณานิคมในประเทศต่าง ๆ   เมื่ออังกฤษได้ประเทศใดเป็นเมืองขึ้นก็ตาม   ก็จะต้องนำเพลงดังกล่าวไปใช้บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศ

        แต่ประเด็นสำคัญประเทศไทยมิได้สูญเสียเอกราชกับอังกฤษแต่จำเป็นต้องรับเอาวัฒนธรรมดังกล่าวมาใช้ ในมุมมองทางสังคมหนึ่งก็ยอมรับโดยไม่รู้ตัว แต่อีกมุมองหนึ่งพยายามรับเข้ามาเพื่อปรับตัว รวมทั้งมุมมองหนึ่งที่พยายามสลัดนัยยะแฝงของความวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามา เป็นต้น

       สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ คณะผู้ก่อการปฏิวัติยังให้ความสำคัญกับการนำบทเพลงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้มีแนวคิดที่จะแต่งเพลงชาติขึ้นมาใหม่ โดยให้พระเจนดุริยางค์ เป็นผู้แต่งถึงแม้ว่าพระเจนดุริยางค์จะตอบปฏิเสธในการแต่งเพลงชาติด้วยเหตุเพราะสยามประเทศมีเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นคณะผู้ก่อการก็ไม่ยินยอมโดยให้เหตุผลว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่เพลงชาตินั้นเป็นของประชาชน จากเหตุปัจจัยดังกล่าวก็บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าคณะผู้ก่อการพยายามใช้ดนตรีเป็นสื่อทางการเมืองในการรวมพลังคนในชาติ และเพื่อแสวงหาในเชิงอำนาจนั่นเอง

       

สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗ ความโดดเด่นของนโยบายรัฐบาลชุดนี้คือการเน้นความเป็นชาตินิยม โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายการสร้างชาติให้เป็นแบบอารยะ สร้างความเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม และนโยบายสร้างความเจริญโดยรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย นโยบายการสร้างชาติและวัฒนธรรมใหม่ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการประกาศเรื่องรัฐนิยม ๑๒ ฉบับ

        ดนตรีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนองตอบต่อนโยบายทางการเมืองในยุคชาตินิยมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการนำเอาดนตรี ตลอดจนละครมาเป็นสื่อปลุกกระแสความเป็นชาตินิยมและนโยบายการสร้างชาติ ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นรัฐบาลสามัญชนโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้ความสำคัญต่อแนวคิดชาตินิยม (nationalism) เพราะถือว่าสิ่งนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลสามัญชน ด้วยเหตุผลของการหาแนวร่วมโดยการสนับสนุนของประชาชน

       บทเพลงยุคดังกล่าวได้สะท้อนผ่านรัฐนิยมและนำไปสู่ภาพสะท้อนของวิถีชีวิตของคนในประเทศ ซึ่งมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงหลายด้านไม่ว่าจะเป็นสภาพการเมือง วิถีชีวิตดั้งเดิม ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนการปรับตัวให้เข้ากับอารยะประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงชื่อสยามเป็นประเทศไทย สอดคล้องกับประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๖ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องของเพลงชาติเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนชื่อประเทศ เป็นต้น ดนตรีที่เกิดขึ้นสังเกตได้จากนโยบายของรัฐบาลในการปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้คนในชาติโดยการส่งผ่านไปยังบุคคล หรือหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างบทเพลงหรือรูปแบบดนตรีต่างๆ ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองในยุคนั้น โดยได้ถ่ายทอดอารมณ์ แนวคิด และความรู้สึกออกมาตามเจตจำนงที่ต้องการ แม้วิถีชาวบ้านในสังคมชนบทยังถูกชี้นำจากอิทธิพลของดนตรีและบทเพลงการเมือง บทเพลงดังกล่าวเป็นการสะท้อนนโยบายการสร้างชาติ การปลุกเร้าความเป็นชาตินิยม ตลอดจนการต่อต้านจักรวรรดิ เป็นต้น เห็นได้ว่าการให้ความสำคัญต่อการนำเอาดนตรีมาใช้ระบบการเมืองในมุมมองหนึ่งของยุคดังกล่าวก็เพื่อการแสวงหาเชิงอำนาจเช่นกัน

       

มาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กล่าวขานกันว่าเป็นยุคเผด็จการทหาร บทเพลงที่นำมาใช้ในการเมืองนั้นค่อนข้างมีน้อยมาก ซึ่งคงเป็นผลจากบุคลิกความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดทำให้ประชาชนไม่น้อยในประเทศให้ความศรัทธา แต่ในทางกลับกันบทเพลงประเภทโลกียะ แบบรัก ๆใคร่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ชาวบ้านเริ่มสับสนวุ่นวายกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก็เลยดูเหมือนว่าเมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ รัฐบาลดังกล่าวให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์บทเพลงที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลยุคนี้กระทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มุมหนึ่งเป็นการสร้างฐานอำนาจโดยความชอบธรรม

        การแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ นับเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลดังกล่าว การปราบปรามและต่อต้านอุดมการณ์ดังกล่าวมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างวาทกรรม (discourse) จากความเป็นผู้นำ และที่สำคัญการใช้วิธีการครอบงำมวลชนในการช่วยปราบปรามลัทธิดังกล่าว เช่น การนำศิลปะพื้นบ้านในแต่ละภาคของประเทศมาทำการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นต้น   ดังข้อเขียนของสุชาติ แสงทอง กล่าวไว้ว่า  “ช่วงระยะเวลาประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๘ การแทรกซึมของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านหลาย ๆ ประเทศซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายการต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยพยายามสร้างความเชื่อให้กับประชาชนว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์มีแผนการมุ่งหวังครองโลก และล้มล้างศาสนา ตลอดจนประเทศไทยของเรากำลังถูกรุกรานด้วยแผนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน”

       ในรัฐบาลชุดดังกล่าวได้พยายามหายุทธวิธีในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้กับประชาชนอย่างเร่งรีบ ยุทธวิธีหนึ่งที่รัฐนำมาใช้ คือยุทธวิธีในการทำสงครามจิตวิทยาประชาชน โดยรัฐได้ตั้ง กรมประมวลราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนั้นมี นายเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดี และมี นายบุณย์ เจริญชัย เป็นรองอธิบดี

       แผนการหนึ่งของกรมประมวลราชการแผ่นดินที่ดำเนินการคือ การทำสงครามจิตวิทยาประชาชน โดยการนำเอาศิลปะพื้นบ้านในแต่ละภาคมาเป็นสื่อในการถ่ายทอดอุดมการณ์เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งศิลปะพื้นบ้านประกอบด้วย ๑) ภาคอีสาน ใช้การแสดงหมอลำ ๒) ภาคใต้ ใช้การแสดงหนังตะลุง และ๓)ภาคเหนือ ใช้การเล่นตีกลองสะบัดชัย เป็นต้น