ปัญหาฝนกรดในทวีปอเมริกาเหนือ

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1970 ประธานาธิบดีนิกสันลงนามใน Clean Air Act of 1970 (CAA) หรือพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งเป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ในปัจจุบันจำนวนประชากรและรถบนท้องถนนเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจก็ขยายตัวมากขึ้น แต่คุณภาพอากาศทั่วสหรัฐอเมริกาก็สะอาดขึ้นถึง 77% ความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันมีชีวิตยืนยาวขึ้น ช่วยประหยัดเงินได้หลายล้านล้านดอลลาร์ และทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับโลกในการจัดการมลพิษทางอากาศ

การดำเนินการของพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970

  • 1970 — ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน ลงนาม พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการกำหนดวันคุ้มครองโลก (Earth Day)
  • 1977 — แก้ไข พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อจัดการปัญหาคุณภาพอากาศโดยรอบในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ
  • 1990 — แก้ไข พ.ร.บ. อากาศสะอาด โดยมีการขยายกฎระเบียบด้านคุณภาพอากาศอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงโครงการหยุดฝนกรด
  • 1996 — แบนการใช้น้ำมันเบนซินในรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งช่วยในการลดปริมาณสารตะกั่วซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศลงอย่างมาก
  • 1999 — มีโครงการลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งสามารถลดความเข้มข้นของโอโซนโดยเฉลี่ยลงได้ 6% ในที่สุด
  • 2005 — ออก พ.ร.บ. นโยบายพลังงาน ปี 2005 ซึ่งมีบทบัญญัติของพ.ร.บ. อากาศสะอาดสำหรับกฎระเบียบด้านเชื้อเพลิง
  • 2011 — กำหนดกฎหมายมลพิษทางอากาศข้ามรัฐซึ่งควบคุมการปล่อยมลพิษที่จะเพิ่มปริมาณมลพิษทางอากาศให้รัฐอื่นๆ
  • 2020 — ครบรอบ 50 ปี พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970 ซึ่งยังคงเป็นมาตรฐานความสำเร็จของการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

“พระราชบัญญัติอากาศสะอาดยังคงเป็นกฎหมายสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่กำหนดขึ้นในศตวรรษที่ 20” Paul Billings จาก American Lung Association กล่าว

นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ปี 1970 ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 (อนุภาคละเอียดที่เป็นอันตรายที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 2.5 ไมโครเมตร) ในอากาศได้ลดลงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ โดยมีค่าเฉลี่ยปี 2016 อยู่ที่ 7.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ไม่เกิน 25 และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

และหนึ่งในบรรดาบทบัญญัติมีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องกำจัดมลพิษจากท่อไอเสียลงให้ได้ 90% ทำให้รถยนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่ารถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1970 ถึง 99%

ปัญหาฝนกรดในทวีปอเมริกาเหนือ

กฎหมายนี้เปลี่ยนการดำเนินการเพื่อควบคุมคุณภาพทางอากาศที่ส่วนใหญ่เป็นความพยายามภายในแต่ละรัฐมาเป็นการดำเนินการนำโดยรัฐบาลกลาง ภายใต้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: EPA) กระตุ้นให้เกิดการจำกัดมลพิษทางอากาศหลักๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มแข็งและบูรณาการ โดยมีเป้าหมายและลำดับการดำเนินการที่เจาะจง นอกจากนี้ยังให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องรัฐบาลหากล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย

พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากวุฒิสภาสหรัฐฯ และผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยมีเพียงเสียงเดียวที่คัดค้าน นี่เป็นเครื่องเตือนใจว่าเรามีความสามารถมากขนาดไหนในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นเรื่องยาก หากผู้นำทางการเมืองพร้อมที่จะบริหารจัดการปัญหาบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ไม่มีทางออกง่าย ๆ ต่อปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มีหลายครั้งในอดีตที่คนทั่วโลกร่วมมือกันพยายามแก้วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่าง เราจัดการกับฝนกรดหรือรูรั่วในชั้นบรรยากาศโอโซนได้อย่างไร

มีบทเรียนอะไรในการรับมือกับปัญหาที่ใหญ่กว่าอย่างเรื่องโลกร้อนไหม

ยุคทศวรรษ 1970, 1980 และ 1990 : ฝนกรด

ในยุคทศวรรษ 1980 ปลากำลังหายไปจากแม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วสแกนดิเนเวีย ต้นไม้ในป่าหลายแห่งใบหลุดร่วง และในอเมริกาเหนือ ทะเลสาบบางแห่งแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่ น้ำในทะเลสาบเป็นสีฟ้าหม่นดูน่ากลัว

สาเหตุคือ เมฆหมอกซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหินกำลังเดินทางลอยไปในอากาศเป็นระยะทางไกล และตกลงบนพื้นผิวโลกในรูปแบบของฝนกรด

คำบรรยายภาพ,

กรดไนตริกและซัลฟูริกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลตกลงมากลายเป็นฝนกรด

"ในยุค 80 มีการพูดกันว่า นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลอดกาล" เพอริงเงอ เกรนน์เฟลต์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนที่มีบทบาทสำคัญในการเน้นย้ำถึงอันตรายของฝนกรด

พาดหัวข่าวเตือนถึงภัยคุกคามของฝนกรดปรากฏอยู่ทั่วไป หลังจากเกิดความสับสน การไม่ยอมรับ และการเผชิญหน้าทางการทูตมานานหลายปี เมื่อวิทยาศาสตร์ได้คลี่คลายข้อสงสัย ก็ได้มีการเรียกร้องให้เริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ได้นำไปสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศในการลดมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้ฝนเป็นกรด

การแก้ไขรัฐบัญญัติอากาศสะอาด (Clean Air Act) ในสหรัฐฯ ทำให้มีการพัฒนาระบบการค้าและการจำกัดเพดาน มีการให้แรงจูงใจบริษัทต่าง ๆ ในการลดการปล่อยซัลเฟอร์และไนโตรเจน และให้มีการซื้อขายการอนุญาตให้ปล่อยสารส่วนเกินได้ แต่ละปีการจำกัดเพดานลดต่ำลงจนกระทั่งการปล่อยมลพิษลดลงอย่างมาก

มันใช้ได้ผลหรือไม่ ตอนนี้ฝนกรดเป็นเป็นเรื่องอดีตไปแล้วสำหรับยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่มันยังคงเป็นปัญหาในที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม จอห์น สมอล นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ซึ่งยังเป็นนักวิจัยอายุน้อยในช่วงยุคทศวรรษ 1980 กล่าวว่า ฝนกรดคือ "เรื่องราวความสำเร็จ" ในหลายทาง มันแสดงให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ สามารถร่วมมือกันและรับมือกับปัญหาระหว่างประเทศได้ "ถ้าคุณไม่ตั้งราคามลพิษ ผู้คนก็ก่อมลพิษ เราเรียนรู้จากเรื่องนี้แน่นอน" เขากล่าว

ยุคทศวรรษ 1980 : รูรั่วโอโซน

ในปี 1985 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งกำลังกลายเป็นข่าวใหญ่ นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (British Antarctic Survey--BAS) ได้เตือนชาวโลกว่า มีรูขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัวในชั้นบรรยากาศโอโซนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก มันเกิดจากสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รู้จักกันในชื่อว่า สาร CFC ซึ่งมันถูกใช้ในการฉีดพ่นละอองฝอยและสารทำความเย็น

"จู่ ๆ มันก็ 'บูม' แล้วมันก็ลดลงอย่างรวดเร็วจริง ๆ" แอนนา โจนส์ นักวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของ BAS กล่าว ซึ่งเธอหมายถึงชั้นของแก๊สที่ปกคลุมโลกจากรังสียูวีที่เป็นอันตราย ที่บางลงอย่างมาก

โอโซนเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติก หดตัวลงนับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 แต่ข่าวที่บอกว่ารูนี้ครอบคลุมทวีปแอนตาร์กติกทั้งทวีปทำให้คนทั่วโลกตื่นตระหนก ในปี 1987 ผู้นำโลกได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลฉบับหนึ่ง

สารเคมีที่ทำลายโอโซนค่อย ๆ หมดไป โดยอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปใช้กระป๋องสเปรย์ที่ "ปลอดสาร CFC" ซึ่งช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม "มันคือปัญหาระดับโลก แต่ภาคอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย ร่วมมือกัน" ดร.โจนส์กล่าว

"พวกเขาดำเนินการอย่างรวดเร็ว พวกเขาลงมือพร้อมกับกลไกที่ช่วยให้พิธีสารนั้นมีความเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง มันเป็นต้นแบบสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า คุณสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้"

แม้ว่าพิธีสารมอนทรีออลจะประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความล้มเหลวบางอย่างเกิดขึ้น โดยมีการค้นพบว่า สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนสารเคมีที่ทำลายโอโซนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรง

มีการพุ่งสูงขึ้นของสาร CFC อย่างปริศนา ซึ่งต้นตอมาจากจีน ทั้งสองเรื่องนี้ได้นำไปสู่การดำเนินการเพิ่มเติม และขณะที่รูในชั้นโอโซน "กำลังฟื้นตัว" สารเคมีที่ทำลายโอโซนยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเป็นเวลานาน ทำให้การซ่อมแซมเป็นกระบวนการที่ช้าและต้องใช้เวลานาน

ยุคทศวรรษ 1920 ถึงยุคทศวรรษ 2020 : น้ำมันผสมสารตะกั่ว

เราใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วเป็นเชื้อเพลิงมานานหลายสิบปี บริษัทต่าง ๆ ได้เติมสารปรุงแต่งตะกั่วลงไป เพื่อช่วยให้มีการเผาผลาญน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำมันที่ผสมสารตะกั่วได้ปล่อยอนุภาคตะกั่วออกมาจากไอเสียของยานพาหนะ และคนสามารถหายใจเข้าไปได้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ หลายอย่าง รวมถึงหัวใจวาย อาการเส้นเลือดในสมอง และการพัฒนาทางจิตใจที่บกพร่องในเด็ก

หลังจากนักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันมานาน หน่วยงานกำกับดูแลของทางการและอุตสาหกรรม ได้เห็นตรงกันเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดขึ้น และประเทศที่ร่ำรวยได้ห้ามการใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา

ส่วนในประเทศกำลังพัฒนายังมีการใช้น้ำมันผสมสารตะกั่วอยู่ เพราะว่าเชื้อเพลิงชนิดนี้มีราคาถูกกว่าน้ำมันที่ไม่ผสมสารตะกั่ว หลังจากองค์กรเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รณรงค์มาเป็นเวลานานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme--UNEP) น้ำมันผสมสารตะกั่วหยดสุดท้ายจึงถูกเติมเข้าถังน้ำมันของรถยนต์เมื่อไม่กี่เดือนก่อน

แม้ว่าโลกจะกำจัดเชื้อเพลิงผสมสารตะกั่วได้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่มลพิษจากตะกั่วยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมในฝุ่นและดิน ซึ่งสามารถที่จะคงอยู่ต่อไปได้เป็นเวลานาน

บทเรียนสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นข่าวสำคัญ ทุกวันนี้เราแทบไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับรูรั่วในชั้นบรรยากาศโอโซนแล้ว แต่วิกฤตทั้งสองอย่างนี้ก็มีความคล้ายคลึงกัน แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฝนกรดเป็นต้นตอของความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเป็นเวลานาน โดยคนบางส่วนปฏิเสธการมีอยู่ของฝนกรด และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ค้านบรรดานักสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ฟังดูคุ้น ๆ ไหม

ศ.สมอล กล่าวว่า การถกเถียงและการอภิปรายกันเกี่ยวกับฝนกรดคือการฝึกหัดเพื่อเตรียมรับปัญหาที่ซับซ้อนกว่าในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "บทเรียนแรกที่ผมเรียนรู้คือ เราต้องสื่อสารถึงผลการศึกษาให้มีประสิทธิผล ไม่ใช่เพียงแค่ต่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ แต่ต้องสื่อสารต่อผู้กำหนดนโยบายและประชาชนส่วนใหญ่" เขากล่าว

"ถ้าเกิดสุญญากาศด้านข้อมูลข่าวสารขึ้น กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะเข้ามาอุดช่องว่างนั้นทันที"

ศ.สมอล กล่าวว่า สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกในปัจจุบัน เพราะการขยายตัวของโซเชียลมีเดียและการกระจายข้อมูลข่าวสาร

คำบรรยายภาพ,

ยุคน้ำมันผสมสารตะกั่วผ่านพ้นไปแล้ว เป็นการกำจัดภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึงการผลักดันระหว่างประเทศในการกำจัดเชื้อเพลิงผสมสารตะกั่ว ร็อบ เดอ ยอง หัวหน้าหน่วยเคลื่อนที่ยั่งยืนของ UNEP กล่าวว่า บทเรียนสำคัญคือ แนวทางที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน "การรณรงค์เรื่องน้ำมันผสมสารตะกั่วทำให้เกิดความตระหนักรู้ของประชาชนอย่างมาก และได้มีการให้ความสำคัญต่อผลกระทบของเรื่องนี้ต่อเด็ก"

ขั้นตอนต่อไปที่ประชาคมโลกทำเพื่อลดสารเคมีที่ทำลายโอโซนแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อรับมือกับโลกที่ร้อนขึ้น

"การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความซับซ้อนกว่าปัญหาโอโซนมาก เพราะเราไม่มีทางเลือกที่จะใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างที่เรามีทางเลือกที่ใช้แทนสาร CFC ได้" ดร.โจนส์ กล่าว "แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ทำอะไร ปัญหานี้สำคัญอย่างยิ่ง มันเป็นเรื่องใหญ่มาก และพวกเขาจำเป็นต้องแก้ไขมันต่อไป"

"เมื่ออุตสาหกรรมและรัฐบาลต่าง ๆ ร่วมมือกันในอดีต พวกเขาได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามระดับโลกปัญหาหนึ่งได้แล้ว ตอนนี้พวกเขาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้อีก"