หลักเกณฑ์ 10 ข้อ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

        กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจสำคัญในการสนองนโยบายกระทรวงมหาดไทยในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก/วิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมระบบการจัดการทุนของชุมชนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยวิธีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสามารถพึ่งตนเองได้โดยในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาทุนกรมการพัฒนาชุมชนมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในชนบท รวมตัวกันระดมเงินออมเพื่อจัดตั้ง กองทุนของชุมชนในรูป”กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต”เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเงินทุนประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายยามเดือดร้อน        จำเป็นโดยการบริหารจัดการของสมาชิกและช่วยเหลือแบ่งปันกันในชุมชน

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจัดตั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2517 ที่ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้ปรัชญา “ใช้หลักการออมทรัพย์เป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาคน” เพื่อให้เกิดการพัฒนา คุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจในหมู่สมาชิก

ความหมาย

        “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมายถึง การรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการประหยัดทรัพย์ แล้วนำมาสะสมรวมกันทีละเล็กละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการ ลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว(พงษ์นรินทร์ อัสวเศรณี และคณะกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและกิจกรรมเครือข่าย กรมการพัฒนาชุมชน 2541หน้า 8)

หลักการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ และมีประสิทธิภาพจะต้องบริหารจัดการอยู่ภายใต้ คุณธรรม 5 ประการ ดังนี้

1.ความซื่อสัตย์

2.ความเสียสละ

3.ความรับผิดชอบ

4.ความเห็นอกเห็นใจกัน

5.ความไว้วางใจกัน

แนวคิดของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีดังนี้

    1. การรวมคนในหมู่บ้านให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยรวมคนที่มีฐานะแตกต่างกันให้ช่วยเหลือกัน อันจะเป็นการยกฐานะคนยากจน

    2. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุน โดยรวมกลุ่มกันออมเงินแล้วกู้ไปทำทุน

    3. การนำเงินทุนไปดำเนินการด้วยความขยัน ประหยัดและถูกต้อง เพื่อให้ได้ทุนคืนและมีกำไรเป็นรายได้

    4. การลดต้นทุนในการครองชีพ โดยการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาด เป็นการรวมกันซื้อ-ขาย สามารถลดต้นทุนในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค และปัจจัยการผลิต กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เมื่อดำเนินการระดมเงินออมมาได้ระยะหนึ่งจนสมาชิก มีความเข้าใจในการดำเนินงานกลุ่มแล้ว กลุ่มสามารถนำเงินทุนที่มีอยู่มาดำเนินกิจกรรมเพื่อ ช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาของสมาชิกและชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่

            1) ด้านการพัฒนาอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกู้เงิน ไปประกอบอาชีพ ขยายการผลิต และเพื่อใช้เป็นสวัสดิการในครอบครัว โดยการดำเนินกิจกรรม การบริการเงินกู้ 

            2) ด้านการพัฒนาระบบการจัดการทางธุรกิจ เป็นการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เป็นการฝึกการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม และมุ่งหวังผล กำไรเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มและการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน กิจกรรม เชิงธุรกิจที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์สาธิตการตลาดเป็นร้านค้าที่กลุ่มฯ ลงทุนจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงปัจจัยการผลิตให้ กับสมาชิก ยุ้งฉาง เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ลงทุนจัด ขึ้น เพื่อดำเนินการซื้อขายผลผลิตของสมาชิก ด้วยการรับซื้อ ขายฝาก หรือ ฝากขาย ทั้งนี้กลุ่มจะช่วยให้สมาชิกไม่ต้องขายผลผลิตอย่างเร่งด่วน ถูกกดราคา และเป็นการหากำไรให้กับกลุ่มฯ ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่กตั้งกลุ่มดำเนินการ ตามมติของสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาและความต้องการของสมาชิกและชุมชน เช่น 

ปั๊มน้ำมัน เพื่อจัดหาน้ำมันมาบริการแก่สมาชิกและประชาชนในราคายุติธรรม ลานตากผลผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิต มีความชื้น เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง โรงสีข้าว เพื่อแก้ไขปญัหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ โดยแปรรูปเป็น ข้าวสาร และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์โดยใช้รำและปลายข้าว กองทุนปุ๋ยชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาดิน เสื่อมสภาพ การผลิตน้ำดื่มสะอาด โรงแป้งขนมจีน เป็นการฝึกหัดให้กลุ่มรู้จักดำเนินธุรกิจ

            3) ด้านการสงเคราะห์และสวัสดิการ เป็นกิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ สมาชิกและคนยากจนในชุมชน ได้แก่ ธนาคารข้าว เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ดำเนินการเพื่อการสงเคราะห์ ช่วยเหลือโดยการให้กู้ ให้ยืม และให้เปล่า นอกจากนี้กลุ่มฯ นำผลกำไรส่วนหนึ่งจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาช่วยเหลือ สมาชิกที่เดือดร้อนและคืนสู่ชุมชน เช่น การรักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก ช่วยเหลือ การจัดงานศพสมาชิกการสงเคราะห์คนชรา การพัฒนาหมู่บ้านและบำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

    1. ส่งเสริมให้มีการประหยัดและออมเงินในรูปเงินสัจจะ

    2. ให้บริหารเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพและสวัสดิการของสมาชิก

    3. ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดทำเงินทุนด้วยตนเอง

    4. ส่งเสริมให้มีความสามัคคี การทำงานร่วมกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

    5.ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดการเงินทุนของตนเอง

เงินทุนของกลุ่ม

    1. เงินสัจจะสะสมเป็นเงินที่ได้จากการออมของสมาชิกจำนวนเท่าๆกันทุกเดือนตามกำลังความสามารถเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตซึ่งจะจ่ายคืนเงินสัจจะสะสมเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

    2. เงินสัจจะสะสมพิเศษ เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ที่มีเงินเหลือและประสงค์จะฝากเงินได้กับกลุ่ม ซึ่งสามารถถอนเงินออกไปใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนใน รูปแบบดอกเบี้ยตามระเบียบของกลุ่ม

    3. เงินรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าสมัคร/ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ดอกเบี้ย

    4. เงินอุดหนุน จากส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่น ๆ

สมาชิก

สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมี 3 ประเภท คือ

    1.สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัยภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม

    2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ กลุ่ม/บุคคล ภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สนใจและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยไม่ประสงค์จะกู้เงินจากลุ่ม

    3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ข้าราชการ หรือคหบดี ที่สนใจและให้การสนับสนุนกลุ่มโดยไม่หวังผลตอบแทน

หน้าที่ของสมาชิก

1. ส่งเงินสัจจะสะสมเป็นประจำทุกเดือน

2. ส่งคืนเงินกู้ตามกำหนด

3. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม

4. เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี

5. มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม

6. ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ดีแก่กลุ่ม

7. กำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่ม

คณะกรรมการ

คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ มี 4 คณะ ดังนี้

    1. คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 5-9 คน มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการกลุ่มออมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจของสมาชิก ตลอดจนเป็นตัวแทนของกลุ่มในการประสานงาน และติดต่อกับองค์กรภายนอก

    2. คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการพิจารณาให้กู้ – ยืมเงิน ติดตามโครงการ และเร่งรัดหนี้สิน

    3. คณะกรรมการตรวจสอบ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีและผลการดำเนินงาน      ของกลุ่ม

    4.คณะกรรมการส่งเสริมจำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกและระเบียบข้อบังคับของกลุ่มมีหน้าที่ชักชวน ผู้สมัครใจสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์แก่สมาชิกประสานงานระหว่างสมาชิกกับกลุ่ม และกลุ่มกับสมาชิกให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

กิจกรรมของกลุ่ม

    1. กิจกรรมด้านการให้บริการรับฝากเงิน และการกู้ยืมเงิน

    2. กิจกรรมด้านการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก

    3. ขยายเครือข่ายและทำธุรกิจ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด, โรงสี เป็นต้น

    4. กิจกรรมในการพัฒนาสมาชิก เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์

1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงิน และนำเงินไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยลดภาระการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

2. พัฒนาคนให้มีคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน

3. ฝึกประสบการณ์การบริหารเงินทุน ให้กับบุคคลในชุมชน

4. พัฒนาศักยภาพของคนในด้านต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้นำ การปกครอง ตามระบบประชาธิปไตย

5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา คิดและแก้ปัญหาของตนเองด้วยวิธีการทำงานร่วมกัน