Picture this สก ดแผนพ อ ขอป งหน ม full

เผยแพร่: 29 พ.ค. 2556 14:02 โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” ชำแหละงบฯปี 57 ระบุลดขาดดุล 5 หมื่นล้าน แต่สอดไส้ผลักภาระให้ประชาชนแบกแทน 2 เด้งในเดือนตุลาฯ นี้ ทั้งภาษีน้ำมัน ขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม เฉ่ง “ปู” เอื้อธุรกิจอสังหาฯ เหมือนยุค “นช.แม้ว” ที่เอื้อโทรคมนาคม กรีดเป็นรัฐบาลรากหญ้า แต่จัดงบฯ “รวยกระจุก จนกระจาย” ภาคเกษตรกร-แรงงาน รายได้หด ค่าครองชีพสูง หนุนชาวบ้านสร้างหนี้ จำนำข้าวบางกลุ่มรวย ชาวนาเจ๊ง ประกาศยื่นถอดถอน “กิตติรัตน์” ไม่ปฏิบัติตาม กม.กองทุนออมแห่งชาติ ทำประชาชนเสียสิทธิได้บำนาญ ชี้ตั้งงบฯ ปรองดอง 4 ร้อยล้านสูญเปล่า เหตุตั้งโจทย์เพื่อการเมือง แนะอยากปรองดอง ต้องทำ กม.ให้ศักดิ์สิทธิ์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาทเป็นคนแรกว่า การจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มีการขาดดุลลดลง 5 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว 3 แสนล้านบาท (เหลือ 2.5 แสนล้านบาท) นั้น เป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐบาลที่สอดไส้ด้วยการผลักภาระไปให้ประชาชนแบกรับแทน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่สามารถรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ เนื่องจากหลักคิดผิดไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศและเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่รับผิดชอบต่อประเทศชาติ ทั้งๆ ที่การจัดงบประมาณปีนี้เรียกได้ว่าเป็นโอกาสทองของรัฐบาลที่จะใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศชาติ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่ก็น่าผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้ปรับปรุงงบประมาณให้สอดรับกับปัญหาของประชาชนและอนาคตของประเทศที่กำลังจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ รายได้ ทรัพย์สินของประชาชน การสร้างระบบธรรมาภิบาล การรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่การบริหารเศรษฐกิจบนหลักคิดของรัฐบาลเป็นการบริหารที่ทำให้เศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซ้ำเติมคนจน เพราะหลักคิดทั้งหมดเป็นหลักคิดเดิมที่ผิด ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

“ที่รัฐบาลบอกขาดดุลลดลง 5 หมื่นล้านบาทนั้น เมื่อไปดูรายละเอียดพบว่าจะเป็นภาระของประชาชนและเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลเคยแถลงและที่นายกรัฐมนตรีเคยหาเสียงเอาไว้ว่าจะกระชากค่าครองชีพของประชาชนลงมา และหัวใจสำคัญของมาตรการที่จะใช้คือ ยกเลิกกองทุนน้ำมัน วันนี้เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี คำว่า แพงทั้งแผ่นดินติดหูติดปากประชาชนทั้งประเทศ ของขวัญที่ประชาชนจะได้รับคือ จะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซลในเดือนตุลาคม ลิตรละ 1.50 บาท หมายความว่าประชาชนที่ใช้น้ำมันดีเซลจะจ่ายเพิ่มขึ้น 1.50 บาท สิ่งที่จะตามมาคือน้ำมันดีเซล จะสูงเกิน 30 บาท จะมีการขึ้นราคาค่าขนส่งและสินค้าเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันดีเซลราว 2 หมื่นล้านลิตร ดังนั้นเมื่อเพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท ก็เท่ากับประชาชนต้องจ่ายเพิ่มในส่วนนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท”

ผู้นำฝ่ายค้านฯ อภิปรายว่า ของขวัญชิ้นที่ 2 คือ การขึ้นราคาแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน ที่มีการเลื่อนมาเป็นระยะ ทั้งที่แก๊สหุงต้มเป็นความจำเป็นในชีวิตและประชาชนใช้ไม่มากกว่าปริมาณแก๊สที่นำขึ้นมาจากทรัพยากรของชาติ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ในราคาที่ขายให้คนอื่นแต่ควรใช้ในราคาต้นทุน รัฐบาลกลับจะปรับให้เท่ากับภาคขนส่ง และปรับให้เท่าภาคอุตสาหกรรม คือ 30 บาทต่อกิโลกรัม หมายความว่าปีหน้าประชาชนต้องจ่ายค่าแก๊สแพงขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งในแต่ละปีประชาชนใช้ประมาณ 3,000 ล้านกิโลกรัม เท่ากับต้องจ่ายเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รวมกับที่ประชาชนต้องจ่ายค่าน้ำมันดีเซลเพิ่มเท่ากับประชาชนมีภาระเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น แนวทางการบริหารด้านการคลังของรัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่กับความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ใช้หลักคิดงบประมาณด้วยการเอาเงินไปให้ประชาชนกู้แล้วเป็นหนี้ ทำให้เกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย”

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จากสถิติรายได้ทั้งเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ภาคการเกษตรไตรมาสที่ 3 ปีที่แล้วลดลง ร้อยละ 4.2 ไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 0.6 ไตรมาสแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 2.2 สาเหตุที่ลดลงเพราะความล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องพืชผลทางการเกษตร ทั้งที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากในการจำนำผลผลิตการเกษตร ระบบที่ฝืนตลาดทำลายอนาคตพืชผลทางการเกษตรของไทย รัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ตัวเองมากกว่าการแก้ปัญหาให้เกษตรกร เคยปลูกข้าวไว้กิน ขาย แต่ตอนนี้ปลูกไว้เก็บ ปลูกไว้ดู

ส่วนค่าแรง 300 บาท ที่รัฐบาลหวังว่าจะทำให้กำลังซื้อประชาชนดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ประกอบการก็มีวิธีการที่จะอยู่รอด ทำให้มีการลดสวัสดิการอื่นมารวมเป็นค่าจ้างให้ครบ 300 บาท สภาพัฒน์สำรวจพบชั่วโมงการทำงานลดลง ทำให้รายได้ของผู้ใช้แรงงานลดลง แต่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วย

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการจัดงบด้านการศึกษาว่า ไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องการปรับปรุงระบบการศึกษา แต่กลับกำหนดงบประมาณซื้อรถตู้ 1 พันคัน รองรับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา รวมถึงมีการลดงบวิจัยไปถึงร้อยละ 20 สะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษา และการพัฒนาเพื่อวางรากฐานให้กับประชาชน เพราะยังมุ่งส่งเสริมการเป็นหนี้ ทั้งที่ควรส่งเสริมให้ประชาชนออมเงิน แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว จนมีคนเสียสิทธิ์ ซึ่งพรรคจะยื่นถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง เพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนอยากได้บำนาญของประชาชนคืนมา

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตัดสวัสดิการชุมชน ที่รัฐบาลที่แล้วส่งเสริมเรื่องการออมโดยสมทบเพิ่มให้ร่วมกับท้องถิ่น แต่รัฐบาลนี้กลับตัดงบประมาณ และไม่ได้พยายามที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง โดยไม่ออกกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่ดิน ไม่สานต่อโฉนดชุมชน ในขณะที่ธนาคารที่ดิน ถูกตัดงบประมาณจากปีที่แล้ว 48 ล้านบาท เหลือแค่ 17 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับมีกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น การพัฒนาที่ดินราชพัสดุเพียง 1 แปลง ซึ่งยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ใช้เงินถึง 1,500 ล้านบาท เทียบกับจัดงบ 17 ล้านบาทให้กับธนาคารที่ดิน ที่จะช่วยเหลือคนจนในเรื่องที่ดินทำกิน ก็ต้องถามว่านี่หรือคือรัฐบาลเพื่อคนจน

“ฝ่ายค้านรับหลักการการจัดงบประมาณแบบนี้ไม่ได้ โดยเพราะนโยบายด้านพลังงาน ที่ทำให้คนจนเสียโอกาส แบกภาระมากขึ้น แต่ ปตท.รวย ธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กที่หากินกับรัฐบาลรวย มีคนรวยจากจำนำข้าว แต่ไม่ใช่ชาวนา ส่วนเมกะโปรเจกต์สร้างคนรวยเพิ่มจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธรุกิจอสังหาริมทรัพย์ ในยุคนี้ก็เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคม สมัยพี่ชายนายกรัฐมนตรี ที่นำไปสู่การรวยกระจุก จนกระจาย”

ส่วนการจัดงบฯ เรื่องปรองดอง 421.8 ล้านบาท และจัดงบปฏิรูปกฎหมายกว่า 8 หมื่นล้านบาท ตนคิดว่าถ้าอยากจะปรองดอง อยากปฏิรูปกฎหมายควรเริมต้นจากการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ก่อน จะเป็นใครฝ่ายไหนก็ตามยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หลักการให้อภัยเป็นเรื่องของอนาคต เพราะชาวบ้านทำผิดกฎหมายไม่มีโอกาสหนีไปต่างประเทศ ไม่มีโอกาสออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันก่อน

“ผมทราบว่ารัฐบาลมีโครงการปรองดอง โดยบอกเป็นการพูดจาหาทางออกประเทศไทย แต่ผมติดใจว่าการอบรมวิทยากรที่สรุปมา 9 ประเด็น ไม่พูดถึงนักการเมือง คุณธรรม จริยธรรม หรือการทุจริตคอร์รัปชัน แต่พูดถึงความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศ การตัดสินของศาล ตุลาการภิวัฒน์ การรัฐประหาร บทบาทของทหารในการจัดการความขัดแย้ง ตามโจทย์ที่รัฐบาลมอบให้ และมีการเขียนถึงต้นตอความขัดแย้งมาจากการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ไม่พูดว่ามีขบวนการจาบจ้วงบ่อนทำลายสถาบันเกิดขึ้น ไม่พูดว่ามีคนไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ไม่บอกว่ามีความพยายามเพิ่มอำนาจตัวเองลดทอนอำนาจของศาล ผมจึงคิดว่าอย่าเสียงบประมาณ 400 กว่าล้านบาทเลย เพราะถ้าทำอย่างนี้ก็ยากที่จะปรองดองได้ ควรมาคุยเรื่องความจริงที่เกิดขึ้นดีกว่า”