การปล อยต วช วคราว ช นสอบสวน ม ต วอย ในอำนาจศาล

เผยแพร่: 15 ธ.ค. 2556 23:41 โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดดการรายวัน- รัฐบาลเปิดเวที เชิญพวกเดียวกันมาถกปฏิรูปก่อน-หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. ชูธงลงสัตยาบันปฏิรูปหลังเลือกตั้ง ขณะที่ตัวแทน ภท.หวั่นเลือกกันบนความขัดแย้ง "เจษฏ์" ตอกรัฐบาลตระบัดสัตย์ ขอคืนร่างแก้ รธน. ทั้งที่เคยเสียงแข็งอ้างทำไม่ได้ "วีรพัฒน์" อวดภูมิเลื่อนเลือกตั้งไม่ได้ นำประเทศสู่วิกฤตแน่ ด้านนปช.ประสานเสียงต้องรักษากติกา ก่อนผสมโรงทำประชาพิจารณ์ ฉีก รธน. "ปลัด กห." อ้าง ผบ.เหล่าทัพหนุนให้มีการเลือกตั้งก่อน "นิติธร"จ่อบุกสถานทูตสหรัฐ-บก.ทบ. "ยะใส" จวกเวทีปาหี่ เบี่ยงเบนกระแสปฏิรูปฯ "สุเทพ"จวกปลัดกลาโหมบิดเบือน อ้างทหารต้องการให้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป เตือน"ยิ่งลักษณ์"ถ้าประชาชนต้องมาชุมนุม 10 ล้านคน "ชินวัตร"จะต้องออกนอกประเทศทั้งตระกูล เตรียมระดมมวลชนครั้งใหญ่อีกรอบ

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (15ธ.ค.) ที่ห้องโลตัส ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงานเชิญผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ตัวแทนรัฐบาล ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์

ตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย นายโสภณ ซารัมย์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ และนายทรงศักดิ์ ทองศรี จากพรรคภูมิใจไทย นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม จากพรรคพลังชล ร.ต.ประภาส ลิมปพันธ์ จากพรรคชาติพัฒนา ทพ.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา จากพรรคมาตุภูมิ และตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน

ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชน อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

ตัวแทนข้าราชการพลเรือน อาทิ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอำพน กิตติอำพน เลขธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ตัวแทนรัฐวิสาหกิจ อาทิ นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนายการธนาคารออมสิน นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ตัวแทนกองทัพ ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม และตัวแทน นักวิชาการจากหลายสถาบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับการเชิญ แต่ไม่ได้มาเข้าร่วม ได้แก่ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทน กปปส. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นพ.ประเวศ วสี ราษฎรอาวุโส และ ส.ว.สรรหา เป็นต้น

ในช่วงต้นของการเสวนา นายธงทอง ได้ทำหน้าที่ผู้ควบคุมการประชุม และกล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า บ้านเมืองขณะนี้อยู่ในสภาวะที่เกิดวิกฤติ และเกิดความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย แต่โดยตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะได้มีการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายมีโอกาสมาร่วม แสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน เวทีนี้ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ประสานงานเชิญบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการกำหนดให้ผู้ใดเป็นประธาน ไม่มีใครชนะ ไม่มีใครแพ้ สำหรับประเทศไทยมีประชากรจำนวน 67 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของประเทศ เวทีนี้คงไม่สามารถเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด หรือแสดงความคิดเห็นได้ครบถ้วน ดังนั้น จึงได้เชิญผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อช่วยกันเสนอและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

** แนะปฏิรูปฯคู่ขนานเลือกตั้ง

หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น คนละ 5 นาที โดยมีความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนขอเสนอทางออก ดังนี้ 1. จัดประชุมหารือฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกให้กับปัญหา 2. ตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยจะทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ 3. ให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำสัตยาบัน เคารพกติการ่วม และยอมรับผลการเลือกตั้ง และ 4.ใช้เวทีเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศ พร้อมกับทำประชามติต่างๆ

ทั้งนี้ การที่ใครบางคนบอกว่าให้หยุดการเลือกตั้ง เพื่อปฏิรูปประเทศนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ในส่วนของการปฏิรูปประเทศอยากจะให้มีการจัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปประเทศไทยขึ้นมา ที่แยกออกจากส่วนราชการ ทำงานคู่ขนานการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง และอยากให้ออกพระราชบัญญัติ เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของผู้แทนราษฎร สมาชิกฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อผ่านฉันทามติจากทุกภาคส่วน แล้วจะมีการผลักดันออกเป็นกฎหมาย

** ส.ว.ขอนแก่นแนะแก้รธน.ทั้งฉบับ

ด้านนายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะข้อเสนอต่างๆ ในขณะนี้จากหลายฝ่ายเป็นข้อเสนอที่ไปคนละทิศละทาง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ระหว่างที่นายประเสริฐ กำลังแสดงความคิดเห็นอยู่ ปรากฏว่า นายพงศ์พิชาญ ธนาถิรพงษ์ ซึ่งเคยขับรถแท็กซี่บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาหลายครั้ง ได้เข้ามาในห้องประชุม และเดินปรี่ไปยังหน้าเวที ที่มีนายธงทอง นั่งอยู่ พร้อมตะโกนว่า “ผมมาขอความเป็นธรรม”สร้างความงุนงงให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบตัวแล้วหิ้วออกจากห้องประชุมไป

ต่อมาเมื่อนายประเสริฐแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น นายธงทอง จึงแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่า เหตุการณ์เมื่อสักครู่ ไม่เกี่ยวกับการเสวนาในวันนี้ เพียงแต่มาร้องทุกข์ความเป็นธรรมเรื่องส่วนตัว

**เลื่อนเลือกตั้งไป 1 ปีรอปฏิรูปเสร็จ

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า อยากเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน 1 ปี ซึ่งเป็นเรื่องทำได้หากรัฐบาลเปิดใจกว้าง เหตุผลเพื่อดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งการปฏิรูป ต้องมีการปรับโครงสร้างทุกด้าน ที่ผ่านมารัฐบาลจัดเวทีปฏิรูปแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า และหากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 ถ้าพรรคใหญ่บางพรรคไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็อาจเกิดปัญหา ดังนั้น การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อที่ทุกภาคจะได้ส่วนเกิดความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเที่ยงธรรม นายเจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า มองว่าการรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน แต่ประชาธิปไตยที่ปราศจากความเข้าใจของประชาชน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเช่นกัน เราควรมาหาทางออกร่วมกันโดยไม่ต้องจำกัดว่าวันเลือกตั้งจะต้องเป็นวันที่ 2 ก.พ.57 แล้วมาดูว่าประเด็นใดบ้าง ที่บอกว่าทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างรัฐบาลชุดนี้ ยืนยันหนักแน่นว่าไม่สามารถทูลเกล้าฯขอพระราชทานคืนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่อง แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. การทำหนังสือขอพระราชทานคืนกลับมา เมื่อยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใดที่จะสามารถทำให้ขอคืนมาได้ แต่ขณะนี้ได้คืนมาแล้ว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกมาตรา คิดว่าทุกคนรู้ว่า การตีความตามถ้อยคำตัวอักษรเป็นการตีความอย่างหนึ่ง ตีความตามเจตนารมณ์ก็เป็นการตีความอย่างหนึ่ง และกฎหมายทุกฉบับที่ออกมาล้วนออกมาให้ใช้ได้ทุกมาตรา และบทบัญญัติ ถ้าหากใช้ไม่ได้ต้องแก้ไข ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าสิ่งที่เข้าใจมันใช่หรือไม่

**ลงสัตยาบันปฏิรูปหลังเลือกตั้ง

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายอิสระ กล่าวว่า การที่กลุ่ม กปปส.เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามรัฐธรรมนูญด้วยการตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งภายใน 45 -60 วัน หลังมีพ.ร.ฎ.ยุบสภา หากเราไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าเราทำขัดรัฐธรรมนูญกันเองหรือไม่ ซึ่งหากการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 เลื่อนออกไป ตนขอเตือนคนไทยว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะอันตราย จะเป็นการทำให้ประชาคมโลกเห็นว่าเมืองไทยมีข้อยกเว้นได้เสมอ ขณะที่ระบอบทักษิณ ที่ กปปส. อ้างถึงจะเกิดขึ้นจริงเพราะประเทศไทยมีข้อยกเว้นเสมอ หาก กปปส.ต้องการที่จะขจัดระบอบทักษิณต้องเคารพรัฐธรรมนูญ

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตนเคยสนับสนุนตาม ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พูดว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างสุจริตยุติธรรม ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ได้ และเราสามารถทำได้ตอนนี้เลย แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเป็นแบบเฉพาะหน้า 2 - 3 เดือน โดยให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกันว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นการเลือกตั้งเฉพาะกิจ ใครได้เป็นรัฐบาลจะอยู่ไม่ถึง 4 ปี ไม่ว่าพรรคไหนชนะ จะต้องยุบสภาภายใน 2 ปี ระยะที่สอง ใครได้เป็นรัฐบาล จะต้องเริ่มกระบวนการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งต้องไม่เป็นแบบปกติ ต้องเสนอให้เห็นว่า จะปฏิรูปประเทศอย่างไร นอกจากนี้ ทางกปปส. ยังสามารถมาสมัครเลือกตั้งทัน หากมีข้อกังวลว่า การเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ ตนขอเสนอว่าให้ไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 10 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจเข้มงวดกว่าทุกครั้ง และมาตรา 25 ให้มีภาคเอกชนเข้าไปดูแลช่วยเหลือกกต.ได้ และระยะสุดท้าย เข้าสู่แผนการปฏิรูประยะยาว ที่ต่อเนื่องและผูกมัดทุกรัฐบาล

** อย่าเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้ง

นายโสภณ ซารัมย์ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จุดยืนของพรรคภูมิใจไทย คือ เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่เราไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งบนความขัดแย้ง ขณะนี้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในทุกระดับ จึงเสนอให้ทุกฝ่ายสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าคนที่มีอำนาจในขณะนี้ไม่รู้สึกว่าประเทศกำลังป่วย ก็ยากที่จะรักษาให้กลับสู่ความสงบสุขได้ ตนอยากให้ผู้มีอำนาจในประเทศตระหนักว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องช่วยให้ประเทศพ้นวิกฤติ ขณะที่พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครลงเลือตั้ง และเห็นว่าส่วนที่ควรปฏิรูปโดยเร็วที่สุดคือ นักการเมือง เพราะนักการเมืองสร้างความขัดแย้งต้องช่วยกันดับ ถ้าได้นักการเมืองที่ดีประเทศจึงจะเดินได้

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ที่ผ่านมาความผิดพลาดเกิดจากรัฐบาลส่งผลให้กลุ่มบุคคลหนึ่งออกมาแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาดจนเป็นปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ ที่ผ่านมาความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือดจาก 2 พรรคหลัก เพื่อจะเอาชนะ ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไร ซึ่งได้ทำลายทุกอย่างลง แต่ส่วนนี้ได้เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่ลงมายังท้องถนน เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งนี้คือ พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย แต่คุณภาพของพรรคการเมืองกลับลดลง ฉะนั้น ตนขอเสนอการปฏิรูปครั้งนี้ ต้องปฏิรูปที่พรรคการเมืองให้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง ที่เติบโตเท่าเทียมกับประชาชนที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว และประชาชนสามารถเสนอความเห็นได้เข้าไปยังนโยบายของพรรคได้

**ปชป.อย่าบอยคอตเลือกตั้ง

นายโคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและศึกษาพัฒนาสันติวิธี มหาลัยมหิดล กล่าวว่า ขอบคุณ กปปส.ที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวทางการเมือง การปฏิรูปการเมืองต้องทำให้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง ตนอยากเห็นกระบวนการปฏิรูปเป็นกระบวนการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และต้องเป็นรูปธรรม ว่าจะปฏิรูปอย่างไร ส่วนจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งนั้น เรื่องนี้เป็นการกระบวนการต่อเนื่อง ต้องเอาจริงเอาจังตลอดเวลา อะไรทำได้ก่อนและเร็วขอให้ทำ อะไรทำได้ช้าหน่อยขอให้ทำ แต่ขอให้เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ และขอเสนอว่า นโยบายเฉพาะหน้าอย่าเป็นจ่าเฉยซื้อเวลาคือ ทำเหมือนเหตุการณ์เป็นปกติ และพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็อย่าบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้

นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมืองควรจะมีการรักษากฎหมายก่อน และเห็นว่าการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น จะทำไม่ได้ การที่นำมวลชนออกมาชุมนุม ถือเป็นแค่เสียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเทียบไม่ได้กับเสียงของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เห็นว่าหากจะทำการปฏิรูป จะต้องใช้เวลาและทุกคนทุกฝ่ายต้องเคารพกิการประชาธิปไตย นอกจากนี้ การปฏิรูปการเมืองโดยปฏิเสธพรรคการเมือง นักการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

**ทหาร-แก๊งแดงหนุนเลือกตั้ง 2 ก.พ.

พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม 3 ข้อ ดังนี้ว่า 1. พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม กำหนดให้กระทรวงกลาโหมคือ กองทัพพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย 2. สถานการณ์การเมืองขณะนี้ กองทัพโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ยืนยันที่จะปฏิบัติอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ นี่คือ จุดยืนของกองทัพ และ 3. จากการเสวนาที่กองบัญชาการกองทัพไทย ผบ.สส. มีเจตนารมย์ที่จะให้กองทัพได้แสดงบทบาทในการรับใช้ และพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ได้พูดกันในเวทีนั้นเป็นเรื่องที่พี่น้องทั้งประเทศจะพิจารณาตัดสิน

“ให้คิดและพิจารณาเอา ซึ่งหลังการเสวนาจบลง ผบ.สส. และผบ.เหล่าทัพ ได้ตอบคำถามที่ทุกคนอยากรู้ ซึ่งท่านได้ตอบแล้วว่า กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 และตนอยากแถมท้ายว่า ผบ.สส.ได้ปรารภว่า มีกำลังทหารกว่า 4 แสนนาย ถ้าห่วงใยว่าการเลือกตั้งจะไม่บริสุทธิ์ ก็ส่งสัญญาณในทำนองว่า พร้อมที่จะร่วมมือทำให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ และยุติธรรม”ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าว

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เปิดโอกาสให้ ตัวแทนจากพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองได้แสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ยังเป้นข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้ง หรือให้เลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงทำเรื่องปฏิรูปการเมือง โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า แม้ว่า นปช.ไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พร้อมทำประชาพิจารณ์ไปพร้อมๆ กันว่าประชาชนต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า แม้ว่าเลือกตั้งแล้วอาจจะยังคงมีปัญหา แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ประเทศนี้จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ใหญ่อย่างไม่เคยประสบมาก่อน โดยความคิดที่เชื่อกันว่าเลือกตั้งแล้ว จะมีการทุจริตนั้นก็มี กกต. ควบคุมแล้ว และใครที่เชื่อว่ารัฐบาลรักษาการจะชนะเลือกตั้ง ให้พิจารณจากรัฐบาลรักษาการชุดที่ผ่านมาก็แพ้ได้ ดังนั้นต้องยึดตามรัฐธรรมนูญคือต้องมีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น มีนายกฯ คนกลางไม่ได้

นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน และในอนาคตอันใกล้นี้ยังมีความขัดแย้งที่รุนแรงรออยู่อีก เชื่อว่าสงครามกลางเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย คำถามคือเราควรจะทำอย่างไร ในฐานะพรรคการเมืองเราเชื่อตามกฎหมายและเตรียมการเลือกตั้งแล้ว จึงขอเสนอว่าก่อนการเลือกตั้งควรคุยกันว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกได้ ระหว่างการเลือกตั้งให้กองทัพลงมาดูเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น หลังการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองทุกพรรคร่วมกันทำนโยบาย นายทรงศักดิ์ ทองศรี ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย พร้อมเลือกตั้งแต่ต้องมีบรรยากาศที่พร้อมเลือกตั้งด้วย ลองคิดกันดูว่าบรรยากาศประเทศไทยมันพร้อมแล้วหรือไม่ ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอมรับกติกา ดังนั้นเราควรมาคุยกันเรื่องกติกาให้จบลงก่อนหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่เกิดจากนักการเมือง เชื่อว่าถ้าทำให้จบแล้วค่อยเลือกตั้งประชาชนทุกฝ่ายจะยอมรับได้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปฏิรูป ต้องใช้เวลามากจะมาปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งคงไม่ได้ นั่นเพราะกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ถ้าจะปฏิรูปซึ่งต้องใช้เวลานานก็เท่ากับต้องฝ่าฝืนกฎหมายไปด้วย ส่วนข้อเสนอให้รัฐมนตรีลาออก กฎหมายก็กำหนดไว้ว่ารัฐมนตรีต้องเป็นรัฐมนตรีรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ส่งเสริมให้จงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ

“การปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปการเมือง หนีไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ เพื่อปลดล็อกในเรื่องจำนวนคน”นายจาตุรนต์ กล่าว

**พงศ์เทพแบไต๋ เลือกตั้งก่อนปฏิรูป

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาทางออกประเทศไทยว่า รู้สึกเสียดาย เพราะรัฐบาลตั้งใจว่าจะนำความคิดเห็นของเวทีนี้ไปปรับแนวทางของตัวเอง ทั้งนี้ ตนเห็นว่า การปฏิรูปต้องใช้เวลาหลายปี แต่กลไก เช่น การกำหนดโครงสร้างการเมืองหรือกระบวนการเลือกตั้งให้โปร่งใส ยุติธรรม สามารถขับเคลื่อนได้ภายใน 2 ปี จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกันในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อพรรคใดได้เป็นรัฐบาล ก็ให้เริ่มเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เมื่อครบ 2 ปีให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่

**ฝ่ายความมั่นคงพร้อมช่วยเหลือ กกต.

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคง จะรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจให้ความร่วมมือในการที่จะนำไปสู่เป้าหมายคือการเลือกตั้ง และช่วยอำนวยความเรียบร้อย ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากได้รับการร้องขอ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการพิจารณา

สำหรับสถานการณ์การชุมนุมจะยังยืดเยื้ออยู่ แต่ปริมาณผู้ชุมนุมจะลดน้อยลง จะถึงปีหน้าหรือไม่ ต้องดูที่การรณรงค์ของ กปปส. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยถอยลงมาก จากการประเมินข้อเท็จจริงช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา ช่วงเช้าจะเหลือเพียงประมาณพันกว่าคน หากเฉลี่ยไปตามจุดต่างๆ จะมีแค่ไม่กี่ร้อยคน และในช่วงเย็น จากเดิมที่มีจำนวนมากตอนนี้ น้อยลงแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเข้าใจและรู้ทันสถานการณ์ กำลังใช้ดุลยพินิจว่าจะเดินไปทางไหน

ส่วนการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศจะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57นั้น ตนคิดว่า จะต้องต่อสู้กันในแง่การให้ความเข้าใจกับประชาชน ส่วนที่ คปท.จะไปยึดกองทัพบก และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยนั้น ถือเป็นกลยุทธ์ ยอมรับว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของไทย แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะไม่มีประชาชนเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย

** เย้ยมวลมหาประชาชนไม่พอมือ"แดง"

นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า กรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่าไม่ต้องการเลือกตั้งขณะนี้ เพราะจะมีการโกงและทุจริตว่า ถือเป็นความคิดที่เป็นพิษ สกปรก ขัดขวางการพัฒนาการเมือง พูดโดยไม่มีสมมติฐานการเมือง เพราะผลวิจัยล่าสุดการเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 พบว่าภาคที่มีการใช้เงินมากที่สุดคือภาคใต้ และวันนี้เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ชาวบ้านบอกเลยว่าไม่ต้องให้เงินก็จะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะทำประโยชน์ให้กับเขา

"ระบอบทักษิณ คือความศรัทธาของคนรากหญ้า ไม่มีทางทำลายลงได้นอกจากต้องล้างสมอง หรือฆ่าคนไทยให้หมด นายสุเทพบอกว่าถ้านายกฯ ลาออกจากรักษาการ ทุกอย่างจะจบ คงไม่ใช่ ถ้านายสุเทพ หยุดทำตัวเป็นปัญหาต่อบ้านเมือง ทุกอย่างถึงจะจบ หยุดทำตัวเป็นนักเลงโต เสียสละเพื่อชาติบ้าง วันนี้ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่มันปริ่มๆแล้ว ถ้าถึงจุดระเบิดมวลมหาประชานชนของคุณไม่พอรับมือแน่นอน" นายประชา กล่าว

**คปท.ขู่บุกสถานทูตสหรัฐฯ-บก.ทบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ธ.ค. นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวปราศรัย บนเวทีสะพานชมัยมรุเชฐ ถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา ว่า “ฟังไว้นะครับ ผมเป็นนักกฎหมายผมทราบดี ถ้าเข้าไปในพื้นที่คุณ เขาใช้กฎหมายของคุณ ถือเป็นดินแดนคุณ แต่ถ้าคุณมีการเลือกปฏิบัติกับคนไทย ประเทศไทย คุณบอกว่าประชาชนวันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมไม่เลือกตั้ง แต่เกิดแบบเดียวกันอีกประเทศหนึ่ง มันบอกประชาชนทำถูกต้อง เดี๋ยวจะเข้าไปเหยียบในดินแดนสถานทูตอเมริกา ไปเหยียบมันหน่อย

เอาชัดๆ นะครับ สถานทูตอเมริกาฟังไว้นะครับ ผมจะบุกเข้าไปยึดสถานทูตคุณครับ อ้างนักหนา หลักสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย วันนี้ไม่แหกตาดู รัฐบาลเป็นเผด็จการ สภาเป็นทรราช ยังไปสนับสนุนอยู่ได้อย่างไร ฉะนั้นวันนี้คุณต้องให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนคนไทย ไม่ใช่ห่วงแค่ตั้งฐานทัพ เอาก๊าซเอาน้ำมันจากคนไทย เป็นเพราะคุณนั่นแหละ รัฐบาลชั่วนี้ถึงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้”

นอกจากนี้ นายนิติธร ยังกล่าวถึงกองทัพด้วยว่า “วันนี้ถ้าเป็นทหารไทยอยู่ภายใต้จอมทัพไทย ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านต้องเลือกข้าง ไม่ต้องเลือกข้างผม แต่ต้องเลือกข้างความถูกต้อง และผมมั่นใจประชาชนที่นี่ถูกต้อง และก่อนที่ผมจะบุกไปสถานทูตอเมริกา พี่น้องทหารฟังผมชัดๆ คราวที่แล้วผมไป บก.ทบ. ก็ให้เกียรติ แค่เข้าไปถามจุดยืน เข้าแล้วออก แต่หลังจากนี้พี่น้องรอวัน ว. และ เวลา น. ยึดกองทัพบก แล้วไม่ต้องออก ชุมนุมมันข้างใน และนอกจากกองทัพบกแล้ว จะเข้าไปยึดกองทัพไทยด้วย เข้าไปสอนเรื่องการปฏิรูป การรักประเทศ การเสียสละเพื่อประเทศชาติ เตรียมให้พร้อมกำหนดวัน ว. เวลา น. แล้วเริ่มทันที”นายนิติธร กล่าว

** จวกเวทีปาหี่ปฏิรูป เบี่ยงเบนกระแส

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า เวทีปฏิรูที่จัดขึ้นโดยภาครัฐ ที่ศูนย์ประชุแห่งชาติศิริกิติ์ เป็นแค่ปาหี่ปฏิรูป ที่พรรคเพื่อไทยออกแบบเพื่อเบี่ยงเบนกระแสปฏิรูปที่ร้อนแรง และเข้มข้นจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ทำให้กระแสปฏิรูปประเทศกลายเป็นวาระแห่งชาติในขณะนี้

การจัดเวทีของภาครัฐโดยพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ มีเจตนาฉกฉวยสถานการณ์ เพราะกลัวตกขบวนปฏิรูป แต่เป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า กลับไม่คิดจะปฏิรูป ซ้ำร้ายยังหาช่องทางรื้อรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาปนาระบอบทักษิณและออกกฎหมายฟอกผิดคนโกง รวมทั้งการปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ปาหี่เวทีปฏิรูป จัดขึ้นเพื่อบอกว่าสนับสนุนปฏิรูป แต่ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ และพูดถึงอุปสรรคขัดขวางการปฏิรูปโดยเฉพาะระบอบทักษิณ ที่ทำลายกระบวนการปฏิรูปเมื่อปี พ.ศ. 2540 และรัฐบาลนอมินียิ่งลักษณ์ ที่ละเมิดหลักนิติรัฐทำตัวหนือรัฐธรรมนูญ นายสุริยะใส กล่าวว่า ไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่อยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ฉะนั้นการปฏิรูป ต้องทำให้เสร็จเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หากเราปล่อยให้มีการเลือกตั้งก่อน ค่อยมาทำการปฏิรูปจะไม่มีทางสำเร็จ เราจะได้การ "ปฏิเละ" แทน เพราะการปฏิรูป ก็จะถูกครอบงำโดยระบอบทักษิณต่อไป เราคงเห็นการเขียนกฎหมายและรื้อรัฐธรรมนูญ เพื่อรวบอำนาจและฟอกผิดให้คนโกงอีกตามเคย

ทั้งนี้ กระบวนการปฏิรูปจึงต้องหลุดพ้นจากระบอบทักษิณและมอบอำนาจการปฏิรูปให้อยู่ในมือประชาชนเท่านั้น

**ประชาคมสธ.ย้ำปฏิรูปฯก่อนเลือกตั้ง

ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ชมรมรองบริหารโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมนักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลชุมชน ชมรมเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมเทคนิคการแพทย์ชุมชน ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย ร่วมกันจัดทำข้อเสนอต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประชาชนในชาติ สิ่งที่เป็นหลักการคือ เราจะก้าวข้ามความแตกแยก การเลือกฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตรงกัน ที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศไทยและการเมือง คือ ระยะสั้น เรื่องของกติกาการเลือกตั้งต้องแก้ไขโดยเร็ว ที่จะให้มีการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม มีการวางระบบการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะเน้นกลไกการตรวจสอบ การทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากนี้ ต้องมีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปการเมืองและประเทศไทย ก่อนการเลือกตั้งโดยต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบสำนักนายกฯ หรือพระราชกำหนดก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์จากข้อสรุปในเรื่องของการปฏิรูป จะต้องผูกมัดกระบวนการนิติบัญญัติและกระบวนการบริหารในอนาคต ภายใต้การลงนามสัตยาบันของพรรคการเมืองทุกพรรคว่าหลังจากได้มีการปฏิรูปชัดเจนแล้วให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในกฎกติกาใหม่ดังที่มีการปฏิรูป

ต้องมีการสร้างกลไกของประชาคมสาธารณสุข เพื่อติดตามการปฏิรูปให้เป็นไปตามข้อตกลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการกำกับติดตามให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในระบบ ทั้งในระยะสั้นโดยชาวสาธารณสุขและ อสม.ในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และในระยะยาวจะสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในการบริหารจัดการภายในกระทรวงสาธารณสุขทั้งในการบริหารงบประมาณและการบริหารงานบุคคล

**นักธุรกิจสีลมชู 7ประเด็นปฏิรูปฯ

วานนี้ (15 ธ.ค.) ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย สีลมสีเขียว ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 12 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย สีลมสีเขียว ซึ่งแถลงการณ์ในเรื่องร่วมสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง “ก่อน”การเลือกตั้ง โดยระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะได้ผ่านการปฏิรูปทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังมีกระบวนการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสร้างความเสียหายให้กับประเทศ จนเป็นเหตุมวลมหาประชาชนได้ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองกันมากมายทั่วประเทศชมรมนักธุรกิจ จึงขอแถลงจุดยืนสนับสนุน ให้สังคมไทยได้นำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น มาหาทางออกเป็นรูปธรรม โดยมีการปฏิรูปเพิ่มเติมในบางประเด็นดังต่อไปนี้

1. โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีการกระจายอำนาจ โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และมีการแบ่งสรรงบประมาณให้เป็นอำนาจของจังหวัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายสิทธิ และกระจายอำนาจสำหรับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

2. กระบวนการยุติธรรม และการป้องกันการทุจริต เพื่อแก้ไขการทำผิดกฎหมายแบบนอมินี การกระทำทุจริต และการทำผิดกฎหมายที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายกับประเทศชาติอย่างมากมายหลายกรณี โดยการใช้ตัวแทนหรือนอมินี (Nominee) ในการกระทำแทน เช่น การซุกหุ้น การบริหารราชการผ่านผู้นำหุ่นเชิด กระบวนการทุจริตจำนำข้าว การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อครอบครัวผู้นำ เป็นต้น

3. ศาลสื่อมวลชน ในช่วงการเลือกตั้ง การเผยแพร่ “ข้อมูลเท็จ”และ “ความเท็จ”ผ่านสื่อสารมวลชนที่ผ่านมา เป็นต้นเหตุของความแตกแยกในหมู่พี่น้องปวงชนชาวไทย เพราะ “ความจริง”ย่อมมีหนึ่งเดียว แต่ “ความเท็จนั้น”แล้วแต่จะแต่งขึ้น และเมื่อผ่านสื่อ ย่อมสร้างความแตกแยกในแผ่นดิน เพียงคดีหมิ่นประมาท ไม่อาจเยียวยาความแตกแยกในสังคมได้ จึงควรมีกระบวนการเร่งวินิจฉัย ให้โอกาสผู้เสียหายตอบโต้

3.1. หากศาลตัดสินว่า ข้อมูลที่นำเสนอเป็นความจริงอยู่แล้ว ก็ไม่มีโทษ

3.2. หากศาลตัดสินว่า ข้อมูลที่เสนอเป็นความเท็จ และทำให้เกิดความเสียหาย สื่อสารมวลชนนั้น จะต้องมีการนำข้อเท็จจริงกลับไปเผยแพร่เพื่อแก้ไขข้อมูลเท็จนั้นๆ ผ่านสื่อนั้นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อความจริงที่ถูกต้อง หากสื่อมวลชนนั้นไม่ปฏิบัติ ก็ให้ยุติการออกอากาศหรือการเผยแพร่ของสื่อมวลชนนั้นต่อไป โดยทุกฝ่ายอาจยื่นต่อศาลได้ ทั้งจากพรรคการเมือง หน่วยงานราชการ หรือภาคประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเผยแพร่ของสื่อสารมวลชนนั้น

4. การเปิดเผยงบประมาณที่จะต้องใช้รองรับนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมกำกับไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบต่อการสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชนและลูกหลาน พรรคการเมืองจะต้องนำเสนอภาระหนี้จากการขาดดุลงบประมาณ จากโครงการต่างๆ รวมกัน และระบุในการหาเสียงด้วย โดยรัฐบาลจะไม่สามารถก่อหนี้ได้ เกินกว่าที่ได้เปิดเผยไว้ตอนหาเสียง เว้นแต่มีสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเห็นชอบโดยรัฐสภา และไม่มีคำสั่งยับยั้งโดยศาลปกครอง

5. การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมือง จะต้องแสดงความจริงใจในการบริหารงานผ่านรัฐสภา พรรคการเมืองจะต้องแสดงจุดยืนถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐสภา เช่น แนวทางการตอบกระทู้ของผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านแนวทางการออกกฎหมาย และการรับฟังความเห็นต่างในการออกกฎหมาย การรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภา เป็นต้น

6. การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องเสนอ “ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”ในระบอบประชาธิปไตย ในอารยประเทศทั่วโลก ผู้บริหารราชการแผ่นดิน เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและมีอำนาจระดับสูงสุดในการบริหารราชการ จะมีการแข่งขันวิสัยทัศน์ที่โปร่งใส เพื่อแสดงนโยบาย และตอบข้อซักถาม แต่ละพรรคการเมืองจึงควรส่ง “ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”อย่างโปร่งใส โดยอาจเลือกผู้จัดรายการจากแต่ละฝ่ายร่วมกันก็ได้ และเพื่อเป็นการได้ “ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” หากพรรคการเมืองใดส่ง “ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” โดยมีเสียงของผู้แทนในสภาผู้แทนต่ำกว่า 1 ใน 10 จะมีผลให้ตำแหน่ง ส.ส.ของพรรคนั้นเป็นโมฆะ

7. แก้ปัญหา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งในสังคมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จะต้องมีการทำให้ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ นี้ไม่สามารถกลับมาสร้างปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมได้อีก

** เทือกจวกปลัดกห.อ้างทหารให้เลือกตั้ง

เมื่อเวลา20.30 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ปราศรัย ที่เวทีราชดำเนิน โดยกล่าวถึงเวทีระดมความเห็นที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ว่าเป็นเวทีมีที่การเตี๊ยมกันไว้แล้วว่า จะต้องมีบทสรุปว่า ต้องมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. แต่เท่าทีฟังดู มีหลายคนที่กล้าหาญที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล โดยบอกว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และขอยกย่อง คุณกังวาล พุทธิวนิชย์ ที่เอาป้ายไปโชว์หน้าเวที ว่า "เอ็งออกไป ประเทศมีทางออกเอง"

ขณะเดียวกันก็อยากตำหนิ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม ที่พูดเป็นคนสุดท้ายก่อนพักเที่ยง ว่า ผบ.เหล่าทัพ พูดตรงกันว่า ทหาร สนับสนุนให้ไปเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศ ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ 1 วัน ที่ตนไปพบกับ ผบ.เหล่าทัพ เขาไม่ได้พูดอย่างนี้ ที่ปลัดกระทรวงกลาโหม ต้องพูดอย่างนี้ เพราะทักษิณ สั่งมาว่า ให้เอาคนนี้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่อาวุโสน้อย จึงต้องพูดตามใบสั่ง

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ แกนนำเสื้อแดงกล่าวหาว่าทหาร อยู่ข้างเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในการฆ่าคนเสื้อแดง แต่ตอนนี้กลับพยายามเอาทหารมาเป็นพวก ทั้งที่ทหารเขาบอกแล้วว่า ทหารเป็นกลาง อยู่ข้างประเทศไทย การที่ พล.อ.นิพัทธ์ พูดเช่นนี้ ทำให้ประชาชนสับสนว่า ทหารอยู่ข้างรัฐบาล ทั้งที่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าทหารอยู่ข้างรัฐบาล ป่านนี้ผู้ชุมนุมเละ อยู่ไม่ได้แล้ว และทหารไม่ได้อยู่ข้างประชาชน เพราะถ้าอยู่ข้างประชาชนทหารปฏิวัติไปแล้ว แต่ประชาชนไม่ต้องการให้ทหารปฏิวัติ เพราะประชาชนจะดำเนินการเอง ดังนั้นขอให้ประชาชนเข้าใจว่า คำพูดของ พล.อ.นิพัทธ์ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เกี่ยวกับผู้บัญชาการเหล่าทัพใดๆทั้งสิ้น

**ปชช.มา10ล้าน"ชินวัตร"ไปทั้งตระกูล

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า มีคนมาท้าว่าถ้านำประชาชนมาได้ 10 ล้าน นายกฯยิ่งลักษณ์ จะยอมลาออกนั้น ขอบอกว่าถ้าประชาชนมาชุมนุม 10 ล้านคน ตระกูลชินวัตร ต้องออกนอกประเทศไทยทั้งตระกูล ดังนั้นขอแนะนำคุณยิ่งลักษณ์ ควรลาออกจากรักษาการนายกฯ ไม่ต้องให้ประชาชนมาไล่ และอย่าหวังว่าประชาชนจะไปเลือกตั้ง เพราะเขาต้องการปฏิรูปการเมือง แก้กฎหมายเลือกตั้งก่อนจึงจะมีการเลือกตั้ง เพื่อล้างระบอบทักษิณ ถ้ายังดึงดันจะเลือกตั้ง เชื่อว่า จ.สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ จะไม่มี ส.ส. ครบตามจำนวน เพราะถ้ากกต.จังหวัด ไม่ไปรับหีบเลือกตั้ง ไม่รับบัตรเลือกตั้ง จะเลือกตั้งได้อย่างไร จะได้ส.ส.ครบได้อย่างไร ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ จะมีการระดมใหญ่อีกครั้ง เพื่อล้างระบอบทักษิณ .