กร นเนอร ร สอร ท เขาใหญ ม ห องพ กจำนวน

ผู้บริหารนสพ.จับมือต้านภัยมืด "สนธิ"เรียกร้องเอกภาพสื่อ

เผยแพร่: 6 ต.ค. 2548 16:23 โดย: MGR Online

ผู้บริหารหนังสือพิมพ์รวมตัว ต้านภัยคุกคาม ชี้ สื่อไม่ได้สู้กับใครในรัฐบาล แต่สู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม เสรีภาพของสื่อ คือ สิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน "สนธิ" ชี้ ถ้าทักษิณ ชนะ ต่อไปใครว่านายกฯไม่ได้ เรียกร้องสื่อเป็นเอกภาพ ยามเพื่อนถูกรังแก อย่าถือเขาถือเรา เอาข่าวไปซุกไว้หน้าใน

วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เชิญประชุมผู้บริหารระดับสูง และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เรื่อง “สถานการณ์สื่อมวลชนในปัจจุบัน” ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดาบรรณาธิการ และผู้บริหารหนังสือพิมพ์ทั้งจากส่วนกลาง และภูมิภาคเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน นายบุญเลิศ ช้างใหญ่ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ จากหนังสือพิมพ์มติชน, นายพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการอำนวยการบริษัท โพสต์ ทูเดย์, นางผานิต พูนศิริวงศ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า, นายประกิต ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

นางชุติมา บูรณะรัชดา จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, อ้วน อรชน จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ รวมทั้งคุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชน นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช., นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศก็สนใจเข้าทำข่าวดังกล่าวด้วย โดยทางสภาการฯ ได้มีการแจกสมุดปกขาว “ความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการใช้กฎหมายหมิ่นประมาท” ซึ่งมีเนื้อหาสาระสรุปการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทย ที่สภาการหนังสือพิมพ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2547

สำหรับผู้บริหารหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นร่วมกันว่า จำเป็นที่สื่อหนังสือพิมพ์จะต้องสร้างเอกภาพร่วมกันในการนำเสนอข่าว หากมีกรณีฟ้องร้องสื่ออันเกิดจากการทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ หรือรักษาผลประโยชน์สาธารณะแล้วเรียกค่าเสียหายเกินความจริง จึงควรมีการทำความเข้าใจกับสังคมว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อถือเป็นสิทธิในการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน รวมทั้งควรได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับศาลยุติธรรมเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชน

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ต้องประชุมเพราะสถานการณ์สื่อปัจจุบัน สังคม และผู้มีอำนาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อ โดยมองกว่าเราต้องต่อสู้กับกลุ่มบุคคล หรือรัฐบาล ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงสื่อทำหน้าที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมทั้งปวง ระยะหลังผู้มีอำนาจรัฐปฏิเสธความคิดเห็นที่แตกต่างของสังคม พยายามทำลายความเชื่อถือของสื่อหนังสือพิมพ์ โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมาใช้ เช่น ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องร้อง คุกคาม ทำให้เกิดความกลัว โดยหวังให้สื่อระงับยับยั้งการเสนอข่าว รวมทั้งมีการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายที่เกินกว่าที่ควรจะเป็น ตั้งแต่ระดับร้อยล้านถึงหมื่นล้าน ถือว่าเป็นการคุกคามและครอบงำสื่อ

“นอกจากนี้ยังมองเห็นภาพว่าอำนาจตุลาการที่เปรียบเหมือนตาชั่งคานอีก 2 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ เวลานี้กำลังมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะเข้าแทรกแซง ทั้งจากการปรับโครงสร้าง และท่าทีของ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รมว.ยุติธรรม ที่ออกมาพูดเรื่องผู้ต้องหา รวมทั้งพยานหลักฐานเกี่ยวกับกรณีภาคใต้ในลักษณะเชิงชี้นำ ทำให้คิดว่าอำนาจตุลาการจะบันดาลความยุติธรรมให้ได้แค่ไหน”

ด้าน นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า ปัญหาที่สื่อเผชิญขณะนี้คือ 1.การถูกคุมคามสิทธิเสรีภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย เพราะหากสื่อไม่มีเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลมานำเสนอ ประชาชนก็จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วน 2.มีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อ โดยกล่าวหาว่าชอบบิดเบือนความจริง และผูกขาดความรักชาติแต่เพียงผู้เดียว 3.กลุ่มธุรกิจการเมือง โดยพยายามครอบงำธุรกิจสื่อ และในเร็วๆ นี้สภาการฯ จะมีการระดมความคิดเห็นอีกครั้งเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทมาปิดปากสื่อ เพื่อที่จะผลักดันให้นำไปสู่การแก้ไขต่อไป

ขณะที่ อ้วน อรชน จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กล่าวว่า ไม่กลัวเรื่องแทรกแซงสื่อ แต่กลัวเรื่องแทรกแซงศาล เพราะถ้าศาลถูกแทรกแซงแล้วสื่อตายแน่ และจากประสบการณ์พบว่าแต่ละคดีได้รับการปฏิบัติจากศาลแตกต่างกัน จึงน่าที่จะมีการพูดคุยกับศาลเพื่อขอทราบว่ามีบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับสื่ออย่างไร

ส่วน นายเทพชัย หย่อง บก.เครือเนชั่น กล่าวว่า สถานการณ์สื่อในขณะนี้เรียกว่าเข้าสู่วิกฤต ซึ่งคิดว่าในการหาทางออก คือ 1.ผู้บริหารสื่อ หรือเจ้าของ เมื่อเกิดการคุกคามสื่อก็ควรที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานว่าผู้บริหาร และเจ้าของยืนยันที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมา 2.จะต้องมีการทำความเข้าใจกับสังคมถึงความเป็นเอกภาพของสื่อ เพราะขณะนี้สังคมยังเคลือบแคลงว่าสื่อมีเอกภาพแค่ไหน แม้แต่นักการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่มักจะพูดถึงสื่อว่า “ฉบับนี้ไม่เป็นไรรู้จัก คุยกันดี” ซึ่งถือเป็นการตอกลิ่มให้สังคมเกิดความรู้สึกว่าสื่อถูกแทรกแซงจากรัฐได้จริงๆ จึงต้องแสดงให้สังคมเห็นว่าแม้จะถูกคุกคาม แต่สื่อที่ทำหน้าที่ตรวจสอบยังมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ด้าน นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวว่า โดยส่วนตัวถือว่าไม่มีครั้งไหนที่การถูกคุกคามจะดุเดือดและน่ากลัวเท่าครั้งนี้ เพราะการต่อสู้ของสื่อในยุคเผด็จการจะชัดเจนว่าถ้าก้าวข้ามเส้นแบ่งนี้ไปก็มีสิทธิ์ที่จะถูกปิด แต่ในยุคนี้มีการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ หรือบางครั้งก็มาในรูปแบบแอบแฝง เช่น การเข้าซื้อหุ้นมติชน ถือว่าน่ากลัวมาก และขณะนี้มีการนำเอากฎหมายหมิ่นประมาทมาเล่นงานสื่อ ทำให้เกิดความหวาดผวา อย่างกรณีที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องร้อง ตรงนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องสื่อในฐานะที่เป็นนายกฯ โดยเขาอ้างว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งถ้าผลของคดีนี้ออกมาในเชิงได้เปรียบก็จะเป็นบรรทัดฐานว่าต่อไปใครจะวิจารณ์นายกฯ ไม่ได้

“ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่าสื่อจะต้องมีจุดยืนในเรื่องการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการครอบงำสื่อ จึงต้องผลักดันกระบวนทัศน์ และวิสัยทัศน์ในกระบวนการยุติธรรมให้เข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารนั้นถือเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพการรับรู้ของประชาชนด้วย และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันอยากให้สื่อแสดงความเป็นเอกภาพในการเสนอข่าวที่สื่อถูกรังแกในพื้นที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์พร้อมกันทุกฉบับ ไม่ใช่นำเสนอหลบอยู่ภายในฉบับ 3-4 บรรทัด และที่สำคัญเห็นว่าควรที่สภาการหนังสือพิมพ์จะได้รวบรวมคำพิพากษาที่เกี่ยวกับการที่สื่อถูกฟ้องร้อง ไม่ว่าจะชนะ หรือแพ้ แล้วตั้งคณะทำงาน หรือทนายจะวิเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดีต่อไป” นายสนธิ กล่าว

ขณะที่ นายชาญชัย สงวนวงศ์ จากข่าวหุ้นธุรกิจ กล่าวว่า สื่อต้องเข้าใจให้ทันว่าอำนาจรัฐวันนี้ต่างจากอำนาจรัฐในอดีต เพราะเป็นทั้งผู้คุมกฎ และผู้ประกอบการทั้งในระบบ และนอกระบบ อย่างในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีคนๆ หนึ่งหัวใส เข้าไปเทกฯหุ้นเน่าๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยพยายามเพิ่มมูลค่าด้วยการปล่อยข่าวว่าจะมีกลุ่มทุนเข้ามาลงทุน จนทำให้หุ้นมีกำไรขึ้นมา สุดท้ายก็เทขายได้เงินมาราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งเงินนี้ถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา แล้วบุคคลดังกล่าวก็เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ทางการเมือง ส่วนการฟ้องร้องสื่อนั้น โดยส่วนตัวเคยถูกฟ้องร้อง 12 คดีวงเงิน 4 พันกว่าล้าน แต่ที่แปลกใจคือโจทก์ที่ฟ้องมีแค่ 4 ราย จึงชัดเจนว่าฟ้องเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เสนอข่าว ซึ่งสงสัยว่าถ้าจะฟ้องกลับบ้างจะทำได้หรือไม่ จะผิดต่อจารีตประเพณีหรือไม่

ส่วน นายบุญเลิศ ช้างใหญ่ จากหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสื่อในขณะนี้นั้นเหมือนตั้งใจว่าจะฆ่ากันให้ตาย เอาให้ไม่มีเงินไปซื้อโลงเผาตัวเอง ซึ่งในยุคที่อำนาจรัฐกับอำนาจทุนภายใต้รัฐบาลนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่อยากเสนอ คือ 1.การฟ้องร้องสื่อที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรม ถือเป็นการกลั่นแกล้ง หากกฎหมายเปิดช่อง สื่อควรที่จะฟ้องร้องกลับ เพื่อเรียกค่าเสียหายคืน 2.ควรมีคณะกรรมการเพื่อความเป็นธรรมของวิชาชีพขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือสื่อที่ไมได้รับความเป็นธรรม 3.ควรสร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับบุคคลสาธารณะที่ประชาชนได้เลือกเข้ามาว่า ต้องเป็นคนที่ใจกว้าง รับฟังความเห็นแตกต่างได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องให้คนอื่นเข้ามา