ประเทศใดอยู่เขตภาคเวลาเดียวกับประเทศไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ การเปลี่ยนเวลาของนาฬิกาในประเทศไทยให้เร็วขึ้นอีก 18 นาที กับ 2.7 วินาที และได้ใช้กันเป็นเวลามาตรฐานมาจนทุกวันนี้

ในสมัยโบราณคนไทยกำหนดเวลากันอย่างคร่าวๆ เป็นต้นว่าเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เรียกว่า ย่ำรุ่ง เวลาพระอาทิตย์อยู่ตรงศรีษะเรียกว่า เที่ยงวัน เวลาพระอาทิตย์ตกเรียกว่า ย่ำค่ำ และเวลากึ่งกลางระว่างย่ำค่ำกับย่ำรุ่งเรียกว่า เที่ยงคืน

ครั้นเมื่อทางราชการทหารเรือได้ตั้งกรมอุทกศาสตร์ขึ้น มีที่ทำการอยู่ในบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ได้มีเครื่องวัดแดด (พระอาทิตย์) และมีนาฬิกาใช้ ทำให้การกำหนดเวลามีความละเอียดยิ่งขึ้นเป็นชั่วโมง นาที และวินาที มีความถูกต้องแม่นยำเป็นอย่างดี และได้กำหนดว่าเวลาของประเทศไทย (วัดที่บริเวณพระราชวังเดิม) เร็วกว่าเวลาที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ อยู่ 6 ชั่วโมง 41 นาที 58.2 วินาที

ต่อมากรมอุทกศาสตร์ได้ย้ายออกมาตั้งอยู่ภายนอกพระราชวังเดิม และพิจารณาเห็นว่าจัดตำบลที่ยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี เป็นตำบลซึ่งกรมแผนที่ได้คำนวณมีหลักฐานแน่นอนถูกต้องกว่าบริเวณพระราชวังเดิมซึ่งใช้อยู่แต่ก่อน จึงได้ย้ายมาตรวจวัดแดด ณ บริเวณพระปรางค์นี้ ดังนั้นเวลาของประเทศไทย (วัดที่ยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม) จึงกำหนดให้เร็วกว่าเวลาเมืองกรีนิช 6 ชั่วโมง 41 นาที 57.3 วินาที และทางราชการได้กำหนดให้เวลานี้เป็นเวลายิงปืนเที่ยงในพระนคร และเป็นเวลาที่ใช้ปฏิบัติกันทั่วประเทศ

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2427 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีประเทศต่างๆ ประชุมปรึกษากันเป็นครั้งแรกเพื่อจะกำหนดเวลาที่ใช้สำหรับประเทศต่างๆ ให้นับห่างกันเพียงกึ่งชั่วโมง เพื่อให้สะดวกแก่การที่จะคิดคำนวณ และสังเกตได้ง่าย ทั้งนี้เรียกกำหนดเวลาดังกล่าวว่า เวลาอัตรา

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2462 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการประชุมว่าด้วยอุทกศาสตร์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รัฐบาลไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมครั้งนั้นด้วย ที่ประชุมได้ตกลงกันแบ่งเขตหรือภาคของเวลาออกเป็นส่วนๆ ทั่วโลก ประเทศใดตกอยู่ในส่วนใดก็ใช้เวลาของส่วนนั้นตลอดไป และได้กำหนดให้ตำบล ณ หอตรวจดาวที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นจุดแรกแห่งการกำหนด และเรียกว่า เวลามาตราฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time หรือย่อเป็น GMT) ส่วนภาคของเวลามีกำหนดด้วยเส้นแวง (ลองจิจูด) ภาคละ 15 องศา ซึ่งคิดเป็นเวลาเท่ากับ 1 ชั่วโมง (โลกเป็นเสมือนวงกลมจึงแบ่งเป็น 360 องศาเส้นแวง และโลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้นในเวลา 1 ชั่วโมง โลกจึงเคลื่อนที่ไป 15 องศา

ประเทศไทยมีอาณาเขตอยู่ระหว่างเส้นแวง 97.5 องศาตะวันออก กับเส้นแวง 105 องศาตะวันออก ซึ่งถ้ากำหนดใช้เวลาอัตราตรงเส้นแวง 97.5 องศาตะวันออก ผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะเป็นเวลาก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช 6 ชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้ากำหนดใช้เวลาอัตราตรงเส้นแวง 105 องศาตะวันออก ผ่านจังหวัดอุบลราชธานีจะเป็นเวลาก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชั่วโมงพอดี

เพื่อความสะดวกประเทศไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนมาใช้เวลาอัตราหรือเวลามาตราฐานสำหรับประเทศไทย เป็นเวลา ก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช 7 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2463 ดังประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา และแจ้งความกระทรวงทหารเรือ ณ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2462 ดังต่อไปนี้


พระราชกฤษฎีกาให้ใช้เวลาอัตรา

มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

ด้วยวิธีนับเวลาที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แต่โบราณมาก็คงใช้เวลานาฬิกาแดด ถือเอาเวลาอาทิตย์อยู่ตรงกลางฟ้าระหว่างขอบฟ้าทิศตะวันออกกับตะวันตกเป็นประมาณ ที่เรียกว่ามัชฌันติกสัย เป็นเวลากำหนดใช้ในที่นั้นๆ แล้ว อาไศรยดูเงาอาทิตย์เป็นประมาณอย่างหยาบๆ ว่าเช้าสายเที่ยงบ่ายเย็นเป็นเวลาที่ต่างกันนับด้วย 2 ฤๅ 3 ชั่วโมง เช่นนั้นแล้ว ถ้าแม้นว่าเวลาจะผิดกันไปสักชั่วโมงหนึ่ง ก็ยังไม่ใคร่จะรู้สึกว่าผิดเวลามากนัก เวลานาฬิกาแดดจึงไม่เสมอเท่ากันทุกวันไปได้

#ads-text#

แต่ครั้นเมื่อมีเครื่องมือที่จะวัดสอบให้ละเอียดลงไป จนถึงนาที และวินาทีแล้วก็เห็นได้ชัดว่าเวลานาฬิกาแดด ฤๅเวลามัชฌันติกสัยนั้นไม่เที่ยงตรงกันแท้แทบทุกวันเพราะเหตุว่าวิถีโคจรแห่งอาทิตย์นั้นเดินปัดขึ้นเหนือและปัดลงใต้ ต่างจากเส้นศูนย์กลางรอบโลกถึงข้างละ 23 องศากึ่งอย่างหนึ่ง และเพราะเหตุว่าโลกเดินรอบอาทิตย์เร็วและช้าไม่เสมอกัน ตามวิถีโคจรที่ใกล้หรือไกลจากอาทิตย์ มีประมาณว่าเวลาตกนิตย์ในเดือนมกราคมเดินเร็วที่สุดแล้ว เวลาขึ้นอุจในเดือนมิถุนายนก็เดินช้าที่สุด

เพราะเหตุ 2 ประการนี้ จึงต้องคิดมีนาฬิกากล ที่คิดเฉลี่ยเวลาทั้งรอบปีหนึ่งแบ่งเป็นเวลามัธยมกาล ประมาณให้เสมอว่าวันละ 24 ชั่วโมง สมมุตว่ามีดวงอาทิตย์เดินเสมอเท่ากันทุกวันเป็นมัธยมอาทิตย์เวลานาฬิกาแดด ฤๅเวลาอาทิตย์ปรากฎเป็นมัชฌันติกสัยจริงนั้น จึงอาจจะเร็วไปกว่าเวลานาฬิกากล ฤๅมัธยมกาลนั้นได้ถึง 17 นาที เป็นอย่างมาก และช้าไปได้ถึง 14 นาทีเป็นอย่างมาก

ยังมีเวลาอีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าเวลาดาว คือ สังเกตดาวฤกษ์คืนหนึ่งเลงดูว่าอยู่ที่แห่งใดแล้วกำหนดนับไว้ดูสอบอีกคืนหนึ่งในที่ซึ่งเลงแลแห่งเดียวกันแล้ว จะมีกำหนดเสมอเหมือนกันทุกวันไปเป็นเวลานาฬิกามัธยมกาล 23 ชั่วโมง 56 นาที กับ 4 วินาที เวลานี้เที่ยงตรงอยู่เสมอทุกวัน ด้วยเหตุว่าเป็นเวลาโลกหมุนรอบหนึ่งเสมอเท่ากันทุกวันไป ไม่มีช้าเร็วกว่ากันที่จะสังเกตเห็นได้เลย แต่เวลานี้ใช้กันอยู่แต่ในการเดินเรือและในโหราศาสตร์

เวลานาฬิกาแดด, มัธยมกาลและเวลาดาวทั้ง 3 อย่างนี้ ก็ใช้ตามท้องที่ซึ่งตั้งอยู่ต่างกันไปตางลองติจูด คือกำหนดนับว่ารอบโลกไปทางตะวันออกตะวันตกเป็น 360 องศาแล้ว ถ้าตั้งอยู่ห่างกัน 15 องศา เวลาท้องที่ซึ่งตั้งอยู่ต่างกันนั้น ก็จะผิดแปลกกันถึงชั่วโมงหนึ่ง ในมัธยมกาล ถ้าจะประมาณอย่างหยาบๆ ก็กล่าวได้ว่า ท้องที่ซึ่งตั้งกันอยู่ห่างสัก 700 เส้น ก็เป็นเวลาที่จะผิดแปลกกันได้นาทีหนึ่ง

ถ้าทางรถไฟเดินทางตะวันออกตะวันตกแล้ว ก็จะมีเวลาผิดกันได้ถึงนาทีหนึ่งไปทุก ๆ 27 กิโลเมตรเศษ

อีกประการหนึ่งเมื่อจะใช้เวลาเดินรถไฟ ฤๅเดินเรือที่จะนับตามเวลาท้องที่ ซึ่งมีเศษนาทีต่างๆ กัน ก็เป็นการยากในทางที่จะคำนวณคิดบอกเวลาต่างๆ กันไปได้มากมายนัก

เพราะเหตุที่จะปลดเปลื้องความยากลำบากในการที่จะคำนวนเวลาที่ต่างๆ กันอยู่ ไม่ใช่แต่เพียงประเทศ จนชั้นตำบลต่างๆ ในประเทศเดียวกันก็ยังผิดกันได้อย่างนี้นานาประเทศจึงได้ประชุมกันปรึกษา เมื่อ พ.ศ.2427 เป็นครั้งแรก เพื่อจะให้กำหนดเวลาลงใช้สำหรับประเทศต่างๆ นั้น ให้นับห่างกันเพียงกึ่งชั่วโมงไป เพื่อให้เป็นการสดวกแก่การที่จะคิดแลสังเกตได้ง่าย ถ้าประเทศใดมีอาณาเขตร์กว้างขวางไปทางทิศตะวันออก ตะวันตกมากกว่ากึ่งชั่วโมงก็ให้กำหนดใช้เวลาที่ให้เรียกว่า เวลาอัตรานั้นต่างๆ กันได้หลายเวลาอย่างเช่นใช้อยู่ในอเมริกานั้นได้

ครั้นต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2462 นี้ นานาประเทศได้แต่งผู้แทนไปประชุมกันที่ลอนดอนว่าด้วยอุทกศาสตร์ กรุงสยามก็ได้เข้าในประชุมนี้ด้วย ได้ปรึกษาตกลงกันว่าทุกประเทศที่ชุมนุมกันนั้นจะคิดอ่านใช้เวลาอัตรานี้ด้วย

กรุงสยามมีอาณาเขตกว้างทางตะวันออกตะวันตกเพียง 8 องศาเป็นอย่างยิ่ง คือ เวลาประมาณ 32 นาที ควรจะกำหนดใช้เวลาอัตรานั้นเป็นเวลาอย่างเดียวกันได้ เพื่อจะให้ถูกต้องตามสัญญากับนานาประเทศ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2463 สืบไปให้ใช้เวลาอัตราสำหรับกรุงสยามทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลากรีนิชในเมืองอังกฤษ... แจ้งความกระทรวงทหารเรือ

ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 16 มีนาคม พระพุทธศักราช 2462 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เวลาอัตรา 7 ชั่วโมงก่อนเวลาเมืองกรีนิชทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พระพุทธศักราช 2463 เป็นต้นไปนั้น ในวันที่กล่าวนี้ เจ้าพนักงานจะได้ยิงปืนสัญญาเวลาเที่ยงซึ่งได้เคยยิงอยู่โดยเวลามัธยมกาลสำหรับกรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง 41 นาที 57.3 วินาที ก่อนเวลากรีนิชนั้น เร็วขึ้น 18 นาทีกับ 2.7 วินาที เพื่อให้เป็น 7 ชั่วโมงถ้วนก่อนเวลาเมืองกรีนิชตามพระราชกฤษฎีกา แลคงให้สัญญาเวลาเที่ยงโดยอัตรานี้สืบไป

กระทรวงแลกรมใดหรือบริษัทวาณิชคณะใดมีหน้าที่ให้กำเนิดนาฬิกาปรารถนาจะให้สอบตั้งนาฬิกาให้ถูกต้องเสียแต่ก่อนกำหนดใช้เวลาอัตรานี้ จงส่งพนักงานหรือผู้แทนไปทำความตกลงกับเจ้าพนักงานกองอุทกสาตรทหารเรือ ณ ที่ทำการในพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี

ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว http://www.kingvajiravudh.org

หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น

บันทึก/เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2553

อ่าน ใช้งาน บทความเวลามาตรฐานประเทศไทย 023 แล้ว เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)   4.93★ จาก 89 รีวิว