ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

แนวคิดพ่อปกครองลูกหาได้มีที่บ้านเราทีเดียวเท่านั้น ฝรั่งเขาก็มี โดยเฉพาะที่อังกฤษ จะต่างกันตรงที่ของเราอ้างว่ามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่เพิ่งมารู้จักกันในช่วงต้นรัตนโกสินทร์และมาชัดเจนในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหลวงวิจิตรวาทการ ส่วนของอังกฤษ เขาเริ่มสร้างแนวคิดนี้ขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเจ็ด ถือเป็นของใหม่ในขณะนั้น ผู้นำเสนอคือ เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์โดยเขาตีความมาจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

จากการที่นักคิดนิยมปิตาธิปไตยยืนยันว่า อำนาจของกษัตริย์หรือผู้ปกครองเป็นอำนาจแห่งปิตานุภาพ โดยไม่จำเป็นว่าผู้ปกครองหรือกษัตริย์พระองค์นั้นจะต้องเป็นทายาทสายตรงของอาดัม อีกทั้งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการปกครองอะไร ผู้ปกครองย่อมมีอำนาจแห่งปิตานุภาพเสมอ  ส่งผลให้ผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมต้องมีอำนาจแห่งปิตานุภาพนี้ด้วย  และจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองใดก็ตาม  ผู้ปกครองย่อมมีอำนาจแห่งปิตานุภาพเสมอ ด้วยฟิลเมอร์ยืนยันไว้ว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนๆเดียวปกครองในฐานะกษัตริย์-ราชาธิปไตย หรือกลุ่มคณะบุคคลเป็นผู้ปกครองในแบบอภิชนาธิปไตย หรือมหาชนปกครองในแบบประชาธิปไตย  อำนาจการปกครองของผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นคนเดียว กลุ่มคนหรือมหาชนล้วนเป็นสิทธิอำนาจอันชอบธรรมตามกฎธรรมชาติปิตานุภาพที่เป็นอำนาจสูงสุด”

และแม้ว่าข้อความของฟิลเมอร์จะฟังดูประหลาดๆสำหรับคนจำนวนไม่น้อยทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ถ้าพิจารณาให้ดี จะพบว่า อำนาจทางการเมืองสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยในรัฐสมัยใหม่ก็ถูกคาดว่าให้ถูกใช้ไปเพื่อดูแลประชาชนทั้งมวลให้อยู่ดีมีสุข ตอบสนองความต้องการต่างๆ ให้สวัสดิการและบริการสาธารณะทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม ทั้งนี้มิพักต้องกล่าวถึงเผด็จการและสังคมนิยมที่มีอำนาจทางการเมืองถูกคาดว่าให้จัดการดูแลประชาชนในทุกๆเรื่อง  ไม่ว่าผู้ใช้อำนาจนั้นจะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี และแน่นอนว่ายิ่งเป็นราชาธิบดีก็ยิ่งชัดเจนมาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าสำรวจประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองของอังกฤษอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า ฟิลเมอร์มิได้เป็นต้นกำเนิดความคิดปิตาธิปไตยดังกล่าว เพราะแนวคิดนี้ถือเป็นความเชื่อปรกติทั่วไปในสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งอยู่แล้ว  ดังที่ปรากฏในงานของซาราเวีย (Adrian Saravia: 1531-1613)  ซาราเวียได้กล่าวในปี ค.ศ. 1593 ในทำนองเดียวกันกับฟิลเมอร์ว่า “บทปฐมกาล (the Book of Genesis) ในคัมภีร์ไบเบิลได้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจสูงสุดเริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดมนุษย์ และใครก็ตามที่ศึกษาประวัติศาสตร์อันศักดิ์สิทธิ์ในไบเบิลอย่างจริงจังจะรับรู้เข้าใจอย่างง่ายดายทันทีว่า ผู้สืบสานเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุคแรกล้วนเป็นกษัตริย์องค์แรกๆของมนุษยชาติ” ความเป็นพ่อและความเป็นกษัตริย์นั้นมีที่มาเดียวกัน ซึ่งมันได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ชัดว่า ในสภาวะแรกเริ่มหรือในสภาวะธรรมชาตินั้น ผู้คนไม่ได้เลือกให้ใครเป็นผู้ปกครอง แต่ผู้คนยอมรับอำนาจของผู้ปกครองผู้เป็นพ่อต่างหาก

จะเห็นได้ว่า แนวคิดปิตาธิปไตยต้องการชี้ว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่ที่มาของอำนาจการปกครองจะมาจากฉันทานุมัติหรือการสมัครใจเลือกของผู้คนในสภาวะแรกเริ่มตามสมมุติฐานของนักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่สำนักสัญญาประชาคมอย่างฮอบส์ ล็อกและรุสโซ เพราะอำนาจของผู้ปกครองเกิดจากการยอมรับตามธรรมชาติ และการยอมรับนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะตามกฎแห่งธรรมชาติ ผู้เป็นบุตรย่อมต้องยอมรับการดูแลปกครองของผู้เป็นบิดา และเมื่อผู้ปกครองหรือกษัตริย์พระองค์แรกผู้ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆสิ้นชีวิตลง สิทธิอำนาจในการแต่งตั้งผู้สืบสานก็มิได้ต้องตกทอดมาสู่บรรดาผู้ใต้ปกครองของเขาหรือบรรดาลูกๆของเขาเสมอด้วย “สิทธิพิเศษหรือพระราชอำนาจของผู้ที่เป็นต้นตระกูลได้ให้สถานะความเป็นกษัตริย์หรือผู้ปกครองแก่ผู้ที่เกิดมาคนแรก ยกเว้นว่าผู้เป็นพ่อของเขา---อันเป็นผู้ซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด จะใช้มันไปในทางใดก็ตามแต่” นั่นคือ กษัตริย์สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงการสืบทอดอำนาจตามแต่ที่เขาต้องการ หากเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลง การสืบสานอำนาจก็เป็นไปตามกฎที่ให้บุตรชายคนโตของเขาขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากเขา

งานของซาราเวียมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างทฤษฎีปิตาธิปไตยของฟิลเมอร์ในเวลาต่อมา มีหลักฐานบ่งชี้ว่า มีผู้อ่านหนังสือของเขาพอสมควรในช่วงทศวรรษ 1640  หนึ่งในผู้นิยมความคิดของเขาคือ บิชอบวิลเลียมแห่งออสโซรี ผู้เป็นหนึ่งในอนุศาสนจารย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง (Charles I: 1600-1649) ในปี ค.ศ. 1644  เขาได้ยกข้อความในหนังสือของซาวาเรียมาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนอำนาจตามธรรมชาติแห่งปิตานุภาพของการปกครองของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง   แต่กระนั้นก็ตาม เพียงอีกห้าปีต่อมา  พระองค์ก็ถูกพิพากษาตัดสินว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน และถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการตัดพระเศียรในวันอังคารที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 !

น่าสังเกตว่า แนวคิดเรื่องพ่อปกครองลูกของไทยที่เชื่อกันว่าเป็นทั้งคติและแนวทางในการปกครองของพ่อขุนผู้ปกครองในสมัยสุโขทัยนั้นมิได้อ้างอิงที่มาของอำนาจจากพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด และก็มิได้สนใจที่จะต้องหาคำอธิบายที่มาหรือต้นกำเนิดของตัวแนวการปกครองด้วย  ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงการเทียบเคียงลักษณะการใช้อำนาจของผู้ปกครองกับความเป็นพ่อ ขณะเดียวกัน แนวคิดพ่อปกครองลูกของไทยกลับได้รับการเสริมเติมด้วยแนวคิดที่ว่าราชาคือผู้ที่มาจาก “เอนกนิกรสโมสรสมมุติ” ที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎก แต่ที่น่าจะมีลักษณะร่วมกันระหว่างของไทยกับของอังกฤษก็คือ การมองราชอาณาจักรประหนึ่งครอบครัว ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้ เราก็ยังพบการใช้วาทกรรม “รัฐคือครอบครัวเดียวกัน” และ “พ่อของแผ่นดิน” นี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตการเมืองร้ายแรง

ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ จะพบว่า ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ฐานคิดสำคัญของแนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษอยู่ที่การยืนยันว่า อำนาจการปกครองสูงสุดของผู้ปกครองเป็นอำนาจที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง หาได้มาจากประชาชนไม่ โดยเทียบเคียงกับอำนาจของผู้เป็นบิดาที่มีต่อบุตรของเขา ซึ่งถ้าว่ากันตามคัมภีร์ไบเบิลจะพบว่า พระผู้เป็นเจ้ากำหนดให้บิดามีอำนาจอันชอบธรรมเหนือบุตร และบุตรต้องเชื่อฟังผู้เป็นบิดาของเขา  ผู้เป็นพ่อมีอำนาจอันชอบธรรมเหนือบุตรไม่ได้มาจากการที่บุตรมอบฉันทานุมัติให้ผู้เป็นบิดา เหมือนกับที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยลงคะแนนเสียงไว้วางใจให้ตัวแทนของพวกเขาไปใช้อำนาจทางการเมืองแทนตัวประชาชน ดังนั้น นักคิดในแนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดจึงเห็นพ้องต้องกันว่า อำนาจในการปกครองนั้นเกิดขึ้นมาตามกฎธรรมชาติ (natural law) ซึ่งกฎธรรมชาตินี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้กำหนดขึ้น ภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้าหรือเจตจำนงของพระองค์อีกทีหนึ่ง อำนาจทางการเมืองอันชอบธรรมจึงมิได้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์อย่างที่พวกนักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ในสำนักสัญญาประชาคมเข้าใจ

แต่กระนั้น สิ่งที่นักคิดในแนวนี้เห็นต่างกันก็คือ ตกลงแล้ว อำนาจดังกล่าวนี้ของผู้ปกครองแต่ละคนเป็นอำนาจที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงเลย หรือเป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ต้องผ่านประชาชนก่อน ? กระแสหลักของพวกนักคิดแนวพ่อปกครองลูกหรือที่เรียกกันว่าแนวปิตาธิปไตย (Patriarchalism) นี้เชื่อว่า กษัตริย์ได้อำนาจนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ซึ่งแนวกระแสหลักนี้ถูกเรียกว่า แนวคิดแบบอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด (absolutist view) และตามแนวดังกล่าวนี้จะมองว่า ผู้ปกครองถือเป็นตัวแทนหรือผู้ช่วยของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น หาใช่ตัวแทนของประชาชนไม่

กษัตริย์อังกฤษราชวงศ์สจ๊วตอย่างพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง (James I: 1566-1625) ทรงมีทัศนะว่า กษัตริย์คือตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า และรับผิดชอบขึ้นตรงต่อ (accountable) พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น   ซึ่งบรรดาเหล่าพระในศาสนจักรจำนวนมากก็สนับสนุนทัศนะดังกล่าวนี้ของพระเจ้าเจมส์ด้วย  ดังที่เดวิด โอเวน (David Owen)-----ผู้ออกมาประกาศว่า พระมหากษัตริย์ (พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง) คือพ่อของแผ่นดินของพระองค์  (The King was the father of his country.)------ได้เขียนไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทั้งหลายได้รับมอบอำนาจอันชอบธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นตัวแทนของพระองค์บนโลกนี้ ที่จะรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆของเหล่ามนุษย์ผู้ซึ่งล้วนเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”

นอกจากโอเวนแล้ว โทมัส ไอร์แลนด์ (Thomas Ireland) ก็ยืนยันเช่นกันว่า “พระมหากษัตริย์คือตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าในการพิพากษาตัดสินเรื่องราวบนโลกนี้” อีกทั้งพระนักวิชาการอย่าง เซบาสเตียน เบเนฟิลด์ (Sebastian Benefield: 1559-1630) ผู้ดำรงตำแหน่ง Lady Margaret Professor of Divinity แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็เสริมให้เห็นชัดเจนว่า “กษัตริย์คือผู้ที่ครอบครองรักษาอาณาจักรรองลงมาจากพระผู้เป็นเจ้า” ปีเตอร์ เฮลิน (Peter Heylin: 1599-1662) ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุศาสนาจารย์ของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกันนี้ว่า “กษัตริย์มิได้มีอำนาจมาจากที่ไหนนอกจากพระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้ และอำนาจทั้งหลายทั้งปวงของกษัตริย์ก็เป็นอำนาจที่มาจากความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น  (Dei gratia)”

การใช้คำว่า Dei gratia ของเฮลินนี้----ซึ่งหมายถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดเมตตา----ในการยืนยันที่มาของอำนาจการปกครองทั้งหลายทั้งปวงของกษัตริย์ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของที่มาของพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ  ดังที่ปรากฏในเหรียญเพนนีของอังกฤษในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ห้าและพระเจ้าจอร์จที่หก อันมีข้อความว่า GEORGIVS V DEI GRA:BRITT:OMN:REX FID:DET:IND:IMP ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ห้า และ GEORGIVS VI D:G:BR:OMN:REX F:D:IND:IMP  ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่หก  อันมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษและจักรพรรดิแห่งอินเดีย-โดยพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และที่ปรากฏในเหรียญเงินของแคนาดาในข้อความที่ว่า D.G. Regina อันหมายถึง “สมเด็จพระราชินีอังกฤษ-โดยพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า” (By the Grace of God, Queen)  พร้อมกับพระพักตร์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองด้วย

ก่อนหน้านั้น มีการตัดคำว่า Dei Gra ออกไปจากเหรียญเงินของแคนาดาในปี ค.ศ. 1911 ได้สร้างความไม่พอใจแก่สาธารณชนอย่างยิ่ง จนกระทั่งต้องนำข้อความดังกล่าวกลับมาจารึกในเหรียญต่อไปในปี ค.ศ. 1912  ส่วนเหรียญรุ่นที่ยกเลิกไปนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามของ “เหรียญที่ไม่มีพระผู้เป็นเจ้า” (godless coins)

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

และจากการที่กษัตริย์เป็นผู้ที่ได้รับอำนาจโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นตัวแทนของพระองค์ในการดูแลรักษาความเที่ยงธรรมให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ ทำให้มีการกล่าวอ้างต่อมาว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ “ไม่มีอำนาจใดจะอยู่เหนืออำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ได้ ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจใดจะสามารถลงโทษสั่งสอนพระองค์ได้ นอกจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น” อันทำให้กษัตริย์ทรงมีสมบูรณาญาสิทธิ์อย่างแท้จริง

นักคิดแนวปิตาธิปไตยยังได้อ้างข้อความในพระคัมภีร์เพื่อสนับสนุนพระราชอำนาจอันสมบูรณ์สูงสุดของกษัตริย์ที่รองจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า  อย่างเช่นใน Proverb 8:15 กล่าวไว้ว่า “โดยข้า กษัตริย์ปกครองและพิพากษาบัญชาความยุติธรรม” และใน Psalm 82:6 “ข้าได้กล่าวว่า เจ้าคือเทพเจ้า” (I have said, Ye are gods.)  ซึ่งโทมัส กัทเทกเกอร์ (Thomas Gataker:  1574-1654) ตีความว่า คำกล่าวที่ว่านี้ มิได้มีความหมายอย่างตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรว่า “กษัตริย์เป็นเทพ” จริงๆ  แต่หมายถึงสถานะของอำนาจของกษัตริย์ต่างหากที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติของอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า  เขากล่าวเสริมว่า “กษัตริย์ถูกทำให้มีสถานะประดุจเทพเจ้า...เพื่อเป็นการให้เกียรติ และชี้ให้เห็นว่าอำนาจของพระองค์นั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า”  เพราะอย่างที่ไอแซค บาร์เกรฟ (Isaac Bargrave: 1586-1643)  ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระผู้ที่สนับสนุนการปกครองของพระมหากษัตริย์และเป็นอนุศาสนาจารย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งได้กล่าวเตือนพระเจ้าชาร์ลส์ว่า แม้กษัตริย์จะเป็นเทพในหมู่มนุษย์ แต่กษัตริย์ก็เป็นเพียงมนุษย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า  และข้อความในพระคัมภีร์ที่ถูกอ้างบ่อยที่สุดในประเด็นดังกล่าวนี้ก็คือ Romans 13:1 “ให้จิตวิญญาณทุกดวงอยู่ภายใต้อำนาจที่เหนือกว่า ด้วยไม่มีอำนาจใดเหนืออำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และอำนาจการปกครองทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็มาจากพระผู้เป็นเจ้า” 

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกได้รับอิทธิพลมาจากไหน

แต่สำหรับคติการปกครองโบราณของไทยในสมัยอยุธยาที่เข้าใจกันว่า รับมาจากอิทธิพลฮินดูของขอมถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเทพจริงๆ ดังที่เรียกกันว่าเทวราชา  นั่นคือเทพเจ้าอย่างพระอิศวรหรือพระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์ผู้มีบุญญาภินิหาร (ประเด็นนี้มีผู้คัดค้านคือศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม) เข้าใจว่าคติการปกครองโบราณของไทยที่ว่านี้น่าจะส่งผลให้องค์พระมหากษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดยิ่งกว่าของอังกฤษ !