พระวินัย คืออะไร ผู้ รักษา พระวินัย นั้น ดีแล้ว

ตถาคตผู้เดียวจักรู้กาลอันควร พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น (๑/๘/๑๑)


เหตุบัญญัติพระวินัย
(ปาราชิกกัณฑ์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (๑/๘๓/๒๔๑)


คุณของสิกขาบท
(ปาราชิกกัณฑ์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อให้ถือตามพระวินัย ๑
(๑/๒๐/๒๖-๒๗)

ปาราชิก

ว่าด้วยการพ้นสภาพภิกษุ
(ปาราชิกกัณฑ์)

 ๑. ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (๑/๒๐/๒๗) อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (๑/๒๒/๓๐) อนึ่ง ภิกษุใด ถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (๑/๒๔/๓๑)

 ๒. อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย (คือ มีจิตคิดลัก) จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (๑/๘๔/๒๔๔)

 ๓. อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศาตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตายโดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ (๑/๑๘๐/๒๙๔-๒๙๕)

 ๔. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุจริง (๑/๒๓๒/๓๓๕)

สังฆาทิเสส

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องเข้าปริวาสจึงจะพ้นได้
(เตรสกัณฑ์)

๑. ภิกษุปล่อยสุกกะ (อสุจิ) ด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่ฝัน (๑/๓๐๒/๔๔๑)

๒. อนึ่ง ภิกษุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม คือ จับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส (๑/๓๗๕/๕๐๗)

๓. อนึ่ง ภิกษุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว พูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ เหมือนชายหนุ่มพูดเคาะหญิงสาวด้วยวาจาพาดพิงเมถุน เป็นสังฆาทิเสส (๑/๓๙๗/๕๒๙)

๔. อนึ่ง ภิกษุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว กล่าวคุณแห่งการบำเรอกามของตนในสำนักมาตุคาม ด้วยถ้อยคำพาดพิงเมถุนว่า น้องหญิง สตรีใดบำเรอผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม เช่นเรา ด้วยธรรมนั่น นั่นเป็นยอดแห่งความบำเรอทั้งหลาย เป็นสังฆาทิเสส (๑/๔๑๔/๕๔๙)

๕. อนึ่ง ภิกษุใด ถึงความเป็นผู้ชักสื่อ บอกความประสงค์ของบุรุษแก่สตรีก็ดี บอกความประสงค์ของสตรีแก่บุรุษก็ดี ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม เป็นสังฆาทิเสส แม้แก่หญิงแพศยาอันจะพึงอยู่ร่วมชั่วขณะ เป็นสังฆาทิเสส (๑/๔๒๖/๕๖๖)

๖. อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณ เป็นสังฆาทิเสส (๑/๕๐๐/๖๓๐)

๗. อนึ่ง ภิกษุจะให้สร้างวิหารใหญ่ อันมีเจ้าของเฉพาะตนเอง พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุให้สร้างวิหารใหญ่ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ เป็นสังฆาทิเสส (๑/๕๒๒/๖๕๕)

๘. อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องหามูลมิได้ แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส (๑/๕๔๕/๖๗๓)

๙. อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ถือเอาเอกเทศบางแห่งแห่งอธิกรณ์อันเป็นเรื่องอื่น ให้เป็นเพียงเลศ ตามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยธรรมอันมีโทษถึงปาราชิก ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจักยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้นเป็นเรื่องอื่นแท้ เอกเทศบางแห่ง เธอถือเอาพอเป็นเลศ แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ เป็นสังฆาทิเสส (๑/๕๖๔/๖๘๙)

๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงหรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ยกย่องยันอยู่ ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่าได้ถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่ ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกันย่อมอยู่ผาสุก

แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส (๑/๕๙๓/๗๑๓)

๑๑. อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวคำอะไร ๆ ต่อภิกษุนั่น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่นถือเอาความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้ากล่าวด้วย เธอทราบความพอใจและความชอบใจของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่น ย่อมควรแม้แก่พวกข้าพเจ้า 

ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก 

แลภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส (๑/(๖๐๐/๗๑๘-๗๑๙)

๑๒. อนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสัญชาติแห่งคนว่ายาก อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถูกทางธรรมในสิกขาบททั้งหลายอันเนื่องในอุเทศ ทำตนให้เป็นผู้อันใคร ๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ด้วยกล่าวโต้ว่า พวกท่านอย่าได้กล่าวอะไรต่อเรา เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม แม้เราก็จักไม่กล่าวอะไร ๆ ต่อพวกท่านเหมือนกัน เป็นคำดีก็ตาม เป็นคำชั่วก็ตาม ขอพวกท่านจงเว้นจากการว่ากล่าวเราเสีย 

ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ทำตนให้เป็นผู้อันใคร ๆ ว่ากล่าวไม่ได้ ขอท่านจงทำตนให้เขาว่ากล่าวได้แล แม้ท่านก็จงว่ากล่าวภิกษุทั้งหลายโดยชอบธรรม แม้ภิกษุทั้งหลายก็จักว่ากล่าวท่านโดยชอบธรรม เพราะว่าบริษัทของพระผู้มีพระภาคนั้น เจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยว่ากล่าวซึ่งกันและกัน ด้วยเตือนกันและกันให้ออกจากอาบัติ 

แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส (๑/(๖๐๗/๗๒๓-๗๒๔)

๑๓. อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย 

ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ 

และภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน 

ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย หาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้ 

แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส (๑/๖๒๑/๗๓๕-๗๓๖)

อนิยต

ว่าด้วยอาบัติที่ไม่แน่นอน เป็นปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ก็ได้
(อนิยตกัณฑ์)

 ๑. อนึ่ง ภิกษุใดรูปเดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยปาราชิกก็ดี ด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยปาราชิกบ้าง ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น ธรรมนี้ชื่อ อนิยต (๖/๖๓๒/๗๔๓)

 ๒.  อนึ่ง สถานหาเป็นอาสนะกำบังไม่เลยทีเดียว หาเป็นที่พอจะทำการได้ไม่ แต่เป็นที่พอจะพูดเคาะมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้อยู่ แลภิกษุใดรูปเดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับด้วยมาตุคามผู้เดียว ในอาสนะมีรูปอย่างนั้น อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้ เห็นภิกษุกับมาตุคามนั้นนั่นแล้ว พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือด้วยสังฆาทิเสสก็ดี ด้วยปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุปฏิญาณซึ่งการนั่ง พึงถูกปรับด้วยธรรม ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยสังฆาทิเสสบ้าง ด้วยปาจิตตีย์บ้าง อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น แม้ธรรมนี้ก็ชื่อ อนิยต (๖/๖๓๓-๖๓๕/๗๔๓-๗๔๔)

นิสสัคคิย

ว่าด้วยการได้ที่ไม่สมควร ต้องสละออก
(นิสสัคคิยกัณฑ์)

๑. อนึ่ง ภิกษุใดทรงอติเรกจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ หากจำเป็น พึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑-๒/๓)

๒. จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุได้รับอนุญาตจากสงฆ์ (๒/๑๑/๑๑)

๓. จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว อกาลจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุหวังอยู่ก็พึงรับ ครั้นรับแล้ว พึงรีบให้ทำ ถ้าผ้านั้นมีไม่พอ เมื่อความหวังว่าจะได้มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงเก็บจีวรนั้นไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจีวรที่ยังบกพร่องจะได้พอกัน ถ้าเก็บไว้ยิ่งกว่ากำหนดนั้น แม้ความหวังว่าจะได้มีอยู่ ก็เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๒/๓๓/๑๙)

๔. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติซักก็ดี ย้อมก็ดี ทุบก็ดีซึ่งจีวรเก่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๔๒/๒๖)

๕. อนึ่ง ภิกษุใดรับจีวรจากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่เป็นของแลกเปลี่ยนกัน (๒/๔๘/๓๕)

๖. อนึ่ง ภิกษุใดขอต่อพ่อเจ้าเรือนก็ดี ต่อแม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ นอกจากสมัยจำเป็น เช่นจีวรถูกชิงเอาไปก็ดี มีจีวรฉิบหายก็ดี (๒/๕๔/๔๓)

๗. อนึ่ง ถ้าพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ปวารณาต่อภิกษุนั้น ด้วยจีวรเป็นอันมาก เพื่อนำไปได้ตามใจ ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวร มีอุตราสงค์ อันตรวาสกเป็นอย่างมากจากจีวรเหล่านั้น ถ้ายินดียิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๕๘/๔๗-๔๘)

๘. อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะภิกษุไว้ว่า เราจักจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้เพื่อภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้วถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ท่านจงจ่ายจีวรเช่นนั้น หรือเช่นนี้ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังรูปให้ครองเถิด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เพราะความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี (๒/๖๒/๕๓)

๙. อนึ่ง มีพ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติสองคน ตระเตรียมทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ ไว้เฉพาะภิกษุว่า เราทั้งหลายจักจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ ด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ เหล่านี้แล้ว ยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวรหลายผืนด้วยกัน ถ้าภิกษุนั้นเขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาแล้วถึงการกำหนดในจีวรในสำนักของเขาว่า ดีละ ขอท่านทั้งหลายจงจ่ายจีวรเช่นนั้นด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรเฉพาะผืน ๆ เหล่านี้แล้ว ทั้งสองคนรวมกัน ยังรูปให้ครองจีวรผืนเดียวเถิด เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ เพราะความเป็นผู้ใคร่ในจีวรดี (๒/๖๖/๕๙)

๑๐. อนึ่ง พระราชาก็ดี ราชอำมาตย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี คหบดีก็ดี ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปด้วยทูตเฉพาะภิกษุว่า เจ้าจงจ่ายจีวรด้วยทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้ แล้วยังภิกษุชื่อนี้ให้ครองจีวร ถ้าทูตนั้นเข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่าทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนี้นำมาเฉพาะท่าน ขอท่านจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร

ภิกษุนั้นพึงกล่าวต่อทูตนั้นอย่างนี้ว่า พวกเราหาได้รับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ พวกเรารับแต่จีวรอันเป็นของควรโดยกาล ถ้าทูตนั้นกล่าวต่อภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ก็ใคร ๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ ภิกษุผู้ต้องการจีวรพึงแสดงชนผู้ทำการในอารามหรืออุบาสกให้เป็นไวยาวัจกร ด้วยคำว่า คนนั้นแลเป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย

ถ้าทูตนั้นสั่งไวยาวัจกรนั้นให้เข้าใจแล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว ท่านจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล ภิกษุผู้ต้องการจีวรเข้าไปหาไวยาวัจกรแล้ว พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้งว่า รูปต้องการจีวร ภิกษุทวงอยู่ เตือนอยู่ สองสามครั้ง ยังไวยาวัจกรนั้น ให้จัดจีวรสำเร็จได้ การให้สำเร็จได้ด้วยอย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ พึงยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก เธอยืนนิ่งต่อหน้า ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง เป็นอย่างมาก

หากยังไวยาวัจกรนั้นให้จัดจีวรสำเร็จได้ นั่นเป็นการดี

ถ้าให้สำเร็จไม่ได้ หากพยายามให้ยิ่งกว่านั้น แล้วยังจีวรนั้นให้สำเร็จ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

ถ้าให้สำเร็จไม่ได้พึงไปเองก็ได้ ส่งทูตไปก็ได้ ในสำนักที่ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรมาเพื่อเธอ บอกว่า ท่านส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปเฉพาะภิกษุใด ทรัพย์นั้นหาสำเร็จประโยชน์น้อยหนึ่งแก่ภิกษุนั้นไม่ ท่านจงทวงเอาทรัพย์ของท่านคืน ทรัพย์ของท่านอย่าได้ฉิบหายเสียเลย นี้เป็นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนั้น (๒/๗๐/๖๕-๖๖)

๑๑. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำผ้ารองนั่งเจือด้วยไหม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๗๔/๗๑)

๑๒. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำผ้ารองนั่งด้วยขนเจียมดำล้วน เป็นนิสสัคคิยปาจิตต์ (๒/๗๘/๗๖)

๑๓. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้ารองนั่งใหม่ พึงถือเอาขนเจียมดำ ๒ ส่วน ขนเจียมขาว ๑ ส่วน ขนเจียมแดง ๑ ส่วน ถ้าภิกษุไม่ถือเอาขนเจียมดำ ๒ ส่วน ขนเจียมขาว ๑ ส่วน ขนเจียมแดง ๑ ส่วน ให้ทำผ้ารองนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๘๒/๘๐)

๑๔. อนึ่ง ภิกษุให้ทำผ้ารองนั่งใหม่แล้ว พึงทรงไว้ให้ได้ ๖ ปี ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ปี เธอสละเสียก็ดี หรือยังไม่สละแล้วให้ทำผ้ารองนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับอนุญาตจากสงฆ์ (๒/๘๗/๘๖)

๑๕. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้ารองนั่ง พึงถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งผ้ารองนั่งเก่า ให้ทำใหม่หมด เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๙๓/๙๒)

๑๖. อนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการพึงรับได้ ครั้นรับแล้ว เมื่อคนถือไม่มี พึงถือไปด้วยมือของตนเองตลอดระยะทาง ๓ โยชน์เป็นอย่างมาก ถ้าเธอถือเอาไปยิ่งกว่านั้น แม้คนถือไม่มี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๙๗/๙๖)

๑๗. อนึ่ง ภิกษุใด ยังภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดีซึ่งขนเจียม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๐๑/๑๐๑)

๑๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๐๕/๑๑๐)

๑๙. อนึ่ง ภิกษุใดถึงความซื้อขายด้วยเงินตรามีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๐๙/๑๑๔)

๒๐. อนึ่ง ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๑๓/๑๒๐)

๒๑. อนึ่ง ภิกษุใด ทรงอติเรกบาตร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ หากจำเป็น พึงทรงไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๑๘/๑๒๖)

๒๒. อนึ่ง ภิกษุใด มีบาตรมีแผลน้อยกว่าห้าแผล ให้จ่ายบาตรใหม่เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภิกษุนั้นพึงสละบาตรใบนั้นในภิกษุบริษัท บาตรใบสุดท้ายแห่งภิกษุบริษัทนั้น พึงมอบให้แก่ภิกษุนั้นสั่งว่า ภิกษุ นี้บาตรของท่าน พึงทรงไว้กว่าจะแตก นี้เป็นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนั้น (๒/๑๓๐/๑๓๓)

๒๓. อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๔๐/๑๔๘)

๒๔. ภิกษุรู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีก ๑ เดือน ทำการแสวงหาจีวรคือผ้าอาบน้ำฝนได้ รู้ว่าฤดูร้อนยังเหลืออีกกึ่งเดือน พึงทำนุ่งได้ ถ้าเธอรู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่า ๑ เดือน แสวงหาจีวร คือผ้าอาบน้ำฝน รู้ว่าฤดูร้อนเหลือล้ำกว่ากึ่งเดือน ทำนุ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๔๕/๑๕๓)

๒๕. อนึ่งภิกษุใดให้จีวรแก่ภิกษุเองแล้ว โกรธ น้อยใจ ชิงเอามาก็ดี ให้ชิงเอามาก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๔๙/๑๕๘)

๒๖. อนึ่ง ภิกษุใดขอด้ายมาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๕๓/๑๖๓)

๒๗. อนึ่ง พ่อเจ้าเรือนก็ดี แม่เจ้าเรือนก็ดี ผู้มิใช่ญาติ สั่งช่างหูกให้ทอจีวรเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุนั้น เขาไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน เข้าไปหาช่างหูก แล้วถึงความกำหนดในจีวรในสำนักของเขานั้นว่า จีวรผืนนี้ทอเฉพาะรูป ขอท่านจงทำให้ยาว ให้กว้าง ให้แน่น ให้เป็นของที่ขึงดี ให้เป็นของที่ทอดี ให้เป็นของที่สางดี ให้เป็นของที่กรีดดี แม้ไฉนรูปจะให้ของเล็กน้อยเป็นรางวัลแก่ท่าน ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นให้ของเล็กของน้อยเป็นรางวัล โดยที่สุดแม้สักว่าบิณฑบาต เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๕๗/๑๖๙-๑๗๐)

๒๘. วันปุรณมีที่ครบ ๓ เดือน แห่งเดือนกัตติกา ยังไม่มาอีก ๑๐ วัน อัจเจกจีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุรู้ว่าเป็นอัจเจกจีวร พึงรับไว้ได้ ครั้นรับไว้แล้วพึงเก็บไว้ได้จนตลอดสมัยที่เป็นจีวรกาล ถ้าเธอเก็บไว้ยิ่งกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๖๑/๑๗๕)

๒๙. อนึ่ง ภิกษุจำพรรษาแล้ว จะอยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่าเป็นที่มีรังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ตลอดถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ปรารถนาอยู่ พึงเก็บจีวร ๓ ผืน ผืนใดผืนหนึ่งไว้ในละแวกบ้านได้ และปัจจัยอะไรๆ เพื่อจะอยู่ปราศจากจีวรนั้นจะพึงมีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงอยู่ปราศจากจีวรนั้นได้ ๖ คืนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเธออยู่ปราศยิ่งกว่านั้น เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับอนุญาตจากสงฆ์ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๖๕/๑๘๐-๑๘๑)

๓๐. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไว้เป็นของจะถวายสงฆ์มาเพื่อตน เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ (๒/๑๖๙/๑๘๗)

ปาจิตตีย์

ว่าด้วยอาบัติที่ต้องแสดงความสำนึกจึงทำคืนได้
(ปาจิตติยกัณฑ์)

๑. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชามุสาวาท (๒/๑๗๓/๑๙๒)

๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะโอมสวาท(คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจ) (๒/๑๘๕/๒๐๖)

๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะส่อเสียดเหน็บแนม (๒/๒๕๕/๒๗๖)

๔. อนึ่ง ภิกษุใดยังอนุปสัมบันให้กล่าวธรรมโดยบท (ขึ้นต้นพร้อมกัน จบลงพร้อมกัน) เป็นปาจิตตีย์ (๒/๒๘๔/๒๙๐)

๕. อนึ่ง ภิกษุใดนอนร่วมกับอนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ หากจำเป็น ห้ามยิ่งกว่า ๒-๓ คืน (๒/๒๙๐/๒๙๔)

๖. อนึ่ง ภิกษุใดนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์ (๒/๒๙๔/๒๙๘)

๗. อนึ่ง ภิกษุใดแสดงธรรมแก่มาตุคาม เป็นปาจิตตีย์ หากจำเป็น ห้ามแสดงเกิน ๕-๖ คำ เว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย (๒/๓๐๐/๓๐๒)

๘. อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์เพราะมีจริง (๒/๓๐๕/๓๐๘)

๙. อนึ่ง ภิกษุใด บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ แก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ภิกษุได้รับสมมติ (๒/๓๔๒/๓๔๒)

๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๔๙/๓๔๔)

๑๑. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากพืช  (๒/๓๕๔/๓๔๘)

๑๒. เป็นปาจิตตีย์ในเพราะความเป็นผู้กล่าวกลบเกลื่อน หรือพยายามทำให้สงฆ์ลำบาก (๒/๓๖๑/๓๕๓)

๑๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความเป็นผู้ให้โพนทะนา หรือบ่นว่า (๒/๓๖๙/๓๕๖)

๑๔. อนึ่ง ภิกษุใดวางไว้แล้วก็ดี ให้วางไว้แล้วก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ฟูกก็ดี เก้าอี้ก็ดี อันเป็นของสงฆ์ในที่แจ้ง เมื่อหลีกไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดีซึ่งเสนาสนะที่วางไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์

อนึ่ง มีพระพุทธานุญาตให้ภิกษุเก็บเสนาสนะไว้ในปะรำหรือที่โคนไม้ หรือในที่ซึ่งนกจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือน ที่มิใช่ฤดูฝน (๒/๓๗๔-๓๗๕/๓๖๐)

๑๕. อนึ่ง ภิกษุใด ปูแล้วก็ดี ให้ปูแล้วก็ดี ซึ่งที่นอนในวิหารเป็นของสงฆ์ เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้เก็บก็ดี ซึ่งที่นอนอันปูไว้นั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๗๙/๓๖๔)

๑๖. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่า ผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๘๓/๓๖๖)

๑๗. อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุจากวิหารของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๘๗/๓๗๐)

๑๘. อนึ่ง ภิกษุใด นั่งทับก็ดี นอนทับก็ดี ซึ่งเตียงก็ดี ซึ่งตั่งก็ดี อันมีเท้าเสียบ บนร้านในวิหารเป็นของสงฆ์ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๙๒/๓๗๓)

๑๙. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำซึ่งวิหารใหญ่ จะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบแห่งประตู จะบริกรรมช่องหน้าต่าง พึงยืนในที่ปราศจากของสดเขียว อำนวยให้พอกได้ ๒-๓ ชั้น ถ้าเธออำนวยยิ่งกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของสดเขียว ก็เป็นปาจิตตีย์ (๒/๓๙๗/๓๗๗)

๒๐. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ รดก็ดี ให้รดก็ดี ซึ่งหญ้าก็ดี ดินก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๐๒/๓๗๙)

๒๑. อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้รับสมมติ กล่าวสอนพวกภิกษุณี (เทียบเคียงอุบาสิกาปัจจุบันด้วย) เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๐๖/๓๘๔)

๒๒. ภิกษุ แม้ได้รับสมมติแล้ว เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว กล่าวสอนพวกภิกษุณี (เทียบเคียงอุบาสิกาด้วย) เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๒๕/๓๙๓)

๒๓. อนึ่ง ภิกษุใด เข้าไปสั่งสอนพวกภิกษุณีถึงที่อาศัยแห่งภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์ ยกเว้นภิกษุณีอาพาธ (๒/๔๓๐/๓๙๗)

๒๔. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า พวกภิกษุสั่งสอนพวกภิกษุณีเพราะเหตุอามิส เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๓๔/๓๙๙)

๒๕. อนึ่ง ภิกษุใด ให้จีวรแก่ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน (๒/๔๔๓/๔๐๔)

๒๖. อนึ่ง ภิกษุใด เย็บก็ดี ให้เย็บก็ดี ซึ่งจีวร เพื่อภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๔๗/๔๐๗)

๒๗. อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้ว เดินทางไกลด้วยกันกับภิกษุณี โดยที่สุดแม้สิ้นระยะหมู่บ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์ ยกเว้นเป็นทางที่มีภัยเฉพาะหน้า (๒/๔๕๒/๔๑๐)

๒๘. อนึ่ง ภิกษุใดชักชวนกันแล้ว โดยสารเรือลำเดียวกับภิกษุณี เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ข้ามฟาก (๒/๔๕๗/๔๑๔)

๒๙. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่คฤหัสถ์ปรารภไว้ก่อน (๒/๔๖๒/๔๑๙)

๓๐. อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภิกษุณีผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์ (๒/๔๖๖/๔๒๑)

๓๑. ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงทานได้ครั้งหนึ่ง ถ้าฉันยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่ภิกษุอาพาธ  (๒/๔๗๑/๔๒๕)

๓๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่ เว้นแต่ภิกษุอาพาธ เว้นแต่เป็นสมัยถวายจีวร สมัยทำจีวร คราวเดินทางไกล คราวที่โดยสารไปในเรือ เป็นสมัยประชุมใหญ่ หรือเป็นภัตนิมนต์ของสมณะ (๒/๔๘๒/๔๓๒)

๓๓. เป็นปาจิตตีย์ เพราะรับนิมนต์ในที่หนึ่ง แต่ไปฉันในที่อื่นมาก่อน เว้นแต่อาพาธ หรือเป็นสมัยถวายจีวร หรือเป็นสมัยทำจีวร (๒/๔๘๙/๔๓๘)

๓๔. อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดีด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนั้น (๒/๔๙๕/๔๔๔)

๓๕. อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว เคี้ยวอีกก็ดี ฉันอีกก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่เป็นเดน (๒/๕๐๐/๔๔๙)

๓๖. อนึ่ง ภิกษุใดรู้อยู่ เพ่งจะหาโทษให้ นำไปปวารณาภิกษุผู้ฉันเสร็จห้ามภัตรแล้ว ด้วยของเคี้ยวก็ดี ด้วยของฉันก็ดี อันมิใช่เดน บอกว่า นิมนต์เถิด ภิกษุเคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม พอเธอฉันแล้ว ภิกษุผู้นิมนต์เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๐๔/๔๕๓)

๓๗. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๐๘/๔๕๗)

๓๘. อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทำการสั่งสม เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๑๒/๔๖๐)

๓๙. อนึ่ง ภิกษุใด ขอโภชนะอันประณีตเห็นปานนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วฉัน เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่อาพาธ (๒/๕๑๗/๔๖๓)

๔๐. อนึ่ง ภิกษุใด กลืนอาหารที่เขายังไม่ได้ให้ ล่วงช่องปากเป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน (๒/๕๒๓/๔๖๗)

๔๑. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ของเคี้ยวก็ดี ของกินก็ดี แก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ด้วยมือของตน เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๒๗/๔๗๑)

๔๒. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวต่อภิกษุอย่างนี้ว่า ท่านจงมาเข้าไปสู่บ้านหรือสู่นิคมเพื่อบิณฑบาตด้วยกัน เธอยังเขาให้ถวายแล้วก็ดี ไม่ให้ถวายแล้วก็ดี แก่เธอ แล้วส่งไปด้วยคำว่า ท่านจงไปเถิด การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเรากับท่าน ไม่เป็นผาสุกเลย การพูดก็ดี การนั่งก็ดี ของเราคนเดียว ย่อมเป็นผาสุก ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นแลให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๓๑/๔๗๕)

๔๓. อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งแทรกแซงในตระกูลที่มีคน ๒ คน เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๓๕/๔๗๘)

๔๔. อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๓๙/๔๘๐)

๔๕. อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๔๓/๔๘๓)

๔๖. อนึ่ง ภิกษุใด รับนิมนต์แล้ว มีภัตรอยู่แล้ว ถึงความเป็นผู้เที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ทีหลังฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์ เว้นแต่สมัยถวายจีวร และสมัยทำจีวร (๒/๕๕๐/๔๘๙)

๔๗. ภิกษุมิใช่ผู้อาพาธ พึงยินดีปวารณาด้วยปัจจัยเพียงสี่เดือน เว้นไว้แต่ปวารณาอีก เว้นไว้แต่ปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดียิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๕๖/๔๙๔)

๔๘. อนึ่ง ภิกษุใด ไปเพื่อจะดูเสนา(กองทัพ)อันยกออกแล้ว เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีญาติป่วยในกองทัพ (๒/๕๖๓/๔๙๘)

๔๙. อนึ่ง ภิกษุใด มีกิจจำเป็นเพื่อจะไปสู่เสนา ภิกษุนั้นพึงอยู่ได้ในเสนาเพียง ๒-๓ คืน ถ้าอยู่ยิ่งกว่านั้น เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๖๗/๕๐๑)

๕๐. อนึ่ง ถ้าภิกษุอยู่ในเสนา ๒-๓ คืน ไปสู่สนามรบก็ดี ไปสู่ที่พักพลก็ดี ไปสู่ที่จัดขบวนทัพก็ดี ไปดูกองทัพที่จัดเป็นขบวนแล้วก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๗๒/๕๐๔)

๕๑. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราและเมรัย (๒/๕๗๕/๕๐๘)

๕๒. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะจี้ผู้อื่นด้วยนิ้วมือให้หัวเราะ (๒/๕๗๙/๕๑๐)

๕๓. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะเล่นน้ำ (๒/๕๘๖/๕๑๓)

๕๔. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะความขืนทำผิด ไม่เอื้อเฟื้อคำห้ามปรามตามวินัย (๒/๕๙๒/๕๑๕)

๕๕. อนึ่ง ภิกษุใดหลอนซึ่งภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๕๙๘/๕๑๗)

๕๖. อนึ่ง ภิกษุใด มุ่งการผิง ติดก็ดี ให้ติดก็ดี ซึ่งไฟ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่อาพาธ และการจุดแสงสว่าง (๒/๖๐๖/๕๒๐)

๕๗. อนึ่ง ภิกษุใด ยังหย่อนกึ่งเดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในฤดูร้อนและต้นฤดูฝน หรืออาพาธ หรือทำงาน หรือเดินทางไกล หรือมีพายุฝน (๒/๖๑๕/๕๒๗)

๕๘. อนึ่ง ภิกษุได้จีวรมาใหม่ พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ของเขียวครามก็ได้ ตมก็ได้ ของดำคล้ำก็ได้ ถ้าภิกษุไม่ถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้จีวรใหม่ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๑๙/๕๒๙)

๕๙. อนึ่ง ภิกษุใดวิกัป(ให้หรือฝาก)จีวรเอง แก่ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี สิกขมานาก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี แล้วใช้สอยจีวรนั้น ซึ่งไม่ให้เขาถอนก่อน เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๒๓/๕๓๒)

๖๐. อนึ่ง ภิกษุใด ซ่อนก็ดี ให้ซ่อนก็ดี ซึ่งบาตรก็ดี จีวรก็ดี ผ้าปูนั่งก็ดี กล่องเข็มก็ดี ประคดเอวก็ดี ของภิกษุ โดยที่สุดแม้หมายจะหัวเราะ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๒๗/๕๓๕)

๖๑. อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งพรากสัตว์จากชีวิต เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๓๑/๕๓๘)

๖๒. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ บริโภคน้ำมีตัวสัตว์ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๓๕/๕๔๐)

๖๓. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๓๙/๕๔๒)

๖๔. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๔๔/๕๔๕)

๖๕. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ยังบุคคลมีปีหย่อน ๒๐ ให้อุปสมบท บุคคลนั้นไม่เป็นอุปสัมบันด้วย ภิกษุทั้งหลายนั้นถูกติเตียนด้วย นี้เป็นปาจิตตีย์ในเรื่องนั้น (๒/๖๕๐/๕๔๙)

๖๖. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับพวกพาหนะผู้เป็นโจร โดยที่สุดแม้สิ้นระยะหมู่บ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๕๔/๕๕๒)

๖๗. อนึ่ง ภิกษุใด ชักชวนแล้ว เดินทางไกลสายเดียวกันกับมาตุคาม โดยที่สุดแม้สิ้นระยะหมู่บ้านหนึ่ง เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๕๘/๕๕๕)

๖๘. อนึ่ง ภิกษุใด กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้า การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย แน่ะเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้น อาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ภิกษุนั้นขืนถืออยู่อย่างนั้นแล ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงสวดประกาศห้ามจนหนที่ ๓ ถ้าเธอถูกสวดประกาศห้ามอยู่จนหนที่ ๓ สละมิจฉาทิฏฐินั้นเสียได้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๖๒/๕๕๙)

๖๙. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ กินร่วมก็ดี อยู่ร่วมก็ดี สำเร็จการนอนด้วยกันก็ดี กับภิกษุผู้กล่าวมิจฉาธรรม ยังไม่ได้ทำกรรมอันสมควร ยังไม่ได้สละทิฏฐินั้น เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๖๙/๕๖๒)

๗๐. ถ้าแม้สมณุทเทส(สามเณร)กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส สมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย อาวุโส สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้นเทียว สมณุทเทสนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะอาวุโส สมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้นว่าเป็นพระศาสดาของเธอ ตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่นย่อมได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วมนั้นไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๗๔/๕๖๘)

๗๑. อนึ่ง ภิกษุใด อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรม กล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะเธอ ฉันจักยังไม่ศึกษาในสิกขาบทนี้ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้สอบถามภิกษุอื่นผู้ฉลาด ผู้ทรงวินัย เป็นปาจิตตีย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ศึกษาอยู่ ควรรู้ทั่วถึง ควรสอบถาม ควรตริตรอง นี้เป็นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนั้น (๒/๖๘๐/๕๗๓)

๗๒. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อมีใครสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า ประโยชน์อะไรด้วยสิกขาบทเล็กน้อยเหล่านี้ที่สวดขึ้นแล้ว ช่างเป็นไปเพื่อความรำคาญ เพื่อความลำบาก เพื่อความยุ่งเหยิงนี่กระไร เป็นปาจิตตีย์ เพราะก่นว่าสิกขาบท (๒/๖๘๕/๕๗๖)

๗๓. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือนกล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า เออ ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่น รู้ว่า ภิกษุนี้เคยนั่งเมื่อสวดปาติโมกข์ ๒-๓ คราวมาแล้ว พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วยเหตุว่าเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็นปาจิตตีย์ ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น (๒/๖๘๙/๕๗๙)

๗๔. อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ทำร้ายภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๙๕/๕๘๒)

๗๕. อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ เงื้อฝ่ามือขึ้นแก่ภิกษุ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๖๙๙/๕๘๔)

๗๖. อนึ่ง ภิกษุใด พยายามกำจัดซึ่งภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสอันหามูลมิได้ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๐๓/๕๘๖)

๗๗. อนึ่ง ภิกษุใด แกล้งก่อความรำคาญแก่ภิกษุด้วยหมายว่า ความไม่ผาสุกจักมีแก่เธอแม้ครู่หนึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๐๗/๕๘๙)

๗๘. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อภิกษุทั้งหลายเกิดหมางกัน เกิดทะเลาะกันถึงการวิวาทกัน ยืนแอบฟังด้วยหมายว่าจักได้ฟังคำที่เธอพูดกัน เจตนาอย่างนี้ หาใช่อย่างอื่นไม่ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๑๑/๕๙๒)

๗๙. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ฉันทะ (ความยินดี) เพื่อกรรมอันเป็นธรรมแล้ว ถึงความบ่นว่าในภายหลัง เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๑๕/๕๙๕)

๘๐. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อเรื่องอันจะพึงวินิจฉัยยังเป็นไปอยู่ในสงฆ์ ไม่ให้ฉันทะแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปเสีย เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๑๙/๕๙๘)

๘๑. อนึ่ง ภิกษุใด กับสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ภายหลังบ่นว่า ภิกษุทั้งหลายน้อมลาภของสงฆ์ไปตามชอบใจ เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๒๓/๖๐๑)

๘๒. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ น้อมลาภที่เขาน้อมไปจะถวายสงฆ์มาเพื่อบุคคล เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๒๗/๖๐๔)

๘๓. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับบอกก่อน ก้าวล่วงธรณีเข้าไปในห้องของพระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ที่พระราชายังไม่ได้เสด็จออก ที่รัตนะยังไม่ออก(พระมเหสีหรือทั้งสองพระองค์ยังไม่เสด็จออก) เป็นปาจิตตีย์ (๒/๗๓๔/๖๑๑)

๘๔. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ หรือในที่อยู่พัก เมื่อภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี พึงเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นสิ่งที่ควรทำในเรื่องนั้น (๒/๗๔๐/๖๑๗)

๘๕. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่อำลาภิกษุที่มีอยู่แล้วเข้าไปสู่บ้านในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีกิจรีบด่วน (๒/๗๔๗/๖๒๒)

๘๖. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำกล่องเข็ม ด้วยกระดูกก็ดี ด้วยงาก็ดี ด้วยเขาก็ดี เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ต่อยทำลายเสีย (๒/๗๕๑/๖๒๕)

๘๗. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี ใหม่ พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องต่ำ เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ให้ตัดออกเสีย (๒/๗๕๕/๖๒๗)

๘๘. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำเตียงก็ดี ตั่งก็ดี เป็นของหุ้มนุ่น เป็นปาจิตตีย์ ให้รื้อเสีย (๒/๗๕๙/๖๒๙)

๘๙. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าสำหรับนั่ง พึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้นคือ โดยยาว ๒ คืบ โดยกว้างคืบครึ่ง ชายคืบหนึ่ง ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (๒/๗๖๔/๖๓๒)

๙๐. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าปิดฝี พึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้นคือ โดยยาว ๔ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต เธอให้ล่วงประมาณนั้นไป เป็นปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (๒/๗๖๘/๖๓๔)

๙๑. อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงให้ทำให้ได้ประมาณ นี้ประมาณในคำนั้นคือ โดยยาว ๖ คืบ โดยกว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต เธอทำให้ล่วงประมาณนั้น เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย (๒/๗๗๒/๖๓๖)

๙๒. อนึ่ง ภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวร หรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตคือ โดยยาว ๙ คืบ โดยกว้าง ๖ คืบสุคต (๒/๗๗๖/๖๓๘)

ปาฏิเทสนียะ

ว่าด้วยความผิดที่ต้องติเตียนตนเองจึงพ้นผิด
(ปาฏิเทสนียกัณฑ์)
 

๑. อนึ่ง ภิกษุใด รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ด้วยมือของตน จากมือของภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ผู้เข้าไปและสู่ละแวกบ้าน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี อันภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๒/๗๘๑/๖๔๒)
 

๒. อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ฉันอยู่ในสกุล ถ้าภิกษุณีมายืนสั่งเสียอยู่ในที่นั้นว่า จงถวายแกงในองค์นี้ จงถวายข้าวในองค์นี้ ภิกษุทั้งหลายนั้นพึงรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสียตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งไม่กล่าวออกไป เพื่อจะรุกรานภิกษุณีนั้นว่า น้องหญิง เธอจงหลีกไปเสียตลอดเวลาที่ภิกษุฉันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ พวกฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน พวกฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๒/๗๘๔/๖๔๕-๖๔๖)
 

๓. อนึ่ง ภิกษุใด ไม่ได้รับนิมนต์ก่อน มิใช่ผู้อาพาธ รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี ในตระกูลทั้งหลายที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสกขะ(ผู้มีศรัทธาแต่หย่อนโภคทรัพย์) ด้วยมือของตน แล้วเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๒/๗๙๐/๖๕๑)

๔. อนึ่ง ภิกษุใด อยู่ในเสนาสนะป่า ที่รู้กันว่ามีภัยเฉพาะหน้า รับของเคี้ยวก็ดี ของฉันก็ดี อันเขาไม่ได้บอกให้รู้ไว้ก่อน ด้วยมือของตน ในที่อยู่ หากไม่ใช่ผู้อาพาธ เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ภิกษุนั้นพึงแสดงคืนว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ไม่เป็นที่สบาย ควรจะแสดงคืน ฉันแสดงคืนธรรมนั้น (๒/๗๙๕/๖๕๕)

เสขิยะ

ว่าด้วยจรรยามรรยาทอันงาม
(เสขิยกัณฑ์)

๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งเป็นปริมณฑลเรียบร้อย (๒/๘๐๐/๖๖๐)

๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักห่มเป็นปริมณฑลเรียบร้อย (๒/๘๐๑/๖๖๐)

๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายดี ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๐๒/๖๖๑)

๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักปกปิดกายดี นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๐๓/๖๖๒)

๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๐๔/๖๖๒)

๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักสำรวมดี นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๐๕/๖๖๓)

๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๐๖/๖๖๓)

๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีตาทอดลง นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๐๗/๖๖๔)

๙. ภิกษุทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไปในละแวกบ้านด้วยทั้งเวิกผ้า (๒/๘๐๘/๖๖๔)

๑๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งในละแวกบ้านด้วยทั้งเวิกผ้า (๒/๘๐๙/๖๖๕)

๑๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะลั่น ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๑๐/๖๖๖)

๑๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่หัวเราะลั่น นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๑๑/๖๖๖)

๑๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงน้อย ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๑๒/๖๖๗)

๑๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมีเสียงน้อย นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๑๓/๖๖๘)

๑๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เดินโยกกาย ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๑๔/๖๖๘)

๑๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งโยกกาย ในละแวกบ้าน (๒/๘๑๕/๖๖๙)

๑๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๑๖/๖๖๙)

๑๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ไกวแขน นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๑๗/๖๗๐)

๑๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงศีรษะ ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๑๘/๖๗๑)

๒๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โคลงศีรษะ นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๑๙/๖๗๑)

๒๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำความค้ำ ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๒๐/๖๗๓)

๒๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำความค้ำ นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๒๑/๖๗๓)

๒๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่คลุมศีรษะ ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๒๒/๖๗๔)

๒๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่คลุมศีรษะ นั่งในละแวกบ้าน (๒/๘๒๓/๖๗๔)

๒๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กระโหย่ง ไปในละแวกบ้าน (๒/๘๒๔/๖๗๕)

๒๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่นั่งรัดเข่า ในละแวกบ้าน (๒/๘๒๕/๖๗๖)

๒๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ (๒/๘๒๖/๖๗๖)

๒๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมองแต่ในบาตรรับบิณฑบาต (๒/๘๒๗/๖๗๗)

๒๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตมีสูปะ(กับข้าว)เสมอกัน (๒/๘๒๘/๖๗๗)

๓๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตจดเสมอขอบบาตร (๒/๘๒๙/๖๗๘)

๓๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตโดยเอื้อเฟื้อ (๒/๘๓๐/๖๗๙)

๓๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักมองดูอยู่ในบาตร ฉันบิณฑบาต (๒/๘๓๑/๖๗๙)

๓๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตไม่แหว่ง (๒/๘๓๒/๖๘๐)

๓๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักฉันบิณฑบาตมีสูปะเสมอกัน (๒/๘๓๓/๖๘๑)

๓๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขยุ้มลงแต่ยอด ฉันบิณฑบาต (๒/๘๓๔/๖๘๑)

๓๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่กลบแกงก็ดี กับข้าวก็ดี ด้วยข้าวสุก เพราะความอยากได้มาก (๒/๘๓๕/๖๘๒)

๓๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ขอสูปะก็ดี ข้าวสุกก็ดี เพื่อประโยชน์แก่ตน ฉัน เว้นไว้แต่อาพาธ (๒/๘๓๗/๖๘๔)

๓๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เพ่งโพนทะนา แลดูบาตรของผู้อื่น (๒/๘๓๘/๖๘๕)

๓๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก (๒/๘๓๙/๖๘๕)

๔๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม (๒/๘๔๐/๖๘๖)

๔๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่นำมาถึง เราจักไม่อ้าปาก (๒/๘๔๑/๖๘๗)

๔๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราฉันอยู่ จักไม่สอดมือทั้งนั้นเข้าในปาก (๒/๘๔๒/๖๘๗)

๔๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า ปากยังมีคำข้าว เราจักไม่พูด (๒/๘๔๓/๖๘๘)

๔๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเดาะคำข้าว (๒/๘๔๔/๖๘๘)

๔๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว (๒/๘๔๕/๖๘๙)

๔๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำแก้มให้ตุ่ย (๒/๘๔๖/๖๘๙)

๔๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันสลัดมือ (๒/๘๔๗/๖๙๐)

๔๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเมล็ดข้าวตก (๒/๘๔๘/๖๙๐)

๔๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น (๒/๘๔๙/๖๙๑)

๕๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงจับ ๆ (๒/๘๕๐/๖๙๑)

๕๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำเสียงดังซูด ๆ (๒/๘๕๑/๖๙๒)

๕๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ (๒/๘๕๒/๖๙๓)

๕๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร (๒/๘๕๓/๖๙๔)

๕๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก (๒/๘๕๔/๖๙๔)

๕๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่รับโถน้ำด้วยมือเปื้อน (๒/๘๕๕/๖๙๕)

๕๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในละแวกบ้าน (๒/๘๕๖/๖๙๗)

๕๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีร่มในมือ (๒/๘๕๘/๖๙๘)

๕๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีไม้พลองในมือ (๒/๘๕๙/๖๙๙)

๕๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีศาตรา(ของมีคม)ในมือ (๒/๘๖๐/๗๐๐)

๖๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ มีอาวุธ(ปืน ธนู)ในมือ (๒/๘๖๑/๗๐๐)

๖๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ สวมเขียงเท้า (๒/๘๖๒/๗๐๒)

๖๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ สวมรองเท้า (๒/๘๖๓/๗๐๒)

๖๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ ไปในยาน (๒/๘๖๔/๗๐๓)

๖๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ อยู่บนที่นอน (๒/๘๖๕/๗๐๔)

๖๕. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ นั่งรัดเข่า (๒/๘๖๖/๗๐๔)

๖๖. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ พันศีรษะ (๒/๘๖๗/๗๐๕)

๖๗. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ คลุมศีรษะ (๒/๘๖๘/๗๐๖)

๖๘. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งอยู่ที่พื้นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้ นั่งบนอาสนะ (๒/๘๖๙/๗๐๖)

๖๙. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง (๒/๘๗๒/๗๐๙)

๗๐. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ผู้นั่งอยู่ (๒/๘๗๓/๗๐๙)

๗๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า (๒/๘๗๔/๗๑๐)

๗๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้ไปอยู่ในทาง (๒/๘๗๕/๗๑๑)

๗๓. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ยืนถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายปัสสาวะ (๒/๘๗๖/๗๑๑)

๗๔. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนเขฬะ บนของสดเขียว (๒/๘๗๗/๗๑๒)

พระวินัยคืออะไรผู้รักษาพระวินัยนั้นดีแล้วย่อมได้อานิสงส์อย่างไร

๑. พระวินัย คืออะไร ? ภิกษุรักษาพระวินัยแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไร ? เฉลย คือพระพุทธบัญญัติและอภิสมาจาร ฯ ได้อานิสงส์ คือไม่ต้องเดือดร้อนใจ ได้รับ ความแช่มชื่นว่า ได้ประพฤติดีงาม จะเข้าหมู่ภิกษุผู้มีศีลก็องอาจไม่สะทกสะท้าน ฯ

พระวินัยบัญญัติ หมายถึง อะไร

พระวินัยบัญญัติอันเป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรง บัญญัติไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการปกครองและการดูแลภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อแยกประเภทแล้วได้เป็น ๒ ประเภทคือ ๑. อาทิพรหมจริยกาสิกขา เป็นข้อบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้เป็นความประพฤติเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นหลักสำหรับปฏิบัติเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ

พระภิกษุมีวินัยหรือกฏสำหรับการปฏิบัติคืออะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า การอยู่ใน ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ พระวินัยเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก เรียกว่า พระวินัยปิฎก อย่างหนึ่ง พระวินัย หมายถึง สิกขาของพระสงฆ์ สรุปความหมายว่า วินัยในพุทธ ศาสนา ได้แก่ ศีล คือ หลักหรือข้อกฎหมายที่ ใช้บังคับแก่นักบวช (สมณะหรือสงฆ์)

อานิสงส์ของพระวินัยคืออะไร

๔๔. พระวินัยนั้น ภิกษุรักษาดีโดยถูกทางแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ คืออะไร เพราอะไร ? ย่อได้อานิสงส์ คือความไม่เดือดร้อนใจ เพราะรึกว่าตนประพฤติดีงามไม่ต้องถูกจับกุมและลงโทษ หรือถูกติเตียน มีแต่จะได้รับการสรรเสริญ จะเข้าหมู่ภิกษุผู้มีศีล ก็องอาจ ไม่ต้องสะทกสะท้าน ฯ