ไตรภูมิพระร่วงมีความหมายว่าอะไร

apairach:
ไตรภูมิพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง เรียกกันในหลาย ๆ ชื่อ ทั้ง "ไตรภูมิพระร่วง" "เตภูมิกถา" "ไตรภูมิกถา" "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" และ "เตภูมิโลกวินิจฉัย" เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งในสมัยสุโขทัยประมาณปี พ.ศ. 1882 โดยพระยาลิไท ซึ่งรวบรวมจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสันฐานที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ เรื่อง นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ (เช่น ชมพูทวีป ฯลฯ) ระยะเวลากัปปกัลป์ กลียุค การล้างโลก พระศรีอาริย์ มหาจักรพรรดิราช แก้ว 7 ประการ ฯลฯ
ประวัติ
ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1888 โดยมีพระประสงค์ที่จะเทศนาโปรดพระมารดา และเพื่อจำเริญพระอภิธรรม ไตรภูมิพระร่วงเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้ง ในด้านพุทธศาสนาของพระมหาธรรมราชาลิไทที่ทรงรวบรวมข้อความต่างๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา นับแต่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษต่างๆ มาเรียบเรียงขึ้นเป็นวรรณคดีโลกศาสตร์เล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทยเท่าทีมีหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้ [1]
ทั้งนี้ อ.สินชัย กระบวนแสง ได้วิเคราะห์เหตุผลการแต่งไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาลิไท ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองด้วย[ต้องการแหล่งอ้างอิง] เนื่องจากไตรภูมิเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนรก-สวรรค์ สอนให้คนรู้จักการทำความดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หากแต่ใครทำชั่วประพฤติตนผิดศีลก็จะต้องตกนรก กล่าวคือ ประชากรในสมัยที่พระมหาธรรมราชาลิไทปกครองนั้นเริ่มมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้การปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขปราศจากโจรผู้ร้ายเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น การดูแลของรัฐก็ไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง พระมหาธรรมราชาลิไทจึงได้คิดนิพนธ์วรรณกรรมทางศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาเพื่อที่ต้องการสอนให้ประชาชนของพระองค์ทำความดี เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์มีชีวิตที่สุขสบาย และหากทำความชั่วก็จะต้องตกนรก ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมทางสังคมได้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถเข้าถึงจิตใจทุกคนได้โดยมิต้องมีออกกฎบังคับกันแต่อย่างไร

เนื้อหา
ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงภูมิ (แดน) ทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงที่อยู่ ที่ตั้ง และการเกิดของมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และเทวดา ที่ตั้งเหล่านี้มีเขาพระสุเมรุเป็นหลัก เขาพระสุเมรุนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางจักรวาล มีทิวเขาและทะเลล้อม ทิวเขามีชื่อต่างๆดังนี้ 1. ยุคนธร 2. อิสินธร 3. กรวิก 4. สุทัศน์ 5. เนมินธร 6. วินันตก และ7.อัศกรรณ ซึ่งเป็นเขารอบนอกสุด ทิวเขาเหล่านี้รวมเรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ ส่วนทะเลที่รายล้อมอยู่ 7 ชั้น เรียกว่า มหานทีสีทันดร ถัดจากทิวเขาอัศกรรณออกมาเป็นมหาสมุทรอยู่ทั่วทุกด้าน แล้วจะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบเรียกว่า ขอบจักรวาล พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล
นรกภูมิ
นรกภูมิ มีนรกใหญ่ 8 ขุม คือ สัญชีพนรก กาลสูตนรก สังฆาฏนรก โรรุพนรก ตาปนรก มหาตาปนรก มหาอเวจีนรก มหาโรรุพนรก สัตว์ที่เกิดในนรกแห่งนี้มีอายุยืนนานนับไม่ถ้วน สัตว์นรกขุมแรกมีอายุยืนได้ 500 ปี (1 วันกับ 1 คืนของเมืองนรกเท่ากับ 9 ล้านปีของเมืองมนุษย์) ส่วนสัตว์นรกที่อยู่ขุมถัดไปมีอายุนับทวีคูณจำนวนปีของขุมนรกแรก
นรก 8 ขุมนี้ มีกำแพงเหล็กแดงลุกเป็นไฟอยู่เสมอล้อมเป็นสี่เหลี่ยม พื้นบนและพื้นล่างก็เป็นเหล็กแดงที่ลุกเป็นไฟ กำแพงทั้ง 4 ด้าน ยาวด้านละ 1,000 โยชน์ หนา 9 โยชน์ มีประตูเข้า 4 ประตู ส่วนพื้นบนและพื้นล่างมีความหนา 9 โยชน์ นรกใหญ่แต่ละขุมมีนรกบริวารหรือนรกบ่าวล้อมอยู่ด้านละ 4 ขุม นรกใหญ่ขุมหนึ่งจึงมีนรกบ่าว 16 ขุม นรกใหญ่ 8 ขุมจึงมีนรกบ่าวทั้งหมด 136 ขุม และก็มีนรกเล็กๆ น้อยๆ อีกจำนวนนับไม่ถ้วน นรกบ่าวทั้ง 16 ขุมรวมเรียกชื่อว่า อุสุทธ (อุสสทนรก) นรกโลกันต์
ยมบาล หรือผู้ดูแลนรกเฝ้าประตูนรกไว้ มีพระยายมราชเป็นผู้ทรงธรรมเที่ยงตรงเป็นใหญ่เหนือยมบาลทั้งหลาย หน้าที่ของพระยายมราชคือสอบสวนบุญบาปของมนุษย์ที่ตายไป หากทำบุญก็จะได้ขึ้นสวรรค์ทำบาปก็จะตกนรก
ติรัจฉานภูมิ
ติรัจฉานติภูมิ หรือเดรัจฉานติภูมิ คือแดนของเดียรฉาน แปลว่าตามขวางหรือตามเส้นนอนตรงกันข้ามกับคนซึ่งไปตัวตรง ดังนั้นสัตว์เดรัจฉานก็หมายถึงสัตว์ที่ไปไหนมาไหนต้องคว่ำอก
ในหนังสือไตรภูมิตอนนี้เริ่มต้นกล่าวถึงสัตว์อันเกิดมาในแดนเดรัจฉานว่า มีเกิดจากไข่ (อัณฑชะ) จากมีรกอันห่อหุ้ม(ชลาพุชะ) จากใบไม้และเหงื่อไคล(สังเสทชะ) เกิดเป็นตัวขึ้นเองและโตทันที(อุปปาติกะ) สัตว์เดรัจฉานนั้นมีความเป็นอยู่ 3 ประการ คือ รู้สืบพันธุ์ รู้กิน รู้ตาย เรียกเป็นศัพท์ว่า กามสัญญา อาหารสัญญา และมรณสัญญา ส่วนคนนั้นเพิ่มอีกสัญญาหนึ่งคือ ธธมสัญญา คือรู้จักการทำมาหากิน รู้บาปบุญ หรือตรงกับคำว่าวัฒนธรรมนั้นเอง สัตว์ที่กล่าวในแดนเดรัจฉานหลักๆก็มีดังนี้
?   ราชสีห์ เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับสิงโต ไม่มีตัวตนจริงอยู่ในโลกนี้แต่เป็นสัตว์ที่อยู่ในวรรณคดีเท่านั้น
?   ช้างแก้ว อาศัยอยู่ที่ถ้ำทองว่ากันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเคยไปเกิดเป็นช้างนี้อยู่หนึ่งชาติ
?   ปลา ในแดนเดรัจฉานนี้ปลาที่อาศัยอยู่ที่นี้จะมีขนาดใหญ่มาก ตัวที่เล็กสุดก็ยังยาวถึง 75 โยชน์ ตัวที่ใหญ่ก็ยาวถึง 5,000 โยชน์ ปลาที่รู้จักกันดีคือ พญาปลาอานนท์ ซึ่งหนุนชมพูทวีปอยู่
?   ครุฑ อาศัยอยู่ที่ตามฝั่งสระใหญ่ชื่อสิมพลีสระที่ตีนเขาพระสุเมรุหรือสระต้นงิ้ว กว้างได้ 500 โยชน์ พระยาครุฑที่เป็นหัวหน้าตัวโต 50 โยชน์ ปีกยาวอีก 50 โยชน์ ปากยาว 9 โยชน์ ตีนทั้งสองยาว 12 โยชน์ ครุฑกินนาคเป็นอาหาร และเป็นพาหนะของพระนารายณ์
?   นาค หรืองูมีหงอนและมีตีน นาคมีสองชนิด คือ ถลชะ หรือนาคที่เกิดบนบก และ ชลชะ หรือนาคที่เกิดในน้ำ นาคถลชะจะเนรมิตตนเป็นคนหรือเทวดานางฟ้าได้แต่บนบก นาคชลชะจะเนรมิตตนเป็นคนหรือเทวดานางฟ้าได้แต่ในน้ำเท่านั้น เรื่องนาคเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเป็นบรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ เช่น เขมร ลาว มอญ
?   หงส์ อาศัยอยู่ที่ถ้ำทองบนเขาคิชฌกูฏหรือเขายอดนกแร้ง หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม
เปรตภูมิ
เปรตเป็นผีเลวชนิดหนึ่ง ในไตรภูมิบรรยายรูปร่างของเปรตไว้ว่า เปรตบางชนิดมีตัวใหญ่ ปากเท่ารูเข็ม เปรตบางชนิดก็ตัวผอมไม่มีเนื้อหนังมังสา ตาลึกกลวง และร้องไห้ตลอดเวลา แต่ก็มีเปรตบางชนิดที่ตัวงามเป็นทอง แต่ปากเป็นหมูและเหม็นมาก สรุปรวมๆแล้วก็คือเมื่อตอนเป็นคนแล้วทำบาปอย่างใดเมื่อตายไปก็จะเป็นเปรตตามที่ทำบาปไว้
เปรตนั้นมีโอกาสดีกว่าสัตว์นรก เนื่องจากสามารถออกมาขอบุญกุศลจากการทำบุญของมนุษย์ได้
อสูรกายภูมิ
อสูร แปลตรงตัวว่า ผู้ไม่ใช่สุระหรือไม่ใช่พวกเทวดาที่มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า เดิมพวกอสูรมีเมืองอยู่บนเขาพระสุเมรุหรือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง ภายหลังพวกเทวดาคิดอุบายมอมเหล้าพวกอสูรเมาจนไม่ได้สติ แล้วพวกเทวดาก็ช่วยกันถีบอสูรให้ตกเขาพระสุเมรุดิ่งจมลงใต้ดิน เมื่ออสูรสร่างเมาได้สติแล้วก็สำนึกตัวได้ว่า เป็นเพราะกินเหล้ามากจนเมามายจึงต้องเสียบ้านเมืองให้กับพวกเทวดาจึงเลิกกินเหล้าแล้วไปสร้างเมืองใหม่ใต้บาดาลเรียกว่า อสูรภพ
พวกอสูรกายมีบ้านเมืองเป็นของตนเอง เรียกว่าอสูรภพ อยู่ลึกใต้ดินไป 84,000 โยชน์ เป็นบ้านเมืองงดงามมากเต็มไปด้วยแผ่นทองคำ คือบ้านเมืองของอสูรนี้จะมีเหมือนสวรรค์ของเทวดา เช่น กลางสวรรค์มีต้นปาริชาติ กลางเมืองอสูรก็มีต้นแคฝอย เมืองอสูรมีเมืองใหญ่อยู่ 4 เมืองโดยมีพระยาอสูรปกครองอยู่ทุกเมือง ในบรรดาอสูรมีอยู่ตนหนึ่งมีอำนาจมากชื่อว่า ราหู
อสูรราหูมีหน้าตาหัวหูที่ใหญ่โตมากกว่าเหล่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ ราหูมีความเกลียดชังพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก ในวันพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเดือนงามและวันเดือนดับ ราหูจะขึ้นไปนั่งอยู่บนเขายุคนธรอันเป็นทิวเขาทิวแรกที่ล้อมเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดา ราหูจะคอยให้พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ผ่านมา เพื่อที่จะคอยอ้าปากอันกว้างใหญ่อมเอาพระจันทร์หรือพระอาทิตย์หายลบไป บางครั้งก็เอานิ้วมือบังไว้บ้าง เอาไว้ใต้คางบ้าง เหตุการณ์เหล่านี้เรียกกันว่า สุริยคราสและจันทรคราส
เรื่องราวที่เป็นเหตุทำให้ราหูมีความเกลียดชังพระอาทิตย์และพระจันทร์ก็คือ มีการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าบรรดาเทวดาและอสูรเพื่อทำน้ำอมฤต เมื่อกวนสำเร็จแล้วเทวดาก็ไม่ยอมให้เหล่าอสูรกิน แต่ราหูปลอมเป็นเทวดาเข้าไปกินน้ำอมฤตกับเทวดาด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์เห็นจึงไปฟ้องพระวิษณุว่าราหูปลอมตัวเป็นเทวดามากินน้ำอมฤต พระวิษณุทรงขว้างจักรแก้วไปตัดตัวราหูออกเป็นสองท่อนแต่ราหูไม่ตายเพราะได้กินน้ำอมฤตไปแล้ว ครึ่งตัวท่อนบนจึงเป็นราหูอยู่ แต่ครึ่งตัวท่อนล่างกลายเป็นอสูรอีกตัวหนึ่งชื่อเกตุ
มนุษยภูมิ
กล่าวถึงฝูงสัตว์อันเกิดในมนุษยภูมิ มีกำเนิดดังนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็เริ่มก่อตัวเป็นกัลละ กัลละมีรูปร่างโปร่งเหลวเหมือนน้ำหรือเหมือนเมือกตม เป็นคำที่ใช้เฉพาะสิ่งที่ห่อหุ้มก่อกำเนิดเป็นคนเท่านั้น กัลละที่ก่อเป็นตัวเด็กขึ้นมานี้ตามวิทยาศาสตร์กล่าวเรียกว่า 'cell' เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดกลายเป็นตัวเด็กขึ้นนั่งกลางท้องแม่และเอาหลังมาชนท้องแม่ มีสายสะดือเป็นตัวส่งอาหารที่แม่กินเข้าไปให้แก่เด็ก เด็กที่นั่งอยู่กลางท้องแม่นั้นจะนั่งอยู่เวลาประมาณ 8-10 เดือน แล้วจึงคลอดจากท้องแม่
บุตรที่เกิดมาในไตรภูมิแบ่งได้เป็น 3 สิ่ง คือ
?   อภิชาตบุตร เป็นคนเฉลียวฉลาดมีรูปงามหรือมั่งมียศยิ่งกว่าพ่อแม่
?   อนุชาตบุตร มีเพียงพ่อแม่
?   อวชาติบุตร ด้อยกว่าพ่อแม่
คนทั้งหลายก็แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
?   ผู้ที่ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบาปนั้นตามทันต้องถูกตัดตีนสินมือและทุกข์โศกเวทนานักหนา พวกนี้เรียกว่า "คนนรก"
?   ผู้หาบุญจะกระทำบ่มิได้ และเมื่อแต่ก่อนและเกิดมาเป็นคนเข็ญใจยากจนนักหนา อดอยากไม่มีกิน รูปโฉมก็ขี้เหร่ พวกนี้เรียกว่า "คนเปรต"
?   คนที่ไม่รู้จักบาปและบุญ ไม่มีความเมตตากรุณา ไม่มีความยำเกรงผู้ใหญ่ ไม่รู้จักปฏิบัติพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่รักพี่รักน้อง กระทำบาปอยู่ร่ำไป พวกนี้ท่านเรียกว่า "คนเดรัจฉาน"
?   คนที่รู้จักบาปและบุญ รู้กลัวรู้ละอายแก่บาป รู้รักพี่รักน้อง รู้กรุณาคนยากจนเข็ญใจ และรู้จักยำเกรงพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ครูอาจารย์ และรู้จักคุณแก้ว 3 ประการ คือ พระรัตนตรัย พวกนี้ท่านเรียกว่า "มนุษย์"
คนทั้ง 4 ชนิดนี้ พวกหนึ่งเกิดและอยู่ในชมพูทวีปมีรูปหน้ากลมดังดุมเกวียน พวกหนึ่งเกิดและอยู่ในบูรพเทห์เบื้องตะวันออกมีรูปหน้าดังเดือนเพ็ญกลมดังหน้าแว่น พวกหนึ่งเกิดและอยู่ในอุตตรกุรุทวีปฝ่ายเหนือมีรูปหน้าสี่มุมดังท่านแกล้งถากให้เป็นสี่เหลี่ยมกว้างและรีเท่ากัน และอีกพวกหนึ่งเกิดและอยู่ในอมรโคยานทวีปเบื้องตะวันตกมีรูปหน้าดังเดือนแรม 8 ค่ำ แผ่นดินทั้งสี่ตั้งอยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ
ชมพูทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีสัณฐานเป็นรูปไข่ดุจดังดุมเกวียน คนมีรูปหน้ากลมดุจดังดุมเกวียน อายุของคนในชมพูทวีปนั้น หากเป็นผู้ที่เป็นคนดีมีศีลธรรมอายุก็จะยืน หากมีลักษณะตรงกันข้ามก็จะอายุสั้น แผ่นดินนี้คาดว่าจะเป็นภูมิภาคอินเดีย
อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 9,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งดวง มีเกาะเล็กเกาะน้อยเป็นบริวารอยู่โดยรอบ คนในทวีปนี้มีรูปหน้าดังพระจันทร์ครึ่งดวง แผ่นดินนี้คาดว่าจะเป็นภูมิภาคอาหรับแถบตะวันออกกลางรวมไปถึงยุโรป
บุรพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 7,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปแว่นที่กลม มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวาร 400 เกาะ มีแม่น้ำเล็กใหญ่ มีเมืองใหญ่เมืองน้อย คนในทวีปนี้หน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีรูปกะโหลกสั้นอาจหมายถึงมนุษย์เผ่ามองโกเลียน แผ่นดินนี้คาดว่าจะเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 8,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีภูเขาทองล้อมรอบ มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวาร 500 เกาะ คนในทวีปนี้หน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีรูปร่างสมประกอบไม่สูงไม่ต่ำดูงดงาม กล่าวกันว่าคนที่อยู่ทวีปนี้เป็นคนรักษาศีล จึงทำให้แผ่นดินราบเรียบ ต้นไม้ต่างก็ออกดอดงดงามส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว และเป็นแผ่นดินที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนี้มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ ผู้ใดปรารถนาจะได้แก้วแหวนเงินทองหรือสิ่งใดๆ ก็ให้ไปยืนนึกอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์นี้ ผู้หญิงชาวอุตตรกุรุทวีปนั้นมีความงดงามมาก ส่วนผู้ชายก็เช่นกันมีความงามดังเช่นหนุ่มอายุ 20 ปีกันทุกคน
พระยาจักรพรรดิราช
พระยาจักรพรรดิราช เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าพระราชาทั้งปวง คือเป็นพระราชาผู้มีจักรหรือล้อแห่งรถเลื่อนแล่นไปได้รอบโลกโดยปราศจากการขัดขวางหรือปราบปรามทั่วโลก พระยาจักรพรรดิราชนั้นเมื่อชาติก่อนเป็นคนแต่ทำบุญไว้มากเมื่อตายไปจึงไปเกิดในสวรรค์ ในบางครั้งก็มาเกิดเป็นพระยาที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ได้รับพระนามว่า พระยาจักรพรรดิราช เป็นพระยาที่ทรงคุณธรรมทุกประการเป็นเจ้านายคนทั้งหลายพระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม พระยาจักรพรรดิราชมีแก้ว 7 ประการเกิดคู่บารมีมาด้วย ได้แก่
1.   จักรแก้ว คือแก้วอย่างที่หนึ่ง จักรแก้วหรือจักรรัตน์จมอยู่ใต้ท้องทะเลลึกได้ 84,000 โยชน์ เมื่อเกิดจักรพรรดิราชขึ้นในโลก จักรแก้วซึ่งเป็นคู่บุญบารมีและจมอยู่ในมหาสมุทรก็จะผุดขึ้นมาจากท้องทะเลพุ่งขึ้นไปในอากาศเกิดเป็นแสงส่องอันงดงามมาน้อมนบ เมื่อพระยาผู้ครองเมืองนั้นทราบว่าพระองค์จะได้เป็นพระยาจักรพรรดิราชปราบทั่วจักรวาลเพราะมีจักรแก้วมาสู่พระองค์ พระยาจักรพรรดิราชก็จะเสด็จปราบทวีปทั้งสี่ แล้วประทานโอวาทให้ชาวทวีปเหล่านั้นประพฤติและตั้งอยู่ในคุณงามความดีแล้วจึงเสด็จกลับพระนคร
2.   ช้างแก้ว (หัสดีรัตน์) คือแก้วอย่างที่สอง ซึ่งเป็นช้างที่มีความงดงาม ตัวเป็นสีขาว ตีนและงวงสีแดง เหาะได้รวดเร็ว
3.   ม้าแก้ว (อัศวรัตน์) คือแก้วอย่างที่สาม เป็นม้าที่มีขนงามดังสีเมฆหมอก กีบเท้าและหน้าผากแดงดั่งน้ำครั่ง เหาะได้รวดเร็วเช่นเดียวกับช้างแก้ว
4.   แก้วดวง (มณีรัตน์) คือแก้วอย่างที่สี่ เป็นแก้วที่มีขนาดยาวได้ 4 ศอก ใหญ่เท่าดุมเกวียนใหญ่ สองหัวแก้วมีดอกบัวทอง เมื่อมีความมืดแก้วนี้จะส่องสว่างให้เห็นทุกหนแห่งดังเช่นเวลากลางวัน แก้วนี้จะอยู่กับพระยาจักรพรรดิราชจนตราบเท่าเสด็จสวรรคาลัย จึงจะคืนไปอยู่ยอดเขาพิปูลบรรพตตามเดิม
5.   นางแก้ว (อิตถีรัตน์) คือแก้วอย่างที่ห้า เป็นหญิงที่จะมาเป็นมเหสีคู่บารมีของพระยาจักรพรรดิราช นางแก้วนี้จะต้องเป็นหญิงที่ได้ทำบุญมาแต่ชาติก่อน และมาเกิดในแผ่นดินของพระยาจักรพรรดิราชในตระกูลกษัตริย์ นางแก้วนี้จะเป็นหญิงที่มีลักษณะงดงามไปทุกส่วน จะทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีของพระยาจักรพรรดิราช
6.   ขุนคลังแก้ว คือแก้วอย่างที่หก เกิดขึ้นเพื่อบุญแห่งพระยาจักรพรรดิราช และจะเป็นมหาเศรษฐี ขุนคลังแก้วจะสามารถกระทำได้ทุกอย่างที่พระยาจักรพรรดิราชต้องการเพราะขุนคลังแก้วมีหูทิพย์ตาทิพย์ดังเทวดาในสวรรค์ หากว่าพระยาจักรพรรดิราชต้องการทรัพย์สินสิ่งใดขุนคลังก็จะสามารถนำมาถวายได้
7.   ลูกแก้ว คือแก้วประการสุดท้ายของพระยาจักรพรรดิราช หรือโอรสของพระยาจักรพรรดิราช มีรูปโฉมอันงดงาม กล้าหาญ เฉลียวฉลาด สามารถบริหารกิจการบ้านเมืองได้ทุกประการ บางตำราก็ว่าเป็นขุนพลแก้ว
ฉกามาพจรภูมิ
คือดินแดนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกภูมิ ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นแรก สูงจากพื้นโลกได้ 46,000 โยชน์ จาตุมหาราชิกภูมิ แปลว่าแดนแห่ง 4 มหาราช สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่เหนือเทือกเขายุคนธรอันเป็นเทือกเขาแรกที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ บนเทือกเขายุคนธรทั้ง 4 ทิศ มีเมืองใหญ่ 4 เมือง เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุมีท้าวธตรฐเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือคนธรรพ์ (เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง ครึ่งเทวดาครึ่งมนุษย์ เป็นนักดนตรีและชอบผู้หญิง) เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุมีท้าววิรูปักษ์เป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือนาค เมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุมีท้าววิรุฬหกเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือพวกกุมภัณฑ์ (เป็นยักษ์จำพวกหนึ่ง มีท้องใหญ่และมีอัณฑะเหมือนหม้อ) เมืองที่อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุมีท้าวไพศรพเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือพวกยักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง 4 นี้เรียกรวมๆว่า จตุโลกบาลทั้ง 4 คือผู้ดูแลรักษาโลกทั้ง 4 ทิศ
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 สูงจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิได้ 46,000 โยชน์ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นตั้งอยู่เหนือจอมเขาพระสุเมรุ มีนครไตรตรึงส์อยู่ตรงกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นเมืองของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แก่เทวดาทั้งหลาย เมืองพระอินทร์กว้างได้ 8,000,000 วา มีปรางค์ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว มีประตูทองประดับด้วยแก้ว 7 ประการ เมื่อเปิดประตูจะได้ยินเสียงดนตรีไพเราะ กลางนครไตรตรึงส์นี้มีไพชยนต์วิมานหรือปราสาทที่ประทับของพระอินทร์ สูง 25,600,000 วา ประดับด้วยสัตตพิพิธรัตนะหรือแก้ว 7 ประการที่งดงามมาก ไพชยนต์วิมานนั้นประกอบด้วยเชิงชั้นชาลา 100 ชาลา แต่ละชาลามีวิมานได้ 700 วิมาน วิมานหนึ่งมีนางอัปสร 7 คน นอกจากพระอินทร์ที่เป็นเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ยังมีเทวดาอีก 32 พระองค์ครองเมือง 32 เมืองอยู่รอบนครไตรตรึงส์นี้ทิศละ 8 องค์
ทางทิศตะวันออกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีสวนขวัญชื่อ นันทอุทยาน มีต้นไม้ดอกไม้วิเศษ เป็นที่เล่นสนุกของเหล่าเทวดาทั้งหลาย ใกล้อุทยานมีสระใหญ่ชื่อ นันทาโบกขรณี และจุลนันทาโบกขรณี น้ำในสระทั้งสองนี้ใสงามดังแก้วอินทนิล ริมฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อ นันทาปริถิปาสาณ และจุลนันทาปาริถิปาสาณ เป็นแผ่นศิลาที่มีรัศมีรุ่งเรือง
ทางทิศใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอุทยานชื่อ ผรุสกวัน แปลว่าสวนมะปราง มีสระใหญ่ชื่อภัทราโบกขรณี และสุภัทราโบรขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อภัทราปริถิปาสาณ และสุภัทราปริถิปาสาณ
ทางทิศตะวันตกของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอุทยานชื่อ จิตรลดาวัน แปลว่างามไปด้วยไม้เถา มีสระใหญ่ชื่อจิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบรขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อจิตรปปาสาณ และจุลจิตรปาสาณ
ทางทิศเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอุทยานชื่อ สักกวัน มีสระใหญ่ชื่อธรรมาโบกขรณี และสุธรรมาโบกขรณี ที่ฝั่งสระทั้งสองมีศิลาแก้ว 2 แผ่น ชื่อธรรมาปริถิปาสาณ และสุธรรมาปริถิปาสาณ
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอุทยานชื่อบุณฑริกวัน มีไม้ทองหลางใหญ่ชื่อ ปาริชาติกัลปพฤกษ์ ใต้ต้นกัลปพฤกษ์มีแท่นศิลาแก้วชื่อ บัณฑุกัมพล เป็นแท่นสีแดงเข้มดังดอกชบาและอ่อนดังฟูกผ้า ใกล้กันมีศาลาสุธรรมเทพสภาเป็นที่ประชุมและฟังธรรมของเทวดา
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีเจดีย์จุฬามณี เป็นเจดีย์ประดับด้วยทองและแก้ว 7 ประการ มีกำแพงทอง 4 ด้าน ประดับด้วยธงประฏาก (ธงเป็นผืนห้อยยาวลงมาอย่างธงจรเข้) ธงไชย และกลดชุมสาย (กลดทำด้วยผ้าตาดทองมีสายห้อยเป็นระย้าอยู่รอบๆ) มีเทวดาประโคมดนตรีถวายพระเจดีย์อยู่เสมอ พระอินทร์ก็เสด็จมายังเจดีย์จุฬามณีนี้บ่อยๆ
สวรรค์ชั้นยามา เป็นสวรรค์ชั้นที่ 3 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 84,000 โยชน์ มีพระยาสยามเทวราชครองอยู่ สวรรค์ชั้นนี้สูงกว่าวิถีการโคจรของพระอาทิตย์ แต่ก็ไม่มืดเนื่องจากรัศมีแก้วและรัศมีตัวเทวดาส่องสว่างอยู่เสมอ
สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นยามา 168,000 โยชน์ มีพระยาสันดุสิตเทวราช พระโพธิสัตว์ซึ่งจะเสด็จลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า มีพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า
สวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นสวรรค์ชั้นที่ 5 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิต 336,000 โยชน์
สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นที่ 6 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี 672,000 โยชน์ มีพระยาปรนิมมิตวสวัตตีครองอยู่
พรหมโลก
อยู่เหนือสวรรค์ชั้นสูงสุด มี 2 ประเภท คือ รูปพรหม (รูปาวจร) มี 16 ชั้น และอรูปพรหม (อรูปาวจร) มี 4 ชั้น

         ศิลาจารึกเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่บรรพชนสมัยโบราณสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตในช่วงเวลาที่มีการจารึกศิลานั้นๆ นอกจากนี้ศิลาจารึกยังเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี การจัดลำดับความสำคัญของหลักฐานและเอกสารอ้างอิงนั้น ถือกันว่าศิลาจารึกเป็นเอกสารข้อมูลปฐมภูมิ (primary source) ที่มีคุณค่าใช้อ้างอิงได้
          ศิลาจารึกเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานทางศักราชปรากฏอยู่ด้วยคือ จารึกเขาน้อย พบที่เขาน้อย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1180 จารึกที่พบทั่วไปในประเทศไทยใช้อักษรต่างๆ กัน เช่น อักษรปัลลวะ อักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ
          จารึกที่คนไทยทำขึ้นปรากฏหลักฐานในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อคนไทยก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำยม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นในปีพุทธศักราช 1826 ลายสือไทยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกหลักที่ 1) เป็นจารึกอักษรไทยที่เก่าที่สุด และไม่มีลักษณะของรูปอักษรไทยที่แห่งใดจะเก่าเท่า แม้ว่าจะได้พบจารึกอักษรไทยจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย แต่หลักฐานการค้นพบปรากฏว่า จารึกเหล่านั้นมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาทั้งสิ้น รูปอักษรไทยสมัยสุโขทัยได้เป็นแม่แบบของรูปอักษรไทยทั่วไปในสมัยปัจจุบัน
        จารึกรูปอักษรสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้วิวัฒนาการเป็นจารึกรูปต่างๆ คือ
1. จารึกอักษรไทยสมัยสุโขทัย ได้แก่จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย จารึกวัดพระยืน  จังหวัดลำพูน
               และจารึกวัดเขากบ จังหวัดนครสวรรค์                             2. จารึกอักษรไทยอยุธยา เช่น จารึกแผ่นดีบุกวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา                                                           3. จารึกอักษรไทยล้านนา เช่น จารึกวัดปราสาท จังหวัดเชียงราย         4. จารึกอักษรไทยอีสาน เช่น จารึกวัดแตนเมือง จังหวัดหนองคาย
5. จารึกอักษรธรรม เช่น จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี

   ในปีพุทธศักราช 2376 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงผนวชอยู่และได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ เพื่อนมัสการเจดียสถานต่างๆ ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้ และศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตรที่เนินปราสาทเก่าเมืองสุโขทัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำลงมาเก็บรักษาไว้ ณ วัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นที่ประทับจำพรรษา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็โปรดให้ส่งศิลาจารึกหลักนี้มาด้วย
          ภายหลังเมื่อได้เสวยสิริราชสมบัติแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศวิหารไปตั้งไว้ที่ศาลาราย ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ข้างด้านเหนือพระอุโบสถหลังที่สองนับจากตะวันตก จนถึงปีพ.ศ. 2466 จึงได้ย้ายมาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในพระราชวังบวรสถานมงคลให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณในปีพ.ศ. 2468 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศิลาจารึกมาเก็บไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ครั้นเมื่อพ.ศ. 2508 กองหอสมุดแห่งชาติย้ายไปอยู่ ณ อาคารหลังใหม่ที่ท่าวาสุกรี ประกอบกับกองโบราณคดีดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจึงได้ย้ายศิลาจารึกทั้งหมดรวมทั้งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1) ไปไว้ที่หอวชิราวุธ จนถึงพ.ศ. 2511 จึงได้ย้ายเฉพาะศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไปตั้งที่อาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ด้านเหนือชั้นบน ซึ่งเป็นห้องแสดงศิลปสมัยสุโขทัย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และได้จัดทำศิลาจารึกหลักจำลองขึ้นเก็บรักษาไว้ที่หอวชิราวุธแทน

  เรื่องที่มีในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน
   ตอนที่1 
          ตั้งแต่บรรทัดที่ 1-18 เป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง ใช้คำว่า "กู" เป็นพื้น
     ตอนที่ 2
          กล่าวถึงพระราชกรณียกิจ และขนบธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย เรื่องของการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรเมื่อมหาศักราช 1214 เรื่องการสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัยเมื่อมหาศักราช 1207 และเรื่องการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อมหาศักราช 1205 ตอนนี้ไม่ใช้คำว่า "กู" เลย ใช้คำว่าพ่อขุนรามคำแหง
     ตอนที่ 3
          ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย เป็นคำยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงตอนนี้เข้าใจว่าจารึกภายหลังจากตอนแรกหลายปี เพราะตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ 1 และตอนที่ 2 คือ ตัวพยัญชนะลีบกว่า ทั้งสระที่ใช้ก็ต่างกันมาก

                                                                  ภาพแสดงศิลาจารึกทั้ง 4ด้าน
            (ข้อมูลจากหนังสือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช 2527 โดยได้รับอนุญาตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ศิลาจารึกด้านที่ 1   ศิลาจารึกด้านที่ 2   ศิลาจารึกด้านที่ 3   ศิลาจารึกด้านที่ 4

             สุภาษิตพระร่วง
 สุภาษิตพระร่วงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "บัญญัติพระร่วง"  เป็นสุภาษิตที่เก่าแก่  ได้รับการจดจำกันมาหลายชั่วคนแล้ว  เพิ่งมาบันทึกไว้เป็นหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่  3  หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์   โดยกวีในสมัยนั้นได้รวบรวมและแต่งเติมเสริมต่อให้ครบถ้วนแล้วจารึกไว้ที่ผนังวิหารด้านในทางทิศเหนือหน้ามหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ราชวรมหาวิหาร  หรือวัดโพธิ์    ท่าเตียน     กรุงเทพฯ    เมื่อ พ.ศ. 2379     ต่อมาหอพระสมุดได้รวบรวมไว้ในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ
ผู้แต่ง           สันนิษฐานกันว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้พระราชนิพนธ์             
ความมุ่งหมาย       เพื่อสั่งสอนประชาชน
ลักษณะการแต่ง      แต่งเป็นร่ายสุภาพ   ตอนจบเป็นโคลงสี่สุภาพกระทู้  1  บท
เนื้อหาสาระ        เริ่มด้วยพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทรงมุ่งหวังประโยชน์ในภายหน้า     จึงทรงบัญญัติสุภาษิตเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติประชาชน   มีสุภาษิต  ทั้งหมด  158 บท
คุณค่า   
        1.      ด้านภาษา       สำนวนภาษาที่ใช้ในสุภาษิตนี้ใช้ถ้อยคำง่ายๆ  คล้องจอง  กะทัดรัด  ไม่มีศัพท์สูง  จึงทำให้น่าอ่านเพราะง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ
        2.      ด้านสังคม       คนไทยได้นับถือสุภาษิตพระร่วงเป็นแนวในการดำเนินชีวิตมาช้านาน      เพราะสุภาษิตพระร่วงนี้ให้คติทั้งในทางโลกและทางธรรม   คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าสุภาษิตเจ้าบทเจ้ากลอนอยู่แล้ว     จึงถือได้ว่าสุภาษิตพระร่วงเป็นสุภาษิตที่เป็นหลักฐานในสังคมไทยมาช้านาน   และภาษิตบางอย่างเราก็ยึดถือกันมาจนทุกวันนี้
        3.      ด้านค่านิยมทางสังคม     เช่น     มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์   ส่งเสริมการศึกษารู้จักประมาณตน  ไม่โอ้อวด   สร้างไมตรีไม่เบียดเบียนมิตร  รักเกียรติและศักดิ์ศรีมากกว่าทรัพย์  เป็นต้น
        4.      ด้านอิทธิพลต่อกวียุคหลัง       กวีรุ่นหลังใช้นำไปอ้างในวรรณคดีเรื่องต่างๆ   เช่น  มหาเวสสันดรชาดก  เพลงยาวถวายโอวาท  และขุนช้างขุนแผน  เป็นต้น
ตัวอย่างบางตอน   
เมื่อน้อยให้เรียนวิชา   ให้หาสินเมื่อใหญ่  อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน   อย่าริร่านแก่ความ  เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า  หน้าศึกอย่านอนใจ  ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน   การเรือนตนเร่งคิด   อย่านั่งชิดผู้ใหญ่   อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์   ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง   สร้างกุศลอย่ารู้โรย  หว่านพืชจักเอาผล  เลี้ยงคนจักกินแรง   น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ   ที่ซุ้มเสือจงประหยัด  มีสินอย่าอวดมั่ง  ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ   ครูบาสอนอย่าโกรธ  โทษตนผิดพึงรู้   อย่าขอของรักมิตร  ชอบชิดมักจางจาก  ภายในอย่านำออก   ภายนอกอย่านำเข้า   อาสาเจ้าจนตัวตาย  อาสานายจงพอแรง   ยอข้าเมื่อเสร็จกิจ   ยอมิตรเมื่อลับหลัง   อย่าขุดคนด้วยปาก  อย่าถากคนด้วยตา  อย่าพาผิดด้วยหู  อย่าเลียนครูเตือนด่า  อย่าริกล่าวคำคด  คนทรยศอย่าเชื่อ  อย่ามักง่ายมิดี  อย่าตีงูให้แก่กา  อย่ารักเหากว่าผม  อย่ารักลมกว่าน้ำ   อย่ารักถ้ำกว่าเรือน  อย่ารักเดือนกว่าตะวัน

   นางนพมาศ
 นางนพมาศเกิดในรัชกาลพญาเลอไท  กษัตริย์ที่  4  แห่งราชวงศ์พระร่วง   บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อ  โชติรัตน์  มีราชทินนามว่า  พระศรีมโหสถ   รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต  มารดาชื่อ  เรวดี       ภายหลังนางนพมาศได้ถวายตัวเข้าทำราชการในราชสำนักสมเด็จพระร่วงเจ้า      สันนิษฐานว่ารับราชการในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)       จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง   "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์"  พระสนมเอก
                ปรากฎว่า  นางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วงในกาลต่อมา   ที่สำคัญๆ มีอยู่  3  ครั้ง  คือ
                ครั้งที่  1     เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน   ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป     นางได้คิดประดิษฐ์โคมเป็นรูปบัวกมุทบาน   มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน   เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก
                ครั้งที่  2     ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน  เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง   มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย   ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู  นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม  พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า  ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี  รับแขกก็ดี    ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น  ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน  ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
                ครั้งที่  3     นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้  ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย  พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น   ตรัสว่า  แต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้