อะไร ที่ ส่งผลต่อการกระจายตัวของประชากร หรือ เป็นปัจจัยที่ ส่งผลต่อ จำนวนประชากร

ประเด็นสำคัญ
 

  • ผลการศึกษาพบว่า เมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเภทอาหารให้กับประเทศอื่นๆ ในขณะที่จะเกิดความต้องการนำเข้าบริการสุขภาพจากประเทศอื่นๆ แทน
  • การเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 อาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลกรด้านการแพทย์ในไทยมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเตรียมการรองรับโดยพัฒนาจำนวนบุคลากรและสถานบริการด้านการแพทย์ให้มากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะก่อให้เกิดการลดลงของจำนวนแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างรุนแรงได้ในอนาคต ดังนั้นประเทศไทยควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว รวมทั้งควรหาแนวทางในการเพิ่มพูนทักษะและผลิตภาพของแรงงานที่ในอนาคตจะมีจำนวนน้อยลงด้วย
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะลดอุปสงค์ภายในประเทศของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และภาคการผลิตอื่น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมการขยายตลาดในสินค้าดังกล่าวในตลาดใหม่ที่ยังมีโครงสร้างประชากรไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย
  • ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร ดังนั้น การสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตและการขยายตลาดของอุตสาหกรรมอาหารน่าจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ทางด้านการส่งออกให้แก่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
     

* Policy Brief ฉบับนี้เรียบเรียงและเขียนโดย ดร.นลิตรา ไทยประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก โครงการผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อรูปแบบการค้าในภูมิภาคอาเซียน 5 โดยดนุพล อริยสัจจำกร และกรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ (2555) จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
 

1. บทนำ

            ในปัจจุบันประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับสภาวะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรในโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศยุโรป และ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น หากพิจารณาในบริบทของประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้วจะพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนนั้นก็กำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ซึ่งจากการคาดการณ์จำนวนประชากรสูงวัยของสหประชาชาติ (United Nations) พบว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีอัตราการเติบโตของประชากรวัยชราสูงถึง 430 เปอร์เซ็นต์ ในปีระหว่างปี ค.ศ. 2000 – 2050 ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และหากพิจารณาภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเองแล้วจะเห็นได้ว่า ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวมากที่สุดได้แก่ ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย ซึ่งมีการคาดการณ์จาก International Labor Organization (ILO) ว่าจะมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยถึงร้อยละ 17.5 และ 11.2 ตามลำดับในปี ค.ศ. 2020 ตามมาด้วยประเทศพม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยประมาณร้อยละ 7.3-7.5 ในปีเดียวกัน ในขณะที่ยังคงมีบางประเทศที่สัดส่วนของประชากรสูงวัยยังค่อนข้างต่ำในปีเดียวกัน เช่น ประเทศลาว (ร้อยละ 3.9) กัมพูชา (ร้อยละ 5.0) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 5.8) และบรูไน (ร้อยละ 5.8)

            การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้หลายประการ ทั้งทางด้านรูปแบบการผลิต การบริโภค การออม การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย และทั้งนี้ เนื่องจากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลง ASEAN Economic Community (AEC) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปิดเสรีทางการค้า บริการ และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศในกลุ่ม จึงน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกันของรูปแบบการค้าระหว่างประเทศของประเทศในกลุ่มที่มีความแตกต่างกันในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

            Policy Brief ฉบับนี้มุ่งที่จะนำเสนอผลงานล่าสุดของดนุพล อริยสัจจำกร และกรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ (2555) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อรูปแบบการผลิต การบริโภค และการค้าในภูมิภาคอาเซียน และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อรับมือที่เหมาะสมของภาคการผลิตในประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้น

2. งานวิจัยในอดีต

    2.1 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อภาคการผลิตและรูปแบบการผลิต

            ในด้านการผลิตนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ประชากรวัยทำงานหรือแรงงานลดลง และทำให้สัดส่วนการพึ่งพิง (Dependency Ratio) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับผลิตภาพในการผลิตและระดับผลผลิตลดลงตามมา1 โดยความสัมพันธ์ระหว่างอายุของแรงงานกับผลิตภาพการผลิตจะแตกต่างกันออกไปตามอาชีพ แต่มักจะมีลักษณะความสัมพันธ์เป็นระฆังคว่ำ นั่นคือเมื่อผลิตภาพการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงอายุสามสิบตอนปลาย ผลิตภาพการผลิตจะเริ่มลดลงหลังจากนั้น นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจะส่งผลต่อรูปแบบการผลิต กล่าวคือประเทศที่มีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีการเพิ่มขึ้นของการสะสมทุนและการลดลงของประชากรวัยทำงาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตมาสู่สินค้าที่เน้นใช้ปัจจัยทุนมากยิ่งขึ้น และลดการผลิตสินค้าที่เน้นใช้ปัจจัยแรงงานลง

            งานศึกษาในอดีตต่อประเทศพัฒนาแล้วพบว่า การผลิตมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในภาคบริการทางสุขภาพ ภาคบริการทางการเงิน และการประกันต่างๆ โดยมีการขยายตัวอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ความต้องการที่ลดลงของการบริโภคจะส่งผลให้เกิดการหดตัวในภาคการก่อสร้าง การผลิตในอุตสาหกรรมทั่วไป การศึกษา และการบริการค้าปลีกและค้าส่ง2 ในส่วนของมุมมองด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) นั้นพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ประชากรมีแนวโน้มที่จะสะสมทุนมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในวัยทำงาน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนแรงงานมีฝีมือเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น แนวโน้มที่เริ่มเห็นได้ชัดในปัจจุบันคือ แรงงานที่เกษียณแล้วหรือแรงงานสูงวัยมีแนวโน้มที่จะยังคงมีบทบาทในตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของการสะสมทุนมนุษย์ก็คือ ความต้องการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาว ซึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่มระดับความสามารถของแรงงานให้ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการเพิ่มการลงทุนทางการศึกษา จะส่งผลให้แรงงานในวัยรุ่น (Young Adults) มีจำนวนลดลง และส่งผลต่อการผลิตโดยรวมของประเทศทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แรงงานที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการที่แรงงานพ้นวัยทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากแรงงานในวัยรุ่นที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อีกด้วย ผลกระทบในส่วนนี้ถือเป็นต้นทุนทางสังคมทางอ้อมที่เพิ่มเติมขึ้นจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อแรงงานมีการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ในระยะยาวแนวโน้มของการสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) สามารถชดเชยกับส่วนที่หายไปในตอนแรกได้3 นอกจากนั้น การเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศผ่านการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา (Offshoring of Production Process) การเพิ่มการทำงานของแรงงานสตรีและวัยชรา ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทดแทนการลดลงของประชากรวัยทำงานในภาคการผลิตได้4 จึงจำเป็นต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาร่วมด้วย
 

1เช่น จากงานศึกษาของ Lehman (1953)
2เช่น Fougere et al (2007)
3เช่น Boldrin and Montes (2005), Holler (2008), Fougere et al (2009), Georges et al (2009), Ludwig et al (2012), และ กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ และจันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว (2554)
4World Economic and Social Survey (2007)

   2.2 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อการบริโภคและรูปแบบการบริโภค

            ในส่วนของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะมีต่อการบริโภคนั้น งานศึกษาเชิงประจักษ์ได้ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบการบริโภคอาจเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุเปลี่ยนแปลงไป โดยประชากรในวัยเกษียณจะมีการบริโภคที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ และการไม่มีหลักประกันทางรายได้หรือระบบบำนาญที่เพียงพอ รวมไปถึงการมีเวลาที่บ้านมากทำให้มีการผลิตที่บ้าน (Home Production) เพิ่มขึ้นซึ่งชดเชยการบริโภคสินค้านอกบ้าน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคและอายุของประชากรยังมีความแตกต่างกันไปตามประเทศที่ทำการศึกษา เช่น พบการลดลงในการบริโภคของประชากรวัยเกษียณในอังกฤษและไอร์แลนด์ ในขณะที่ประชากรวัยเกษียณในสหรัฐอเมริกามีระดับการบริโภคที่สูงกว่าวัยทำงาน ส่วนการบริโภคในครัวเรือนของญี่ปุ่นจะลดลงเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อคิดรวมค่าใช้จ่ายของรัฐในสินค้าสาธารณะและบริการด้านสุขภาพ และการบริโภคจะคงที่ในกรณีของประเทศจีน แต่การบริโภคกลับลดลงในประเทศไทยและอินโดนีเซีย5 เป็นต้น

            ดังนั้นข้อสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคและการเข้าสู่สังคมสูงวัยยังไม่มีความชัดเจน จึงเกิดการถกเถียงที่เรียกว่า “Retirement-Consumption Puzzle” แต่สิ่งที่งานศึกษาส่วนมากเห็นตรงกันคือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการบริโภค (Consumption Pattern) เมื่อโครงสร้างอายุของประชากรมีการเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ประชากรในวัยเกษียณจะมีแนวโน้มในการบริโภคสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นของการบริโภคสองประเภทหลังเกิดจากการใช้เวลาอยู่กับบ้านมากยิ่งขึ้น แต่สัดส่วนการบริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่เกี่ยวกับความบันเทิง การเดินทาง และการบริโภคสินค้าพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม จะลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริโภคจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป6 อย่างไรก็ตาม ยังมีงานศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลออกมาตรงกันข้าม นั่นคือ พบว่าโครงสร้างประชากรไม่มีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งโดยมากงานศึกษาประเภทนี้จะชี้ให้เห็นว่ารายได้ต่อหัวประชากรเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญอย่างมากในการอธิบายค่าใช้จ่ายในบริการด้านสุขภาพ7 หรือพบว่าค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยกลับลดลงเมื่อประชากรมีอายุเพิ่มขึ้น8

           สำหรับประเทศไทย การศึกษาในหัวข้อนี้ยังมีอยู่น้อยมาก โดยมีงานศึกษาของ Sawaengkun (2011) ซึ่งศึกษาในช่วงปี 1988-2009 และพบว่าหากสัดส่วนของประชากรวัยเกษียณอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.105 อย่างมีนัยสำคัญ

    2.3 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อรูปแบบการค้า

            การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและรูปแบบการบริโภคข้างต้นจะส่งผลให้รูปแบบการค้าของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยงานเชิงประจักษ์ได้พบว่า ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น กลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จะกลายเป็นประเทศที่มีปัจจัยทุนมากโดยเปรียบเทียบเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานและจะเปลี่ยนรูปแบบการค้ามาส่งออกสินค้าที่เน้นใช้ปัจจัยทุนแทน ส่วนประเทศซึ่งมีประชากรวัยทำงานเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า เช่น อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะส่งออกสินค้าที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิการโดยรวมของผู้สูงวัยในประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่จะส่งผลเสียต่อสวัสดิการของประชากรในอนาคต (Future Generations) และผลเสียที่เห็นได้ชัดจะตกอยู่กับกลุ่มครัวเรือนที่มีลักษณะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้ การที่ประเทศหนึ่งๆ ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย จะทำให้ภาระของรัฐบาลประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้น จะเกิดการเพิ่มปริมาณการบริโภคเมื่อเทียบกับการผลิตทำให้การออมและการสะสมทุนค่อยๆ ลดลงเนื่องจากแรงงานในวัยทำงานได้ลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะก่อให้เกิดการบิดเบือนรูปแบบทางการค้าและการลงทุนที่มีระหว่างประเทศใหญ่ (ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) กับประเทศเล็ก (ที่ยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย) และจะส่งผลให้การบริโภคและการออมของประเทศเล็กที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย9 อย่างไรก็ดี การค้าระหว่างประเทศนั้น ถือว่ายังให้ผลดีมากกว่าผลเสีย แม้ว่าการค้านั้นจะเป็นการค้ากับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับที่ต่างกัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้คนบางกลุ่มในประเทศเสียประโยชน์ก็ตาม เพราะท้ายที่สุดการค้าระหว่างประเทศจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริโภคสินค้าที่ดีในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าที่มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้น ยังเป็นการช่วยกระจายการค้าให้ออกจากรูปแบบเดิมซึ่งมีลักษณะ North-North ไปมีรูปแบบ North-South มากขึ้นอีกด้วย10
 

5จากงานศึกษาของ Banks, Blundell, and Tanner (1998), Bernheim, Skinner, and Weinberg (2001), Hirioka (2006), World Economic and Social Survey (2007)
6จากงานศึกษาของ Hitiris and Posnett (1992), Green and Hendershott (1996), Felder et al (2000), Moro and Sckokai (2000) Spillmann and Lubtz (2000), Stearn et al (2004), Jonsson and Eckerlund (2003), Luhrmann (2005), Lee and Mason (2007), Lindenthal (2007),  Schaffnit and Chatterjee (2007), World Economic and Social Survey (2007), and Aguiar and Hurst (2009)
7เช่น งานศึกษาของ Getzen (1992), Gerdtham et al (1998), Barros (1998) และ Roberts (1999), Madsen et al (2002) และ Chernichovsky and Markowitz (2004)
8เช่น งานศึกษาของ Mankiw and Weil (1989) และ Beblo and Schreiber (2010)
9จากงานศึกษาของ Kanc and Sayan (2001), Sayan (2005), Naito and Zhao (2009) และ Rausch (2009)
10Georges et al (2009)

 

3. งานวิจัยของดนุพล อริยสัจจำกร และกรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ (2555)

            งานวิจัยนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อรูปแบบของการบริโภคและระดับการบริโภคของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ทั้งกลุ่ม ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์11 2) การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อภาคการผลิต โดยจะเน้นเฉพาะผลกระทบทางการผลิตจากการลดลงของแรงงานเป็นหลัก12 และ 3) การปรับปรุงแบบจำลอง GTAP13 โดยใช้ผลการศึกษาในส่วนที่ 1 และ 2 เพื่อจำลองผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะมีต่อรูปแบบการค้าในภูมิภาคอาเซียน14

           ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อรูปแบบของการบริโภคและระดับการบริโภคของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ทั้งกลุ่มพบว่า ตัวแปรโครงสร้างประชากรมีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย โดยการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรวัยชราต่อประชากรวัยทำงานร้อยละ 1 จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบริการด้านสุขภาพของครัวเรือนรวมในประเทศของทั้งกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ซึ่งผลที่ได้สอดคล้องกับงานศึกษาในอดีต15 ที่แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยชราจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายในด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกำหนดระดับการใช้จ่ายด้านสุขภาพคือระดับรายได้ ส่วนการเพิ่มการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบของครัวเรือนจะทำให้ค่าใช้จ่ายบริการด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้น

            ในส่วนของการบริโภคด้านที่อยู่อาศัย ผลที่ได้จากแบบจำลองสอดคล้องกับงานศึกษาในอดีตของกลุ่มที่พบว่าเมื่อประชากรมีอายุเพิ่มขึ้นจะทำให้มีระดับรายได้ลดลง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคด้านที่อยู่อาศัยลดลงตามไปด้วย16 ซึ่งผลจากการประมาณสมการการบริโภคด้านที่อยู่อาศัยของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 พบว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนพึ่งพิงประชากรวัยชราร้อยละ 1 จะส่งผลให้การบริโภคด้านที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ 2 นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดในการกำหนดระดับการบริโภคที่อยู่อาศัย คือรายได้หรือความมั่งคั่งของประชากร

            สำหรับค่าใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องนุ่งห่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90 กล่าวคือหากอัตราส่วนการพึ่งพิงประชากรวัยชราต่อประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องนุ่งห่มลดลงร้อยละ 1.06 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในอดีตเช่นกัน17       ในส่วนของค่าใช้จ่ายสินค้าสุดท้าย (final goods) อื่นๆ และค่าใช้จ่ายในบริการด้านอื่นๆ นั้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการในหมวดนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายการบริโภคสินค้าหมวดนี้ยังคงเป็นรายได้หรือความมั่งคั่งของประชากรในประเทศ

            ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อภาคการผลิตโดยเน้นเฉพาะผลกระทบทางการผลิตจากการลดลงของแรงงานเป็นหลักพบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรก่อให้เกิดการหดตัวของอุปทานจากการลดลงของแรงงานเมื่อประเทศมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายและเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีทั้งการขยายตัวและหดตัว โดยแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากผลที่ได้คือ มีการหดตัวในภาคการผลิตสินค้า ทั้งในภาคเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรม ในขณะที่ความต้องการในภาคบริการสุขภาพ บริการอื่นๆ และที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น เป็นแรงส่งให้เกิดการขยายตัวในการผลิตในภาคดังกล่าว

            ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อรูปแบบการค้าของกลุ่มประเทศในอาเซียนนั้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงมีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์การบริโภคสินค้าต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อสังคมมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากยิ่งขึ้น ความต้องการทางด้านบริการสุขภาพจะมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าของบริการดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการส่งออกจะมีมูลค่าที่ลดต่ำลง

            ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผลกระทบดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมลดต่ำลงเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าบริการสุขภาพและบริการอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของการส่งออก ประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะส่งออกสินค้าประเภทอาหารเพิ่มสูงขึ้น หลังจากก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ในขณะที่การส่งออกลดลงในกรณีของสินค้าอุตสาหกรรม บริการสุขภาพและบริการอื่นๆ

            สำหรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆ พบว่าในประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ มีการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในทิศทางเดียวกันกับประเทศไทย ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและอุตสาหกรรมลดต่ำลง ในขณะเดียวกัน มีการนำเข้าบริการสุขภาพและบริการอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ทางด้านการส่งออก สิงคโปร์มีปริมาณการส่งออกสินค้าอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม บริการสุขภาพและบริการอื่นๆ ลดต่ำลงทั้งหมด ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเช่นเดียวกับสิงคโปร์ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นที่มีการขยายตัวทางด้านการส่งออก สำหรับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมีการนำเข้าในภาคอุตสาหกรรม บริการสุขภาพ และบริการอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การนำเข้าในผลิตภัณฑ์อาหารลดต่ำลง และผลเป็นไปในทิศทางตรงข้ามสำหรับการส่งออกคือ ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม บริการสุขภาพ และบริการอื่นๆ ลดลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มสูงขึ้น

            จากการเปลี่ยนแปลงการนำเข้าและการส่งออกจะเห็นได้ว่า การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งส่งผลให้รูปแบบการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปนั้น ส่งผลให้รูปแบบการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มสูงขึ้นจะมีความต้องการนำเข้าบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อมโยงไปยังปริมาณการส่งออกที่ลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารมีความต้องการลดลง ทำให้มีการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในภาคการผลิตอาหารและการหดตัวของการนำเข้า สำหรับการเปลี่ยนแปลงในการค้าสินค้าอุตสาหกรรมนั้นยังคงให้ผลที่ไม่ชัดเจนในงานวิจัยนี้ เนื่องจากเมื่อประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ผลจากการจำลองสถานการณ์ให้ภาพส่วนใหญ่ว่ามีการหดตัวทั้งในการนำเข้าและส่งออก ยกเว้นในประเทศมาเลเซียที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมาณนำเข้า และอินโดนีเซียที่มีการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตนี้ จากผลที่ได้ดังกล่าวอาจพอได้สรุปว่า เมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าประเทศอาหารให้กับประเทศอื่นๆ ในขณะที่จะเกิดความต้องการนำเข้าบริการสุขภาพจากประเทศอื่นๆ แทน
 

11โดยอาศัยการประมาณสมการถดถอยที่อ้างอิงวิธีการศึกษาจาก Masson and Tryon (1990) ซึ่งเป็นการประมาณสมการการบริโภคที่สามารถแยกผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยใช้แบบจำลองการหาความเหมาะสมระหว่างช่วงเวลา (Inter-temporal Optimizing Model) ซึ่งปรับปรุงมาจากแบบจำลองของ Blanchard (1985) อีกที โดยปรับปรุงให้มีตัวแปรด้านประชากรคืออัตราส่วนพึ่งพิง (Dependency Ratio) เพิ่มเข้าไปในสมการ และได้ทำการแบ่งหมวดการบริโภคออกเป็น 5 สาขา คือ 1) การบริโภคอาหาร 2) การบริโภคสินค้าขั้นสุดท้ายอื่น ๆ 3) การบริโภคบริการด้านสุขภาพ 4) การบริโภคด้านที่อยู่อาศัย และ 5) การบริโภคบริการอื่น ๆ
12โดยการลดลงของแรงงานนั้นจะเป็นตัวแปรในการรบกวนระบบ (shock) ในแบบจำลอง CGE/GTAP (ดูนิยามข้างล่าง) ที่นำมาใช้ โดยกำหนดให้ตัวแปรแรงงานของประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนกับจำนวนประชากรในประเทศนั้นเป็นตัวแปรภายนอก และทำการลดปริมาณของตัวแปรนี้ให้เป็นไปตามแนวโน้มประชากรของกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ในปี ค.ศ. 2020 ตามการประมาณการของ ILO เพื่อแสดงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศ
13Global Trade Analysis Project (GTAP) เป็นแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE) ซึ่งเหมาะสมในการศึกษานี้ เนื่องจากให้ผลที่มีความครอบคลุมและมีการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิตและกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีความเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจ 113 กลุ่มเศรษฐกิจหลัก (กลุ่มประเทศ) ของโลก มีการแบ่งภาคการผลิตในแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจออกเป็น 57 ภาคการผลิต แบบจำลอง GTAP นี้ได้รวมรวมข้อมูลในรูปแบบตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) จาก 113 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจทั่วโลก โดยแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันโดยการค้าระหว่างประเทศ (Bilateral Trade) (จากฐานข้อมูลล่าสุดของ GTAP Database Version 6.0)  ข้อพึงสังเกตคือ ในแบบจำลอง GTAP ที่ใช้ในการศึกษานี้ ภาคการบริการด้านสุขภาพ จะไม่สามารถจำแนกผลกระทบออกมาตรงๆ รายภาคการผลิตได้ หากแต่เป็นผลกระทบในภาพรวมของภาคการผลิตที่มีการบริการด้านสุขภาพเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นขนาดของผลกระทบอาจไม่สูงดังที่คาดไว้ ในกรณีของภาคการบริการด้านสุขภาพนั้น ถูกรวมอยู่ในภาคการผลิตที่มีองค์ประกอบคือ การบริการของรัฐ การทหาร การศึกษา และสุขภาพ ส่วน CGE เป็นแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปที่คำนวณได้ มีการเชื่อมโยงกันในระดับภายในเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันโดยใช้รูปแบบความสัมพันธ์และพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจทางด้านจุลภาคและมหภาค เช่น ผู้บริโภคมีความต้องการความพึงพอใจสูงสุด (Maximized Utility) และผู้ผลิตมีความต้องการกำไรสูงสุด (Maximized Profit) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวยังมีการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิต โดยใช้กลไกตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และเชื่อมโยงต่อไปถึงระหว่างเขตเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก ภาคใต้ข้อสมมติพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค (Neoclassical Assumptions) โดยดุลยภาพในระบบรวมของแบบจำลองนี้อยู่ภายใต้ Walras’s Law โดยทั่วไปแบบจำลองประเภทนี้เป็นแบบจำลองที่ใช้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบสองจุดเวลา (Comparative Static Analysis) โดยมีข้อสมมติว่า ณ เวลาหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจในแบบจำลองอยู่ในดุลยภาพ หากมีการ “รบกวน” (shock) ตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งในระบบดังกล่าว จะส่งผลให้ระบบออกจากดุลยภาพ เพื่อปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากการรบกวนระบบ คือค่าการเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบของตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ ระหว่างก่อนและหลังรบกวนระบบนั่นเอง
14ค่าสัมประสิทธิ์ที่ได้จากการประมาณสมการการบริโภคในการศึกษาส่วนที่ 1 จะถูกนำไปใช้ปรับค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อการบริโภคในแบบจำลอง GTAP โดยอาศัยข้อมูลค่าคาดการณ์ประชากรในปี ค.ศ. 2020 ของสหประชาชาติประกอบ
15เช่น Hitiris and Posnett (1992), Jonsson and Eckerlund (2003) และ Christiansen et al (2006)
16คืองานศึกษาที่กล่าวถึงในเชิงอรรถที่ 8
17เช่น Moro and Sckokai (2000) Luhrmann (2005) และ Aguiar and Hurst (2009)

4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

    4.1 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะนำมาสู่ความต้องการบริการด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเริ่มเกิดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และบริการด้านสุขภาพไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีการกระจุกตัวของบุคลากรกลุ่มนี้ในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ข้อตกลงเปิดเสรีด้านการค้าบริการหลายข้อตกลง รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปได้อย่างเสรี ซึ่งอาจยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลกรด้านการแพทย์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเตรียมการรองรับโดยพัฒนาจำนวนบุคลากรและสถานบริการด้านการแพทย์ให้มากขึ้น รวมถึงการให้บริการเฉพาะด้าน เช่น การให้บริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ

    4.2 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะก่อให้เกิดการหดตัวของภาคการผลิตและขยายตัวในภาคบริการ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรมีแนวทางในการวางนโยบายด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้น โดยเพิ่มจำนวนบุคลากรที่จะเข้าศึกษาในสาขาด้านบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการแพทย์ พยาบาล และการให้บริการดูแลผู้สูงอายุ

    4.3 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะก่อให้เกิดการลดลงของจำนวนแรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับไร้ฝีมือและแรงงานในระดับปฏิบัติการอยู่แล้ว ดังนั้นการเข้าสู่สังคมสูงวัยจะยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว เช่น การอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องสำหรับการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว การผ่อนปรนประเภทของอาชีพที่แรงงานต่างด้าวจะสามารถเข้ามาทำงานได้ นอกจากนี้ แนวทางในการเพิ่มพูนทักษะและผลิตภาพของแรงงานที่ในอนาคตจะมีจำนวนน้อยลง น่าจะเป็นหนทางที่สำคัญสำหรับประเทศไทยอีกด้วย

    4.4 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะลดอุปสงค์ภายในประเทศของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และภาคการผลิตอื่น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมการขยายตลาดในสินค้าดังกล่าวในตลาดใหม่ที่ยังมีโครงสร้างประชากรไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ตะวันออกกลาง และรัสเซีย นอกจากนี้ ผลจากการจำลองสถานการณ์สังคมสูงวัยภายใต้การค้าเสรีพบว่าประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร ดังนั้น การขยายตลาดข้างต้น ประกอบกับการสนับสนุนทางด้านการอุตสาหกรรมอาหารน่าจะมีส่วนช่วยสร้างรายได้ทางด้านการส่งออกให้แก่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

    4.5 การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอาหารในข้อ 4.4 จำเป็นต้องมีการสนับสนุนทั้งห่วงโซ่การผลิต ดังนั้น แนวนโยบายที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทางการผลิตในภาคเกษตร จะเป็นการช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอีกทางหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

ดนุพล อริยสัจจำกร และ กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ (2555). โครงการผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อรูปแบบการค้าในภูมิภาคอาเซียน 5, เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ และ จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว (2553) “ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบบำนาญรูปแบบต่าง ๆ”
            ชุดโครงการมิติทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, เสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
Aguiar, M. and Hurst, E. (2009), “Deconstructing lifecycle expenditure”, mimeo.
Banks, J., Blundell, R. and Tanner, S. (1998), “Is there a retirement-savings puzzle?” American Economic Review, 88(4), pp. 769-88.
Barros, P. (1998), “The black box of health care expenditure growth determinants,” Health Economics, 7, pp. 533-44.
Beblo, M. and Schreiber, S. (2010), “The Lifecycle hypothesis revisite: evidence on housing consumption after retirement,” mimeo.
Bernheim, B., Skinner. D.J., Weinberg, S. (2001), “What accounts for the variation in retirement wealth among US households?” American Economic Review, 91(1), pp. 832-57.
Blanchard, O., (1985) “Debt, deficits and finite horizons,” Journal of Political Economy, 93, pp. 223-47.
Boldrin, M. and Montes, A. (2005), “The intergenerational state education and pensions,” Review of Economic Studies, 72(3), pp. 651664.
Chernichovsky, D. and Markowitz, S. (2004), “Aging and aggregate costs of medical care: Conceptual and policy issues,” Health Economics, 13, pp. 543-62.
Christiansen, T., Bech, M., Lauridsen, J. and Nielsen, P. (2006), “Demographic changes and aggregate healthcare expenditure in Europe,” ENEPRI Research report no. 32, European Network of Economic Policy Research Institute.
Felder, S., Meier, M. and Schmitt, H. (2000), “Health care expenditure in the last month of life,” Journal of Health Economics, 19, pp. 679-95.
Fougere, M., Harvey, S., Mercenier, J. and Merette, M. (2009), “Population Ageing, Time Allocation and Human Capital: a General Equilibrium Analysis for Canada,” Economic Modeling, 26, pp. 30-39.
Fougere, M., Mercenier, J. and Merette, M. (2007), “A Sectoral and Occupational Analysis of Population Ageing in Canada using a Dynamic CGE Overlapping Generations Model,” Economic Modeling, 24, pp. 690-711.
Georges, P., Merette, M. and Seckin, A. (May 2009), “Should Canada Diversify its Trade Pattern? An Overlapping Generations CGE Analysis of Trade and Ageing,”
             Working Paper  #0906E, Department of Economics, University of Ottawa.
Gerdtham, U.B., Jonsson, B. and Andersson, F. (1998), “The determinants of health expenditure in the OECD countries,” in P.Zweifel, ed., Health, The medical Profession, and Regulation, Dordrecht, Kluwer Academic Publishers.
Getzen, T.E. (1992), “Population aging and the growth of health expenditures,” Journal of Gerontology, 47, pp. 98-104.
Green, R. and Hendershott, P.H. (1996), “Age, housing demand and the real house prices,” Regional Sciences and the Urban Economics, 22, pp. 553-63.
Hitiris, T. and Posnett, J. (1992), “The determinants and effects of health expenditure in developed countries,” Journal of Health Economics, 11, pp. 173-181.
Holler, J. (2008), “On the role of pension systems in economic development and demographic transition,” WP University of Vienna No. 812.
Horioka, C.Y. (2006), The causes of Japan’s ‘Lost Decade’: The role of household consumption, Center for Japan-US Business and Economics Studies,
             The Leonard N. Stern School of Business, New York University, Working paper no. N002.
Jonsson, B. and Eckerlund, I. (2003), “Why do different countries spend different amounts on health cares? Macroeconomic analysis of differences in health care     
              expenditure”,    Chapter 6 in A Disease-based Comparison of Health Systems. What is best at what cost? OECD.
Kenc, T. and Sayan, S. (2001), “Demographic Shock Transmission from Large to Small Countries: an Overlapping Generations CGE Analysis,” Journal of Policy Modeling, 23,        
              pp.  677-702.
Lee, A.R. and Mason, A. (2007), “Population aging, wealth and economic growth: Demographic dividends and public policy,” background paper prepared for
              World Economic and Social Survey (2007).
Lehman, H. C. (1953). Age and achievement. Princeton, NJ: Princeton University Press.
Lindenthal, T. (2007), “Demographic change and the demand for housing: the British Evidence”, mimeo.
Ludwig, A., Schelkle, T. and Vogel, E. (2012), “Demographic Change, Human Capital and Welfare,” Journal of Economic Dynamic, 15(1), pp. 94-107.
Luhrmann, M. (2005), “Population aging and the demand for goods and services” MEA discussion paper series 05095, Mannheim Research Institute for the Economics of Aging, Unveristy of Mannheim.
Madsen, J. SerupHansen, N., Kragstrup, J. and Kristiansen, I.S. (2002), “Aging may have limited impact on future costs of primary care providers,”
             Scandinavian Journal of Primary Care, 20(3), pp. 169-173.
Mankiw, N.G. and Weil, D.N. (1989), “The baby boom, the baby bust, and the housing market,” Regional Science and the Urban Economics, 19 (2), pp. 235-58.
Masson, P.R. and Tryon, R.W. (1990), “Macroeconomic effects of projected population aging in industrial countries,” IMF Staff Papers, 37(3), pp. 453-85.
Moro, D. and Sckokai, P. (2000), “Heterogeneous preferences in household food consumption in Italy,” European Review of Agricultural Economics, 27(3), pp. 305-23.
Naito, T. and Zhao, L. (2009), “Aging, Transitional Dynamics, and Gains from Trade,” Journal of Economic Dynamic & Control, 33, pp. 1531-42.
Rausch, S. (2009), Macroeconomic Consequences of Demographic Change: Modeling Issues and Applications, SpringerVerlag Berlin Heidelberg.
Roberts, J. (1999), “Sensitivity of elasticity estimates for OECD health care spending: Analysis of a dynamic heterogenous data field,” Health Economics, 8, pp. 459-72.
Sawaengkun, S. (2011), “Household consumption and old-age population: empirical study for Thailand and Japan,” Annual Summit on Business and
                  Entrepreneurial Studies (ASBES) Proceeding.
Sayan, S. (2005), “Heckscher Ohlin Revisited: Implications of Differential Population Dynamics for Trade within an Overlapping Generations Framework,”
                  Journal of Economic Dynamic & Control, 29, pp. 1471-93.
Schaffnit and Chatterjee, C. (2007), “How will senior Germans spend their money? The interplay of demography, growth, and changing preference,”
                  Deutsche Bank Research 27, Germany.
Spillmann, B. and Lubitz, J. (2000), “The effect of longevity on spending for acute and longterm care,” The New England Journal of Medicine, 342, pp. 1409-15.
Stearns, S.C. and Norton, E.C. (2004), “Time to include time to death? The future of health care expenditure predictions,” Health Economics, 13, pp. 315-27.
World Economic and Social Survey (2007) “Development in an Ageing World,” The United Nations Non-Governmental Liaison Service (UNNGLS)

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ค้นหา ประวัติ นามสกุล ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง ไทยแปลอังกฤษ ประโยค Terjemahan เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษาจีน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ่้แปลภาษา Google Translate ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย พร บ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 วิธีใช้มิเตอร์วัดไฟดิจิตอล สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครอง ส่วนท้องถิ่น ห่อหมกฮวก แปลว่า Bahasa Thailand Thailand translate mu-x มือสอง รถบ้าน การวัดกระแสไฟฟ้า ด้วย แอมมิเตอร์ การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน แคปชั่น พจนานุกรมศัพท์ทหาร ภูมิอากาศ มีอะไรบ้าง สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อาจารย์ ตจต อเวนเจอร์ส ทั้งหมด เขียน อาหรับ แปลไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน Google map Spirited Away 2 spirited away ดูได้ที่ไหน tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง กินยาคุมกี่วัน ถึง ปล่อยในได้ ธาตุทองซาวด์เนื้อเพลง บช.สอท.ตำรวจไซเบอร์ ล่าสุด บบบย มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ตอนจบ รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล ศัพท์ทางทหาร military words สอบ O หยน