ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ แบบฝึกหัด

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ แบบฝึกหัด

ตั้งแต่ ม.๑-ม.๖ เพื่อน ๆ คงเคยสังเกตกันมาบ้างว่า วรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องที่เราเรียนกัน ล้วนเป็นผลงานของพระมหากษัตริย์ไทยกันทั้งนั้น ซึ่งก็รวมถึงวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ ด้วย โดยผู้แต่งเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนู่นเลย มาดูกันดีกว่าว่าเนื้อเรื่องจะแตกต่างจากพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังไงบ้าง เราจะมาสรุปไตรภูมิพระร่วงกันในบทความนี้

แต่หากเพื่อน ๆ อยากดูแบบวิดีโอที่มีกราฟิกสวยงาม เข้าใจง่าย ต้องดาวน์โหลดแอปฯ StartDee นะ จะบอกให้ !

ความหมายของไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิมาจากคำว่า”ไตร” แปล่วา สาม และ “ภูมิ” แปลว่า แผ่นดิน หรือภพภูมิ ดังนั้น ไตรภูมิจึงหมายถึงภูมิทั้งสาม หรือโลกทั้งสาม ซึ่งประกอบไปด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมินั่นเอง โดยกามภูมิ คือโลกของผู้ที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส ในขณะที่รูปภูมิและอรูปภูมิจะเป็นดินแดนของพรหม ส่วนคำว่าพระร่วงนั้นเป็นคำเรียกพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัยพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

นอกจากชื่อไตรภูมิพระร่วงแล้ว ยังสามารถเรียกวรรณคดีเรื่องนี้ว่า ไตรภูมิกถา หรือเตภูมิกถา ได้อีกด้วย โดย ๒ ชื่อหลังเป็นชื่อเดิมของไตรภูมิพระร่วง

ผู้แต่งไตรภูมิพระร่วง

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไทย เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงสุโขทัย โดยมีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “พระร่วง” นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกพญาลิไทยด้วยเช่นกัน 

พญาลิไทย เป็นพระราชนัดดาหรือหลานของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ พญาลิไทยทรงใช้หลักธรรมะ เป็นหลักสำคัญในการนำพาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ทำให้ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ทรงแตกฉานในพระไตรปิฎก และอรรถกถาฎีกาอีกด้วย

ที่มาของไตรภูมิพระร่วง

พญาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงขึ้น เพื่อโปรดพระราชมารดา และเป็นธรรมทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยเรื่องไตรภูมิพระร่วงนั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อชี้ให้ผู้อ่านตระหนักว่า ดินแดนในสามโลกนี้มีแต่อนิจจลักษณะ หมายถึง เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ ไม่มีความแน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน มีแต่การแปรเปลี่ยน รวมทั้งยังชี้นำให้ทุกคนแสวงหาทางหลุดพ้นไปสู่โลกุตรภูมิ หรือนิพพานที่อยู่เหนือกระแสแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

ลักษณะคำประพันธ์

ความเรียงร้อยแก้ว

จักรวาลตามความเชื่อของไตรภูมิ

ในวรรณคดีเรื่องนี้ กล่าวถึงลักษณะของจักรวาลว่า มีลักษณะเป็นวงกลม มีเขาพระสุเมรุเป็นศุนย์กลางของจักรวาล บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นผู้ปกครองและเหนือขึ้นไปบนอากาศก็จะมีสรรค์ชั้นอื่น ๆ อีก 

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ จากสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น หรือที่เรียกว่า “ฉกามาพจร” ส่วนด้านล่างของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น จะมีเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง ๗ โดยแต่ละชั้นจะมีทะเลสีทันดรคั่นอยู่ ซึ่งใต้ทะเลนี้จะมีปลาอานนท์ และปลาบริวารเวียนว่ายอยู่ จึงทำให้จักรวาลเคลื่อนที่

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ แบบฝึกหัด

และถัดจากภูเขาก็จะมีมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลจนจดขอบจักรวาล โดยท่ามกลางมหาสมุทรนี้ จะมีทวีปประจำทิศทั้งสี่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ได้แก่ อุตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ บูรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ และอมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ โดยคนในแต่ละทวีปก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เช่น คนในอุตรกุรุทวีป จะมีใบหน้าสี่เหลี่ยม มีรูปร่างงาม คนในบูรพวิเทหทวีป จะมีใบหน้ากลมเหมือนพระจันทร์เดือนเพ็ญ คนในอมรโคยานทวีป จะมีหน้าเหมือนพระจันทร์เดือนแรม ซึ่งคนที่เกิดในทั้ง ๓ ทวีปนี้จะมีอายุที่แน่นอน และอยู่อย่างมีความสุข เพราะรักษาศีลอยู่เสมอ

ในขณะที่คนที่อาศัยอยู่ในชมพูทวีป จะมีใบหน้ารูปไข่ มีอายุขัยที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการทำบุญหรือทำกรรม แต่ทวีปนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้า พระจักรพรรดิราช และพระอรหันต์ ทำให้คนในทวีปนี้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมคำสอน เมื่อเสียชีวิตจะมีโอกาสเกิดในภพภูมิที่ดีได้

สำหรับด้านล่างของทวีปต่าง ๆ จะมีนรกใหญ่ ๘ ขุมเป็นชั้นถัดลงไป โดยจากที่กล่าวมานี้สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น โลกมนุษย์ และนรก จะจัดอยู่ในกามภูมิหรือโลกที่ยังติดอยู่ในกามกิเลส แต่ส่วนที่ถัดจากสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นขึ้นไปซึ่งจะเป็นชั้นของพรหมนั้น จะอยู่ในรูปภูมิ และอรูปภูมิ โดยรูปภูมิมี ๑๖ ชั้น ขณะที่อรูปภูมินั้นมี ๔ ชั้น

สรุปไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ

มนุสสภูมิเป็นภูมิหนึ่งในกามภูมิ ซึ่งกล่าวถึงเนื้อหาของการกำเนิดมนุษย์เอาไว้ โดยกล่าวถึงมนุษย์ผู้ชายหรือผู้หญิงที่ปฏิสนธิในท้องของแม่ จะเริ่มต้นโดยการเป็น “กลละ” หรือเซลล์ที่มีขนาดเล็กที่สุด พอครบ ๗ วัน จะมีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า “อัมพุทะ” อีก ๗ วันถัดมาจะเป็นชิ้นเนื้อในครรภ์มารดา หรือเรียกว่า “เปสิ” ซึ่งมีลักษณะข้นเหมือนตะกั่วเชื่อมในหม้อ และอีก ๗ วันต่อมาจะแข็งเป็นก้อนเหมือนไข่ไก่ ซึ่งเรียกว่า “ฆนะ” จากนั้นจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นทุกวัน

หลังจากเป็นฆนะได้ ๗ วัน ก็จะเป็น “เบญจสาขาหูด” โดยคำว่าเบญจแปลว่า ๕ ดังนั้น จึงหมายถึง หูดที่มี ๕ ตุ่ม ได้แก่ หัว ๑ ตุ่ม แขน ๒ ตุ่ม และขา ๒ ตุ่ม ต่อจากนั้นไปอีก ๗ วัน จะเริ่มมีฝ่ามือ นิ้วมือ และเมื่อครบ ๔๒ วันจึงมีขน มีเล็บเท้า เล็บมือ มีอวัยวะครบถ้วนทุกประการแบบมนุษย์ นอกจากนั้นในไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิยังบอกอีกว่า เด็กที่เกิดในท้องแม้นั้นมีรูปร่าง ๑๘๔ ประการ แบ่งออกเป็น

  • ส่วนบน ตั้งแต่คอถึงศีรษะ มี ๘๔ รูป
  • ส่วนกลาง ตั้งแต่คอถึงสะดือ มี ๕๐ รูป
  • ส่วนล่าง ตั้งแต่สะดือถึงฝ่าเท้า มี ๕๐ รูป

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ แบบฝึกหัด

โดยเด็กที่อยู่ในท้องนั้นต้องได้รับความลำบากอย่างมาก ต้องทนอยู่ในที่ที่ทั้งชื้นและเหม็นพยาธิซึ่งอาศัยปนอยู่ในท้องแม่ ดังความว่า

“...เมื่อกุมารอยู่ในท้องแม่นั้นลำบากนักหนา พึงเกลียดพึงหน่ายพ้นประมาณนัก ก็ชื้นแลเหม็นกลิ่นตืดแลเอือนอันได้ ๘๐ ครอก...ฝูงตืดแลเอือนทั้งหลายนั้นคนกันอยู่ในท้องแม่…”

สำหรับอาหารที่เด็กกินนั้น ก็จะกินผ่านสายสะดือที่ส่งจากผู้เป็นแม่อีกทอดหนึ่ง โดยอาหารที่แม่กินเข้าไปก่อนจะอยู่ใต้ตัวเด็ก ส่วนอาหารที่แม่กินเข้าไปใหม่จะทับอยู่บนศีรษะเด็ก ทำให้เด็กได้รับความทุกข์ทรมานยิ่งนัก ตอนที่อยู่ในท้องแม่ เด็กจะนั่งอยู่กลางท้อง ในท่าคู้คอจับเจ่า และกำมือแน่น ซึ่งในขณะที่นั่งอยู่นั้น เลือดและน้ำเหลืองจะหยดลงเต็มตัวเด็กตลอด ไม่ได้หายใจ รวมถึงไม่ได้เหยียดมือและเท้าเลย ต้องเจ็บปวดเหมือนถูกขังไว้ในไห หรือที่คับแคบ เวลาแม่เดิน นอน หรือลุกขึ้น เด็กก็จะเจ็บปวดประหนึ่งว่าจะตาย เปรียบได้กับลูกเนื้อทรายที่อยู่ในมือของคนเมาเหล้า หรือลูกงูที่หมองูเอาไปเล่น ดังความว่า

“ผิแลว่าเมื่อแม่เดินไปก็ดี นอนก็ดี ฟื้นตนก็ดี กุมารในท้องแม่นั้นให้เจ็บเพียงจะตายแล ดุจดั่งลูกทรายอันพึ่งออกแล อยู่ธรห้อย ผิบ่มิดุจดั่งคนอันเมาเหล้า ผิบ่มิดุจดั่งลูกงูอันหมองูเอาไปเล่นนั้นแล…”

หลังจากอยู่ในท้องแม่มาประมาณ ๖ เดือน หากเด็กคลอดออกมาช่วงนี้ มักจะไม่รอด แต่หาก๗ เดือนแล้วคลอด เด็กมักจะออกมาไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีการกล่าวด้วยว่า เด็กที่มีที่มาต่างกัน เมื่ออยู่ในท้องแม่จะมีลักษณะที่ต่างกัน และเมื่อคลอดออกมาย่อมมีลักษณะต่างกันด้วย เช่น เด็กที่มาจากนรก เมื่ออยู่ในท้องแม่ ก็จะเดือดเนื้อร้อนใจ กระสับกระส่าย พลอยให้แม่ร้อนเนื้อร้อนตัวไปด้วย และเวลาที่คลอด ตัวเด็กก็จะร้อน ต่างจากเด็กที่มาจากสวรรค์ เมื่ออยู่ในท้องแม่ ก็จะมีแต่ความสุขกายสบายใจ ตัวแม่ก็พลอยเย็นไปด้วย และเวลาคลอด ตัวของเด็กจะเย็น 

ต่อมาเมื่อถึงเวลาจะคลอด ก็จะเกิดลมกรรมชวาตพัดดันตัวเด็กให้ขึ้นไปด้านบน และหันหัวเด็กลงมาด้านล่าง เตรียมที่จะคลอด ถ้าคลอดออกมาไม่พ้นจากตัวแม่ เด็กคนนั้นก็จะรู้สึกเจ็บเนื้อเจ็บตัวเป็นอย่างมาก เหมือนกับช้างที่ถูกชักถูกเข็นออกจากรูกุญแจ หลังจากออกจากท้องแม่แล้ว เด็กที่มาจากนรก ก็มักจะคิดถึงความยากลำบากที่เคยเจอมา พอคลอดออกมาก็จะร้องไห้ แต่ถ้าเด็กคนนั้นมาจากสวรรค์ ก็จะคิดถึงความสุขในครั้งก่อน เมื่อคลอดออกมา จะหัวเราะก่อน

นอกจากนั้นไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ ยังกล่าวถึงเด็ก ๒  กลุ่ม คือเด็กทั่วไป และเด็กที่เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันตาขีณาสพ และพระอัครสาวก ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

  • เด็กทั่วไป จะไม่รู้สึกตัวใด ๆ ทั้งตอนมาเกิดในท้องแม่ ตอนอยู่ในท้องแม่ และตอนออกจากท้องแม่ 
  • เด็กที่เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันตาขีณาสพ และพระอัครสาวก จะรู้สึกตัวตอนมาเกิดในท้องแม่ และตอนอยู่ในท้องแม่ แต่เมื่ออกจากท้องแม่แล้ว ก็จะลืมทุกอย่างเหมือนเด็กทั่วไป

คำศัพท์พร้อมความหมาย

ไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ แบบฝึกหัด

ตืด, เอือน หมายถึง พยาธิ

คนกัน หมายถึง ปนกัน

อยู่ธรห้อย หมายถึง โคลงเคลงไปมา

นอกจากสรุปไตรภูมิพระร่วงแล้ว ยังเหลือคุณค่าด้านสังคม เนื้อหา และวรรณศิลป์อีกนะ แต่เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ไปดูในรูปแบบวิดีโอกับแอปฯ StartDee ดีกว่า ส่วนใครอยากอ่านเรื่องอื่น ๆ คลิก กาพย์เห่เรือ สถิติเชิงพรรณา หรือระบบประสาทและโซมาติก ลุย !

Did you know ?

ผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๑ คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ ๒ คือใครกันน้า...คำตอบก็คือ พญาลิไทย ผู้แต่งเรื่องไตรภูมิพระร่วง นี่เอง โดยทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ เพราะโปรดให้สร้างศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ถึงหลักที่ ๑๐ อีกทั้งยังจารึกไว้ทั้งภาษาไทย ภาษามคธ และภาษาขอมอีกด้วย 

บทเรียนโดย ณิชาบูล พ่วงใส (ครูใหม่)

ที่มา : https://vajirayana.org/ไตรภูมิกถาฉบับถอดความ/พระราชประวัติพญาลิไทย