ตรา สิงห์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ความหมาย

สัญลักษณ์อาเซียน คืออะไร เรามีคำตอบ!!!
 สัญลักษณ์อาเซียน ได้รับการออกแบบให้เป็นรูปรวงข้าวสีเหลืองทองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงินรวงข้าว 10 ต้นที่มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมกันอยู่เพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน โดยพื้นที่วงกลม สีแดง สีขาวและน้ำเงิน แสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีตัวอักษรคำว่า “asean” สีน้ำเงิน วางอยู่ใต้รวงข้าวอันแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภาพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งมวล ส่วนสีน้ำเงินในสัญลักษณ์อาเซียน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

สัญลักษณ์อาเซียน

สีในสัญลักษณ์อาเซียนมีความหมายดังนี้
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

 
 
 
 
 

ตราประจำกระทรวงมหาดไทย

ตราและสีประจำกระทรวงมหาดไทย คัดจากหนังสือ “100 ปี มหาดไทย” โรงพิมพ์ศิริวัฒนาการพิมพ์ ยานนาวา กรุงเทพ ฯ พ.ศ. 2535

ตราประจำกระทรวงมหาดไทย มีวิวัฒนาการมาจากตราประจำตำแหน่งราชการ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าตราประจำตำแหน่งเป็นของสำคัญมาก เพราะเอกสารต่างๆ ของทางราชการในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ใช้ประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ ไม่มีการลงลายมือชื่อแต่อย่างใด สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตรัสอธิบายว่า

"แต่ก่อนไม่ได้ใช้เซ็นชื่อใช้ตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งประทับแทนเซ็นชื่อ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งบรรดาคน สามัญ ซึ่งมีธุระในการหนังสือก็ทำตราขึ้นใช้ประจำตัว"

ตราประจำตัว ประจำตำแหน่ง แต่เดิมมีประเพณีพระราชทานพระราชลัญจกรไปเป็นเกียรติยศ พระราชลัญจกรที่พระราชทานไปนี้ เป็นพระตราอันเคยใช้ทรงประทับหรือโปรดให้ทำขึ้นใหม่ก็ได้ เมื่อพระราชทานไปแล้วก็ไม่เรียกว่า พระราชลัญจกร จะเรียกจำเพาะแต่ที่ใช้ทรงประทับเท่านั้น ผู้ที่ได้รับตราพระราชทาน ถ้าเป็นตราประจำตัวเมื่อไม่มีตัวแล้วก็ส่งคืนถ้าเป็นตราประจำตำแหน่ง เมื่อเลิกตำแหน่งแล้วก็ต้องส่งคืนเช่นกัน ใครจะเอาไปกดหรือใช้ต่อไปหาได้ไม่ ทั้งนี้ เปรียบเสมือนเครื่องยศอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นตำแหน่งสำคัญๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชทานด้วยพระองค์เอง
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของตราประจำตำแหน่งไว้ด้วยว่า “ตราพระราชสีห์เห็นจะมีก่อนอื่นหมดเพราะเดิมเสนาบดีมีตำแหน่งเดียว เป็นรองจากพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่างๆ แต่การรบคงมากกว่าอย่างอื่นตามตำแหน่งที่เรียกเสนาบดีก็หมายความว่าเป็นใหญ่ในเสนา (คือทหาร) เป็นการยกย่องว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตามคำที่ใช้เรียกคนกล้าว่า “นรสิงห์” ภายหลังราชการมากขึ้น คนเดียวบังคับไม่ไหวจึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่ง แบ่งกันบังคับการ คนหนึ่งให้บังคับพลเรือน คือพวกที่อยู่เรือนไม่ไปสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ จะให้ใช้ตราอะไรเป็นคู่กัน ก็เลือกได้แต่ แต่ “คชสีห์” แต่ที่จริงคลาดไปหน่อย คำว่า คชสีห์เห็นจะเป็นคำยกย่องช้างตัวกล้าว่าเหมือนราชสีห์ ได้มาจากคำว่า นรสีห์ นั่นเอง ทีหลังท่านทั้งสองนี้ไม่ไหวเข้า จึงเกิดตั้งเสนาบดีขึ้นอีกสี่ตำแหน่งเรียกว่าจตุสดมภ์ สำหรับช่วยบังคับการงาน”
คติความเชื่อที่นำ “ราชสีห์” มาเป็นสัญลักษณ์นั้น น่าจะมาจากคติของศาสนาพราหมณ์ในตำนานโหราศาสตร์ที่ถือว่าพระอาทิตย์ขี่ราชสีห์ และพระอาทิตย์เองก็ถูกสร้างมาจากราชสีห์ กล่าวคือ พระอิศวรได้นำเอาราชสีห์ ๖ ตัว มาป่นให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าสีแดงพรมด้วยน้ำอมฤตก็บังเกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้น
คุณลักษณะของราชสีห์ที่ปรากฏในหนังสือเรื่องปัญหาพระยามิลินห์สีห วรรคที่ 5 นั้น มี 7 ประการ คือ (1) เป็นสัตว์ที่สะอาดหมดจดไม่มัวหมอง (2) เที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง 4 มีเยื่องกรายอย่างกล้าหาญ (3) มีรูปร่างโอ่อ่าสร้อยคอสะสวย (4) ไม่นอบน้อมสัตว์ใดๆ แม้ เพราะจะต้อง เสียชีวิต (5) หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารที่ใดก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้นไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี กินได้ทั้งนั้น (6) ไม่มีการสะสมอาหารและ (7) หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะยานและไม่กินจนเกินต้องการ อันเป็นลักษณะของข้าราชการที่รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่นิยมใช้ราชสีห์ หรือ สิงห์ เป็นสัญลักษณ์ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ อินเดีย เป็นต้น
ในวรรณคดีแบ่งราชสีห์ ออกเป็น 4 ชนิด คือ ติณสีหะ กาฬสีหะ บัณฑสีหะ และไกรษรสีหะ สำหรับราชสีห์ที่ใช้เป็นตราราชสีห์นั้น เป็นไกรษรสีหะ หรือไกรษรราชสีห์ ซึ่งมี “ฤทธิเริงแรง ปลายทาง และเท้าปากเป็นสีแดงดูดุจจะย้อมครั่งพรรณที่อื่นเอี่ยมดังสีสังข์ไสเศวตวิสุทธิ์สดสะอ้าน ประสานลายวิไลผ่านกลางพื้นปฤษฎางค์แดงดั่งชุบชาด อันนายช่างชาญฉลาดลากลวดลงพู่กันเขียนเบื่องอูรุนั้นเป็นรอยเวียนวงทักษิณาวัฏ เกสรสร้อยศอดั่งผ้า รัตตกัมพล”
นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ได้กล่าวถึงความเป็นมาเกี่ยวกับการใช้ดวงตราประทับหนังสือราชการว่า ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีความปรากฏในพระไอยการศักดินาพลเรือน และศักดินาทหารหัวเมือง ฉบับหนึ่ง กับพระไอยการพระธรรมนูญ ฉบับหนึ่งว่า “หัวหน้าของกรมใหญ่ ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าแผ่นดินให้ใช้ตราของทางราชการ การประทับเอกสารที่เกี่ยวกับการปกครองทั้งหมดที่กรมใหญ่ประกาศใช้”
เอกสารที่ประทับตรานั้น คือ สารตราที่ขุนนางส่วนกลางจะส่งไปหัวเมือง ซึ่งหลักฐานที่พบเกี่ยวกับตราประทับนั้นคือ ตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว เป็นตราประจำตำแหน่งของกรมใหญ่ที่กำกับราชการในสมัยนั้น คือ กรมมหาดไทย อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีบังคับบัญชาราชการ และกรมพระกลาโหม อันมีเจ้าพระยามหาเสนาบดีสมุหกลาโหมบังคับบัญชา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ได้มีการกำหนดอำนาจการบังคับบัญชาไว้ดังนี้ กรมมหาดไทย ดูแลและบังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝ่ายเหนือ
และกรมพระกลาโหม ดูแลและบังคับบัญชาพลเรือน และทหารฝ่ายใต้
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดให้ชำระสะสางระเบียบราชการซึ่งเคยมีอยู่มากมาย แต่กระจัดกระจายหายไปบางส่วนครั้งเสียกรุงแก่พม่า ครั้นชำระแล้วให้ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว ไว้ทุกเล่มเป็นสำคัญเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายตรา 3 ดวง” ทางด้านการปกครองได้กำหนดตำแหน่งบังคับบัญชาไว้ 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก ใช้ตราพระราชสีห์ประจำตำแหน่งบังคับหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง และสมุหกลาโหมใช้ตราคชสีห์ประจำตำแหน่ง บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งปวงและทหารบก ทหารเรือ พร้อมกับได้แต่งตั้งเสนาบดีจตุสดมภ์รองลงมาอีก 4 ตำแหน่ง คือ
– เสนาบดีกรมเมือง (เวียง) ใช้ตราพระยมทรงสิงห์ประจำตำแหน่งรักษาความปลอดภัยราษฏรในอาณาจักร
– เสนาบดีกรมวัง ใช้ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ (พระโค) ประจำตำแหน่งบังคับบัญชาราชการภายในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาคดีแพ่ง
– เสนาบดีกรมพระคลัง ใช้ตราบัวแก้วประจำตำแหน่งเป็นพนักงานรับจ่ายและเก็บพระราชทรัพย์ ที่ได้จากส่วนอากรและการค้าขายกับต่างประเทศ
– เสนาบดีกรมนา ใช้ตราพระพิรุณทรงพระยานาค ประจำตำแหน่งบังคับบัญชาเกี่ยวแก่การไร่นาทั้งปวง
– “ดวงตรา” สำหรับประทับนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า จะต้องประจำอยู่กับตำแหน่งเปลี่ยนไม่ได้ แต่ตราหลวงมีสำหรับเพียงบางตำแหน่งเท่านั้น ดังมีกำหนดไว้ในกฎหมาย “ลักษณะพระธรรมนูญ” และ “ทำเนียบศักดินา” หามีทุกตำแหน่งไม่ ยกตัวอย่างดังสมุหนายกมีตราสำหรับตำแหน่ง 2 ดวง ดวงหนึ่งเรียกว่า “ตราจักร” สำหรับประทับเป็นสำคัญในสารตราสั่งให้ประหารชีวิตในหัวเมือง
(ถึงประหารชีวิตคนในหัวเมืองที่ขึ้นกลาโหม หรือกรมท่า เจ้ากระทรวงนั้นๆ ก็ต้องมาขอให้กระทรวงมหาดไทยประทับตราจักร ลงตราชื่อนักโทษที่จะต้องประหารชีวิต จึงจะประหารชีวิตได้) เพราะตราจักรเป็นตราอาญาสิทธิสำคัญเช่นนั้น
สมุหนายก (ตำแหน่งนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็น “เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย”)
ผู้ถือตรา จึงมีนามว่า “เจ้าพระยาจักรี” (ภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ถือจักร”) ตราสำหรับตำแหน่งสมุหนายกยังมีอีกดวงหนึ่งเรียกว่า “ตราพระราชสีห์” สำหรับประทับในหนังสือสั่งราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป การใช้ดวงตราประจำตำแหน่งประทับเป็นสำคัญในหนังสือสั่งการในหน้าที่แทนการลงชื่อนี้ ได้ใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนใหม่ให้มีการลงชื่อในท้ายท้องตราด้วย เพื่อจะได้เป็นหลักฐานมั่นคงขึ้น และเมื่อได้ทรงจัดตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้นแล้ว จึงใช้วิธีลงนามและประทับตรากำกับไปด้วยทุกฉบับ สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีตราที่ใช้ดังนี้
1. ตราจักร (ทำด้วยงาช้างแกะสลัก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.8 เซนติเมตร) ใช้ประทับแต่หนังสือที่เรียกว่าสารตรา รับพระบรมราชโองการพระเจ้าแผ่นดินให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิดตามหัวเมือง ตราจักรนี้ พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองท่านแรกของกระทรวงมหาดไทยเล่าว่า เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 นั้น ท่านจะมีคำสั่งไปยังหัวเมืองในเรื่องประหารชีวิตท่าน รังเกียจไม่ใช้ตราจักร ท่านทำตราของท่านขึ้นใหม่ดวงหนึ่ง เรียกว่า ตราศรพระขรรค์ สำหรับประทับตราดวงนั้นจนสิ้นสมัยที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการ หนังสือหรือตราเช่นนี้ต้องเขียนคำว่า “ให้ประหารชีวิต” (ลงนามนักโทษ)
แล้วประทับตราข้างบนและนอก ผู้ใดเป็นเสนาบดีที่รับพระบรมราชโองการทำตราพระราชสีห์ใหญ่ไปนั้นต้องเซ็นนามกำกับใต้ดวงตราจักรด้วยทุกฉบับ แต่อย่าให้เซ็นถึงติดขอบดวงตราเพราะถือกันว่าเป็นอัปมงคล
2. ตราพระราชสีห์ใหญ่ (ทำด้วยงาช้างแกะสลัก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.3 เซนติเมตร) เป็นตราสำหรับประทับหนังสือราชการ ซึ่งเชิญพระบรมราชโองการ และเรียกหนังสือเช่นนั้นว่า “สารตรา” เช่น หนังสือถึงเจ้าประเทศราช ขึ้นต้นด้วยคำว่า ศุภอักษรบวรมงคล วิมลโลก…(แล้วต่อไปอีกยาว)จึงใช้ประทับได้ เป็นหนังสือหรือคำสั่งถึงข้าราชการหัวเมืองตามธรรมดาซึ่งใช้คำว่า สารตราเจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ ที่สมุหนายก ถึง…ดั่งนี้ลงท้ายเซ็นนามเสนาบดีแล้วต้องประทับตราพระราชสีห์ใหญ่นี้บนนาม ตราพระราชสีห์ใหญ่นี้ต้องอยู่ประจำ ณ ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เสนาบดีไปไหนนำติดตัวไปได้แต่ตราราชสีห์น้อย
3. ตราพระราชสีห์น้อย (ทำด้วยงาช้างแกะสลักขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.3 เซนติเมตร) เป็นดวงตราสำหรับใช้ประทับข้างบนนามเสนาบดีในหนังสือคำสั่งทั้งปวงที่เรียกว่าตราน้อย เป็นตราที่ต้องประทับมากกว่าดวงใดๆ ทั้งหมดหนังสือที่ประทับตราพระราชสีห์น้อย คล้ายกับจดหมายนามของเสนาบดีตามที่เป็นจริง และเรียกหนังสืออย่างนี้ว่า “ท้องตรา”
นอกจากนี้ยังมีตราพระราชสีห์ที่ใช้ในการปฏิบัติราชการอื่นๆ อีก อาทิ ตราพระราชสีห์ประจำผนึก ตราพระราชสีห์ประจำผนึกครั่งหนังสือที่เรียกว่า “ศุภอักษร” และตราพระราชสีห์ประจำผนึกครั่งดวงตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเหล่านี้ สมัยเดิมเสนาบดีเก็บไว้ที่บ้าน แต่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสั่งให้เสมียนตราหากำปั่นเหล็กมาเก็บตราไว้ที่ศาลาลูกขุนใน (ซึ่งเป็นที่ทำการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น) จึงเป็นการเลิกประเพณีเก็บตราประจำตำแหน่งเสนาบดีไว้ที่บ้านตั้งแต่นั้นมา
ตราพระราชสีห์ตามที่ปรากฏลายประทับอยู่ใน “กฎหมายตราสามดวง”ครั้งรัชกาลที่ 1 ไม่เหมือนกับตราพระราชสีห์ที่ใช้อยู่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิฐานว่า คงจะเป็นเพราะดวงเดิมใช้จนลายตราสึกตื้นขึ้นต้องแกะรุกใหม่ แต่เห็นจะรุกได้น้อยหนจนต้องทำใหม่ (รุกคือแกะร่องระหว่างลายให้ลึกลงไป ลายจะได้เด่นขึ้น พิธีรุกตราทำอย่างเดียวกับพิธีแกะตรา คือมีฤกษ์และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และมีสมโภชตั้งดวงตราในพิธีมณฑล เป็นทำนองเดียวกับพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จะต่างกันที่พิธีรุกตรา ไม่มีอาลักษณ์อยู่ด้วยเท่านั้น) ช่างผู้เขียนดวงใหม่จะไม่ได้เลียนดวงเก่าหรือบางทีจะไม่ได้เห็นดวงเก่าเลยก็เป็นได้ จึงได้มีลายไม่เหมือนกัน
นอกจากนั้น ยังมีตราสำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงดั่งเช่นตำแหน่งพระยามหาอำมาตย์ ใช้ตราจุลราชสีห์ใหญ่ 1 น้อย 1 พระยาราชวรานุกูล ถือตรารูปมนุษย์ขี่ม้า พระยาศรีหเทพถือตรารูปม้าทรงเครื่องยืนแท่น พระยาจ่าแสนยบดี ถือตรารูปช้างทูนเพลิง พระยาราชเสนารูปม้าทรงเครื่อง ทุกตำแหน่งที่ว่ามานี้ยังมีตราน้อย ตราใหญ่ และตราประจำผนึกอีกคนละ 1 ดวง 2 ดวง
เมื่อระเบียบแบบแผนของหนังสือราชการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามแบบสากลมากขึ้น การลงลายมือชื่อก็เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าตราประจำตำแหน่ง ครั้งเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ. 2475) แล้ว มีการจัดระเบียบราชการประเทศเสียใหม่ให้เหมาะสมกับรูปการปกครอง ตราประจำตำแหน่งเสนาบดีก็ไม่ปรากฏได้ใช้ประทับอีกต่อไป นอกจากใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวงต่าง ๆ เท่านั้น
กระทรวงมหาดไทยก็ได้ใช้ตราพระราชสีห์เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวงมหาดไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้อนุโลมใช้ตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง
แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ตราพระราชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และตราประจำกระทรวงมหาดไทยว่า นับแต่สมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รูปลักษณ์ของตราพระราชสีห์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็น “มหาดไทย” ตามที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและวัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น จะมีลักษณะแตกต่างกันไปไม่มีรูปแบบของตราพระราชสีห์ที่กำหนดไว้จำเพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน เช่น รูปพระราชสีห์บนดวงตราประทับทั้ง 7 ดวง ดังกล่าวถึงมาแล้ว แต่ละดวงก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน ทั้งท่วงท่าของพระราชสีห์ ตลอดจนลวดลายที่วาดประกอบหรือแม้แต่หน้าของพระราชสีห์ ก็หันไปในทิศทางที่ต่างกัน ลวดลายพระราชสีห์ปูนปั้นที่ประดับหน้าจั่วตึกศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน (สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5) ก็มีรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป คือ มีลวดลายคล้ายทรงดอกบัวตูมล้อมรอบอยู่ แทนที่จะอยู่ในลวดลายทรงกลมดังเช่นในดวงตราประทับ ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการกำหนดธงเรือราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้นใช้ ตราพระราชสีห์ที่ใช้ประดับมุมธง
ก็ใช้รูปพระราชสีห์ยืนแท่น ไม่มีวงกลมล้อมรอบ ดังนี้เป็นต้น
จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า นับแต่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานตราพระราชสีห์ ให้เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก และต่อมาได้กลายเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ว่าช่างจะสร้างสรรค์ให้พระราชสีห์มีรูปลักษณ์เพื่อความงดงามเหมาะสมกับการใช้งานแตกต่างกันไปอย่างไร ก็ถือว่าตราพระราชสีห์นั้นเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็น “มหาดไทย” ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะไม่มีตัวบทกฎหมายใดบัญญัติไว้ให้เป็นข้อยึดถือ อย่างไรก็ตามหากประสงค์จะหารูปแบบเพื่อเป็นจุดยืนร่วมกันแล้ว ก็น่าจะพิจารณาจากข้อเขียนของพระยาอนุมานราชธนที่กล่าวว่า “…ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย… ตราประจำตำแหน่งเสนาบดีก็ไม่ปรากฏได้ใช้ประทับอีกต่อไป (ใช้การลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ) นอกจากใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวง…” ตราประจำตำแหน่งเสนาบดีที่ใช้ประทับประกอบการลงชื่อก็คือ ดวงตราพระราชสีห์ใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นดวงตรากลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.3 เซนติเมตร เป็นรูปราชสีห์เผ่นคือยกเท้าหน้าผงาดขึ้นทั้งสองข้าง ส่วนเท้าหลังวางอยู่เหลื่อมกันในท่าเยื้องย่าง ซึ่งเมื่อประทับแล้วจะ ปรากฏภาพราชสีห์หันหน้าไปทางขวามือ เท้าหน้าข้างซ้ายจะอยู่สูงกว่าข้างขวา และเท้าหลังข้างซ้ายจะอยู่หน้าเท้าหลังข้างขวา ตัวราชสีห์แกะเป็นลวดลายอย่างละเอียด เส้นขอบดวงตราเป็นเส้นคู่ และภายในดวงตราระหว่างตัวราชสีห์กับเส้นขอบดวงตรามีลวดลายประกอบโดยรอบ และดวงตราพระราชสีห์น้อย ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับดวงตราพระาชสีห์ใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.3 เซนติเมตร และมีลวดลายค่อนข้างหยาบกว่า
ดังนั้นในอนาคตถ้าจะมีการกำหนดรูปแบบมาตรฐานของดวงตราประจำกระทรวงมหาดไทยแล้ว รูปแบบของดวงตราดวงใดดวงหนึ่งในสองดวงนี้ ก็ควรได้รับการพิจารณาใช้เป็นตราประจำกระทรวงมากกว่ารูปแบบอื่นใดทั้งสิ้น

สีประจำกระทรวงมหาดไทย 
จากคำปาฐกถา เรื่องงานมหาดไทยสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย นายประเสริฐ กาญจนดุล แสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน เนื่องในงานฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2505 ได้กล่าวถึงสีประจำกระทรวงมหาดไทยไว้ว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานสีประจำกระทรวงแก่เจ้ากระทรวงต่าง ๆ ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสแก่กรมสมเด็จฯ ทรงเลือกสีประจำกระทรวงมหาดไทยก่อนกระทรวงอื่น กรมสมเด็จฯ ทรงเลือกสีดำ โดยทรงถือคติอันเป็นความเชื่อถือเนื่องจากวัฒนธรรมอินเดียว่า สีดำเป็นสีของนักปราชญ์ พวกพราหมณ์ในอินเดียแต่งกายด้วยเครื่องขาว แต่พวกปริพาชก (นักบวช) คือผู้รู้ใช้เครื่องดำ จะมีผิดแผกไปบ้างก็เป็นส่วนน้อย เหตุผลประกอบของความเชื่อนี้มีอยู่ว่านักปราชญ์เขาต้องการดีในไม่ใช่ดีนอก”
เรื่องเกี่ยวกับสีประจำกระทรวงมหาดไทย ยังมีที่น่ารู้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับคำที่คนโบราณนิยมเรียกสีเขียวแก่ว่า “สีมหาดไทย” ทั้งนี้มีความเป็นมาสืบเนื่องจากประมาณปี พ.ศ. 2413 ภายหลังจากมีเครื่องแบบสำหรับแต่งตัวทหารมหาดเล็กขึ้นในราชสำนักแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้มีเครื่องแบบสำหรับฝ่ายพลเรือนแต่งเข้าเฝ้าในเวลาปกติด้วย โดยให้แต่งเสื้อแพรสีต่าง ๆ กัน คือ
– เจ้านายใส่สีไพล
– ขุนนางกระทรวงมหาดไทย ใส่สีเขียวแก่
– กลาโหม ใส่สีลูกหว้า (สีครามเจือแดง)
– กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) ใส่สีน้ำเงินแก่ (ที่เรียกว่า “สีกรมท่า” มาจนปัจจุบัน)
– มหาดเล็ก ใส่สีเหล็ก (อย่างเดียวกับสีเสื้อแบบทหารมหาดเล็ก)
– อาลักษณ์กับโหร ใส่สีขาว
รูปแบบเสื้อแบบพลเรือนครั้งนั้นเรียกว่า “เสื้อปีก” เป็นเสื้อปิดคอ มีชาย (คล้ายเสื้อติวนิคแต่ชายสั้น) คาดเข็มขัดนอกเสื้อเจ้านายทรงเข็มขัดทอง ขุนนางคาดเข็มขัดหนังสีเหลือง หัวเข็มขัดมี ตราพระเกี้ยว นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนแทนสมปัก แต่เครื่องแบบพลเรือนนี้ไม่ได้บัญญัติให้ใช้ทั่วกันไป เป็นแต่ใครได้พระราชทานก็แต่ง ที่ไม่ได้พระราชทานก็คงแต่งตัวอย่างเดิม คือ ใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว เจ้านายทรงผ้าม่วง โจงกระเบนคาดแพรแถบ ขุนนางนุ่งสมปักชักพกคาดผ้ากราบ แต่เครื่องแบบพลเรือนที่ว่านี้ใช้มาเพียงปีวอก พ.ศ. 2415 พอเสด็จกลังจากอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น คนในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกสีเขียวแก่ว่า “สีมหาดไทย” ถ้าใครใส่สีลูกหว้า ก็จะเรียกผู้นั้นนุ่งผ้า “สีกลาโหม” และถ้าเป็นสีน้ำเงินแก่ก็จะเรียกว่าใส่ “สีกรมท่า” แต่มาถึงปัจจุบันยังมีที่เรียกกันติดปากก็เฉพาะ “สีกรมท่า” เท่านั้น ส่วนสีมหาดไทย สีกลาโหม สีมหาดเล็ก ไม่เป็นที่รู้จักกันแล้วทำไมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงมียศเป็น “เจ้าพระยาจักรี”
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “สมุหนายก” ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนเป็น “เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย” มีตราสำหรับตำแหน่ง 2 ดวง คือ “ตราจักร” และ “ตราพระราชสีห์” โดย “ตราพระราชสีห์”ใช้สำหรับประทับในหนังสือสั่งราชการทั่วไป ส่วน “ตราจักร” เป็นตราอาญาสิทธิ์ ใช้สำหรับประทับในสารตราสั่งให้ประหารชีวิตคนในหัวเมือง ซึ่งแม้จะเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ที่ขึ้นกับกลาโหม ก็ต้องมาขอให้มหาดไทยประทับตราจักร จึงจะประหารชีวิตได้ ผู้ถือตราจึงมีนามว่า “เจ้าพระยาจักรี” ซึ่งภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผู้ถือจักร”

พระยอดเมืองขวางคือใคร ?
พระยอดเมืองขวาง มีนามเดิมว่า “สมบุญ” เป็นบุตรพระยาไกรเพ็ชร์ เกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2389 ต่อมาย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่กรุงเทพ รับราชการกระทรวงมหาดไทย จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยอดเมืองขวาง” เมื่อ พ.ศ.2428 พระยอดเมืองขวางเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในเรื่องการปกครอง มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญและรักชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดให้ไปเป็นข้าหลวงแขวงคำม่วน คำเกิด ซึ่งขณะนั้นรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย
ในระหว่างที่เป็นข้าหลวงแขวงคำม่วน คำเกิด พระยอดเมืองขวางได้ต่อสู้ขัดขวางนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งพยายามจะเข้าครอบครองเมืองคำม่วน โดยอ้างว่าเมืองคำม่วนเคยเป็นของญวนมาก่อน แต่ในที่สุดก็ถูกกองทหารฝรั่งเศสขับไล่ออกจากเมืองคำม่วนได้สำเร็จ และถูกควบคุมตัวมาอยู่ที่แขวงเมืองท่าอุเทน ในขณะอยู่ที่เมืองท่าอุเทนมีเหตุให้เกิดการปะทะกับกองทหารฝรั่งเศส ผลปรากฏว่า นายครอสกุรัง นายทหารฝรั่งเศสถูกยิงตาย ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสโกรธเคือง และบีบบังคับให้รัฐบาลไทยจัดการลงโทษพระยอดเมืองขวางพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ยังผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ต้องออกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลขึ้นพิจารณาคดีโดยเฉพาะชื่อว่า “พระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งเป็นการพิเศษครั้งหนึ่งสำหรับชำระคนในบังคับสยาม ที่ต้องหาว่ากระทำความผิดกฎหมายที่ทุ่งเชียงคำและที่แก่งเจ็ก เมืองคำม่วน”ศาลพิเศษดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวางเป็นการเฉพาะ และจัดกระบวนการในศาลอย่างยุโรปทุกประการ ประกอบด้วยผู้พิพากษาไทย 7 ท่าน โดยมีอธิบดีผู้พิพากษาฝรั่งเศสในศาลอุทธรณ์เมืองไซง่อนเป็นผู้แทนฝรั่งเศสกำกับการชำระคดี
ผลการพิจารณาปรากฏว่า ผู้พิพากษาทั้ง 7 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้พระยอดเมืองขวางพ้นข้อกล่าวหา รัฐบาลฝรั่งเศสไม่พอใจและไม่ยอมรับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลพิเศษดังกล่าว และบีบบังคับให้ไทยตั้งศาลผสมขึ้น (Mixed Court) โดยมีอัยการฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องใหม่ มีผู้พิพากษาไทยและฝรั่งเศสจำนวนเท่ากัน แต่ให้มีอธิบดีเป็นประธานคณะอีกหนึ่งคนเป็นผู้พิพากษฝรั่งเศส รวมแล้วผู้พิพากษาฝรั่งเศสมากกว่าไทยหนึ่งคน ในที่สุดพระยอดเมืองขวางต้องคำพิพากษาให้จำคุก 20 ปี
อย่างไรก็ตาม พระยอดเมืองขวางได้ถูกจำคุกอยู่เพียง 2-3 ปีเท่านั้น เนื่องจากฝรั่งเศสถูกวงการระหว่างประเทศตำหนิติเตียนเป็นอันมาก ก็รู้สึกละอายใจ จึงมิได้ติดใจมาตรวจตราการจำคุกของพระยอดเมืองขวาง และในที่สุดรัฐบาลก็ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพระยอดเมืองขวาง
พระยอดเมืองขวางจึงเป็นตัวอย่างอันดีของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญ และมีความรักชาติอย่างแท้จริง

คุก กับ ตะราง ต่างกันอย่างไร ?
คำว่า”คุก” กับ “ตะราง” ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลเหมือนกันว่า “ที่คุมขังนักโทษ” แต่ตามข้อบังคับสำหรับคุมขังนักโทษ ในกรมพระนครบาล ร.ศ. 110 (พ.ศ.2434) ได้บัญญัติชื่อคุกและตะราง และได้แบ่งประเภทนักโทษซึ่งจะส่งไปคุมขังในที่ทั้ง 2 แห่งนี้ว่า
“คุก คือที่คุมขังนักโทษ จำพวกที่ต้องรับพระราชอาญา ตั้งแต่มัธยมโทษขึ้นไป จนถึงอุกฤษฏ์โทษ มีกำหนดคุมขังตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จำพวก นี้ให้เรียกว่า กองมหันตโทษ”
“ตะราง เป็นที่คุมขังนักโทษจำพวกที่ต้องรับพระราชอาญาเพียงลหุโทษ คือโจรผู้ร้ายที่มีกำหนดคุมขังตั้งแต่ 6 เดือนลงมา กับนักโทษที่ต้องรับ พระราชอาญามิใช่โจรผู้ร้าย นักโทษจำพวกนี้ให้เรียกว่า กองลหุโทษ”

ทรงผมมหาดไทยเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร ?
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของ “ทรงผมมหาดไทย” ว่า “……. พระนามของกษัตริย์วงศ์นี้ (วงศ์สุโขทัย) ก็ดี สิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปในแผ่นดินกษัตริย์วงศ์นี้ก็ดี ล้วนเป็นทำนองพระอาทิตย์แรกขึ้น หรือพระอาทิตย์อุทัยทั้งสิ้น กษัตริย์องค์แรกยังทรงพระนามว่าศรีอินทราทิตย์ นครหลวงก็มีนามว่าสุโขทัย (สุข + อุทัย) พระนามของพระเจ้าแผ่นดินองค์หลัง ๆ ที่ว่าเลอไทย, ลิไทย, ไสยลือไทย นั้น ก็ล้วนประกอบจากคำว่า “อุไทย” ทั้งสิ้น อนึ่งในชั้นเดิมที่พวกไทยเรายกมาจากดินแดนที่ประเทศจีนในเวลานี้นั้น ก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งหญิงชายเหมือนกับจีนในสมัยโบราณ แต่พอตั้งกรุงสุโขทัยเสร็จไทยก็ตัดผม มีรูปเป็นวงกลมกลางกระหม่อม และโกนรอบข้างทำให้ผมตรงกลางมีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมที่ตัดใหม่นี้ว่า “มหาอุไทย” นานมาหน่อยเราเขียน อุ กลายเป็น ฦ เลยกลายเป็น “มหาฦทัย” คนต่อไปเขียนหางตัว ฦ ยาวไปหน่อย กลายเป็น ฎ เลยกลายเป็น มหาฎไทย ภายหลัง ฎ ชะฎา เขียนลำบาก จึงเป็น ด.เด็ก เลยกลายเป็นมหาดไทย จึงเป็นผมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย มหาดไทยมณฑลอยู่ในเวลานี้ ซึ่งที่จริงมาจากคำว่า “มหาอุทัย” ซึ่งแปลว่าพระอาทิตย์แรกขึ้น อันเป็นความหมายของคำว่า “พระร่วง” นั่นเอง”

นายเวรคือใคร ?
นายเวรในปัจจุบันหมายถึง ผู้ทำหน้าที่เลขานุการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ แต่ในสมัยเมื่อแรกตั้งกระทรวงมหาดไทย หมายถึง หัวหน้าเสมียนพนักงาน ซึ่งมีอยุ่ 4 คน ได้แก่ “นายแกว่นคชสาร” “นายชำนาญกระบวน” “นายควรรู้อัด” และ “นายรัดตรวจพล” มีหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาเสมียนทั้งปวง ซึ่งตามพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “เทศาภิบาล” เล่าว่า “นายเวร 4 คนนั้น กลางวันมาทำงานในศาลาลูกขุนด้วย กันทั้งหมด เวลากลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันนอนค้างอยู่ที่ศาลาลูกขุน สำหรับทำราชการที่จะมีมาในเวลาค่ำ คราวละ 15 วัน เวียนกันไป เรียกว่า ‘อยู่เวร’ ตำแหน่งหัวหน้าจึงได้ชื่อว่า ‘นายเวร’ แต่หน้าที่นายเวรไม่แต่สำหรับทำราชการที่มีมาในเวลาค่ำเท่านั้น บรรดาราชการที่มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย จะมีมา ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ถ้ามาถึงกระทรวงในเวร 15 ของใคร นายเวรนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทำการเรื่องนั้นตั้งแต่ต้นไปจนสำเร็จ”

คุณรู้หรือไม่ว่า เจ้าเมืองสมัยก่อนต้องสร้างจวนเอง ?
เจ้าเมืองในสมัยก่อนส่วนมากมักจะมาจากตระกูลผู้ดีมีสกุลในท้องถิ่น และมักเป็นลูกหลานสืบเชื้อสายต่อมาจากเจ้าเมืองคนเก่า การว่าราชการสมัยนั้นจะทำกันที่บ้านเจ้าเมือง ซึ่งเรียกว่า “จวน” โดยบริเวณด้านหน้าจวนจะปลูกศาลาโถงไว้นอกรั้วหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศาลากลาง” ใช้เป็นที่สำหรับประชุมกรมการ และเป็นที่ปรึกษาหารือเรื่องราชการต่างๆ รวมทั้ง เป็นสถานที่ชำระความด้วย เมื่อเจ้าเมืองคนเก่าเสียชีวิต จวนดังหล่าวก็เป็นมรดกตกแก่ลูกหลานที่ได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกจากเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ ดังนั้น ที่ว่าราชการของเจ้าเมืองจึงย้ายไปตามที่ตั้งบ้านเรือนของเจ้าเมืองแต่ละคน

คนสมัยก่อนเข้ารับราชการเป็นข้าราชการมหาดไทยกันอย่างไร ?
ในสมัยก่อนผู้ที่เป็นข้าราชการมหาดไทยอยู่ในกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ พวกลูกหลานที่มีเชื้อสายสืบต่อมาจากข้าราชการมหาดไทย โดยการเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้เฝ้าแหนในท้องพระโรงจนรู้ราชการงานเมือง จึงมาเป็นขุนนางในกระทรวงมหาดไทย แต่บางคนก็ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่กรมอื่นมาก่อน อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นพวกลูกคหบดี ซึ่งสมัครเข้าฝึกหัดรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่ม โดยฝากตัวเป็นศิษย์ให้นายเวรใช้สอยและฝึกหัดเป็นเสมียนก่อน จนมีความรู้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับด้วยความสามารถจนได้เป็นรองนายเวรและนายเวร

ข้าราชการมหาดไทยเมื่อก่อนทำงานกันอย่างไร ?
การทำงานของข้าราชการมหาดไทยในสมัยก่อน ใช้วิธีมอบความรับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานในลักษณะเป็น เจ้าของเรื่อง ซึ่งจะรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพใน “นิทานโบราณคดี” เรื่อง “เทศาภิบาล” ว่า “กระบวนทำงานในกระทรวงมหาดไทยตามแบบเก่านั้น ถ้าหนังสือราชการ จะเป็นจดหมายในกรุงฯ ก็ดี หรือใบบอกหัวเมืองก็ดี มาถึงศาลาลูกขุนในเวลาเวรของใคร เปรียบว่าเป็นเวลาเวรนายแกว่น นายแกว่นก็เป็นผู้รับหนังสือนั้น แม้เป็นหนังสือของตัวบุคคล เช่น สลักหลังซองถึงปลัดทูลฉลอง เป็นต้น ก็ส่งไปให้ผู้นั้นทั้งผนึก ถ้าเป็นใบบอกถึงกระทรวงอันเรียกว่า “วางเวร กระทรวงมหาดไทย” นายแกว่นก็เปิดผนึกออกอ่านแล้วนำขึ้นเสนอต่อปลัดทูลฉลองให้พิจารณาก่อน ถึงวันต่อมาเวลาเช้าปลัดทูลฉลองกับนายแกว่นเอาใบบอกนั้น กับทั้งหนังสือซึ่งปลัดทูลฉลองเห็นว่าเสนาบดีจะต้องสอบประกอบกันไปยังบ้านเสนาบดี เมื่อนายแกว่นคชสารอ่านใบบอกเสนอแล้ว เสนาบดีก็มีบัญชาสั่งให้ทำอย่างไร ๆ ถ้าเป็นเรื่องเพียงจะต้องมีท้องตราตอบหรือสั่งราชการอันอยู่ในอำนาจเสนาบดี ก็ให้ปลัดทูลฉลองรับบัญชามาให้ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นพนักงานร่างหนังสือร่างตรานั้น แล้วให้นายแกว่นเอาไปเสนอเสนาบดีให้ตรวจแก้ไขก่อน ถ้าเป็นแต่ท้องตราสามัญมีแบบแผนอยู่แล้ว ก็ให้นายแกว่นร่างให้เสร็จไปไม่ต้องเอาร่างไปอ่านเสนอ แล้วให้เสมียนเวรนายแกว่นเขียนลงกระดาษมอบให้เสมียนตราเอาไปประทับตราที่บ้านเสนาบดีและส่งไป ต้นหนังสือทั้งปวงในเรื่องนั้น นายแกว่นอันเป็นนายเวรที่ทำการเป็นพนักงานรักษาไว้ในกระทรวงต่อไป”

คุณรู้หรือไม่ว่า วิธีเลี้ยงโจรไว้จับโจรไม่ใช่ของใหม่ ?
ในสมัยก่อน หัวเมืองไม่มีตำรวจภูธรเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับปราบโจรผู้ร้าย เจ้าเมืองต้องหาวิธีในการรักษาความสงบและตรวจจับผู้ร้ายเอง จึงได้เกิดความคิดที่จะเอานักเลงโต ซึ่งมีสมัครพรรคพวกมากมาไว้สำหรับจับโจรผู้ร้าย จึงได้มีการตั้งนักเลงโตเป็นกรมการ โดยส่วนมากพวกนี้จะตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามบ้านนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูแลไม่ทั่วถึง กรมการดังกล่าวจึงมักหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง มีตั้งแต่ขอใช้แรงงานราษฎร ไปจนถึงให้พรรคพวกไปลักขโมยหรือปล้นทรัพย์ มาแบ่งผลประโยชน์กัน บางคนฉลาดให้พรรคพวกไปเที่ยวปล้นเฉพาะเมืองอื่น แต่ดูแลเมืองตัวเองดี ก็มี จนสมุหเทศาถิบาลบางคนถึงกับออกปากว่า “วิธีเลี้ยงโจรไว้จับโจรนั้นใช้ไม่ได้” อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาล มีกรมการอำเภอ และตำรวจภูธรแล้ว วิธีการนี้ก็เลิกไป

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ค้นหา ประวัติ นามสกุล ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง ไทยแปลอังกฤษ ประโยค Terjemahan เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษาจีน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ่้แปลภาษา Google Translate ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย พร บ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 วิธีใช้มิเตอร์วัดไฟดิจิตอล สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครอง ส่วนท้องถิ่น ห่อหมกฮวก แปลว่า Bahasa Thailand Thailand translate mu-x มือสอง รถบ้าน การวัดกระแสไฟฟ้า ด้วย แอมมิเตอร์ การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน แคปชั่น พจนานุกรมศัพท์ทหาร ภูมิอากาศ มีอะไรบ้าง สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อาจารย์ ตจต อเวนเจอร์ส ทั้งหมด เขียน อาหรับ แปลไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน Google map Spirited Away 2 spirited away ดูได้ที่ไหน tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง กินยาคุมกี่วัน ถึง ปล่อยในได้ ธาตุทองซาวด์เนื้อเพลง บช.สอท.ตำรวจไซเบอร์ ล่าสุด บบบย มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ตอนจบ รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล ศัพท์ทางทหาร military words สอบ O หยน