การเลือกบริโภคอาหารอินทรีย์

การเลือกบริโภคอาหารอินทรีย์

Show

ในแนวคิดเกี่ยวกับการใช้อาหารเป็นยาของศูนย์ธรรมชาติบำบัดเวลเนสแคร์เรา คือ การรับทานผักให้หลากหลาย เป็นพื้นฐาน ส่วนจะรับทานผักชนิดไหนบ้าง ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายแต่ละท่านที่มีความต้องการ และ ความจำเป็นไม่เหมือนกัน เช่นท่านที่มีปัญหาด้านการทำงานของไต ก็ควรรับทานผักที่มีสีขาว ไม่ควรทานผักที่มีสีเขียวในปริมาณมาก เพราะผักสีเขียวจะมีปริมาณสารโปตัสเซี่ยมมาก จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้นเป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้บริโภคเป็นรายๆไป แต่การทานผักในปัจจุบันก็หาใช่จะเป็นการปลอดภัยและทานเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีไปเสียทั้งหมด ถ้าผักที่เรารับทานนั้นปนเปื้อนสารพิษจากกระบวนการผลิต หรือขั้นตอนอื่นๆที่ดำเนินการกันมาก่อนจะมาถึงครัวของบ้านเรา มันมีความเสี่ยงมากมายที่จะทำให้ผักนั้นกลายเป็นผักทำลายสุขภาพแทนที่จะเป็นผักเพื่อสุขภาพ นั่นเป็นความยุ่งยากประการหนึ่งที่ทำให้เราต้องยับยั้งชั่งใจก่อนควักกระเป๋าเลือกซื้อผักที่ปลอดภัยไว้ใจได้ สำหรับผู้บริโภคแบบบ้านๆ แบบเราๆท่านๆนี้ ที่ไม่มีทางที่จะเอาผักไปเข้าห้องแล๊ปตรวจสอบสารตกค้าง ว่ามีอะไรที่มันอันตรายต่อชีวิตเราหรือไม่ แค่ไหน ที่พอจะพึ่งพาได้ก็อาศัยดูฉลากกำกับที่ติดมากับตัวผักนั่นแหละว่า มีมาตรฐานอะไรกำกับ การันตีผักนั้นไว้บ้าง ก็ปรากฏว่ามันมีอยู่เยอะมาก เยอะจนสร้างความสับสนและปวดหัวให้เรายิ่งขึ้นไปอีก เช่น ผักอนามัย ผักปลอดภัย ปลอดสารฯ ไร้สารฯ อินทรีย์ ออร์แกนิก ธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งทำให้คนที่ต้องการหาซื้อผักผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อนมาทาน ก็มักลังเลไม่แน่ใจว่าสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร และประเภทไหนที่จะพอมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีพิษในระดับที่เกินขนาดจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

การเลือกบริโภคอาหารอินทรีย์

วันนี้ทางศูนย์ธรรมชาติบำบัดเวลเนสแคร์เราจึงจะมาอธิบาย มาตรฐานต่างๆที่ใช้เรียกชื่อผักให้เข้าใจเป็นเรื่องๆไปเลย เพื่อไว้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกหามาบริโภค เพราะมาตรฐานต่างๆที่ติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ของผักนั้น บอกอะไรเราได้ว่าการผลิตผักนั้นใช้กระบวนการอะไร รวมทั้งราคาของผักก็จะมีราคาสูงขึ้นตามต้นทุนของการผลิตผักนั้นด้วย ลองมาชั่งน้ำหนักกันดูว่าสิ่งเราจ่ายเพิ่มขึ้นนั้นเราได้ความปลอดภัยในการบริโภคเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่

๑. ผักผลไม้อนามัย หมายถึง ผลผลิตจากระบบเกษตรที่ใช้สารเคมี แต่ควบคุมปริมาณสารเคมีตกค้างให้ไม่เกินระดับที่เป็นอันตรายต่อการบริโภคตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นชื่อเรียกตาม ตรามาตรฐานผักผลไม้อนามัย ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ

๒. ผักผลไม้ปลอดภัย หมายถึง ผลผลิตจากระบบเกษตรที่ใช้สารเคมี แต่ควบคุมปริมาณสารเคมีตกค้างให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นชื่อเรียกสำหรับ ตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

๓.ผักไฮโดรโปรนิค หมายถึง ผลผลิตจากระบบเกษตรที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน คือปลูกในน้ำที่ให้สารอาหารพืชสังเคราะห์ ทั้งที่เป็นเคมีและสังเคราะห์จากวัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์ ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นผักอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อการบริโภค แต่พืชที่ธรรมชาติสร้างมาให้โตในดิน เมื่อนำไปปลูกในน้ำและในสภาพแวดล้อมที่ปิด คือ ควบคุมชนิดและปริมาณสารอาหารที่พืชจะได้รับ ทำให้พืชเจริญเติบโตแบบผิดธรรมชาติ ขาดแร่ธาตุสารอาหารที่ควรมีจากการปลูกในดินตามธรรมชาติของพืช ผลผลิตที่ได้จะมีชนิดของสารอาหารตามที่ระบบการเลี้ยงละลายน้ำส่งให้เท่านั้น ซึ่งจะมีไม่ครบถ้วนเหมือนกับแร่ธาตุที่พืชต้องการในดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่มีมากกว่าสามร้อยชนิด แต่ในระบบการปลูกพืชแบบไฮโดรโปรนิค จะมีแร่ธาตุหลักสามชนิดและแร่ธาตุรอง อีกประมาณห้าสิบชนิดเท่านั้น พืชที่ได้จากระบบการปลูกพืชแบบนี้จึงอาจจะไม่มีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่าพืชที่ปลูกในดินตามธรรมชาติ

๔.ผักปลอดสาร ผักปลอดสารพิษ หมายถึง ผักที่มีระบบการผลิตที่ใช้สารเคมีในการป้องกันและปราบศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ให้เว้นช่วงการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลผลิตที่ได้ยังมีสารเคมีตกค้าง แต่ไม่เกินในปริมาณที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยให้มีการขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ใบรับรองผักปลอดสารพิษ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 163 พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่องอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง

จะเห็นได้ว่าผักที่ว่าปลอดสารทั้งหลาย ที่จริงแล้วมันเติบโตและเกี่ยวดองกับสารต่างๆมาตลอดทุกขั้นตอนการผลิต ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเลยที่ให้ใช้ศัพท์เรียกชื่อผักเหล่านั้น เหมือนกับกลัวว่าผักมันจะขายไม่ได้ ทางราชการกลับมามองแค่ช่วงขั้นตอนสุดท้ายก่อนปล่อยมาถึงในครัวของเรา ว่าจะทิ้งระยะห่างพอให้สารเคมีอันตรายทั้งหลายสลายตัวไปก่อน แล้วจะมีอะไรรับประกันให้ได้ล่ะว่า คนปลูกเค้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ วันนี้หวยออก วันนี้ส่งค่าแชร์ แต่ผักยังไม่ถึงกำหนดเวลาเก็บขาย เค้าจะรอกันไหม ผักผลไม้ที่ดูว่าจะปลอดภัยที่สุดในบรรดาผักทุกชนิดทุกมาตรฐานคือผักชนิดสุดท้ายนี้ครับ ชนิดที่ ๕

การเลือกบริโภคอาหารอินทรีย์

๕.ผักอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิก หมายถึง ผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานตรวจรับรองที่เชื่อถือได้ ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ต้องปฏิบัติตามข้อกำาหนดการตรวจรับรอง ที่ครอบคลุมตั้งแต่ แหล่งที่มาของ(เมล็ด)พันธุ์และปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย อาหารสัตว์ ยาป้องกันและรักษาโรค ฯลฯ) วิธีการใช้ปัจจัยการผลิต วิธีการดูแลรักษา วิธีการป้องกันการปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมถึงแหล่งผลิตแบบเคมีที่อยู่ข้างเคียง ตลอดไปถึงวิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต คัดแยก ทำความสะอาด เก็บรักษาผลิตผล การบรรจุขาย (ภาชนะบรรจุ ฉลากกำกับ) และการจัดการระหว่างขนส่ง ซึ่งรายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามขอบเขตและระบบมาตรฐานที่ขอรับรอง แต่มาตรฐานระดับสากลมีข้อกำหนดพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยต้องไม่ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์หรือสมุนไพรต้องห้าม เน้นการป้องกันศัตรูพืชและรักษาโรคสัตว์โดยคำนึงถึงระบบนิเวศ (ไม่เพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เป็นต้น) มีการจดบันทึกกิจกรรมการผลิตในทุกขั้นตอน และเก็บรักษาข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) อย่างน้อย 5 ปี นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้างในฟาร์มหรือโรงงานอย่างเป็นธรรม ผลผลิตอีกรูปแบบหนึ่งก็จัดเป็นผักอินทรีย์ได้เช่นกันคือ ผักหรือผลไม้ที่เก็บมาจากป่าธรรมชาติ ถ้าผู้จัดเก็บมาขอขึ้นทะเบียนและปฏิบัติตามข้อกฎหมายและกำหนดของมาตรฐาน ก็ถือว่าผักและผลไม้ที่เก็บได้มาเป็นผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์เช่นกัน ประเทศและสำนักงานที่ให้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นมีหลายประเทศ บางประเทศมีหลายสำนัก ซึ่งมีข้อกำหนดที่ถือปฏิบัติแตกต่างกันออกไปดังนั้นการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มาบริโภค ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกซื้อผลผลิตอินทรีย์ หรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ของแท้ มีวิธีการสังเกตง่ายๆ ก็คือ ให้มองหาตราสัญลักษณ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อถือได้เท่านั้น

จาก www.wellnesscitygroup.com

ศูนย์ธรรมชาติบำบัดเวลเนสเเคร์ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา