วิธีการประเมินสื่อการเรียนการสอน

         การจัดการสอนวิทยาศาสตร์นั้น ควรมีสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อธรรมชาติ สื่อสิ่งพิมพ์สื่อเทคโนโลยีและสื่ออื่นๆ รวมทั้งสื่อที่สามารถจัดทำขึ้นเอง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเกณฑ์ในการตรวจประเมินสื่อที่มีผู้จัดทำไว้ เพื่อตัดสินใจ เลือกสื่อที่มีคุณภาพมาใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ โดยศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินคุณภาพสื่อการสอนดังนี้

          ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล(2550,หน้า 99-110) ได้กล่าวถึงการประเมินสื่อมี 2 ลักษณะดังนี้
          1.   กรณีผลิต สร้าง หรือพัฒนาสื่อ การประเมินสื่อ จะมีขั้นตอนดำเนินการ        2 ขั้นตอนใหญ่ๆคือ
                ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบโครงสร้างภายในสื่อ (Structural basis) การตรวจสอบในขั้นนี้เป็นการตรวจสอบสิ่งที่ปรากฏในตัวสื่อ ซึ่งสามารถมองเห็นลักษณะภายนอกรวมถึงการนำเสนอ ถ้าส่วนที่ปรากฏในสื่อนั้นมีความชัด ง่ายต่อการเข้าใจ และสะดวกในการรับรู้ ก็นับว่าสื่อนั้นมีศักยภาพสูงในการสื่อสาร ซึ่งการตรวจสอบในขั้นนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือการตรวจสอบลักษณะของสื่อ และเนื้อหาสาระในสื่อ
                  1.   การตรวจสอบลักษณะสื่อ ควรตรวจสอบใน 4 ประเด็น ได้แก่
                              1.1   ลักษณะเฉพาะตามประเภทของสื่อ โดยพิจารณาความถูกต้องของลักษณะสื่อแต่ละองค์ประกอบ เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ควรจะต้องตรวจสอบ ในเรื่องโครงสร้างของบทเรียน การให้สิ่งเร้าและการตอบสนอง การเสริมแรงและผลย้อนกลับการมีปฏิสัมพันธ์ เป็นต้น
                              1.2   การออกแบบ พิจารณาจากการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตามหลักการออกแบบตามที่ควรจะเป็น เช่น สื่อประเภทกราฟิก ควรออกแบบโดยอาศัยหลักและองค์ประกอบในการออกแบบ การใช้ขนาดตัวอักษรที่ชัดเจน การใช้สีเป็นต้น
                              1.3   เทคนิควิธีการเสนอสื่อ เป็นวิธีการที่ช่วยให้การเสนอสาระได้อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ เช่น การเลือกใช้ถ้อยคำ ภาษาในการใช้สื่อ เป็นต้น
                               1.4   ความงามหรือสุนทรีภาพของสื่อ หมายถึง ความประณีต เรียบร้อย น่าเรียน น่าจับต้อง

                  2.   การตรวจสอบเนื้อหาสาระเป็นการตรวจสอบความถูกต้องในแง่ของเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อ ได้แก่
การกำหนดวัตถุประสงค์ของบทเรียน ความถูกต้องของเนื้อหา ความสอดคล้องของเนื้อหาและวัตถุประสงค์ความชัดเจนในการใช้ภาษา
และมีลำดับการเสนอเนื้อหาที่ง่ายต่อความเข้าใจ

                 ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาสาระ ได้แก่ ครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้นๆจำนวนอย่างน้อย 3 คนการตรวจสอบก็ใช้แบบประเมินเนื้อหาแล้วนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขและนำไปตรวจสอบในขั้นตอนที่สองต่อไป

                  ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบคุณภาพสื่อ (qualitative basis) การตรวจสอบในขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบคุณภาพสื่อเพื่อตรวจสอบดูการทำงานของสื่อว่าเมื่อใช้สื่อกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมายสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ข้อใดบ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ควรจะต้องมีการปรับปรุงสื่อหรือไม่ อย่างไร ในการตรวจสอบประสิทธิภาพสื่อการเรียนการสอนในขั้นนี้ นอกจากจะเน้นที่การบรรลุวัตถุประสงค์ทุกข้อ ยังต้องพิจารณาปรับปรุงสื่อในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเนื้อหาสาระ รูปแบบการเสนอเนื้อหาสาระ กิจกรรมการเรียนการสอน ความยากง่ายของภาษา หรือภาพที่ใช้สื่อสาร เป็นต้น การตรวจสอบที่การบรรลุวัตถุประสงค์เป็นการให้ ความสำคัญกับทุกวัตถุประสงค์เท่ากัน ดังนั้น ในการตรวจสอบที่ได้จากการวัดผลในทุกวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ใดที่ผลการวัดแสดงว่ายังไม่บรรลุระดับมาตรฐานที่กำหนดก็จะต้องพิจารณาปรับปรุงในส่วนนั้น
            2.   กรณีเป็นผู้ใช้สื่อการสอน ในกรณีนี้ควรพิจารณา 2 ลักษณะได้แก่
                  2.1   การประเมินคุณลักษณะของสื่อ ได้แก่ คุณภาพของตัวสื่อนั้นโดยตรงว่าในทัศนะของผู้ใช้ ได้แก่ ผู้สอนและผู้เรียนมีความคิดเห็นต่อสื่อนั้นอย่างไรในด้านต่างๆดังนี้
                         2.1.1   ความถูกต้องด้านเนื้อหาของสื่อ สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียนเพียงใด
                         2.1.2   ด้านคุณภาพทางเทคนิคของสื่อ ได้แก่ ขนาดของสื่อเหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ การใช้สี ความชัดเจน เสียงมีความดังพอเหมาะหรือไม่
                         2.1.3   ความรู้สึกพึงพอใจต่อการใช้สื่อของผู้สอนและผู้เรียน
                 2.2   การประเมินประสิทธิผลการสอนจากสื่อ นอกจากจะพิจารณาถึงความเหมาะสมด้านคุณลักษณะของสื่อแล้ว ในการประเมินยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิผลการเรียนรู้หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของผู้เรียนจากการใช้สื่อนั้นด้วย เพราะเป้าหมายหลักของการใช้สื่อก็เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ของการเรียนการสอน
                        การประเมินสื่อการสอนมีขั้นตอนในการประเมิน 9 ขั้นตอนดังนี้
                        1.   ศึกษาวิเคราะห์สื่อการสอน
                        2.   ศึกษาแนวทางการประเมิน
                        3.   กำหนดวัตถุประสงค์หรือประเด็นการประเมิน
                        4.   กำหนดขอบเขตการประเมิน
                        5.   พัฒนาตัวชี้วัด กำหนดเกณฑ์และค่าน้ำหนัก
                        6.   ออกแบบหรือกำหนดกรอบแนวคิดการประเมิน
                        7.   พัฒนาเครื่องมือประเมิน
                        8.   สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
                        9.   เขียนรายงานการประเมิน
          

อ้างอิงจาก

ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล.(2550). วิธีการสอนวิทยาศาสตร์.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.