การพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภาครัฐ

รายงานสรุป

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงดำรงตำแหน่งองค์พระประมุข ในเดือนมีนาคม 2562 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยคณะรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 5 ปี พรรคพลังประชารัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก คสช. และพรรคร่วมสนับสนุนอีก 18 พรรคชนะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และได้เลือกให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. ผู้นำคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และนายทหารชั้นยศนายพลที่เกษียณอายุแล้วดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ การเลือกตั้งโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แทบจะไม่มีรายงานความผิดปกติ แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า การจำกัดสิทธิในการหาเสียงเลือกตั้งและการใช้ข้อบังคับเพียงบางส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐก็ตาม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการกองทัพไทยมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และกองบัญชาการกองทัพไทยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบพิเศษในพื้นที่ชายแดนเพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจะได้รับอำนาจกลับคืนมามากขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่ยังคงไม่มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงใช้อำนาจโดยมิชอบในหลากหลายรูปแบบ

ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ได้แก่ มีรายงานการสังหารที่ผิดกฎหมายหรือตามอำเภอใจโดยรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล, การทรมานและเหตุการณ์การปฏิบัติหรือลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ของทางการ, การจับกุมและคุมขังโดยพลการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ, นักโทษการเมือง, การแก้แค้นโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกประเทศให้สูญหาย, การแทรกแซงทางการเมืองในกระบวนการพิจารณาคดี, การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก สื่อ และอินเทอร์เน็ตอย่างเคร่งเครัด ซึ่งรวมไปถึงการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล การตรวจสอบเนื้อหาก่อนเผยแพร่ การปิดกั้นเว็บไซต์ และกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา, การแทรกแซงสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการสมาคม รวมถึงการคุกคามนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล, การส่งกลับผู้ลี้ภัยที่เผชิญภัยอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพ, การจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง, การกระทำทุจริตอย่างร้ายแรง, การค้ามนุษย์ และการจำกัดเสรีภาพในการสมาคมของผู้ใช้แรงงานอย่างมีนัยสำคัญ

ทางการได้ดำเนินขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม การยกเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กฎอัยการศึกยังคงมีผลบังคับใช้ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลบังคับใช้ในทุกอำเภอของจังหวัดดังกล่าว ยกเว้น 6 อำเภอที่มีการยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554 และใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน

ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนและโจมตีฝ่ายความมั่นคงของรัฐและเป้าหมายที่เป็นพลเรือน

หมวดที่ 1. การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจาก:

ก. การสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมายหรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง

มีรายงานจำนวนมากระบุว่า รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ๆ ได้สังหารผู้ต้องสงสัย 16 ราย ขณะดำเนินการจับกุมตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2562 จนถึงปลายเดือนกันยายน ซึ่งลดลงจากปี 2561-2562 ร้อยละ 60

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงนายเจริญศักดิ์ รัชพูมาด ผู้ต้องหาค้ายาเสพติดและอาวุธจนเสียชีวิตที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า นายเจริญศักดิ์ยกมือขึ้นยอมแพ้ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 10 นายล้อมจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยิงยืนยันว่า นายเจริญศักดิ์ใช้มีดจะแทงเขา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสั่งให้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าว

คดีสังหารตามอำเภอใจหรือผิดกฎหมายหลายคดีก่อนหน้านี้ยังคงไม่รับการคลี่คลาย ในคดียิงนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักเคลื่อนไหวชาวลาหู่ผู้มีชื่อเสียงเสียชีวิตในปี 2560 ศาลแพ่งจังหวัดเชียงใหม่ตัดสินในเดือนตุลาคมว่า นายชัยภูมิเสียชีวิตจากการถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ป้องกันตัวเอง และยกฟ้องโดยไม่พิจารณาหลักฐานเพิ่มเติม อันรวมไปถึงภาพจากกล้องวงจรปิดที่ด่านตรวจของทหารซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ ญาติและทนายของนายชัยภูมิปฏิเสธว่าเขากระทำการรุนแรงกับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว และเรียกร้องให้กองทัพเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด และดำเนินการตรวจสอบหาความจริงของเหตุการณ์นี้อย่างโปร่งใสและถี่ถ้วน ในปี 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งต่อคดีให้กับสำนักงานอัยการเพื่อระบุความรับผิด ซึ่งทำให้คดีล่าช้าเป็นเวลา 2 ปี

มีรายงานการสังหารที่กระทำโดยทั้งรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ดูหมวดที่ 1.ช.)

ข. การหายสาบสูญ

ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการหายสาบสูญโดยหรือในนามของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน (ดูหมวดที่ 1.จ. หัวข้อ “การแก้แค้นบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกประเทศโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง”)

แม้ว่าคดีส่วนใหญ่จากปีก่อน ๆ จะยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย แต่ในเดือนสิงหาคม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เห็นพ้องกับ (และจะเรียกร้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาใหม่) กรณีไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คนในข้อหาฆาตกรรมนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง เมื่อปี 2557 นายพอละจีหายตัวไปในจังหวัดเพชรบุรีหลังถูกคุมตัวในอุทยาน และถูกสอบสวนในข้อกล่าวหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ในเดือนกันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษประกาศว่า พบกระดูกของนายพอละจี ผลการสืบสวนชี้ว่า นายพอละจีถูกทรมานและฆาตกรรม จากนั้นศพถูกนำไปเผาและใส่ไว้ในถังน้ำมันถ่วงน้ำในเขื่อนเพื่ออำพรางคดี ในเดือนพฤศจิกายน 2562 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่อุทยานจำนวน 3 คน ถูกฟ้องว่ามีความผิดใน 6 ข้อกล่าวหารวมถึงการฆาตกรรมและอำพรางศพของนายพอละจี ในเดือนมกราคม อัยการยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนในข้อหาที่ร้ายแรงที่สุด รวมถึงฆาตกรรม และฟ้องพวกเขาเพียงแค่ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีไม่ส่งตัวนายพอละจีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากควบคุมตัวนายพอละจี

ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีอื่น ๆ

รัฐธรรมนูญระบุว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 ให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจากการกระทำในระหว่างปฏิบัติตามหน้าที่ นับจนถึงเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุก ๆ 3 เดือนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ มี 6 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการยกเว้นจากพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก่ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและบีบบังคับนักโทษและผู้ต้องขัง และโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องถูกลงโทษ คำร้องเรียนแทบจะไม่นำไปสู่การลงโทษตำรวจผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่มีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่การสอบสวนเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ใช้เวลานานหลายปีโดยที่ยังไม่มีข้อสรุป

ตัวแทนจากองค์กรนอกภาครัฐและองค์กรด้านกฎหมายรายงานว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อให้รับสารภาพ และหนังสือพิมพ์รายงานคดีหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่น ๆ ใช้ความรุนแรง ในเดือนเมษายน นายยุทธนาและนายณัฐพงษ์ ซ้ายซา สองพี่น้องถูกเจ้าหน้าที่ทหารชุดปราบปรามยาเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือจับกุมในจังหวัดนครพนมและนำตัวไปยังค่ายทหารเพื่อสอบสวน ในเวลาต่อมานายยุทธนาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่นั่น ขณะที่นายณัฐพงษ์ถูกพบว่าได้รับบาดเจ็บสาหัสในสถานที่อื่น เจ้าหน้าที่ทหาร 7 นายรับสารภาพว่าได้ทำร้ายชายทั้งสองคนขณะสอบสวนเพื่อบังคับให้ยอมรับว่าค้ายาเสพติด ณ เดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังคงสืบสวนคดีนี้อยู่

มีรายงานจำนวนมากระบุว่า มีการกระทำเหยียดหยามให้อับอายและทารุณทางกายในหน่วยทหาร ในเดือนมีนาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า มีการกระทำทารุณอย่างกว้างขวางและยาวนานในกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทหารที่รักร่วมเพศและข้ามเพศ มีรายงานเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ที่เสียชีวิตไม่นานหลังจากเข้ารับการเกณฑ์ เช่น นายเสรี บุตรวงศ์ ซึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครหลังจากเข้ากรมทหารได้ 10 วันในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ทหารระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

กระทรวงกลาโหมกำหนดให้ข้าราชการทหารเข้ารับการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการจัดฝึกอบรมข้าราชการในหลายระดับเป็นประจำ รวมทั้งข้าราชการสัญญาบัตร ข้าราชการชั้นประทวน และทหารเกณฑ์ นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังกำหนดให้นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องลงเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน

สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน

เรือนจำและสถานกักกันต่าง ๆ อันได้แก่ สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดและศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กักกันผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงที่ไม่มีเอกสารประจำตัว และชาวต่างชาติที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง มีสภาพไม่ดีและส่วนใหญ่แออัดมาก ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กยังคงถูกกักอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรืออยู่ที่สถานีตำรวจในท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว แม้ว่าก่อนหน้านั้นรัฐบาลจะขอให้ยุติการกักกันก็ตาม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสภาพเรือนจำ ในขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดูแลสภาพของศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

รัฐบาลยังคงกักขังผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนบางรายที่สถานกักกันของทหาร แม้ว่าคำสั่งในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้กำหนดให้โอนคดีพลเรือนทุกคดีจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนแล้วก็ตาม กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ณ เดือนพฤศจิกายน มีพลเรือนอย่างน้อย 6 รายถูกกักกันอยู่ที่เรือนจำของมณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร

สภาพเรือนจำและสถานกักกัน: มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันสูงกว่าความสามารถรองรับได้ประมาณร้อยละ 50 ณ เดือนพฤศจิกายน มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกัน 346,170 คน แต่สถานที่ถูกออกแบบให้รองรับจำนวนผู้ต้องขังได้สูงสุดเพียง 210,000 ถึง 220,000 คน

เรือนจำและสถานกักกันบางแห่งมีสถานที่นอนไม่เพียงพอ และยังคงมีรายงานว่ามีสภาพแออัดมากและอากาศถ่ายเทไม่ดี และปัญหาที่ร้ายแรงคือการขาดบริการทางการแพทย์ บางครั้งทางการจะส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องขังที่ป่วยหนักไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อโควิด-19

สภาพของศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายข้อที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป และผู้ต้องขังร้องเรียนถึงสภาพที่แออัดและผิดหลักอนามัย เช่น ห้องมีอากาศถ่ายเทไม่ดี และไม่ได้ใช้เวลาอยู่กลางแจ้ง ในระหว่างปี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งตัวผู้ต้องกักหลายสิบคนจากศูนย์กักกันฯ ที่สวนพลูในกรุงเทพมหานครไปยังศูนย์กักกันฯ ในจังหวัดอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาความแออัด ผู้สนับสนุนผู้ลี้ภัยรายงานว่า ศูนย์กักกันฯ ที่สวนพลูมีสภาพแออัดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ศูนย์กักกันฯ หลายแห่งทั่วประเทศยังคงมีปัญหานี้อยู่ ในเดือนพฤษภาคม ทางการยืนยันว่า ผู้ต้องกักอย่างน้อย 60 รายในศูนย์กักกันฯ ที่สะเดา จังหวัดสงขลา ติดเชื้อโควิด-19

ประมาณร้อยละ 17 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดี ผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป บ่อยครั้งรัฐบาลคุมขังผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในค่ายทหารหรือสถานีตำรวจมากกว่าเรือนจำ

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ในบางครั้งทางการควบคุมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้องหรือดำเนินการตามขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในสถานีตำรวจขนาดเล็กหรือที่อยู่ห่างไกล ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง บางครั้งทางการควบคุมเยาวชนอายุเกิน 14 ปีรวมกับผู้ใหญ่

ตามกฎหมาย ทางการสามารถกักกันบุคคลต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้อยู่ในประเทศได้ รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง หรือผู้ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเวลาหลายปีได้ เว้นแต่ว่าพวกเขาจะได้รับการประกันตัวหรือจ่ายค่าปรับและค่าเดินทางกลับประเทศของตนเอง ส่วนใหญ่แล้ว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะแยกผู้เป็นแม่และลูกออกมาอยู่ในสถานที่ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า แต่ยังคงจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขา องค์กรนอกภาครัฐเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อยุติการคุมขังเด็กที่วีซ่าหมดอายุและใช้ทางเลือกอื่นแทน เช่น การปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขให้คุมประพฤติ และการไม่ควบคุมตัวและจัดที่อยู่อาศัยในชุมชนให้ในระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาสถานะวีซ่า องค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ รายงานว่า มีการร้องทุกข์โดยเฉพาะจากชาวมุสลิมในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่ามีอาหารฮาลาลไม่เพียงพอ

บางครั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำใช้มาตรการขังเดี่ยวเพื่อลงโทษนักโทษชายที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำเป็นประจำหรือที่เป็นภัยต่อผู้อื่น ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้ตรวนขาที่มีน้ำหนักมากกับนักโทษที่เห็นว่ามีความเสี่ยงจะหลบหนีหรือที่อาจเป็นอันตรายต่อนักโทษคนอื่น

สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า มีบุคคลเสียชีวิตภายใต้การคุมขังของทางการจำนวน 713 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 30 กันยายน ในจำนวนนี้ 24 รายเสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของตำรวจ และ 689 รายเสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ทางการระบุว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยสาเหตุธรรมชาติ

การดำเนินการของเรือนจำ: ทางการอนุญาตให้นักโทษหรือผู้แทนสามารถยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาก่อน แต่ไม่สามารถยื่นคำร้องต่อฝ่ายตุลาการได้โดยตรง ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบคำร้องเรียนและคำร้องทุกข์ที่ได้รับจากนักโทษและให้คำแนะนำแก่กรมราชทัณฑ์ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการในนามของนักโทษ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในคดี ยกเว้นแต่จะได้รับคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการ

การตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระ: รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าเยี่ยมสังเกตการณ์เรือนจำได้ รวมถึงการเข้าเยี่ยมนักโทษโดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย และยังสามารถเข้าเยี่ยมได้อีกหลายครั้ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ไม่มีการตรวจสอบระบบทัณฑสถาน รวมถึงเรือนจำทหาร เช่น เรือนจำในมณฑลทหารบกที่ 11 ในกรุงเทพมหานคร จากหน่วยงานภายนอกหรือต่างประเทศ

โดยทั่วไป ผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศเพื่อให้บริการและดำเนินการโยกย้ายถิ่นฐาน การเข้าถึงศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแต่ละแห่งแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ตลอดทั้งปี

ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ

หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะยุติบทบาทในเดือนกรกฎาคม 2562 รัฐบาลทหารภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเลิกคำสั่ง 76 ฉบับ ซึ่งคืนสิทธิพลเรือนและสิทธิชุมชนบางส่วนให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. ฉบับอื่น ๆ ยังมีผลบังคับใช้ และทหารยังมีอำนาจในการกักกันบุคคลได้สูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาหรือมีการพิจารณาในศาล

พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่กักกันอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้นานสูงสุด 30 วัน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ (ดูหมวดที่ 1. ช.)

บทบัญญัติในพระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ยากแก่การร้องขอต่อศาลเพื่อโต้แย้งการกักขัง พระราชกำหนดฉุกเฉินระบุว่า ผู้ถูกกักขังมีสิทธิที่จะมีทนายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่มีหลักประกันว่าผู้ถูกกักขังจะได้พบทนายหรือญาติพี่น้องทันที และไม่มีมาตรการที่โปร่งใสเพื่อป้องกันการทารุณผู้ถูกกักขัง นอกจากนี้ พระราชกำหนดฉุกเฉินระบุว่า เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย

นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม ซึ่งมีการต่ออายุทุก ๆ เดือนนับจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผู้วิจารณ์อ้างว่า พระราชกำหนดดังกล่าวถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

ขั้นตอนการจับกุมและการปฏิบัติต่อบุคคลขณะถูกคุมขัง

กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุม แต่คำสั่ง คสช. ฉบับหนึ่งอนุญาตให้คุมขังบุคคลได้นานสูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ ในการออกหมายจับนั้น ศาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติออกหมายจับตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งข้อหาให้บุคคลที่ถูกจับกุมทราบทันทีที่เข้าจับกุม และต้องอนุญาตให้บุคคลผู้นั้นแจ้งผู้ใดผู้หนึ่งเรื่องที่ตนถูกจับกุมได้

กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหารสามารถติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวอ้างว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ให้ติดต่อทนายความ

ทั้งศาลยุติธรรมและกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรมจัดทนายอาสาให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจน ในช่วงเวลาทั้งปีจนถึงวันที่ 30 กันยายน ศาลยุติธรรมจัดหาทนายความให้แก่จำเลยผู้ใหญ่ 21,254 รายและจำเลยเยาวชน 5,405 ราย ทั้งนี้ ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมจัดหาทนายความให้แก่จำเลยที่ขาดแคลน 1,699 รายด้วยกัน

กฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยในการขอประกันตัว และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว

การจับกุมตามอำเภอใจ: คำสั่ง คสช. ฉบับหนึ่งให้ทหารมีอำนาจคุมขังบุคคลโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้สูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องมีการพิจารณาโดยศาล พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจทางการในการคุมขังบุคคลได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา (ดูหมวดที่ 1. ช.)

การคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี: ในกรณีปกติทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อสอบสวนคดีได้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม ทนายความรายงานว่า ตำรวจส่งสำนวนคดีส่วนใหญ่ต่อศาลภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม พวกเขาแสดงความกังวลที่ขณะเดียวกันมีการใช้กฎหมายที่บังคับใช้กับคดีความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ถูกกักขังนานขึ้น กฎหมายอื่น ๆ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่พลเรือนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการกักขังบุคคลที่ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้นานสูงสุด 3 วันก่อนส่งตัวให้กับตำรวจ

กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ความผิดที่มีโทษจำคุกสูงสุดน้อยกว่า 3 ปีอยู่ภายใต้อำนาจรับผิดชอบของศาลแขวง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างออกไปและกำหนดให้ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีให้อัยการภายในเวลาระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังจากการจับกุม

ก่อนการตั้งข้อกล่าวหาและการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่อาจคุมขังบุคคลได้นานสูงสุดถึง 84 วัน (สำหรับคดีร้ายแรงที่สุด) โดยศาลจะพิจารณาทบทวนทุก 12 วัน หลังจากการตั้งข้อกล่าวหาและตลอดช่วงการพิจารณาคดี การคุมขังอาจกินเวลานานถึง 3 เดือนไปจนถึง 2 ปีก่อนที่จะมีการตัดสินคดี และอาจนานถึง 6 ปีก่อนที่ศาลฎีกาจะพิจารณาเรื่องฎีกา ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับการดำเนินการฟ้องร้องและความพร้อมในการสู้คดี จำนวนคดีที่ศาลรับผิดชอบ และลักษณะของหลักฐาน

จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเคารพความเป็นอิสระและความเป็นกลางของฝ่ายตุลาการ อย่างไรก็ดี ยังมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งให้อำนาจกับรัฐบาลในการแทรกแซงเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ “ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ” กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐบาลที่มีต่อกระบวนการตุลาการอันเป็นกระบวนการอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กระบวนการตุลาการเพื่อลงโทษบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ขั้นตอนการพิจารณาคดี

รัฐธรรมนูญให้สิทธิแก่บุคคลในการได้รับการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม และโดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายตุลาการที่มีความเป็นอิสระเป็นฝ่ายบังคับใช้กฎหมายตามสิทธิที่ว่านี้ ยกเว้นในบางคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กฎหมายให้ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ การพิจารณาความผิดลหุโทษใช้ผู้พิพากษาคนเดียวตัดสิน ส่วนความผิดในคดีที่ร้ายแรงกว่านั้นต้องใช้ผู้พิพากษา 2 คนหรือมากกว่า ส่วนใหญ่แล้วการพิจารณาคดีจะเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาคดีโดยลับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ราชวงศ์ เยาวชน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ

จำเลยที่ถูกพิจารณาคดีในศาลอาญาปกติจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งรวมถึงการเลือกทนายด้วยตนเอง การรับทราบรายละเอียดข้อกล่าวหาอย่างรวดเร็ว การใช้ล่ามโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (หากจำเป็น) สิทธิในการปรากฏตัวต่อศาล รวมถึงสิทธิที่จะมีเวลาและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอในการเตรียมต่อสู้คดี นอกจากนี้ จำเลยยังมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือสารภาพผิด เผชิญหน้ากับพยาน นำเสนอพยาน และขออุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ทางการไม่ได้จัดหาทนายโดยอัตโนมัติให้แก่จำเลยที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐเสมอไป และมีการกล่าวหาว่าทางการไม่ได้ให้สิทธิทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแก่จำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเล็ก ๆ หรือจังหวัดที่อยู่ห่างไกล

นักโทษและผู้ต้องขังทางการเมือง

กรมราชทัณฑ์รายงานว่า จนถึงเดือนพฤศจิกายน มีผู้รอการพิจารณาคดีหรือจำคุกภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ (ดูหมวดที่ 2.ก.) ประมาณ 23 ราย กลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่า บุคคลหลายรายถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ทางการออกหมายจับผู้ประท้วงและผู้สนับสนุนการประท้วงมากกว่า 30 รายในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลังมีการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยเปิดเผยมากขึ้นระหว่างการชุมนุมในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ในเดือนธันวาคม ศาลอาญายกฟ้องนางพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของนายสิรวิชญ์ “จ่านิว” เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีอายุ 4 ปี โดยพิจารณาว่าคำตอบ “จ้า” คำเดียวที่เธอโพสต์ในบทสนทนาทางเฟซบุ๊กซึ่งวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ไม่มีเจตนาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

การแก้แค้นบุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกประเทศโดยมีเหตุจูงใจทางการเมือง

ยังคงมีการกล่าวหาว่าทางการไทยดำเนินการแก้แค้นนักเคลื่อนไหวและผู้วิจารณ์ที่อยู่นอกประเทศ โดยมีเหตุจูงใจทางการมือง

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐสมรู้ร่วมคิดในกรณีการสูญหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหว โดยมีรายงานว่ามือปืนสวมหน้ากากลักพาตัวเขาไปในเดือนมิถุนายนที่ประเทศกัมพูชา ก่อนหน้านั้นทางการไทยออกหมายจับนายวันเฉลิมซึ่งลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กของเขา ทางการกัมพูชาเริ่มการสืบสวนสอบสวน โดยมีรายงานว่าเป็นการกระทำตามการร้องขอของรัฐบาลไทย และในเดือนกันยายน ได้ออกผลการตรวจสอบเบื้องต้นว่า ไม่มีหลักฐานว่ามีการลักพาตัวเกิดขึ้น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชนแสดงความห่วงใยว่า การลักพาตัวนายวันเฉลิมที่มีการรายงานนั้น “อาจเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย” องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า มีผู้เห็นต่างชาวไทยจำนวนอย่างน้อย 8 คนเป็นเหยื่อของการสูญหายในลักษณะดังกล่าวนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 ในเดือนพฤศจิกายน พี่สาวของนายวันเฉลิมเดินทางไปยังพนมเปญเพื่อยื่นหลักฐานในคดีดังกล่าว

ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมกรณีทางการเวียดนามจับกุมนักเคลื่อนไหว ได้แก่ นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ นายสยาม ธีรวุฒิ และนายกฤษณะ ทัพไทย เมื่อปี 2562 และส่งตัวกลับประเทศไทย

ขั้นตอนและการเยียวยาคดีความแพ่ง

กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลและหน่วยงานฝ่ายปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลเคารพสิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดฉุกเฉินที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดไว้ว่า ศาลปกครองหรือกระบวนการทางแพ่งหรืออาญาไม่สามารถตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ แต่ผู้เสียหายอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้จากหน่วยงานรัฐได้

ฉ. การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการหรือมิชอบด้วยกฎหมาย

ข้อกำหนดของคำสั่ง คสช. ฉบับหนึ่ง และพระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงในการตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ใช้อำนาจดังกล่าวเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ชายแดนอื่น ๆ พระราชบัญญัติอื่นกำหนดให้มีขั้นตอนการค้นหาและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล “ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” “เป็นเท็จ” หรือ “บิดเบือน” (ดูหมวดที่ 2.ก.) พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการขอและบังคับให้มีการลบข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้

รัฐบาลตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัดโดยมีการกำกับดูแลที่จำกัด หน่วยงานรัฐบาลใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่องติดตาม รวมทั้งใช้ซอฟต์แวร์ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ตลอดจนใบอนุญาตเพื่อนำเข้าอุปกรณ์ดักจับการสื่อสารทางไกลจากบริษัทในยุโรป การสอดส่องโดยรัฐบาลขาดกลไกการตรวจสอบและความโปร่งใส บทบัญญัติบางข้อไม่ให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลซึ่งตามจริงแล้วกำหนดไว้ในกฎหมาย อีกทั้งไม่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคล และให้อำนาจอย่างมากแก่รัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยปราศจากการพิจารณาทบทวนโดยศาลหรือการควบคุมดูแลในรูปแบบอื่น ๆ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตอบโต้การระบาดของโรคโควิด-19 โดยเปิดตัวแอปสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ซึ่งติดตามและตรวจสอบบุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมายังประเทศไทย แอปนี้จะขอให้ใส่ข้อมูล เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขหนังสือเดินทาง และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนจะต้องดาวน์โหลดแอปดังกล่าวมาใช้งาน ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มีความคลุมเครือเกี่ยวกับวิธีใช้ข้อมูลและผู้ที่นำข้อมูลไปใช้

มีรายงานจำนวนมากซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามพลเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย รวมทั้งไปพบหรือสอดส่องที่บ้านหรือสถานที่ทำงานของบุคคลนั้น ในเดือนกรกฎาคม นายทิวากรณ์ วิถีตน อ้างว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสอบสวนหลายครั้งที่บ้านหลังจากโพสต์รูปภาพตนเองสวมเสื้อยืดที่มีข้อความวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ในภายหลัง นายทิวากรณ์ถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 6 คนและเจ้าหน้าที่ทหาร 1 นายจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนำตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเพื่อรับการรักษาเป็นเวลา 14 วัน ในเดือนมิถุนายน นายบุญเกื้อหนุน “ฟรานซิส” เป้าทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายมาที่บ้านหลายครั้งเพื่อเตือนเขาเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการชุมนุมที่เขาจัด อีกทั้งขอให้เขาระบุตัวผู้นำการชุมนุมคนอื่น ๆ ในเดือนตุลาคม เขาและผู้ชุมนุมอีก 2 คนถูกกล่าวหาว่าพยายามกระทำรุนแรงต่อพระราชินี เนื่องจากมีส่วนในเหตุการณ์ที่ทำให้ขบวนเสด็จของพระราชินีล่าช้าขณะขบวนเข้าไปใกล้กับสถานที่ชุมนุม โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวมีบทลงโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกรายงานในเดือนมกราคมเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ทหารบังคับเก็บสารพันธุกรรม (DNA) จากชายชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผู้วิจารณ์กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ

ช. การใช้อำนาจในทางมิชอบอื่น ๆ ในการจัดการปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ

ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูยังคงดำเนินต่อไป การโจมตีโดยผู้ก่อความไม่สงบและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ผ่านมาได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและชาวไทยพุทธในพื้นที่

พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส (โดยมี 6 อำเภอได้รับการยกเว้น) ให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนบางส่วน ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ ตลอดจนมอบหมายอำนาจด้านการรักษาความมั่นคงภายในบางประการแก่กองทัพ พระราชกำหนดฉุกเฉินยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในปี 2549 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้อำนาจอย่างมีนัยสำคัญแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การสังหาร: กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองกำลังของรัฐบาลว่ากระทำการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ระบุข้อมูล ณ เดือนกันยายนว่า มีเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง 8 ครั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบเสียชีวิต 22 ราย เจ้าหน้าที่รัฐยืนกรานว่า ผู้ต้องสงสัยในแต่ละคดีขัดขืนการจับกุม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังรุนแรงจนถึงแก่ความตาย ซึ่งครอบครัวของผู้ต้องสงสัยและกลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาโต้แย้งประเด็นข้ออ้างดังกล่าว

ในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐยิงผู้ต้องสงสัย 7 รายเสียชีวิตขณะค้นหาผู้ก่อเหตุวางระเบิด 2 จุดซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 รายในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ โดยขอความช่วยเหลือจากชุมชนและผู้นำศาสนาในการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องสงสัยยอมแพ้ก่อนจะถูกผู้ต้องสงสัยยิง ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง และผู้ต้องสงสัยวางระเบิดบางคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในระหว่างการปะทะกันถูกระบุในเวลาต่อมาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ณ เดือนพฤศจิกายนระบุว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น 285 ครั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 107 รายและได้รับบาดเจ็บ 155 ราย ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 เช่นเดียวกันกับปีที่ผ่าน ๆ มา กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักมุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงข้าราชการอำเภอและเทศบาล ทหาร และตำรวจ โดยใช้ระเบิดและการซุ่มยิง

ในเดือนมกราคม กลุ่มชายติดอาวุธขว้างระเบิดแสวงเครื่องและปลดระเบิดมือก่อนบุกไปที่ฐานปฏิบัติทหารในตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส อาสารักษาดินแดนชาวมุสลิมคนหนึ่งเสียชีวิตและอีก 7 คนได้รับบาดเจ็บในระหว่างการโจมตี ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา อาสารักษาดินแดนซึ่งตอบโต้การโจมตีที่ฐานปฏิบัติการถูกระเบิดโจมตีและกระหน่ำยิง ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มเติม ระเบิด 2 ลูกถูกพบฝังอยู่ใต้ถนนใกล้กับจุดเกิดเหตุระเบิด

ในเดือนกุมภาพันธ์ มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถจักรยานยนต์โดยมุ่งเป้าไปที่ปลัดอำเภอและกลุ่มอาสารักษาดินแดนที่ด้านนอกโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 คน ได้แก่ ปลัดอำเภอ อาสาสมัคร 3 คน ชาวบ้าน 4 คน และนักเรียน 2 คน

ในเดือนมีนาคม มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถกระบะด้านนอกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในจังหวัดยะลา ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อมวลชน และชาวบ้าน

อาสาสมัครป้องกันดินแดนที่เป็นพลเรือนบางส่วนได้รับการอบรมพื้นฐานและรับแจกอาวุธจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐ องค์กรสิทธิมนุษยชนยังคงแสดงความกังวลว่า อาสาสมัครป้องกันดินแดนและพลเรือนอื่น ๆ จะลงโทษบุคคลโดยพลการ

ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังฯ ระบุว่า แม้ว่าผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบได้ก่อเหตุโจมตีพลเรือนหลายครั้ง แต่ทั้งเหตุความรุนแรง ตลอดจนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนลดลงในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

การทารุณกรรมทางกาย การลงโทษ และการทรมาน: ศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐในท้องถิ่น ได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องหาก่อความไม่สงบว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทรมานร่างกายในขณะถูกคุมขัง องค์กรเดียวกันนี้ระบุว่า การหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและการให้เข้าพบผู้ต้องหาในสถานที่ควบคุมตัว กลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ ระบุว่า ณ เดือนสิงหาคม มีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 77 คน องค์กรสิทธิมนุษยชนยังคงยืนยันว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นการกระทำตามอำเภอใจและเกินกว่าเหตุ องค์กรเหล่านั้นยังวิจารณ์สภาพแออัดของสถานที่อีกด้วย

กฎอัยการศึกที่บังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อนุญาตให้ควบคุมตัวบุคคลได้สูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาและไม่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลหรือหน่วยงานของรัฐ พระราชกำหนดฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในพื้นที่เดียวกันอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและคุมขังผู้ต้องหาเพิ่มได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา และหลังจากครบกำหนดระยะเวลานี้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มคุมขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใต้กฎหมายอาญาปกติ ซึ่งจะแตกต่างจากการคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกตรงที่ต้องให้ศาลอนุมัติ แม้องค์กรสิทธิมนุษยชนนอกภาครัฐจะร้องเรียนว่าศาลไม่ใช้อำนาจในการพิจารณาการคุมขังเสมอไป

ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้รายงานว่า จนถึงเดือนสิงหาคม ทางการจับกุมตัวบุคคล 20 รายตามหมายศาลภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2562 ในจำนวนนี้ มีผู้ได้รับการปล่อยตัว 6 ราย ถูกดำเนินคดี 13 ราย และกักขังเพื่อรอการสอบสวนเพิ่มเติม 1 ราย แหล่งข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้อ้างว่า จำนวนที่ลดลงส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติการปราบปรามที่น้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2562 รวมทั้งมีการเน้นมาตรการป้องกันเพิ่มขึ้นในการควบคุมความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความมุสลิมให้เหตุผลว่า จำนวนที่ลดลงดังกล่าวเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19

รัฐบาลมักแจกอาวุธแก่อาสาสมัครพลเรือนป้องกันดินแดนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู รวมทั้งจัดกำลังป้องกันโรงเรียนและวัดพุทธ ตลอดจนจัดทหารคุ้มกันพระสงฆ์และครู

ข้าราชการทหารที่ออกปฏิบัติงานสนับสนุนการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้รับการอบรมพิเศษเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการอบรมรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะที่อาจเกิดขึ้นได้โดยละเอียด

หมวดที่ 2. การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อันประกอบด้วย:

ก. เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพประชาชนในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายและการดำเนินงานของรัฐบาล เช่น รัฐบาลกำหนดข้อจำกัดด้านกฎหมายเกี่ยวกับการวิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยเหลือองค์กรสื่อที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลในการดำเนินตามข้อบังคับต่าง ๆ ข่มขู่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ตรวจสอบสื่อและอินเทอร์เน็ต และปิดกั้นเว็บไซต์

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหนดว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีต่อความผิด 1 กระทง กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้หากพบเห็นผู้ใดกระทำการดังกล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับผู้นำการชุมนุม 12 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นการออกหมายจับในข้อหาดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า แม้ว่าจะมีการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพลดน้อยลง แต่รัฐบาลหันไปใช้กฎหมายการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และข้อหายุยงปลุกปั่นเพิ่มขึ้นในการจำกัดเสรีภาพในการพูด รวมทั้งการพูดที่วิจารณ์สถาบัน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระบุว่า จนถึงเดือนกันยายน มีผู้ถูกคุมขังเนื่องจากความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 15 ราย และจนถึงเดือนสิงหาคม ศาลยุติธรรมรายงานว่า มีคดีละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรอการดำเนินคดีอยู่ทั่วประเทศ 23 คดี

รัฐบาลยังคงพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากปีก่อน ๆ เป็นการลับ และห้ามการเปิดเผยเนื้อหาที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้นต่อประชาชน องค์กรและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในแง่ลบของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ศาลรัฐธรรมนูญอาจดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลที่พิจารณาว่าได้บิดเบือนข้อเท็จจริง กฎหมาย หรือคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ของศาล หรือได้ล้อเลียนศาล

เสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งสื่อออนไลน์: สื่ออิสระปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องแต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการทำหน้าที่อย่างเสรีหลายประการ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เจ้าของหนังสือพิมพ์และองค์กรสื่อมวลชนอื่น ๆ ต้องเป็นประชาชน แต่เจ้าหน้าที่รัฐยินยอมอย่างเปิดเผยให้มีข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลระหว่างสำนักข่าวที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนและสื่อในประเทศที่เป็นของรัฐ โดยให้เหตุผลว่าสื่อจีนให้มุมมองที่เป็นทางเลือกนอกเหนือจากมุมมองของสื่อตะวันตก รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงและให้ผู้ดำเนินการสื่อเอกชนเช่า ซึ่งทำให้รัฐบาลมีอิทธิพลทางอ้อมกับสื่อได้ เป็นที่รู้กันว่าบริษัทสื่อตรวจสอบเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่เป็นประจำ

การตรวจสอบสื่อก่อนเผยแพร่ หรือการจำกัดเนื้อหา: กฎหมายยังคงให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการระงับชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ดำเนินกิจการวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยใช่เหตุ นับจนถึงเดือนตุลาคม ไม่มีข้อมูลว่าทางการได้เพิกถอนใบอนุญาตใด ๆ ทั้งนี้ ทางการเฝ้าตรวจสอบข้อมูลที่สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอ รวมทั้งสื่อต่างชาติด้วย สื่อในประเทศมีแนวโน้มที่จะตรวจสอบข้อมูลของตนเองก่อนเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่อาจวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์

พระราชกำหนดฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความขัดแย้ง ให้อำนาจกับรัฐบาลในการ “ห้ามการตีพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจสร้างความตื่นตระหนก หรือมีเจตนาที่จะบิดเบือนข้อมูล” และยังให้อำนาจในการตรวจกรองข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอีกด้วย

เมื่อเดือนตุลาคม องค์กรสื่อและนักวิชาการวิจารณ์คำสั่งของตำรวจที่รั่วไหลออกมา ซึ่งเป็นคำสั่งให้ตรวจสอบสำนักข่าวออนไลน์ และหน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มชุมนุมต่อต้านรัฐบาลซึ่งเป็นที่รู้จักเพื่อตรวจหาการละเมิดกฎหมายภายใต้ “สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” ในเดือนตุลาคม ซึ่งห้ามไม่ให้กระจายหรือเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน สุดท้าย ศาลไม่รับฟังคำร้องเพื่อปิดสำนักข่าว 4 แห่งและหน้าเฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งปัจจุบันยังดำเนินการและเปิดใช้งานอยู่ นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน รัฐมนตรีว่ากระกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกคำสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กระจายโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและสัญญาณมือถือระงับบัญชีของผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการประท้วง นอกจากนี้ รัฐมนตรียังประกาศว่า มี URL 300,000 รายการที่อาจเข้าข่ายละเมิดพระราชกำหนด

กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท: ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญา มีโทษปรับและจำคุก 2 ปี บุคคลในแวดวงทหารและนักธุรกิจฟ้องร้องนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และนักการเมืองฐานหมิ่นประมาททางอาญาและโฆษณาหมิ่นประมาท

ในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเวลา 10 เดือนหลังจากบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ ธรรมเกษตร ถอนฟ้องนางสาวสุธารี “กระติก” วรรณศิริ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง บริษัทแพ้คดีอาญาที่ฟ้องต่อนางสาวสุธารี บริษัทธรรมเกษตรให้เหตุผลว่า ข้อความเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในปี 2560 ของนางสาวสุธารีทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง

ในเดือนตุลาคม ศาลอุทธรณ์จังหวัดลพบุรีพิพากษายกเลิกการลงโทษนางสุชาณี คลัวเทรอ นักข่าวโทรทัศน์ ในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาในคดีที่บริษัทธรรมเกษตรเป็นผู้ฟ้อง ในเดือนธันวาคม 2562 ศาลจังหวัดลพบุรีได้ลงโทษจำคุกนางสุชาณีเป็นเวลา 2 ปี หลังจากแสดงความคิดเห็นบนทวิตเตอร์เมื่อปี 2560 เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทธรรมเกษตร

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 12 แห่ง เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกฎหมายหมิ่นประมาท และ “ดำเนินมาตรการโดยทันทีเพื่อยุติกระบวนการทางอาญาที่ไม่มีน้ำหนักต่อนักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้แจ้งเบาะแส รวมทั้งผู้ที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรกล่าวหา” ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ บริษัทธรรมเกษตรได้ยื่นฟ้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักข่าวอย่างน้อย 39 คดีกรณีวิจารณ์การใช้แรงงานของบริษัท โดยกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญา

ความมั่นคงของชาติ: คำสั่ง คสช. หลายฉบับยังคงให้อำนาจรัฐในการจำกัดการเผยแพร่เนื้อหาที่พิจารณาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต

รัฐบาลยังคงจำกัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและลงโทษผู้ที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นจริงเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ รัฐบาลยังเฝ้าสังเกตการณ์สื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารส่วนบุคคลเพื่อตรวจหาเนื้อหาที่เห็นว่าไม่ถูกต้องและเป็น “ข่าวปลอม” มีรายงานว่ารัฐบาลเฝ้าสังเกตการสื่อสารออนไลน์ส่วนบุคคลโดยไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่เหมาะสม

กฎหมายอนุญาตให้ทางการลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีและปรับเงินจำนวนมากต่อผู้กระทำผิดฐานลงข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความมั่นคงของรัฐ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอิงจากคำนิยามที่คลุมเครือ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บบันทึกข้อมูลผู้ใช้งานทุกรายเป็นเวลา 90 วันเพื่อใช้ในกรณีที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น และหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นชอบหรือจงใจสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความผิดกฎหมายก็จะถูกลงโทษด้วย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ทางการต้องขอคำสั่งศาลในการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับนี้เสมอไป นักเคลื่อนไหวด้านสื่อวิจารณ์ว่า กฎหมายนี้ให้คำจำกัดความการกระทำความผิดไว้กว้างเกินไปและบทลงโทษบางบทก็รุนแรงเกินไป

โดยทั่วไปแล้ว บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยสันติทางอินเทอร์เน็ต แม้ว่ายังคงมีข้อจำกัดด้านเนื้อหาหลายประการ ภาคประชาสังคมรายงานว่า รัฐบาลใช้การดำเนินคดีหรือการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ทางการตั้งเป้าดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายหัวข้อ ตั้งแต่การพูดคุยถึงเรื่องการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ไปจนถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การวิจารณ์การปฏิบัติงานของรัฐบาล การรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์อื้อฉาวของรัฐบาล และการเตือนเกี่ยวกับการสอดแนมของรัฐบาล

ในเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนางสาวฐิติมา คงทน และนายฤทธิศักดิ์ วงศ์ทองเหลือง ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งคู่อาจต้องจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดบุกบ้านเรือนใน 4 จังหวัดและจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน 4 รายที่แสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่าเชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปยังจังหวัดเชียงใหม่

ในเดือนกุมภาพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยจากจังหวัดชลบุรีที่ใช้ชื่อว่า นิรนาม ถูกตำรวจจับและตั้งข้อหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” หลังจากโพสต์ข้อความที่ถือว่าหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 นิรนามถูกเพิ่มข้อหาฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อีก 7 ข้อหาหลังจากการพิจารณาคดีถูกเลื่อนออกไปในเดือนมิถุนายน เขาต้องโทษจำคุกสูงสุด 40 ปี

ในเดือนเมษายน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประกาศแผนการที่จะฟ้องร้องผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กแหม่มโพธิ์ดำ หลังจากแหม่มโพธิ์ดำรายงานเกี่ยวกับกรณีกักตุนหน้ากากที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิดของนายธรรมมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แหม่มโพธิ์ดำอ้างว่าข้อมูลที่เผยแพร่นำมาจากหน้าเฟซบุ๊กของคนสนิทดังกล่าวก่อนที่จะถูกลบไป

ในเดือนสิงหาคม ศาลสั่งปรับและจำคุกบุคคลจำนวน 10 รายในข้อหาเผยแพร่สิ่งที่รัฐบาลกล่าวว่าเป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยข้อความดังกล่าวกล่าวหาว่ารองนายกประวิตรจัดซื้อเทคโนโลยีดาวเทียมมูลค่ากว่า 90,000 ล้านบาท (3,000 ล้านเหรียญ) เพื่อสอดส่องประชาชน ในภายหลังโทษถูกลดให้เหลือรอลงอาญา 2 ปี

ในเดือนเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังได้ยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีนักวิชาการผู้ลี้ภัย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์สร้างและดำเนินการเป็นผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังขอให้เฟซบุ๊กลบหน้าบัญชีดังกล่าว ซึ่งเฟซบุ๊กปฏิบัติตามเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ในเดือนกันยายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ยื่นคำร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์บางหน้าตามที่กระทรวงฯ ร้องขอผ่านทางศาลก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังยื่นคำร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อความที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายนด้วย โดยอ้างว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้กระทำการยุยงปลุกปั่นและนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

รัฐบาลดำเนินการสอดส่องอย่างใกล้ชิดและปิดกั้นเว็บไซต์ ตลอดจนโพสต์และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การดำเนินคดีต่อสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฐานหมิ่นประมาททางอาญาหรือยุยงปลุกปั่นจากการลงเนื้อหาออนไลน์นั้นสร้างบรรยากาศของการตรวจสอบตัวเองก่อนเผยแพร่ข้อมูลมากยิ่งขึ้น เว็บบอร์ดและกระดานสนทนาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตจำนวนมากคอยสอดส่องข้อความสนทนาและตรวจสอบเนื้อหาของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปิดกั้น หนังสือพิมพ์จำกัดการเข้าถึงพื้นที่แสดงความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นประมาท นอกจากนี้ กสทช. ยังชักจูงผู้ให้บริการเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตต่างชาติลบหรือตรวจสอบเนื้อหาของตนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีการเผยแพร่ในประเทศ ทางการขอให้รัฐบาลต่างชาติดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เห็นต่างชาวไทยที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น ผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกคุมขังเปิดเผยรหัสผ่านที่เข้าใช้บัญชีส่วนตัวในสื่อสังคมออนไลน์

เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอยู่เป็นประจำเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์การบรรยายและการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา มีหลายกรณีที่ทางการจับกุมนิสิตนักศึกษาจากการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น มหาวิทยาลัยรายงานว่า ยังคงมีการตรวจสอบเนื้อหาของตนเองก่อนเผยแพร่อยู่

เมื่อเดือนมิถุนายน สำนักข่าว ไทยเอ็นไควเรอร์ รายงานกรณีการคุกคามและข่มขู่นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งนักศึกษาคนหนึ่งที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมานำเขาไปยังสถานีตำรวจเพื่อสอบปากคำ เขาถูกยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และถูกบังคับให้เปิดเผยรหัสผ่านของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของทางการเข้าพบคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีการระบุชื่อในกรุงเทพมหานคร และขอให้ระบุตัวผู้นำการชุมนุมประท้วงและตรวจสอบกิจกรรมของพวกเขา

ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการชุมนุมประท้วง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้มีการชุมนุมในเดือนสิงหาคมและประกาศว่า นักศึกษาสามารถแสดงข้อเรียกร้องการทางการเมืองได้ แต่ในภายหลังได้แสดงความเสียใจที่อนุญาตให้นักศึกษาใช้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ในการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ข. เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม

มีการชุมนุมประท้วงโดยสันติขนาดใหญ่หลายครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน แม้กระนั้น รัฐบาลได้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม ตลอดจนจับกุมและตั้งข้อหากับผู้นำการชุมนุมจำนวนหลายสิบคนภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินว่าด้วยโรคโควิด-19 กฎหมายการยุยงปลุกปั่น และกฎหมายอื่น ๆ

เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อจำกัดของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อ “คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” รัฐบาลยังคงดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่ประท้วงโดยสงบ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ชุมนุมประท้วงและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นนักศึกษา เริ่มจัดให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพื่อประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 และต่ออายุพระราชกำหนดฉุกเฉินว่าด้วยโรคโควิด-19 ต่อเนื่องทุกเดือน ในเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายทัตเทพ “ฟอร์ด” เรืองประไพกิจเสรี นายพริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์ และนางสาวปนัสยา “รุ้ง” สิทธิจิรวัฒนกุล ฐานละเมิดพระราชกำหนดฉุกเฉินว่าด้วยโรคโควิด-19 โดยการจัดการชุมนุม 2 ครั้งเพื่อประท้วงการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหว และระลึกถึงการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ซึ่งทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยสิ้นสุดลง การชุมนุมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพมหานครทำให้ผู้นำการชุมนุมกว่า 30 คนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอื่น ๆ

แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินว่าด้วยโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงจับกุมผู้นำการชุมนุมในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดกฎหมายอื่น ๆ การชุมนุมในเดือนสิงหาคมซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้นำการชุมนุมถูกตั้งข้อหากระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และยุยงปลุกปั่น

ในเดือนกันยายน นายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ “ไมค์” จาดนอก ถูกคุมตัวเป็นเวลา 5 วันหลังมีคำวินิจฉัยว่าพวกเขาละเมิดข้อกำหนดของเงื่อนไขการประกันตัวจากการจับกุมก่อนหน้านั้น โดยการเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเผชิญหน้ากับขบวนเสด็จของพระราชินีเป็นเวลาสั้น ๆ รัฐบาลออก “พระราชกำหนดฉุกเฉินร้ายแรง” ซึ่งห้ามการชุมนุมเกินกว่า 5 คน ในวันที่ 16 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำซึ่งมีส่วนผสมของสารที่ทำให้ระคายเคืองผิวเพื่อสลายผู้ชุมนุมที่รวมกลุ่มกันเป็นการละเมิดพระราชกำหนด ในวันที่ 22 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้ยกเลิกพระราชกำหนดดังกล่าวขณะที่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ผู้ชุมนุมหลายสิบคนถูกตั้งข้อหามีส่วนร่วมในการชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว และผู้นำการชุมนุม ได้แก่ เพนกวิน รุ้ง และไมค์ ถูกจับกุมและคุมตัวเป็นเวลา 3 สัปดาห์ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ทางการยื่นฟ้องผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลประมาณ 175 รายในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน นักเคลื่อนไหว 3 คนอาจต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จของพระราชินี ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 30 คน ซึ่งรวมถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 16 ปี 1 คน ได้รับหมายเรียกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และผู้นำการชุมนุมกว่า 10 คนถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่ 2 กระทงขึ้นไป มีบุคคลอย่างน้อย 45 คน รวมทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 17 ปี 1 คน ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ผู้นำการชุมนุมหลายคนถูกตั้งข้อหาหลายข้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมหลายครั้ง

เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม

รัฐธรรมนูญให้บุคคลมีสิทธิในการจัดตั้งสมาคมโดยมีข้อจำกัดบางประการเพื่อ “ปกป้องประโยชน์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีงามของส่วนรวม”

กฎหมายห้ามมิให้จดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยวินิจฉัยว่าพรรครับเงินกู้ผิดกฎหมายจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และห้ามคณะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งนายธนาธร มีส่วนร่วมทางการเมืองจนถึงปี 2573 (ดูหมวดที่ 3)

. เสรีภาพในการนับถือศาสนา

สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนานานาชาติ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ /www.state.gov/religiousfreedomreport/

. เสรีภาพในการเดินทาง

รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ และการเดินทางกลับประเทศ รัฐบาลมีข้อยกเว้นบางกรณีโดยอ้างว่าเพื่อ “รักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การวางผังเมืองและการวางผังประเทศ หรือสวัสดิภาพของเยาวชน”

การเดินทางภายในประเทศ: รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศของชาวเขาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ถือบัตรประจำตัวที่รัฐบาลออกให้ รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนไว้ว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ทางการห้ามผู้ถือบัตรเหล่านี้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากนายอำเภอ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือต้องโทษจำคุก 45-60 วัน ส่วนผู้ที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเก็บสินบนเพื่อแลกกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า ข้อจำกัดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่มีผลในช่วงปีนี้มีบทบาทสำคัญในการจำกัดการเดินทางภายในประเทศ เช่น หน่วยงานรัฐประจำจังหวัดกำหนดข้อจำกัดในการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลกับทุกคน ไม่ใช่แต่เพียงคนไร้สัญชาติเท่านั้น

การเดินทางไปต่างประเทศ: ทางการกำหนดว่าบุคคลไร้สัญชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคนต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทยหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ

. สถานะและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นในประเทศ

ไม่มีข้อมูล

. การคุ้มครองผู้ลี้ภัย

โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลให้ความร่วมมือกับ UNHCR องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กรด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติ และบุคคลในความห่วงใย (person of concern) อื่น ๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดจำนวนมากก็ตาม

การดูแลผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงของรัฐบาลยังคงมีลักษณะไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจำนวนมาก และโดยปกติแล้ว ให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเพื่อไม่ให้ถูกขับไล่หรือถูกส่งกลับประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ที่หนีการสู้รบหรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ในประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนมาพักในไทยได้จนกว่าการสู้รบจะยุติ นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองที่ได้รับการรับรองสถานภาพจาก UNHCR รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและอาศัยอยู่ในค่ายอพยพ 9 แห่งตามแนวชายแดนพม่า ได้รับอนุญาตให้โยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

การกระทำมิชอบต่อผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้สัญชาติ: ณ เดือนสิงหาคม ยังมีชาวโรฮีนจาและบุคคลที่ประกาศตัวว่าเป็น “มุสลิมชาวพม่า” ถูกกักกันอยู่ 231 ราย โดยอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 143 ราย และสถานที่พักพิงอื่นๆ อีก 88 ราย

รัฐบาลยังคงอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในค่าย 9 แห่งตามแนวชายแดน คงอยู่ในประเทศได้ชั่วคราว และยังคงเรียกค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่า “ที่พักพิงชั่วคราว” แม้ว่าค่ายเหล่านี้จะดำเนินการมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม ทางการยังคงปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงทุกคนนอกค่ายเหล่านี้ซึ่งไม่มีวีซ่าถูกต้องหรือใบอนุญาตอพยพอื่น ๆ ประหนึ่งเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย บุคคลที่ถูกระบุสถานภาพว่าเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกจับ กักกัน และส่งตัวกลับประเทศตามกฎหมาย ทางการอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ถูกกักกันได้บางประเภทเท่านั้น เช่น แม่ เด็ก และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้มีการประกันตัวโดยไม่แน่นอน และองค์กรนอกภาครัฐ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจำนวนมากเรียกร้องสินบนเมื่อมีการขอให้ประกันตัว

องค์การด้านมนุษยธรรมรายงานข้อกังวลว่าผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิงเผชิญกับสภาพที่แออัด ขาดโอกาสในการออกกำลังกาย มีเสรีภาพในการเดินทางที่จำกัด และถูกกระทำมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

บางครั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ จับกุมและกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดจำนวนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและผู้ที่พำนักในประเทศเกินวันหมดอายุของวีซ่า ณ เดือนสิงหาคม มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงประมาณ 320 คนอาศัยอยู่ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และชาวอุยกูร์ 50 คนยังคงอยู่ระหว่างการกักตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558

การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย: หลังจากถูกจับ บุคคลจากพม่าที่ไม่ได้มีสถานะผู้ลี้ภัยหรือเอกสารอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ตามกฎหมาย มักจะถูกนำตัวไปส่งที่ชายแดนพม่า บางครั้งทางการให้สิทธิพิเศษกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ชาวพม่าบางกลุ่ม เช่น ชาวไทใหญ่ โดยผ่อนผันให้พวกเขาอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ นอกค่าย 9 แห่งตามแนวชายแดน เจ้าหน้าที่ทางการจะไม่แยกความแตกต่างระหว่างชาวพม่าที่แสวงที่พักพิงกับชาวพม่าที่เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสาร โดยพิจารณาว่า ทุกคนเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหมด อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้ว ทางการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วกลับไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยได้หากถูกจับนอกค่าย

โดยปกติแล้ว ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใยที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่น่าสังเกตกรณีหนึ่ง ทางการบังคับนายเจือง ซุย เญิต ชาวเวียดนามและบล็อกเกอร์ของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย กลับประเทศเวียดนามในเดือนมกราคม 2562 หลังจากที่นายเจืองขอสถานะผู้ลี้ภัยกับ UNHCR เมื่อเดือนธันวาคม 2563 นายเจืองถูกศาลเวียดนามไต่สวนและตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีในข้อหา “ใช้ตำแหน่งและอำนาจของตนโดยมิชอบขณะปฏิบัติหน้าที่”

การเข้าพักค่ายพักพิง: กฎหมายไม่มีการให้สถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัย และทางการไม่ได้จัดตั้งระบบเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย รัฐบาลออกกฎหมาย (ซึ่ง UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐเรียกว่าเป็น “ระบบคัดกรองระดับประเทศ”) ซึ่งอนุญาตให้บุคคลที่รัฐบาลถือว่าเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองนั้นได้รับความคุ้มครองชั่วคราวจากการถูกส่งกลับประเทศ

UNHCR ยังคงถูกจำกัดการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยบางประเภทซึ่งอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยของทางการ การอนุญาตให้ UNHCR เข้าพบผู้แสวงหาที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการสัมภาษณ์พิจารณาสถานภาพ รวมทั้งสอดส่องดูแลผู้แสวงหาที่พักพิงที่เพิ่งมาถึงนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดในการเยี่ยมเยียนศูนย์กักกันฯ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ทางการอนุญาตประเทศที่รับผู้แสวงหาที่พักพิงไปตั้งหลักแหล่งในประเทศของตนให้ดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ที่ศูนย์กักกันฯ ได้ ส่วนองค์กรด้านมนุษยธรรมก็ได้รับอนุญาตให้จัดบริการด้านสาธารณสุข อาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ มีรายงานว่าการเข้าถึงผู้แสวงหาที่พักพิงบางกลุ่มแตกต่างกันไปตามความพอใจของหัวหน้าศูนย์กักกันฯ แต่ละแห่ง ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลกลางในการห้ามไม่ให้ UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐเข้าถึงกลุ่มเปราะบางทางการเมืองบางกลุ่ม

รัฐบาลอนุญาตให้ UNHCR สอดส่องการคุ้มครองและหาทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าประมาณ 92,000 คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับพม่า องค์กรนอกภาครัฐซึ่งได้รับเงินทุนจากประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เช่น บริการด้านสาธารณสุข อาหาร การศึกษา ที่พักพิง น้ำ บริการสุขอนามัย การฝึกอาชีพ และบริการอื่น ๆ

ณ เดือนกันยายน รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ชาวพม่าเกือบ 600 คนย้ายจากค่ายลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรือได้รับการอุปถัมภ์จากภาคเอกชนจำนวน 5 ประเทศ ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนทั้ง 9 แห่ง แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการไม่มีสิทธิโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ยกเว้นว่าจะมีข้อกังวลที่รุนแรงด้านการแพทย์หรือการคุ้มครอง และได้รับการยินยอมเป็นพิเศษจากคณะกรรมการของทางการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังร่วมกับทางการพม่าในการบันทึกข้อมูลและส่งตัวผู้ที่ขึ้นทะเบียนอาศัยอยู่ในค่ายที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการกลับประเทศโดยสมัครใจ กลับไปยังประเทศพม่า มีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 1,039 ราย เดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจใน 4 กลุ่มภายใต้โครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559-2562 ในระหว่างปีนี้ ไม่มีผู้เดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปิดชายแดนจากสถานการณ์โรคโควิด-19

เสรีภาพในการเดินทาง: ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งบริเวณชายแดนติดกับประเทศพม่าไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง หากผู้ลี้ภัยถูกจับนอกเขตค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยอาจถูกคุกคาม ปรับ กักกันตัว ถอนทะเบียน และเนรเทศกลับประเทศ บางครั้งเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายเดินทางออกนอกค่ายได้โดยจำกัดในกรณีเช่นไปรับการดูแลด้านการแพทย์หรือเดินทางไปยังค่ายอื่น ๆ เพื่อรับการอบรมทางการศึกษา

กฎหมายอนุญาตให้มีการออกใบอนุญาตพักพิงชั่วคราวแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางคน รวมทั้งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ขณะที่กำลังมีการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในสถานที่พักพิงแบบปิดที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ และมีเสรีภาพในการเดินทางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไม่มีสิทธิเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระบวนการนี้จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งได้รับการพิสูจน์สัญชาติและมีหนังสือเดินทางสามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ

การจ้างงาน: กฎหมายห้ามผู้ลี้ภัยทำงานในประเทศ รัฐบาลได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัวที่มาจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว สามารถทำงานในภาคเศรษฐกิจบางส่วนได้อย่างถูกกฎหมายถ้าขึ้นทะเบียนกับทางการและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อขอทำเอกสารระบุสถานภาพของตน (ดูหมวดที่ 7.ง.) นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่ให้ความร่วมมือกับคดีที่รออยู่ในชั้นศาลทำงานได้อย่างถูกกฎหมายเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี (โดยอาจขยายเวลาได้) หลังจากที่การพิจารณาคดีของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วเสร็จ ใบอนุญาตทำงานจะต้องระบุผู้ว่าจ้างโดยเฉพาะเจาะจง สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติบางราย รวมถึงชาวโรฮีนจา รัฐบาลไม่ได้เปิดโอกาสการจ้างงานที่เหมาะสมเพื่อที่จะมีใบอนุญาตทำงานได้ โดยอ้างว่าไม่มีโอกาสในท้องถิ่นและไม่มีการพิจารณานโยบายการตรวจคนเข้าเมือง ค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน การตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพ ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการว่าจ้างผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

การเข้าถึงบริการพื้นฐาน: ประชาคมนานาชาติให้การบริการขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัยที่อาศัยภายในค่ายพักพิง 9 แห่งตามแนวชายแดนพม่า ระบบการส่งต่อทางการแพทย์ทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถขอรับการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่จำเป็นนอกเหนือจากการดูแลขั้นต้นได้ สำหรับประชากรผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงในเมืองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐานที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนยังมีน้อย องค์กรนอกภาครัฐ 3 แห่งซึ่งได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากประชาคมนานาชาติ ให้บริการหรืออำนวยการดูแลสุขภาพขั้นต้นรวมถึงสุขภาพจิต รวมทั้งความช่วยเหลือทางกฎหมาย UNHCR ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลท้องถิ่น ในระหว่างปี รัฐบาลประกาศว่าจะตรวจโควิด-19 และให้การรักษาฟรีกับทุกคน รวมทั้งผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์เฉพาะ อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐระบุว่า การดำเนินการในระดับจังหวัดและอำเภอยังคงไม่แน่นอน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนตัดสินใจว่า โรงพยาบาลของจังหวัดจะไม่ตรวจหรือให้การรักษาโรคโควิด-19 กับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่าย 4 แห่งในจังหวัด

ตามกฎหมายแล้ว โรงเรียนรัฐบาลจะต้องรับเด็กที่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องในระดับหนึ่งเข้าศึกษา รวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยด้วย องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เด็กผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการศึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน และบ่อยครั้งขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริหารของโรงเรียนนั้น ๆ ชุมชนผู้ลี้ภัยบางแห่งจัดตั้งโรงเรียนอย่างไม่เป็นทางของชุมชนเองเพื่อให้การศึกษาแก่ลูกหลานของตน  บางแห่งก็ขวนขวายเรียนภาษาไทยโดยการสนับสนุนจาก UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐอื่น ๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เนื่องจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวพม่าโดยทั่วไปไม่อาจเข้ารับการศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐบาลได้ องค์กรนอกภาครัฐจึงสนับสนุนองค์กรชุมชนที่ค่ายในการให้โอกาสทางการศึกษา และบางแห่งประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาด้วย

การคุ้มครองชั่วคราว: โดยปกติแล้ว ทางการไม่เนรเทศบุคคลในความห่วงใยที่มีสถานะผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยของ UNHCR อย่างถูกต้อง รัฐบาลยังคงคุ้มครองผู้อพยพชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ที่ถูกทางการกักกัน ไม่ให้ถูกเนรเทศกลับ รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศอย่างไม่ปกติในช่วงวิกฤตผู้อพยพทางเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันเมื่อปี 2558 ทางการยังคงดำเนินนโยบายคัดกรองหาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจาทุกคนซึ่งถูกจับกุมขณะเดินทางผ่านประเทศไทย ณ เดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้สถานะดังกล่าวกับชาวโรฮีนจาคนใด ทางการระบุว่า บุคคล 74 คนเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย แต่ให้แม่และเด็กจำนวน 30 คนเข้าพักในสถานที่พักพิงภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แทนการกักกันที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง UNHCR สามารถเข้าถึงสถานที่พักพิงเหล่านี้ในจังหวัดต่าง ๆ ได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการคัดกรองอย่างเป็นทางการสำหรับผู้อพยพเข้าเกณฑ์ได้รับผลประโยชน์ในฐานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพชาวโรฮีนจาบางส่วนถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ในสถานที่พักพิง และไม่มีเสรีภาพในการเดินทางหรือเข้าถึงใบอนุญาตทำงาน

. บุคคลไร้สัญชาติ

รัฐบาลยังคงดำเนินการระบุตัวบุคคลไร้สัญชาติ จัดหาเอกสารเพื่อแก้ปัญหาการไร้สัญชาติ และเปิดทางให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมทั้งนักเรียนนักศึกษา สามารถขอสัญชาติไทยได้ รัฐบาลประเมินว่า ณ เดือนมิถุนายน มีบุคคลราว 480,000 คนในประเทศไทย (ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ) ขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งรวมถึงชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการ และชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยมีเอกสารมาก่อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน รัฐบาลให้สัญชาติกับบุคคลไร้สัญชาติจำนวน 3,594 คน และสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรกับอีก 87 คน ในเดือนกันยายน คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นักเรียนไร้สัญชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 3,042 คนเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพของรัฐได้ เจ้าหน้าที่ทางการกันชาวโรฮีนจาและชาวมุสลิมจากพม่า รวมทั้งบุคคลที่มีครอบครัวอาศัยอยู่ในแม่สอดใกล้ชายแดนพม่าเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน จากกระบวนการรับรองบุคคลไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือมีเอกสารมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการถูกกระทำมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการขู่ว่าจะเนรเทศออกนอกประเทศ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็กและชาวพื้นเมือง”)

รัฐบาลมีมติในปี 2559 ที่จะทำให้คนไร้สัญชาติหมดไป และกำหนดแนวทางที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นไร้สัญชาติประมาณ 80,000 คนได้รับสัญชาติไทย บุคคลเหล่านี้เกิดในประเทศไทยและมีบิดามารดาเป็นชนกลุ่มน้อย ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล และอาศัยอยู่ในประเทศมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปี นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังใช้บังคับกับเยาวชนที่ไร้สัญชาติที่ไม่ทราบชาติกำเนิดซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาลว่า ได้อาศัยอยู่ในประเทศมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ในปี 2562 รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ซึ่งกำหนดแนวทางให้ทารกที่ถูกทอดทิ้งสามารถขอสูติบัตร และขอบัตรประจำตัวประชาชนไทยได้ หากบุคคลที่อยู่อาศัยในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป และมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบถ้วน บุคคลดังกล่าวเข้าเกณฑ์ที่จะขอสัญชาติไทยได้.

การเกิดในประเทศไม่ทำให้ได้สัญชาติโดยอัตโนมัติ ตามกฎหมาย การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบุพการีที่อย่างน้อยหนึ่งคนเป็นพลเมืองไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจขอสัญชาติได้ตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีหรือเป็นไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็ก”) บุคคลไร้สัญชาติเชื้อสายไทยและบุตรที่มีคุณสมบัติตรงตามคำจำกัดความของ “ชาวไทยพลัดถิ่น” สามารถขอสถานภาพ “การมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด” ได้

ตามกฎหมาย ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งถูกจำกัดการเดินทางให้อยู่แต่ในเพียงจังหวัดของตน และเนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ พวกเขาจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ กฎหมายอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้ตามกฎหมาย ยกเว้นบางประเภทที่เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้รับใบอนุญาต (เช่น แพทย์ วิศวกร และทนายความ) บุคคลไร้สัญชาติประสบความยากลำบากในการขอกู้เงินและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น บริการด้านสาธารณสุข  แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้เด็กผู้อพยพและไร้สัญชาติที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนร่วมกับเด็กที่มีสัญชาติไทยได้ แต่การเข้าถึงการศึกษาขาดความเท่าเทียม มีรายงานว่าผู้บริหารโรงเรียนระบุสถานภาพ “พลเมืองที่ไม่ใช่ชาวไทย” บนประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาของเด็กเหล่านี้ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติสมัครเข้าเรียนได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ทางการศึกษาของรัฐได้

องค์กรด้านมนุษยธรรมรายงานว่า ผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการอำเภอมักจะเรียกร้องสินบนจากบุคคลไร้สัญชาติเพื่อดำเนินการตามคำขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลไร้สัญชาติอย่างเป็นทางการ หรือเพื่อขอสถานะผู้พำนักอาศัยถาวรหรือสัญชาติ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเรียกร้องสินบนจากบุคคลไร้สัญชาติที่จุดตรวจในประเทศเพื่อแลกกับการอนุญาตให้พวกเขาเดินทางจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งอีกด้วย

หมวดที่ 3. เสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้พลเมืองสามารถเลือกรัฐบาลของตนเองได้ด้วยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นช่วง ๆ อย่างเสรีและยุติธรรม โดยการลงคะแนนเป็นการลับ และมีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นสากลและเท่าเทียม ในเดือนมีนาคม 2562 มีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นหลังจากรัฐบาล คสช. ที่นำโดยทหารเข้ามาบริหารประเทศหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้เป็นเวลา 5 ปี ช่วงเวลาการหาเสียงส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย พรรคการเมืองจำนวนมากแข่งขันกันเพื่อให้ได้จำนวนที่นั่งในรัฐสภาและจัดให้มีการอภิปรายหาเสียงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิในการหาเสียงเลือกตั้งและการใช้ข้อบังคับเพียงบางส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง โดยเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ

การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

การเลือกตั้งเมื่อไม่นานนี้: มีการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2562 หลังรัฐบาลทหารบริหารประเทศมาเป็นเวลา 5 ปี ในเดือนมิถุนายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนให้นายประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยุติบทบาทของ คสช. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557

แทบจะไม่มีรายงานความผิดปกติในระหว่างการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แม้ว่ามักจะมีรายงานว่าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านซื้อเสียง เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระดับโลกเพียงองค์กรเดียวที่รัฐบาลอนุญาตให้สังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ พบว่าการเลือกตั้ง “มีความอิสระบางส่วน แต่ไม่เป็นธรรม” ANFREL ตั้งข้อสังเกตว่า กิจกรรมโดยเฉพาะในวันเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีหลายประการ เช่น มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวนมาก ประชาชนสามารถเข้าถึงคูหาเลือกตั้งได้โดยเสรี และมีความสงบเรียบร้อยระหว่างการรณรงค์หาเสียงและในวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ANFREL พบว่า การจำกัดสิทธิและใช้ข้อบังคับกฎหมายอย่างอคติ ตลอดจนการขาดความโปร่งใสของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หมายความว่าทางการ “ล้มเหลวในการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดี อันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม”

พรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง: ผู้วิจารณ์ตำหนิว่า ตำรวจและศาลมุ่งดำเนินคดีกับพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่เป็นธรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยอ้างว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 16 คนเป็นเวลา 10 ปี นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอ้างว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองเพื่อบั่นทอนกำลังของพรรคฝ่ายค้านพรรคสำคัญ นายธนาธรและสมาชิกหลักของ อนค. ยังมีคำสั่งฟ้องติดตัวอยู่อีกกว่า 20 คดี ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดโทษจำคุก

การมีส่วนร่วมของสตรีและชนกลุ่มน้อย: ไม่มีกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยก็มีส่วนร่วมได้อย่างจำกัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้หญิง 76 คนจากสมาชิกทั้งหมด 489 คน และสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้หญิง 26 คนจากสมาชิกทั้งหมด 250 คน มีผู้หญิง 4 คนดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 35 คน ทั้งสี่คนมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ทั้งนี้ รัฐสภามีสมาชิกจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) 4 คน และจากกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 1 คน

หมวดที่ 4. การทุจริตและการขาดความโปร่งใสในวงราชการ

กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ ทว่า ในบางครั้งข้าราชการก็พัวพันกับการกระทำการทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ ในช่วงปีที่ผ่านมามีรายงานเกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการหลายกรณี

การทุจริต: ในเดือนกุมภาพันธ์ สมาชิกพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรีประยุทธ์กระทำการทุจริตซึ่งเกี่ยวข้องกับการขายที่ดินของบิดาให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งก่อนที่ตนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่า ราคาขายที่ดินดังกล่าวสูงเกินกว่ามูลค่าปกติอย่างมาก และตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาต่อมา บริษัทที่เข้ามาซื้อที่ดินซึ่งเป็นบริษัทที่เพิ่งจะก่อตั้งเพียง 7 วันก่อนการซื้อขายนั้น ได้เซ็นสัญญาบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นเวลา 50 ปี

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ทหารรายหนึ่งที่อ้างว่าตนถูกผู้บังคับบัญชาและแม่ยายของผู้บังคับบัญชาโกงเงินซื้อขายที่ดิน ได้ลงมือฆ่าบุคคลทั้งสอง แล้วจึงก่อเหตุกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 29 คน กองทัพบกได้ย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 นายไปช่วยราชการที่หน่วยงานอื่น และดำเนินมาตรการเพื่อลดโอกาสการทุจริตโครงการจัดสรรบ้านและที่ดินในหมู่เจ้าหน้าที่ทหาร

ในเดือนมีนาคม สิบเอก ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือที่รู้จักกันในนาม “หมู่อาร์ม” หนีทหารหลังอ้างว่าชื่อของตนถูกทหารรายอื่น ๆ นำไปใช้รับเบี้ยเลี้ยงผี เขากลับไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในเดือนมิถุนายนและได้รับการประกันตัว โฆษกประจำกองทัพบกกล่าวว่า นายณรงค์ชัยจะได้รับโทษฐานหนีราชการเท่านั้น ไม่ใช่จากการเปิดโปงการกระทำผิดทางการเงิน กองทัพบกดำเนินการสืบสวน และพบว่า เกิดการทุจริตตามคำกล่าวอ้างจริง จึงได้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่ 6 คนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 6 ถึง 56 ปีฐานยักยอกทรัพย์

ในเดือนสิงหาคม คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เรียกไต่สวนนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การในคดีทุจริตโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้มูลค่า 770 ล้านบาท (25.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ระหว่างดำรงตำแหน่งในปี 2551 นางอนงค์วรรณเป็นภรรยาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยแสดงความคับข้องใจต่อสาธารณชนว่าการรื้อคดีดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการตอบโต้ทางการเมือง

หลังมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายในเดือนกันยายน กระทรวงคมนาคมได้สืบสวนสาเหตุการล้มละลายและพบว่า “มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง” ในการจัดซื้อเครื่องบิน A340 จำนวน 10 ลำในปี 2546 และ 2547 และยังพบว่าเจ้าหน้าที่การบินไทยรับสินบนเพื่อทำให้การซื้อขายนี้ลุล่วงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนของเครื่องบินเหล่านี้สำหรับเส้นทางบินของการบินไทย กระทรวงคมนาคมได้ส่งต่อคดีให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบสวนขยายผลต่อไป

เช่นเดียวกันในเดือนกันยายน นายวัฒนา เมืองสุข ถูกตัดสินจำคุก 99 ปีฐานกระทำความผิดเรียกรับสินบนจากผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ระหว่างปี 2548-2549

การทุจริตและการรับสินบนเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอยู่เป็นวงกว้างในวงการตำรวจ ทั้งนี้ ตำรวจไทยจะต้องซื้อชุดเครื่องแบบและอาวุธด้วยเงินของตนเอง ในเดือนกรกฎาคม สื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์การแถลงเกี่ยวกับนายวรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ทายาทบริษัทเครื่องดื่มเรดบูล ซึ่งหลุดพ้นจากทุกข้อกล่าวหาในคดีขับรถเฟอร์รารี่ของตนชนเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2555 นายกรัฐมนตรีประยุทธ์มีคำสั่งให้สืบสวนกรณีดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเปิดโปงว่าตำรวจและอัยการน่าจะทุจริตและสมรู้ร่วมคิดกันช่วยให้นายวรยุทธพ้นข้อกล่าวหา ในเดือนสิงหาคม มีการออกหมายจับนายวรยุทธใหม่ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ และเสพยาเสพติด นอกจากนี้ ตำรวจยังแถลงดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ 21 รายที่ถูกกล่าวหาว่าบกพร่องในการทำสำนวนคดีด้วย ด้านคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ดำเนินการสืบสวนกรณีดังกล่าวเช่นกัน ในเดือนธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า ยังไม่สามารถส่งฟ้องนายวรยุทธได้ในส่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจนกว่าตำรวจจะจับกุมตัวนายวรยุทธกลับมาให้ส่งฟ้องคดี

การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน: กฎหมายและระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งและที่ได้รับการแต่งตั้งแจ้งรายการทรัพย์สินและรายได้ของตนตามแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน กฎหมายกำหนดบทลงโทษข้าราชการที่ไม่ได้แจ้งรายการทรัพย์สิน หรือแจ้งรายการไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือปกปิดทรัพย์สิน โดยบทลงโทษมีดังต่อไปนี้ คือ ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ยึดทรัพย์ ปลดออกจากตำแหน่ง รวมถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในเดือนสิงหาคม 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยเหตุจงใจปกปิดทรัพย์สินในรายการที่ต้องแจ้ง หลังตรวจสอบพบว่านายประหยัดได้ปกปิดการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ ได้แก่ ตึกแถวในกรุงลอนดอนที่มีมูลค่า 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และทรัพย์สินในต่างประเทศมูลค่า 400,000 เหรียญสหรัฐ โดยแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินของภรรยา ในภายหลัง นายประหยัดชี้แจงว่า ภรรยาของตนถือครองทรัพย์สินดังกล่าวแทนบุคคลอื่น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังอยู่ระหว่างการส่งฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หมวดที่ 5. ท่าทีของรัฐบาลต่อการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลายประเภทดำเนินกิจกรรมอยู่ในไทย องค์กรนอกภาครัฐที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การปฏิรูปการเมืองหรือการคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ยังคงเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะ ๆ

เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสี่ยงเป็นพิเศษต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลให้สิทธิยกเว้นภาษีแก่องค์กรนอกภาครัฐเพียงไม่กี่ราย ซึ่งบางครั้งก็เป็นอุปสรรคต่อการหาเงินทุนขององค์กรเหล่านี้

สหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ: สหประชาชาติรายงานว่า ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตเดินทางมาไทยของคณะทำงานของสหประชาชาติด้านการหายสาบสูญ ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการจัดตั้งสมาคม หรือผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ การทรมาน ชาวพื้นเมือง และอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ

องค์กรสิทธิมนุษยชนภาครัฐ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นคณะกรรมการอิสระที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดทำรายงานประจำปี ในปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน กสม. ได้รับคำร้อง 472 เรื่อง ในจำนวนนี้ มี 74 เรื่องที่ กสม. รับไว้สืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม และ 30 เรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงวิพากษ์วิจารณ์ กสม. กรณีไม่ยื่นฟ้องร้องผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยตนเองหรือในนามของผู้ร้องเรียน รัฐบาลมิได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการถาวรของ กสม. ซึ่งควรเกิดขึ้นในปี 2560 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรรมการรักษาการ 7 คนยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป เว้นเพียงนายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการ ซึ่งเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระและมีอำนาจพิจารณาและสอบสวนคำร้องเรียนจากประชาชน หลังจากดำเนินการสอบสวน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งเรื่องต่อไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการต่อไป สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งหมด แต่ไม่มีอำนาจบังคับให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามคำแนะนำ ในปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนใหม่ 3,140 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มี 744 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการกระทำมิชอบโดยตำรวจ

หมวดที่ 6. การเลือกปฏิบัติ การกระทำมิชอบในสังคม และการค้ามนุษย์

สตรี

การข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว: การข่มขืนกระทำชำเราบุรุษและสตรีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผลเสมอไป กฎหมายให้คำจำกัดความการข่มขืนกระทำชำเราไว้อย่างแคบ ๆ ว่าเป็นการใช้อวัยวะเพศชายล่วงล้ำผู้อื่นทางกาย ส่งผลให้ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นไม่ได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย ทั้งนี้ กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้ที่ข่มขืนคู่สมรสของตน และมีการดำเนินคดีประเภทนี้ กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับคดีข่มขืนหรือการใช้กำลังทำร้ายทางเพศ เริ่มตั้งแต่โทษจำคุก 4 ปีจนถึงประหารชีวิต รวมถึงโทษปรับ

องค์กรนอกภาครัฐกล่าวว่า การข่มขืนเป็นปัญหาร้ายแรง และผู้เสียหายเข้าแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราและการประทุษร้ายในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสตรีอย่างมีประสิทธิผล

องค์กรนอกภาครัฐระบุว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไม่เพียงพอ และผู้เสียหายมักมองว่า ตำรวจไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center: OSCC) ซึ่งให้ข้อมูลและบริการแก่ผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศทั่วประเทศ กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุรุนแรงในครอบครัวและการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามมิให้สื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวระหว่างที่คดียังอยู่ในระบบกระบวนการยุติธรรม องค์กรนอกภาครัฐแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายว่า การเน้นการส่งเสริมครอบครัวมั่นคงจะสร้างแรงกดดันต่อผู้เสียหายให้ยอมรอมชอมโดยไม่มีการแก้ปัญหาสวัสดิภาพและเป็นเหตุให้อัตราการพิพากษาลงโทษต่ำ

ในเดือนพฤษภาคม กระทรวง พม. รายงานว่า การแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหลังประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินว่าด้วยโรคโควิด-19 ในเดือนเมษายน ดังนั้นกระทรวงจึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่สายด่วนเพิ่มเติมเพื่อรับมือการโทรแจ้งเหตุที่ทวีขึ้น

ทางการได้ดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดีตามบทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ซึ่งผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษที่หนักขึ้น รัฐบาลดำเนินงานศูนย์พักพิงสำหรับผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดละ 1 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย

การขริบอวัยวะเพศสตรี: ไม่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงที่ห้ามมิให้ขริบอวัยวะเพศสตรี องค์กรนอกภาครัฐและสื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการการขริบอวัยวะเพศสตรีประเภทที่ 4 ในภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลทางสถิติเผยแพร่ ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลพยายามป้องกันหรือแก้ไขการปฏิบัติดังกล่าว

การคุกคามทางเพศ: การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษปรับและจำคุก 1 เดือนสำหรับการคุกคามทางเพศ ในขณะที่การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษปรับและจำคุกสูงสุด 15 ปี การคุกคามทางเพศในที่ทำงานอาจมีโทษปรับเพียงเล็กน้อย พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนห้ามมิให้คุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ 5 ระดับ คือ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน สั่งพักราชการ และไล่ออก องค์กรนอกภาครัฐอ้างว่า คำจำกัดความตามกฎหมายของคำว่าการคุกคามทางเพศมีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล

การบังคับให้ควบคุมจำนวนประชากร: ไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้บุคคลทำแท้งหรือทำหมัน

การเลือกปฏิบัติ: รัฐธรรมนูญระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง จะกระทำมิได้”

กระทรวง พม. ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยจัดสรรงบประมาณในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับพระราชบัญญัติดังกล่าวและส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาพและความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมถึงพิจารณาไต่สวนข้อร้องเรียนจากผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ นับตั้งแต่ปี 2559 กระทรวง พม. ได้รับข้อร้องเรียน 58 เรื่อง และให้การตัดสินแล้ว 44 เรื่อง โดยพบว่าเป็นกรณีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ 23 เรื่อง คดีส่วนใหญ่เป็นกรณีบุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติ (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “การกระทำรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำมิชอบอื่น ๆ เนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ”) ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากการทบทวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติมีความล่าช้ามาก นอกจากนี้ ประชาชนและสำนักงานประจำจังหวัดของกระทรวง พม. ยังขาดความเข้าใจกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย

โดยทั่วไป ผู้หญิงมีสถานะและสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ชาย อย่างไรก็ตาม บางครั้ง ผู้หญิงก็ประสบกับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน ผู้ที่มีความผิดว่าด้วยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนหรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายห้ามมิให้เลือกปฏิบัติในการจ้างงานเนื่องจากเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภายใต้นโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ โครงการหรือขั้นตอนใด ๆ ของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และปัจเจกชน แต่ยังคงระบุข้อยกเว้นไว้ 2 ประการซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มประชาสังคม อันได้แก่ หลักการทางศาสนาและความมั่นคงของชาติ

คู่สมรสชาวต่างชาติของผู้หญิงไทยไม่สามารถขอความเป็นพลเมืองตามสัญชาติของภรรยาได้ ซึ่งต่างจากคู่สมรสชาวต่างชาติของผู้ชายไทย

ในจำนวนกำลังพลทั่วประเทศ มีทหารหญิงประมาณร้อยละ 12 นโยบายของกระทรวงกลาโหมจำกัดจำนวนบุคลากรหญิงในหน่วยงาน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 25 ยกเว้นหน่วยงานด้านการแพทย์หรือการพยาบาลเฉพาะทาง งบประมาณ และการเงิน ซึ่งอนุญาตให้มีเจ้าหน้าที่หญิงได้ร้อยละ 35 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับผู้หญิงเข้าศึกษา แม้ว่าสถาบันเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นเพศหญิงอยู่จำนวนมากก็ตาม

ตั้งแต่ปี 2561 โรงเรียนนายร้อยตำรวจยกเลิกการรับสมัครผู้หญิงเข้าเป็นนักเรียน นักเคลื่อนไหววิจารณ์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวขัดกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวยังได้ส่งคำร้องอย่างเป็นทางการให้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาการตัดสินใจดังกล่าวอีกครั้ง โรงเรียนนายร้อยตำรวจยังคงเปิดรับเพียงผู้สมัครเพศชายเท่านั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุข้อกำหนดในประกาศจ้างงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนและตำแหน่งอื่น ๆ ว่า ต้องเป็น “เพศชาย” กสม. และชมรมพนักงานสอบสวนหญิงได้คัดค้านคำประกาศนี้อย่างเปิดเผย คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวง พม. ส่งคำร้องเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และได้รับคำตอบกลับมาว่าคณะกรรมการไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่จะยื่นคำร้องนี้ได้ อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับพนักงานสอบสวนหญิงจำนวนหนึ่งเข้าทำงานในปี 2562

เด็ก

การจดทะเบียนเกิด: เด็กได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่แรกเกิดหากมีบิดาหรือมารดาถือสัญชาติไทย การเกิดในประเทศไม่ได้ทำให้ได้รับสัญชาติโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยมีสิทธิได้รับสูติบัตร ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างจากทางการ โดยไม่สำคัญว่าถือสัญชาติใด (ดูหมวดที่ 2.ช.) กฎหมายกำหนดว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับสูติบัตรจากทางการไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร ในพื้นที่ห่างไกล บิดามารดาบางคนไม่ขอสูติบัตรให้แก่บุตรของตนเพราะขั้นตอนยุ่งยากและไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเอกสารนี้ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บางครั้งชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่น ๆ ไม่ได้แจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากข้าราชการท้องถิ่นมีข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่มีคุณธรรม อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทางทำให้การขอสูติบัตรเป็นเรื่องลำบาก

การศึกษา: คำสั่ง คสช. กำหนดให้เด็กทุกคนได้รับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ก่อนประถมศึกษาจนถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ” โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายถึงจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 องค์กรนอกภาครัฐระบุว่า บุตรของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผู้ลี้ภัย หรือผู้แสวงหาที่พักพิง เข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลได้อย่างจำกัด

การกระทำทารุณเด็ก: กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำทารุณ และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องระวางโทษจำคุก 4 ถึง 20 ปีและโทษปรับ ผู้ที่ทอดทิ้งเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีต้องระวางโทษจำคุก 3 ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหาย และผู้กระทำผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในคดีการกระทำมิชอบและคดีละเมิดทางเพศต่อเด็ก กลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิทธิรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะเพิกเฉยหรือหลีกเลี่ยงการสืบสวนสอบสวนคดีการกระทำมิชอบต่อเด็ก

การแต่งงานก่อนวัยอันควรและการบังคับแต่งงาน: กฎหมายกำหนดให้ทั้งหญิงและชายที่จะแต่งงานต้องมีอายุอย่างน้อย 17 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 21 ปีต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะแต่งงานได้ ศาลอาจอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 17 ปีแต่งงานได้

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกอนุญาตให้เด็กหญิงแต่งงานได้หลังจากมีประจำเดือนครั้งแรกหากได้รับการยินยอมจากบิดามารดา ในปี 2561 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 15 เป็น 17 ปี เด็กชาวมุสลิมที่อายุน้อยกว่า 17 ปีสามารถแต่งงานได้หากมีหนังสืออนุญาตจากศาลหรือหนังสือแสดงความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิเศษ 3 คน และในจำนวนนี้ เป็นสตรีที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามอย่างน้อย 1 คน

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก: บุคคลอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถร่วมประเวณีได้โดยยินยอมพร้อมใจ มีกฎหมายกำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ที่จัดหา ล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ค้าประเวณี และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นต่อผู้ที่จ่ายเงินเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทางการยังอาจลงโทษบิดามารดาที่ยอมให้บุตรเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ตลอดจนเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดาได้ กฎหมายห้ามมิให้ผลิต เผยแพร่ นำเข้า หรือส่งออกสื่อลามกอนาจารเด็ก นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับบุคคลที่แสวงประโยชน์ทางเพศกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งรวมถึงการจัดหาผู้ค้าประเวณี การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบอื่น ๆ

การค้าประเวณีเด็กยังคงเป็นปัญหาอยู่ และประเทศไทยก็ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามต่อสู้กับปัญหานี้อย่างต่อเนื่องก็ตาม เด็กต่างด้าวและเด็กที่เป็นชนกลุ่มน้อย ตลอดจนเด็กในครอบครัวยากจนยังคงเสี่ยงมากเป็นพิเศษต่อการถูกบังคับค้าประเวณี และมีกรณีที่ตำรวจจับกุมบิดามารดาที่บังคับให้บุตรของตนค้าประเวณี ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงก่ออาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งรวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก และการผลิตและการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กด้วย

มีรายงานการข่มขืนกระทำชำเราและคุกคามทางเพศเด็กหญิงจำนวนมาก ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นในโรงเรียน ในเดือนพฤษภาคม ตำรวจจับกุมครู 5 คนและศิษย์เก่า 2 คนของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดมุกดาหาร ในความผิดฐานกระทำชำเรานักเรียนอายุ 14 ปีคนหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ภายหลังยังมีนักเรียนอายุ 16 ปีอีกคนหนึ่งที่อ้างว่าตนถูกครูและศิษย์เก่ากลุ่มเดียวกันนี้กระทำชำเรา บรรดาครูที่เกี่ยวข้องถูกไล่ออกและเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพครู รวมถึงถูกตั้งข้อหาประทุษร้ายทางเพศ และได้รับการประกันตัวในระหว่างที่การสืบสวนคดียังคงดำเนินต่อไป ในเดือนสิงหาคม บิดามารดาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องเรียนว่าบุตรของตนถูกครูอายุ 57 ปีลวนลาม ในเดือนตุลาคม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 5 คนร้องเรียนว่าถูกผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นประทุษร้ายทางเพศ ทั้งสองคดีอยู่ในขั้นตอนการสืบสวน

รัฐบาลได้พยายามมาตลอดปีที่จะต่อสู้กับการแสวงประโยชน์ทางเพศกับเด็ก ในเดือนกรกฎาคม กระทรวงศึกษาธิการเปิดศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้กระทำเป็นครูและบุคลาการทางการศึกษาอื่น ๆ ศูนย์ได้พัฒนามาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการประทุษร้ายทางเพศต่อนักเรียนนักศึกษา รวมถึงคุ้มครองและมอบค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ในเดือนแรกของการทำงาน ศูนย์ดำเนินการกับข้อร้องเรียนอย่างน้อย 16 กรณี ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำผิดถูกเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพครู พักงาน หรือทั้งสองอย่าง

เด็กพลัดถิ่น: โดยทั่วไป ทางการจะส่งเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนไปที่สถานพักพิงที่รัฐบาลจัดให้ในแต่ละจังหวัด แต่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารประจำตัวมักเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในสถานพักพิงเหล่านั้นเพราะเกรงว่าจะถูกเนรเทศออกนอกประเทศ จนถึงเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลรายงานว่า มีเด็กข้างถนนที่แสวงหาสถานพักพิงประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ รายงานว่ามีเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนประมาณ 50,000 คนในประเทศไทย และในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กต่างด้าว 20,000 คน โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลจะส่งเด็กไร้บ้านที่เป็นคนไทยเข้าเรียนที่โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ รัฐบาลส่งตัวเด็กข้างถนนบางคนที่มาจากประเทศอื่นกลับมาตุภูมิ

เด็กในสถานสงเคราะห์: มีการรายงานอย่างจำกัดเกี่ยวกับการกระทำมิชอบในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าหรือสถานสงเคราะห์อื่น ๆ

การลักพาเด็กระหว่างประเทศ: ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการดำเนินการทางแพ่งต่อการลักพาเด็กระหว่างประเทศ พ.ศ. 2523 ทั้งนี้ สามารถอ่าน รายงานประจำปีเรื่องการลักพาตัวลูกข้ามชาติโดยพ่อหรือแม่ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ที่ //travel.state.gov/content/travel/en/International-Parental-ChildAbduction/for-providers/legal-reports-and-data/reported-cases.html

การต่อต้านยิว

ชาวยิวในไทยมีจำนวนน้อยมาก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านชาวยิว

การค้ามนุษย์

สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบที่ //www.state.gov/trafficking-in-persons-report/

คนทุพพลภาพ

รัฐธรรมนูญห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยมีสาเหตุมาจากความพิการ และสภาวะทางร่างกายหรือสุขภาพ กฎหมายให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับนายจ้างที่ว่าจ้างคนทุพพลภาพเข้ามาทำงานตามจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นพิเศษเพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนทุพพลภาพ

รัฐบาลปรับแต่งสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคารสาธารณะหลายแห่งเพื่อให้เอื้อต่อคนทุพพลภาพ แต่การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิผลโดยสม่ำเสมอกัน กฎหมายกำหนดให้คนทุพพลภาพต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และอาคารที่สร้างใหม่ แต่บทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเป็นเอกภาพ กฎหมายกำหนดให้คนทุพพลภาพที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการมีสิทธิได้รับบริการตรวจโรค รถเข็น และไม้ยันรักแร้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนของรัฐบาลและโครงการศูนย์การเรียนรู้คนพิการในชุมชนยังคงดำเนินงานอยู่ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปีแก่คนทุพพลภาพที่ดำเนินธุรกิจขนาดย่อม

รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษและศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความพิการหลายสิบแห่ง ตลอดจนศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความพิการ กฎหมายกำหนดให้โรงเรียนของรัฐทั่วประเทศต้องรับนักเรียนทุพพลภาพเข้าศึกษา และในช่วงปีที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนทุพพลภาพ รัฐบาลยังมีสถานสงเคราะห์และศูนย์ฟื้นสมรรถภาพสำหรับคนทุพพลภาพโดยเฉพาะ รวมถึงศูนย์ดูแลเด็กออทิสติก

องค์กรคนพิการรายงานว่า การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริการสาธารณะต่าง ๆ กระทำได้ยาก

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้ทุพพลภาพบางคนอ้างว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวง พม. และบริษัทเอกชนมักจะทำสัญญากับองค์กรคนพิการเพื่อจ้างงานบุคคลทุพพลภาพ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่สุจริตในภาครัฐและองค์กรคนพิการหักค่าจ้างส่วนหนึ่งของลูกจ้างเหล่านี้ได้

ชาวพื้นเมือง

ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ถึงแม้ว่ากฎหมายแรงงานจะให้สิทธิแก่ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะลูกจ้าง แต่นายจ้างยังคงละเมิดสิทธินั้นบ่อยครั้งโดยจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานชาวไทยและน้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ กฎหมายยังกีดกันบุคคลเหล่านี้จากสวัสดิการของรัฐ แต่กำหนดให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการรักษาฟรีที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนได้อย่างจำกัด

กฎหมายให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ (ดูหมวดที่ 2.ช.) รัฐบาลสนับสนุนความพยายามในการให้สัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาเกี่ยวกับสิทธิของตน

การกระทำรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และการถูกกระทำมิชอบอื่น ๆ เนื่องจากวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ไม่มีกฎหมายใดระบุว่า การแสดงออกซึ่งวิถีทางเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นความผิดทางอาญา

กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) รายงานว่า เมื่อพวกตนตกเป็นผู้เสียหายจากอาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกตนเช่นที่ปฏิบัติต่อคนทั่วไป ยกเว้นในกรณีอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดทางเพศมากนัก หรือไม่เห็นการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องจริงจัง

กฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนการระบุเพศของตนในเอกสารแสดงตน ซึ่งเมื่อรวมกับการเลือกปฏิบัติของสังคมกลุ่มใหญ่แล้ว ทำให้โอกาสสมัครงานของบุคคลข้ามเพศถูกจำกัด

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท UNDP ยังระบุอีกว่า สื่อนำเสนอบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในลักษณะเหมารวมและเป็นไปให้ทางลบ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้

กฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างเพศห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ “เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” และปกป้องนักศึกษาข้ามเพศจากการถูกเลือกปฏิบัติ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2562-2565 ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคมและมิถุนายนตามลำดับ โดย 1 ใน 12 แผนสิทธิมนุษยชนรายกลุ่มเป็นแผนการปฏิบัติเกี่ยวกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

องค์กรนอกภาครัฐและสหประชาชาติรายงานว่า บุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติในหลายภาคส่วน รวมทั้งในกระบวนการการเกณฑ์ทหาร ขณะถูกคุมขัง และจากนโยบายที่เคร่งครัดเกี่ยวกับเครื่องแบบของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดให้นักเรียนนักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศกำเนิด ในช่วงปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยบางแห่งผ่อนคลายกฎการแต่งกาย โดยส่วนหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อการชุมนุมประท้วงที่นักเรียนนักศึกษาจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบการศึกษา ในเดือนมิถุนายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศอนุญาตให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเลือกได้ อีกทั้งยังออกกฎห้ามบุคลากรหรือนักศึกษากลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกดขี่ข่มเหงนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในเดือนพฤษภาคม 2562 กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีทางเพศและความหลากหลายทางเพศสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังกลุ่ม LGBTI รณรงค์สนับสนุนประเด็นดังกล่าวมาเป็นเวลา 2 ปี องค์กรนอกภาครัฐยังคงรณรงค์ให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรภาคบังคับ อีกทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงเพื่อพัฒนาหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมครูอาจารย์เพื่อให้การสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์

บุคคลที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเผชิญกับการตีตราทางสังคมอยู่บ้าง แม้ว่ารัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐจะพยายามให้ความรู้อย่างแพร่หลายในเรื่องนี้ มีรายงานว่านายจ้างบางรายให้ลูกจ้างที่ตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวีออกจากงาน หรือปฏิเสธที่จะจ้างงานผู้ที่ติดเชื้อ

หมวดที่ 7. สิทธิของคนงาน

ก. เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม

รัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมตัวกันและจัดตั้งสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์การ ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ๆ โดยกฎหมายรับรองสิทธิของพนักงานในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจบางส่วนในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานอิสระได้ กฎหมายไม่อนุญาตให้พนักงานของภาครัฐและแรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ข้าราชการพลเรือนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มได้ ตราบใดที่การรวมกลุ่มไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ และวัตถุประสงค์ของกลุ่มจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง กฎหมายกำหนดให้พนักงานบางกลุ่มมีสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มและนัดประท้วงหยุดงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าสิทธิเหล่านี้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง

กฎหมายกำหนดว่าลูกจ้างต้องมีนายจ้างคนเดียวกันหรือต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจึงจะสามารถก่อตั้งเป็นสหภาพได้ คนงานตามสัญญาจ้างไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้แม้จะทำงานในโรงงานเดียวกันและทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างเต็มเวลา เนื่องจากคนงานตามสัญญาจ้างจัดว่าเป็นพนักงานประเภทอุตสาหกรรมบริการ ในขณะที่ลูกจ้างเต็มเวลาจัดอยู่ในประเภท “อุตสาหกรรมการผลิต”อย่างไรก็ดี กฎหมายกำหนดให้คนงานตามสัญญาจ้างมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับสมาชิกสหภาพแรงงาน การที่คนงานตามสัญญาจ้างและลูกจ้างเต็มเวลาไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานเดียวกันได้อาจลดผลประโยชน์จากการเจรจาต่อรองในฐานะกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้ คนงานตามสัญญาจ้างระยะสั้นยังมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานน้อยกว่าลูกจ้างประเภทอื่นเพราะกลัวว่าจะถูกตอบโต้จากการต่อต้านสหภาพแรงงานด้วยการไม่ต่อสัญญาจ้างงาน ผู้สนับสนุนด้านแรงงานกล่าวอ้างว่า มีบริษัทหลายแห่งที่จ้างคนงานตามสัญญาจ้างเพื่อบั่นทอนความพยายามในการจัดตั้งสหภาพแรงงานของลูกจ้าง จากการสำรวจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์พบว่า คนงานมากกว่าร้อยละ 45 เป็นคนงานตามสัญญาจ้าง และในจำนวนดังกล่าว ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนงานตามสัญญาจ้างระยะสั้น

กฎหมายไม่ได้คุ้มครองสมาชิกสหภาพแรงงานจากการกระทำของนายจ้างที่เป็นการต่อต้านสหภาพแรงงานจนกว่าสหภาพแรงงานนั้นจะได้รับการจดทะเบียน ในการจดทะเบียนสหภาพแรงงานจะต้องมีลูกจ้างอย่างน้อย 10 คนร่วมกันยื่นรายชื่อของตนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อและสถานภาพการจ้างงานกับนายจ้าง กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ลูกจ้างเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกตอบโต้จากนายจ้างก่อนที่การจดทะเบียนจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานต้องเป็นพนักงานเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ และห้ามมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำกับสหภาพแรงงานอีกด้วย กฎหมายอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมีสหภาพแรงงานได้ 1 กลุ่ม รัฐวิสาหกิจในประเทศไทยนั้นมีทั้งธนาคาร รถไฟ สายการบิน สนามบิน ท่าเรือ และบริการไปรษณีย์ของรัฐ หากสมาชิกภาพของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจใดมีจำนวนลดลงต่ำกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด สหภาพแรงงานนั้นจะต้องถูกยุบตามข้อบังคับด้านแรงงาน กฎหมายห้ามมิให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชนของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจประเภทเดียวกันเข้าอยู่ในเครือเดียวกัน เนื่องจากสหภาพทั้งสองประเภทอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายคนละฉบับ

กฎหมายกำหนดให้สหภาพแรงงานจะต้องมีสมาชิกภาพจำนวนร้อยละ 20 จึงจะสามารถร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มได้ กฎหมายอนุญาตให้พนักงานในสถานประกอบการที่ไม่มีสหภาพแรงสามารถยื่นข้อเรียกร้องร่วมได้ หากว่าพนักงานอย่างน้อยร้อยละ 15 ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว

พนักงานในบริษัทเอกชนที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไปสามารถจัดตั้ง “คณะกรรมการลูกจ้าง” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการจ้างงาน และยังสามารถจัดตั้ง “คณะกรรมการสวัสดิการ” เพื่อเป็นตัวแทนของลูกจ้างในด้านสวัสดิการและประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเงิน คณะกรรมการลูกจ้างและคณะกรรมการสวัสดิการอาจให้ข้อเสนอแนะแก่นายจ้าง แต่ไม่สามารถยื่นข้อเรียกร้องด้านแรงงานหรือนัดหยุดงานได้

กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างกระทำการที่ส่งผลเสียต่อการจ้างงานของพนักงานอันเนื่องมาจากการที่พนักงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าว และห้ามมิให้นายจ้างขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการ ผู้นำสหภาพแรงงานจึงมักจะเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการลูกจ้างเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองนี้ตามกฎหมาย จากจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ 29,305 แห่งที่มีคนงานมากกว่า 50 คน มีสหภาพแรงงาน 1,486 แห่ง และคณะกรรมการลูกจ้าง 687 คณะ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มักจะไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในแถบชายแดน ซึ่งคนงานในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ

กฎหมายอนุญาตให้พนักงานมีสิทธิประท้วงหยุดงานได้หากแจ้งทางการและนายจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และการประท้วงจะต้องไม่กระทำบนถนนสาธารณะ รัฐบาลอาจห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วงของภาคเอกชนในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชนโดยรวม กฎหมายห้ามมิให้มีการประท้วงและปิดกิจการในรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายห้ามมิให้เลิกจ้างผู้ที่นัดหยุดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อนุญาตให้นายจ้างมีสิทธิที่จะจ้างพนักงานชั่วคราวหรือลูกจ้างรับเหมาค่าแรงมาทำงานแทนได้ ข้อกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องมีการเรียกประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเรื่องที่จะนัดหยุดงาน โดยต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมด และเนื่องจากโรงงานจำนวนมากว่าจ้างคนงานเป็นกะ สมาชิกสหภาพจึงรวมตัวกันเพื่อให้ครบองค์ประชุมได้ยาก

ในเดือนพฤษภาคม กระทรวงแรงงานออกประกาศห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชนและบรรเทาความขัดแย้งในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซาอันเนื่องมาจากโรคโควิด-19 องค์กรนอกภาครัฐวิจารณ์ประกาศฉบับนี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่มของแรงงาน ขณะที่รัฐบาลและผู้นำสหภาพบางคนมองว่าประกาศดังกล่าวเป็นวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมการเจรจาหารือเพื่อป้องกันการปิดกิจการหรือการปลดคนงานขนานใหญ่

ศาลแรงงานหรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจตัดสินเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้ออกจากงานหรือการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมได้ และอาจเรียกร้องให้พนักงานหรือผู้นำสหภาพได้รับเงินชดเชยหรือกลับเข้าทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เหมือนเช่นที่เคยได้รับก่อนหน้านั้น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ประกอบด้วยตัวแทนของนายจ้าง รัฐบาล และกลุ่มลูกจ้าง รวมทั้งผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้างและนายจ้าง

แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือผู้ที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกกฎหมาย ไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในสหภาพ แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นและบริหารโดยพลเมืองไทย แต่การมีส่วนร่วมของแรงงานต่างด้าวในสหภาพแรงงานอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา การขาดความเข้าใจสิทธิของตนภายใต้กฎหมาย การเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ค่าสมาชิก กฎระเบียบของสหภาพแรงงานที่เข้มงวด การแบ่งแยกแรงงานไทยจากแรงงานต่างด้าวตามภาคอุตสาหกรรมและเขตพื้นที่ (โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชายฝั่งทะเล) และความกลัวว่าจะตกงานเนื่องจากการมีส่วนร่วมในสหภาพ

สมาคม องค์กรชุมชน หรือกลุ่มศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนมักเป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว ในสถานประกอบการที่ลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว บางครั้งแรงงานต่างด้าวจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสวัสดิการหรือคณะกรรมการลูกจ้าง แรงงานต่างด้าวสามารถยื่นข้อเรียกร้องแบบกลุ่มได้ หากข้อเรียกร้องนั้นมีชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างอย่างน้อยร้อยละ 15 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า ข้อเรียกร้องแบบกลุ่มของแรงงานต่างด้าวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน

กฎหมายให้ความคุ้มครองพนักงานและสมาชิกสหภาพจากการดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่งอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ริเริ่มการนัดหยุดงาน จัดชุมนุมประท้วง หรืออธิบายข้อขัดแย้งด้านแรงงานต่อสาธารณชน ยกเว้นในกรณีที่กิจกรรมเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง กฎหมายไม่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างและสมาชิกสหภาพในความผิดทางอาญาว่าด้วยการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและมีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทเพื่อข่มขู่สมาชิกสหภาพแรงงานและลูกจ้าง กฎหมายยังไม่ได้ห้ามการฟ้องร้องคดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุม คุกคาม และปิดปากกระบอกเสียงของลูกจ้างโดยใช้การสู้คดีความทางกฎหมายที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นเครื่องมือ กฎหมายคุ้มครองจำเลยจากการถูกดำเนินคดีในกรณีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาทเพื่อกลั่นแกล้งในระดับหนึ่ง โดยศาลอาจสั่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทได้หากพิจารณาแล้วว่าเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต ในเดือนมิถุนายน ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในคดีที่นักเรียกร้องสิทธิแรงงานสัญชาติอังกฤษรายหนึ่งถูกตั้งข้อหาเมื่อปี 2558 จากการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานต่างด้าว โดยตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด

การบังคับใช้กฎหมายแรงงานมีความไม่สม่ำเสมอ และในบางกรณีก็ไม่มีประสิทธิผลในการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน มีรายงานกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ ทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนสหภาพ ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านแรงงานระดับจังหวัดพยายามไกล่เกลี่ยกรณีต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมายก็ตาม ในบางกรณี ศาลแรงงานสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิม แม้ในบางครั้งนายจ้างจะไม่ปฏิบัติตาม มีรายงานจากสหภาพแรงงานและองค์นอกภาครัฐว่า ภายหลังจากที่มีคำสั่งของศาล นายจ้างพยายามที่จะต่อรองเงื่อนไขในการรับกลับเข้าทำงาน ด้วยการเสนอให้สิทธิประโยชน์ชดเชยสำหรับผู้ที่สมัครใจลาออก ปฏิเสธไม่ให้ผู้นำสหภาพที่ได้รับกลับเข้าทำงานแล้วเข้ามาในสถานประกอบการ หรือลดตำแหน่งของลูกจ้างให้ไปทำงานที่มีค่าตอบแทนและผลประโยชน์น้อยลง

ในบางกรณี ผู้พิพากษากลับคำตัดสินให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแทนการรับพนักงานกลับเข้าทำงานในกรณีที่นายจ้างหรือพนักงานอ้างว่าตนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ทางการมักจะไม่ลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ บทลงโทษเหล่านี้เทียบเท่ากับบทลงโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิเสธสิทธิพลเมือง

สหภาพแรงงานและองค์กรระหว่างประเทศรายงานว่า นายจ้างใช้กลวิธีหลากหลายรูปแบบเพื่อบั่นทอนการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและความพยายามในการเจรจาต่อรองแบบกลุ่มของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติงานแทนลูกจ้างที่นัดหยุดงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หากลูกจ้างที่นัดหยุดงานยังได้รับค่าจ้างเหมือนเดิม, ยืดเวลาการต่อรองออกไปโดยการไม่ปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือส่งตัวแทนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในการต่อรอง, ข่มขู่ผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงาน, กดดันให้ผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงานต้องลาออก, ปลดผู้นำสหภาพโดยอ้างเหตุผลทางธุรกิจ การละเมิดกฎของบริษัท หรือการมีทัศนคติทางลบต่อบริษัท, ห้ามลูกจ้างชุมนุมประท้วงในบริเวณสถานประกอบการ, ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเพื่อขอหมายศาลสั่งห้ามการประท้วง, โยกย้ายผู้นำสหภาพให้ไปทำงานที่สาขาอื่น ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมคณะกรรมการลูกจ้างหรือคณะกรรมการสวัสดิการได้, โยกย้ายผู้นำสหภาพและลูกจ้างที่นัดหยุดงานให้ไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่ไม่น่าพึงใจเท่าเดิม หรือปลดออกจากตำแหน่งบริหาร และสนับสนุนให้มีการก่อตั้งสหภาพมาแข่งขันกับสหภาพเดิมที่ไม่ยอมรับข้อตกลงที่นายจ้างเสนอ

ในจำนวนพนักงานที่รับค่าจ้างและเงินเดือนทั้งหมด มีร้อยละ 3.4 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และมีเพียง 34 จาก 77 จังหวัดเท่านั้นที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

กลุ่มแรงงานรายงานว่า นายจ้างฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อกีดกันสมาชิกสหภาพแรงงานในระหว่างปี โดยในเดือนพฤษภาคม พนักงานทั้งหมด 94 คนที่ถูกบริษัทซันสตาร์เอ็นจิเนียริ่ง ผู้จำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องยนต์รายหนึ่ง ให้ออกจากงานนั้น มี 93 คนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ พนักงานอีก 800 คนจากโรงงานบอดี้แฟชั่นในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดชั้นในแฟชั่นสตรี ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชยหลังจากที่รวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าจ้างและเงินโบนัสตามที่เคยตกลงกันไว้

ในบางครั้ง นายจ้างยื่นฟ้องต่อผู้นำสหภาพและพนักงานที่นัดหยุดงานในความผิดฐานบุกรุกสถานที่ หมิ่นประมาท และทำลายทรัพย์สิน

บริษัทเอกชนยังคงดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับองค์กรนอกภาครัฐ สื่อมวลชน และแรงงาน (ดูหมวดที่ 2.ก. หัวข้อ “กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท”) ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนพฤษภาคม บริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ธรรมเกษตรในจังหวัดลพบุรีได้ยื่นฟ้องอดีตลูกจ้าง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน และสื่อมวลชนจำนวน 14 คนในคดีอาญาและคดีแพ่งทั้งหมด 13 คดีในหลากหลายข้อหา เช่น การหมิ่นประมาทในทางอาญา การขโมยบัตรตอกเวลาทำงาน และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ทางการและศาลไม่รับเรื่องร้องเรียนและไม่สั่งฟ้องข้อหาส่วนใหญ่ที่บริษัทธรรมเกษตรยื่น อีกทั้งยังมีคำสั่งให้บริษัทซึ่งมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายแรงงานนั้น จ่ายเงินชดเชยจำนวน 1.7 ล้านบาท (56,900 เหรียญสหรัฐ) ให้กับอดีตลูกจ้าง 14 คน เพื่อเป็นค่าจ้างย้อนหลัง ค่าแรงล่วงเวลา และค่าแรงในวันหยุดนักขัตฤกษ์ จนถึงเดือนกันยายน คดีเหล่านี้บางคดียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

องค์กรนอกภาครัฐและผู้สนับสนุนด้านสิทธิแรงงานรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของตนถูกนายจ้างสะกดรอยตามหรือข่มขู่ หลังจากที่มีผู้พบเห็นพวกเขารณรงค์ส่งเสริมสิทธิแรงงาน

เดือนตุลาคม ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางพิพากษาว่า ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คนมีความผิดฐาน “ละทิ้งงานหรือ … กระทําการอย่างใด ๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกันกระทําการเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” และต้องโทษจำคุก 3 ปี คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบาทของสหภาพในการจัดการนัดหยุดงานในปี 2552 เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ภายหลังเกิดเหตุรถไฟตกรางที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เห็นว่า การกระทำของผู้นำสหภาพแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล ในปี 2561 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้นำสหภาพรถไฟ 7 คนในคดีดังกล่าวจ่ายค่าปรับ 15 ล้านบาท (500,000 เหรียญสหรัฐ) พร้อมดอกเบี้ย จากนั้นรัฐบาลจึงเริ่มอายัดเงินเดือนและทรัพย์สินของผู้นำสหภาพ องค์การและสหภาพแรงงานหลายแห่งมองว่า โทษเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม

ข. การห้ามบังคับใช้แรงงาน

กฎหมายห้ามมิให้บังคับใช้แรงงานทุกรูปแบบ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม มีการประกาศกฎอัยการศึก หรือกำลังจะเกิดภัยพิบัติสาธารณะ บทลงโทษในคดีบังคับใช้แรงงานเทียบเท่ากับคดีรุนแรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น คดีลักพาตัว การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลยังไม่มีประสิทธิผลโดยสม่ำเสมอกัน

ในปี 2562 รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มบทบัญญัติหนึ่งที่กล่าวถึง “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” โดยเฉพาะ และกำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ซึ่งมีอยู่แต่เดิม หรือในกรณีที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส หน่วยงานภาครัฐและกลุ่มนอกภาครัฐได้ทบทวนกฎระเบียบซึ่งเป็นกฎหมายลูกบท แนวปฏิบัติการระบุผู้เสียหาย และมาตรฐานการปฏิบัติงานต่าง ๆ

กระทรวง พม. กระทรวงแรงงาน และสำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายและคณะปฏิบัติงานสหวิชาชีพ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายดังกล่าว

มีรายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงสัตว์น้ำ การประมงกุ้ง การผลิตเสื้อผ้า การเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทาน รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิผล บทลงโทษในคดีเหล่านี้เทียบเท่ากับคดีรุนแรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น คดีลักพาตัว องค์กรนอกภาครัฐยอมรับว่า การแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดลดน้อยลงในภาคการประมง อย่างไรก็ดี องค์กรนอกภาครัฐบางแห่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายแรงงานยังคงไม่มีความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นเวลาหรือล่าช้า การหักค่าจ้างโดยผิดกฎหมาย การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการจัดหางานโดยผิดกฎหมาย การเก็บยึดเอกสาร และการไม่จัดทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาที่แรงงานเข้าใจ

กลุ่มสิทธิด้านแรงงานรายงานว่า นายจ้างบางรายมีพฤติกรรมที่ส่อว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน เช่น พยายามป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวย้ายงานหรือบังคับให้ทำงานด้วยการจ่ายค่าแรงล่าช้า การก่อเกิดหนี้ หรือการกล่าวหาว่าแรงงานลักทรัพย์ องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีนายจ้างที่สมรู้ร่วมคิดกันขึ้นบัญชีดำแรงงานที่รายงานการละเมิดแรงงาน เข้าร่วมสหภาพแรงงาน หรือย้ายงาน

รัฐบาลและองค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อยู่ในหมู่ผู้อพยพที่ถูกลักลอบเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะผู้อพยพที่มาจากพม่า คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับองค์กรค้ามนุษย์ข้ามชาติทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศต้นทาง ผู้เสียหายจำนวนมากต้องเผชิญกับการหลอกลวง การกักขังหน่วงเหนี่ยว การอดอาหาร การประทับตราบนร่างกาย และการกระทำมิชอบตลอดการเดินทาง บางครั้งผู้ลักลอบค้ามนุษย์จะทำลายหนังสือเดินทางและเอกสารประจำตัวของผู้เสียหาย ผู้เสียหายบางคนถูกขายให้กับผู้ลักลอบค้ามนุษย์รายอื่นและตกเป็นแรงงานขัดหนี้

สามารถอ่าน รายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกอบที่ //www.state.gov/trafficking-in-persons-report/

ค. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน

กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองเด็กจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดโดยครอบคลุมทุกรูปแบบ กฎหมายคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ การให้เด็กกระทำสิ่งผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงาน แต่ไม่ได้ห้ามกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐในการเกณฑ์เด็กไปเป็นทหาร ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล กฎหมายกำหนดหลักการการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายห้ามมิให้ว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ทำงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์โลหะ สารเคมีอันตราย วัสดุมีพิษ กัมมันตรังสี และอุณหภูมิหรือระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่เป็นพิษ การใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก ตลอดจนการทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำ รวมทั้งห้ามมิให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสถานที่ที่อันตราย เช่น โรงฆ่าสัตว์ บ่อนการพนัน สถานที่ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ สถานอาบอบนวด สถานบันเทิง เรือประมงทะเล และสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล ดังนั้น เด็กอายุ 15 ถึง 17 ปีจึงอาจทำ “งานที่บ้าน” (งานที่ผู้จ้างในธุรกิจอุตสาหกรรมมอบหมายให้ลูกจ้างผลิตหรือประกอบในที่อยู่อาศัยของลูกจ้างเองนอกสถานประกอบการ) ซึ่งเป็นงานเสี่ยงอันตรายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายให้ความคุ้มครองอย่างจำกัดแก่แรงงานเด็กในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการบางภาคส่วน เช่น ภาคการเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และธุรกิจที่บ้าน เด็กที่มีอาชีพอิสระและเด็กที่ทำงานโดยไม่ได้มีความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดทำข้อตกลงหรือสัญญา และทำงานแลกกับค่าตอบแทน) ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แต่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็กและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เข้าแข่งขันมวยไทย ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับค่าจ้าง ต่างไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กให้ความคุ้มครองแก่เด็กที่ขึ้นชกมวยไทยอย่างเพียงพอ

ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองการใช้แรงงานเด็กอาจจะต้องรับโทษจำคุกหรือปรับ บทลงโทษเหล่านี้เทียบเท่ากับคดีรุนแรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น คดีลักพาตัว บุพการีที่ศาลตัดสินว่าให้ผู้สืบสันดานทํางานหรือให้บริการเพราะ “เหตุความยากจนเหลือทนทาน” อาจไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดอย่างมีประสิทธิผล แต่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าในด้านบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงานและงานเสี่ยงอันตราย

รัฐบาลและบริษัทภาคเอกชนใช้การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกและการตรวจสภาพฟันเพื่อระบุผู้สมัครงานที่อาจมีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม การตรวจดังกล่าวไม่ได้ให้ข้อมูลครอบคลุมเสมอไป พนักงานตรวจแรงงานใช้ข้อมูลจากภาคประชาสังคมในการมุ่งตรวจตราการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน

องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศรายงานว่า แทบจะไม่พบคดีเกี่ยวกับแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการผลิต การประมง การจับกุ้ง และการแปรรูปอาหารทะเล โดยคาดว่าน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในปี 2557 ที่ได้เพิ่มจำนวนประเภทงานที่เสี่ยงอันตรายซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถทำได้ และการเปลี่ยนแปลงในปี 2560 ที่ได้เพิ่มโทษของการใช้แรงงานเด็ก

อย่างไรก็ตาม องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า เด็กบางส่วนจากประเทศไทย พม่า กัมพูชา ลาว และชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งการทำไร่ทำนา ธุรกิจที่บ้าน ร้านอาหาร การขายอาหารตามข้างถนน บริการเกี่ยวกับรถยนต์ การแปรรูปอาหาร งานก่อสร้าง งานรับใช้ตามบ้าน และการขอทาน เด็กบางคนถูกบังคับให้ค้าประเวณี ปรากฏตัวในสื่อลามกอนาจาร ขอทาน รวมทั้งผลิตและค้ายาเสพติด (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “เด็ก”) ในปี 2562 คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตได้สืบสวนคดีการค้าประเวณีเด็ก 26 คดี คดีการบังคับเด็กให้ขอทาน 3 คดี และคดีการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก 31 คดี

กสร. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายว่าด้วยแรงงานเด็ก องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานของ กสร. มักจะส่งต่อกรณีการละเมิดกฎหมายแรงงานเด็กให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสืบสวนและดำเนินคดีต่อไป และยังระบุด้วยว่า ครอบครัวที่มีเด็กเป็นผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์หรือบังคับใช้แรงงานได้รับความช่วยเหลือในระดับหนึ่ง แต่เด็กที่ทำงานโดยขัดต่อกฎหมายแรงงานเด็กข้ออื่น ๆ (เกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงานและงานเสี่ยงอันตราย) แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ในปี 2562 รัฐบาลรายงานว่า มีการเพิ่มพนักงานตรวจแรงงานและล่ามที่กระทรวงแรงงานจัดจ้างโดยตรงเป็นจำนวนเล็กน้อย ระหว่างปี การตรวจสอบแรงงานมุ่งเน้นตรวจสอบท่าเรือหาปลาและสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงานเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ฟาร์มสัตว์ปีกและสุกร ร้านรับซ่อมยานยนต์ สถานที่ก่อสร้าง และในภาคธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร บาร์คาราโอเกะ โรงแรม และสถานีบริการน้ำมัน กสร. รายงานว่า เกิดการละเมิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก 43 กรณี ซึ่งรวมไปถึงการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การไม่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กกับภาครัฐ และการว่าจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานอันตรายหรือทำงานในเวลากลางคืน

ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานเด็กมีประสิทธิผลจำกัด เช่น พนักงานตรวจแรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอ ล่ามสำหรับการตรวจแรงงานมีจำนวนไม่เพียงพอ วิธีการตรวจสอบไม่มีประสิทธิผล(โดยเฉพาะวิธีการสำหรับสถานประกอบการที่เข้าถึงได้ยาก เช่น บ้านพักส่วนบุคคล สถานประกอบธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ฟาร์ม และเรือประมง) และแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้เยาว์จากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีเอกสารประจำตัวที่ทางการออกให้ นอกจากนี้ องค์กรนอกภาครัฐยังรายงานว่า ไม่มีการคุ้มครองผู้เสียหายจากการใช้แรงงานเด็กอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมไปถึงการขาดความช่วยเหลือทางกฎหมายในการเรียกร้องสินไหมชดเชยและค่าเสียหาย กลไกการคุ้มครองและให้คำปรึกษา ตลอดจนการส่งตัวกลับประเทศอย่างปลอดภัย (โดยเฉพาะเด็กที่เป็นบุคคลต่างด้าว) โดยระบุว่า แม้จะมีกลไกต่าง ๆ ที่ชัดเจนในการคุ้มครองและส่งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็กกลับประเทศ แต่กลับไม่มีกลไกดังกล่าวสำหรับผู้เสียหายจากการใช้แรงงานเด็ก นอกจากนี้ การขาดความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานแรงงานเด็กก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน

ในเดือนมิถุนายน 2562 รัฐบาลตีพิมพ์รายงานผลสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทยเล่มแรก โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่สัมพันธ์กับแนวปฏิบัติสากล การสำรวจดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน สํานักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า ร้อยละ 3.9 ของเด็กอายุ 5 ถึง 17 ปีจำนวน 10.47 ล้านคนเป็นเด็กที่ทำงาน ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 1.7 เป็นแรงงานเด็ก (เด็กที่ทำงานโดยถูกแสวงประโยชน์), ร้อยละ 1.3 ทำงานเสี่ยงอันตราย และอีกร้อยละ 0.4 ทำงานที่ไม่เสี่ยงอันตราย แรงงานเด็กส่วนใหญ่ทำงานเสี่ยงอันตรายในครัวเรือนหรือธุรกิจครอบครัว (ร้อยละ 55), ภาคการเกษตร (ร้อยละ 56), ธุรกิจบริการ (ร้อยละ 23) และภาคการผลิต (ร้อยละ 20) สัดส่วนแรงงานเด็กเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมากกว่าครึ่งของแรงงานเด็กไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียน จากลักษณะการทำงานอันตราย 3 ประเภทแรก ร้อยละ 22 เกี่ยวข้องกับการยกของหนัก, ร้อยละ 8 เป็นการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนจัด เย็นจัด และเสียงดังหรือทำงานในเวลากลางคืน และร้อยละ 7 ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายและสารพิษ

สามารถอ่าน รายงานผลการสำรวจรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด ประกอบที่ //www.dol.gov/agencies/ilab/resources/reports/child-labor/findings และอ่าน บัญชีรายชื่อสินค้าที่ผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ประกอบที่ //www.dol.gov/agencies/ilab/reports/child-labor/list-of-goods เอกสารทั้งสองฉบับจัดทำโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

ง. การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานและอาชีพ

กฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุห้ามการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา มาตุภูมิ สีผิว ชาติพันธุ์ ความทุพพลภาพ อายุ วิถีทางเพศ หรือสถานะการติดเชื้อเอชไอวี แต่กำหนดให้ลงโทษจำคุกหรือปรับผู้ที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจจ้างงานด้วย บทลงโทษสำหรับความผิดฐานเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเทียบเท่ากับคดีสิทธิพลเมือง แต่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติที่มีขอบเขตจำกัดอย่างมีประสิทธิผล กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คนจ้างลูกจ้างที่มีภาวะทุพพลภาพอย่างน้อย 1 คนต่อสัดส่วนลูกจ้างทุก 100 คน

กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานใต้ดิน ในเหมือง ก่อสร้างใต้น้ำ บนนั่งร้านซึ่งสูงกว่า 33 ฟุต และผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือไวไฟ

การเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานเกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTI สตรี และแรงงานต่างด้าว (ดูหมวดที่ 7.จ.) ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงว่าเป็นเพศใด ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมีน้อย และสาเหตุหลักมาจากทักษะ ระยะเวลาการจ้างงาน ประเภทงานที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงข้อกำหนดตามกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้หญิงทำงานที่อันตราย อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พ.ศ. 2559 ว่าด้วยแรงงานต่างด้าวเพศหญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศ ระบุว่า แรงงานต่างด้าวเพศหญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานเพศชายเหมือนเช่นที่เป็นมาตลอด และแรงงานต่างด้าวเพศหญิงกว่ากึ่งหนึ่งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ทางการกำหนดด้วย โดยเฉพาะค่าล่วงเวลา (ดูหมวดที่ 6 หัวข้อ “สตรี”) ระหว่างปี มีรายงานว่าบริษัทหลายแห่งจงใจให้พนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์ออกจากงาน

ในปี 2561 โรงเรียนนายร้อยตำรวจประกาศว่า จะไม่รับสมัครผู้หญิงเข้ามาเรียนอีกต่อไป การตัดสินใจครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า เป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติและเป็นผลเสียต่อศักยภาพของกองกำลังตำรวจในการตรวจสอบกรณีการละเมิดแรงงานหญิง นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อคนทุพพลภาพในเรื่องการจ้างงาน การเข้าถึงงาน และการฝึกอบรม ในเดือนเมษายน กลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิทธิของคนทุพพลภาพยื่นข้อร้องเรียนกรณีการยักยอกทรัพย์และการหักค่าจ้างของลูกจ้างผู้พิการโดยผิดกฎหมาย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐโอนคดีดังกล่าวให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวน

กลุ่ม LGBTI มักเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะอคติของคนทั่วไปและการไม่มีกฎหมายและนโยบายมารองรับเรื่องการเลือกปฏิบัติ มีรายงานว่าพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และทำงานจำกัดอยู่ในสาขาอาชีพเพียงไม่กี่สาขา เช่น ธุรกิจความงามและความบันเทิง

จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้

ค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่รัฐบาลคำนวณไว้ 3 เท่า และไม่ได้บังคับใช้กับลูกจ้างที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ งานรับใช้ตามบ้าน และงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล

กฎหมายกำหนดเวลาทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์ คือ 48 ชั่วโมง หรือ 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 6 วัน และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลูกจ้างที่ต้องทำงาน “อันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และห้ามทำงานล่วงเวลา พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน

กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่บ้าน ต้องมีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย นอกจากนี้ ยังห้ามสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างแจ้งลูกจ้างถึงสภาพการทำงานที่เป็นอันตรายตั้งแต่ก่อนจ้างงาน ทว่า ลูกจ้างไม่มีสิทธิพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยโดยไม่เกิดความเสี่ยงต่อหน้าที่การงาน

กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำรายวันไม่ได้บังคับใช้กับลูกจ้างที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ งานรับใช้ตามบ้าน และงานเกษตรกรรมตามฤดูกาล กฎกระทรวงให้ความคุ้มครองบางประการแก่แรงงานรับใช้ตามบ้านในเรื่องเกี่ยวกับวันลา อายุขั้นต่ำ และการจ่ายค่าแรง แต่ไม่ได้กล่าวถึงค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงทำงานปกติ ประกันสังคม หรือการลาคลอด สถิติของรัฐระบุว่า ร้อยละ 54 ของแรงงานทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ โดยได้รับความคุ้มครองอย่างจำกัดภายใต้กฎหมายแรงงานและระบบประกันสังคม

กสร. บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน แรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจในการเข้าตรวจสอบสถานที่ทำงานโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมทั้งสามารถออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด พนักงานตรวจแรงงานมีหน้าที่ส่งต่อกรณีนั้น ๆ เพื่อดำเนินคดีทางอาญาต่อไป มีพนักงานตรวจแรงงานไม่พอสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดโทษปรับและโทษจำคุกหากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามที่กำหนด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำนี้อย่างมีประสิทธิผล บทลงโทษสำหรับความผิดดังกล่าวเทียบเท่าหรือสูงกว่าคดีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น คดีฉ้อโกง

ในปี 2561 กสร. มีคำสั่งไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ห้ามพนักงานตรวจแรงงานระงับข้อพิพาทในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม มีรายงานจำนวนมากระบุว่า ระหว่างปี มีคดีการไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เข้าสู่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาท และคนงานตกลงยอมรับค่าแรงที่นายจ้างติดค้างไว้ ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า คนงานตามสัญญาจ้างในภาครัฐได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากลูกจ้างประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับที่ต่างออกไป

การตรวจแรงงานมุ่งเน้นสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูงและใช้ข้อมูลที่ได้จากภาคีเครือข่ายประชาสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ดี การตรวจแรงงานมักเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ และมีจำนวนพนักงานตรวจแรงงานและทรัพยากรไม่เพียงพอ ผู้นำสหภาพเสนอแนะว่า พนักงานตรวจแรงงานควรตรวจสอบสถานประกอบการในเชิงรุกมากกว่าที่จะตรวจสอบเอกสารแบบพอเป็นพิธี ผู้สนับสนุนด้านสิทธิรายงานว่า พนักงานตรวจแรงงานในระดับจังหวัดพยายามไกล่เกลี่ยคดีต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้งแม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดการละเมิดสิทธิแรงงานที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ผู้นำสหภาพแรงงานประมาณว่า มีลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงานเกือบ 1 ล้านคน และจำนวนมากไม่ได้รับเงินชดเชยหรือการแจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะคนงานตามสัญญาจ้างและแรงงานต่างด้าว

รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา และค่าจ้างสำหรับวันหยุดอย่างมีประสิทธิผล ทั้งในบริษัทขนาดเล็ก พื้นที่บางแห่ง (โดยเฉพาะพื้นที่ชนบนหรือบริเวณชายแดน) หรืออุตสาหกรรมบางประเภท (โดยเฉพาะภาคการเกษตร ก่อสร้าง และประมง) ในปี 2562 สหภาพแรงงานประมาณว่า ร้อยละ 5-10 ของลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสูงกว่าในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและในบริเวณชายแดน แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ค่อยขอรับการเยียวยาตามกฎหมาย เนื่องจากขาดสถานภาพทางกฎหมายและกลัวว่าจะขาดรายได้เลี้ยงชีพ

การละเมิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีบทลงโทษคือจำคุกและปรับ บทลงโทษสำหรับความผิดดังกล่าวเทียบเท่าหรือสูงกว่าคดีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น คดีประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เชี่ยวชาญและการตรวจสอบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ การตรวจสอบส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากมีผู้ร้องเรียน รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิผล

ผู้นำสหภาพประมาณการว่า สถานประกอบการเพียงร้อยละ 20 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทต่างประเทศ ปฏิบัติตามมาตรฐานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของรัฐ วิธีปฏิบัติและการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในที่ทำงานส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุในแรงงานต่างด้าวสูงกว่าแรงงานไทย โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่มักดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ทางการกำหนด แต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยโดยรวมยังไม่เข้มงวด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและธุรกิจขนาดเล็ก องค์กรนอกภาครัฐและผู้นำสหภาพตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่มีประสิทธิผล ได้แก่ จำนวนพนักงานตรวจแรงงานที่มีคุณภาพมีไม่เพียงพอ ใช้วิธีตรวจสอบเอกสารมากเกินไป (แทนที่จะตรวจสอบสถานประกอบการ) ไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่ยื่นคำร้องทุกข์ ไม่มีล่าม และไม่สามารถลงโทษนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล

ประเทศไทยมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่พลเมืองทุกคน และมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเพื่อคุ้มครองลูกจ้างในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย อีกทั้งมีสิทธิประโยชน์สำหรับการตั้งครรภ์ ภาวะทุพพลภาพ การเสียชีวิต การช่วยเหลือผู้มีบุตร การว่างงาน และเกษียณอายุ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียน ตลอดจนผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมีสิทธิซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข

องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า คนงานก่อสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างรับเหมาค่าแรงและแรงงานต่างด้าว ไม่มีชื่อในระบบประกันสังคม หรือไม่ได้รับการคุ้มครองจากโครงการกองทุนเงินทดแทน เพราะนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเหล่านี้หรือไม่ได้จ่ายเงินเข้าไปในระบบประกันสังคม

ในเดือนมีนาคม 2562 กระทรวงแรงงานออกระเบียบข้อปฏิบัติให้ลูกจ้างทุกคนเข้าโครงการกองทุนเงินทดแทนสำหรับอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในสถานประกอบการ แต่ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานค้าเร่แผงลอยและแรงงานรับใช้ตามบ้าน ผู้นำสหภาพแรงงานรายงานว่า แรงงานมักไม่ได้รับเงินทดแทนสำหรับการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เนื่องจากการพิสูจน์ความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสถานประกอบการนั้นมักจะเป็นเรื่องยาก

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่สำหรับแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพและประกันสังคมได้ อีกทั้งระบุว่า สำหรับเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 300 ตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ออกทะเลนานกว่า 3 วันต่อครั้ง นายจ้างจะต้องจัดให้เรือประมงมีสภาพเหมาะสมสำหรับให้แรงงานพักอาศัยบนเรือได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและกฎหมายส่วนอื่น ๆ ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบกฎหมายลูกบทโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อกำหนดของรัฐในปัจจุบันมีไว้เพื่อกำหนดให้แรงงานประมงต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนซื้อประกันสุขภาพ และให้เจ้าของเรือประมงสมทบเงินเข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ตั้งแต่ปี 2562 แรงงานประมงต่างด้าวที่ถือบัตรผ่านแดนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอุบัติเหตุ ปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางของแรงงานประมง ได้แก่ การขาดแคลนทั้งการตรวจสอบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ชุดปฐมพยาบาล ตลอดจนการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้วยภาษาของแรงงานต่างด้าว ระหว่างปี องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า มีหลายกรณีที่กองทัพเรือได้ช่วยเหลือแรงงานประมงที่ประสบอุบัติเหตุในทะเล

หลายบริษัทใช้ “ระบบสัญญาจ้างเหมางาน” โดยคนงานจะเซ็นสัญญาจ้างกับนายหน้าจัดหาแรงงาน กฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่คนงานที่ทำสัญญาเหมา อย่างไรก็ดี นายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างแก่คนงานที่ทำสัญญาเหมาน้อยกว่าและให้สวัสดิการน้อยกว่าหรือไม่ให้เลย

กรมการจัดหางานออกกฎจำกัดค่าธรรมเนียมสูงสุดในการจัดหางาน ทว่า การบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวยังขาดประสิทธิผล เนื่องจากแรงงานไม่เต็มใจให้ข้อมูลและขาดเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดหางานใต้ดินและค่าธรรมเนียมเอกสาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการอพยพ สำนักงานจัดหางานที่แสวงหาผลประโยชน์จากพลเมืองไทยที่ทำงานในต่างประเทศยังคงคิดค่าธรรมเนียมการจัดหางานเป็นจำนวนเงินที่ผิดกฎหมาย องค์กรนอกภาครัฐรายงานว่า คนงานมักกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยสูงจากเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อนำไปจ่ายค่าหัวคิว

ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลล่าสุด มีรายงานการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในสถานประกอบการ 94,906 ครั้ง จากจำนวนดังกล่าว ร้อยละ 2 ส่งผลให้สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต สำนักงานประกันสังคมรายงานว่า อุบัติเหตุในสถานประกอบการที่ร้ายแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงงานผลิต อุตสาหกรรมการค้าส่งและปลีก การก่อสร้าง การคมนาคม โรงแรม และร้านอาหาร ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า มีการรายงานอุบัติเหตุในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการและภาคการเกษตร และอุบัติเหตุในกลุ่มแรงงานต่างด้าวน้อยกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ นายจ้างมักไม่ระบุถึงหรือจ่ายค่าชดเชยให้กับความเจ็บป่วยอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาชีพ อีกทั้งแทบจะไม่มีแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน lmyour แปลภาษา ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ค้นหา ประวัติ นามสกุล ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง ไทยแปลอังกฤษ ประโยค Terjemahan เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด แปลภาษาจีน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ่้แปลภาษา Google Translate ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย พร บ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 วิธีใช้มิเตอร์วัดไฟดิจิตอล สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครอง ส่วนท้องถิ่น ห่อหมกฮวก แปลว่า Bahasa Thailand Thailand translate mu-x มือสอง รถบ้าน การวัดกระแสไฟฟ้า ด้วย แอมมิเตอร์ การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน เนื้อเพลง ก่อนจะนิ่งก็ต้องกลิ้งมาก่อน แคปชั่น พจนานุกรมศัพท์ทหาร ภูมิอากาศ มีอะไรบ้าง สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อาจารย์ ตจต อเวนเจอร์ส ทั้งหมด เขียน อาหรับ แปลไทย ใบรับรอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน Google map Spirited Away 2 spirited away ดูได้ที่ไหน tor คือ จัดซื้อจัดจ้าง กินยาคุมกี่วัน ถึง ปล่อยในได้ ธาตุทองซาวด์เนื้อเพลง บช.สอท.ตำรวจไซเบอร์ ล่าสุด บบบย มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ตอนจบ รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล ศัพท์ทางทหาร military words สอบ O หยน