การอ่านมี กี่ ประเภท อะไรบ้าง

หน่วยที่ 2

การอ่าน

 

                การอ่าน เป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตคนเรามาก ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เพศใด วัยใด ก็ต้องการที่จะเพิ่มพูนความรู้ของตนเองอยู่เสมอ เพราะการอ่านนั้น นอกจากที่จะอ่านเพื่อเก็บความรู้แล้ว การอ่าน ยังให้ความบันเทิงแก่ชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ซึ่งต้องใช้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องมีหลักการอ่านและทักษะการอ่าน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีความรักในการอ่าน เพราะถ้ารักการอ่านแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่รู้มาก หรือเป็น “พหูสูต”

หลักการอ่านหนังสือนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว หนังสือแต่ละชนิดจะมีหลักการอ่านที่ไม่เหมือนกัน ต้องพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือแต่ละประเภท เช่น การอ่านหนังสือตำราวิชาการ จะต้องมีการอ่านอย่างคร่าว ๆ และกลับมาอ่านซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ แล้วจึงจะสรุปประเด็น, การอ่านหนังสืออ้างอิง เป็นการอ่านเฉพาะส่วน เพื่อให้ได้คำตอบในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการหนังสือประเภทใด ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านได้ทั้งนั้น ผู้อ่านต้องมีความใจกับสิ่งที่อ่าน และฝึกฝนการอ่าน ตั้งใจอ่านอย่างมีสมาธิแน่วแน่ นำกลวีการอ่านต่าง ๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นกระบวนการอ่านที่มีประสิทธิภาพ

 

ความหมายของการอ่าน

                การอ่าน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ว่าไว้ว่า “ว่าตามตัวหนังสือ,

ถ้าออกเสียงด้วย เรียกว่า อ่านออกเสียง, ถ้าอ่านไม่ออกเสียง เรียกว่า อ่านในใจ, สังเกตหรือพิจารณาดูเพื่อให้เข้าใจ เช่น อ่านสีหน้า อ่านริมฝีปาก อ่านใจ ; ตีความ เช่น อ่านรหัสอ่านลายแทง ; คิด, นับ. (ไทยเดิม).”

จะเห็นได้ว่า จากความหมายของการอ่านนั้น ต้องการให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ, รับรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านไป และการอ่านนั้น จะต้องมีการเก็บความรู้ เพื่อให้รู้ว่าผู้แต่งต้องการสื่ออะไร

การอ่าน คือ การรับรู้ความหมายจากถ้อยคำที่ตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์หรือในหนังสือ เป็นการรับรู้ว่า

ผู้เขียนคิดอะไรและพูดอะไร โดยเริ่มต้นทำความเข้าใจถ้อยคำแต่ละคำเข้าใจวลี เข้าใจประโยค ซึ่งรวมอยู่ใน

ย่อหน้า เข้าใจแต่ละย่อหน้า ซึ่งรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน การอ่านเป็นการบริโภคคำที่ถูกเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือหรือสัญลักษณ์ การอ่านโดยหลักวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการที่แสงตกกระทบที่สื่อ และสะท้อนจากตัวหนังสือผ่านทางเลนส์นัยน์ตา และประสาทตาเข้าสู่เซลล์สมองไปเป็นความคิด (Idea) ความรับรู้ (Perception) และก่อให้เกิดความจำ (Memory) ทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว

 

กระบวนการอ่าน  มี 4 ขั้นตอน คือ

– ขั้นแรก การอ่านออก อ่านได้ หรืออ่านออกเสียงได้ถูกต้อง

– ขั้นที่สอง การอ่านแล้วเข้าใจ ความหมายของคำ วลี ประโยค สรุปความได้

– ขั้นที่สามการอ่านแล้วรู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และออกความเห็นในทางที่ขัดแย้งหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนอย่างมีเหตุผล

– ขั้นสุดท้ายคือการอ่านเพื่อนำไปใช้ ประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นผู้ที่อ่านได้และอ่านเป็นจะต้องใช้กระบวนการทั้งหมดในการอ่านที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการถ่ายทอดความหมายจากตัวอักษรออกมาเป็นความคิด และจากการคิดที่ได้จากการอ่านผสมผสานกับประสบการณ์เดิม และสามารถความคิดนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 

จุดมุ่งหมายของการอ่าน

  1.    อ่านเพื่อความรู้  ได้แก่  การอ่านจากหนังสือตำราทางวิชาการ  สารคดีทางวิชาการ การวิจัยประเภทต่าง ๆ หรือการอ่านผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ ควรอ่านอย่างหลากหลาย  เพราะความรู้ในวิชาหนึ่ง อาจนำไปช่วยเสริมในอีกวิชาหนึ่งได้
  2.    อ่านเพื่อความบันเทิง ได้แก่  การอ่านจากหนังสือประเภทสารคดีท่องเที่ยว นวนิยาย เรื่องสั้น  เรื่องแปล การ์ตูน บทประพันธ์  บทเพลง  แม้จะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ผู้อ่านจะได้ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องด้วย
  3.    อ่านเพื่อทราบข่าวสารความคิด ได้แก่  การอ่านจากหนังสือประเภทบทความ บทวิจารณ์  ข่าว  รายงานการประชุม  ถ้าจะให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต้องเลือกอ่านให้หลากหลาย ไม่เจาะจงอ่านเฉพาะสื่อ ที่นำเสนอตรงกับความคิดของตน เพราะจะทำให้ได้มุมมอง ที่กว้างขึ้น ช่วยให้มีเหตุผลอื่น ๆ มาประกอบการวิจารณ์ วิเคราะห์ได้หลายมุมมองมากขึ้น
  4.    อ่านเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทางแต่ละครั้ง  ได้แก่  การอ่านที่ไม่ได้เจาะจง แต่เป็นการอ่านในเรื่องที่ตนสนใจ หรืออยากรู้  เช่น  การอ่านประกาศต่าง ๆ การอ่านโฆษณา  แผ่นพับ ประชาสัมพันธ์  สลากยา  ข่าวสังคม  ข่าวบันเทิง  ข่าวกีฬา   การอ่านประเภทนี้มักใช้เวลาไม่นาน ส่วนใหญ่เป็นการอ่านเพื่อให้ได้ความรู้และนำไปใช้  หรือนำไปเป็นหัวข้อสนทนา เชื่อมโยงการอ่าน สู่การวิเคราะห์  และคิดวิเคราะห์  บางครั้งก็อ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

 

ขั้นตอนก่อนลงมืออ่านหนังสือ

  1. สำรวจตนเอง กล่าวคือ ก่อนที่ผู้อ่านจะเริ่มอ่านหนังสือนั้น ผู้อ่านจะต้องสำรวจตนเองก่อนว่าจะอ่านหนังสืออะไร จุดมุ่งหมายของการอ่านหนังสือครั้งนี้คืออะไร อ่านแล้วได้อะไร และเมื่อผู้อ่านสำรวจตนเองเรียบร้อยแล้ว จึงต้องลงมือหาหนังสือที่ตนเองต้องการ ในข้อนี้เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านหนังสือ
  2. สำรวจหนังสือ กล่าวคือ ผู้อ่านต้องสำรวจว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอะไร มีเนื้อความกล่าวถึงสิ่งที่ผู้อ่านต้องการจะทราบ หรือผู้อ่านต้องการจะอ่านหรือไม่ โดยสามารถดูได้จาก สารบาญของหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกโครงเรื่องของหนังสือว่า หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยเนื้อหาใดบ้าง การอ่านหนังสือที่ตรงกับจุดประสงค์ของผู้อ่านนั้น จะช่วยให้ผู้อ่านย่นระยะในการอ่านหนังสือมากขึ้น
  3. สำรวจสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ หลักจากที่สำรวจหนังสือแล้ว ผู้อ่านจะต้องสำรวจสิ่งแวดล้อมว่าสถานที่และเวลานี้ เหมาะสมหรือไม่สำหรับการอ่านหนังสือ ผู้อ่านแต่ละท่าน มีความเคยชินและความถนัดในสิ่งแวดล้อมของการอ่านหนังสือไม่เหมือนกัน เช่น นักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่ชอบหนังสือในเวลากลางคืน หรือช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจาก มีความเป็นส่วนตัว มีสมาธิ ทำให้สามารถจดจำในรายละเอียดได้มากขึ้น, สิ้นสุดภารกิจในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

 

ลักษณะของการอ่านที่ดี

  1. ไม่นอนอ่านหนังสือ กล่าวคือ การนอนเป็นอิริยาบถที่เหมาะแก่การพักผ่อนมากกว่าการที่จะเก็บเนื้อหาสาระจากการอ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าผู้อ่านนอนอ่าน จะทำให้สามารถเผลอหลับไปได้ทุกเวลา
  2. ควรสร้างสมาธิก่อนอ่าน กล่าวคือ ในขณะเวลาที่อ่านนั้นไม่ควรที่จะอยู่ในที่พลุกพล่านควรอยู่ในที่ที่มีความเงียบ ไม่สมควนดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุในขณะอ่าน เพราะจะทำให้เสียสมาธิในการอ่าน ทำให้ไม่สามารถเก็บสาระในการอ่านได้ และไม่มีความพร้อมในการอ่าน เนื่องจากการอ่านต้องมีสมาธิอย่างมาก เพราะการอ่านที่ดี ผู้อ่านควรเนื้อหาสาระจากการอ่านให้ได้มากที่สุด และทำความเข้าใจ
  3. ทักษะการอ่านและทักษะการเขียนเป็นของคู่กัน กล่าวคือ ในขณะที่ผู้อ่าน อ่านหนังสือนั้น ควรจะมีกระดาษและปากกาหรือสมุดบันทึก เพื่อบันทึกสาระสำคัญในขณะการอ่าน เพราะว่า การบันทึกสาระสำคัญในขณะการอ่านนั้น จะช่วยทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ จะทำให้ผู้อ่านนั้นจดจำสาระ

สำคัญของหนังสือที่อ่านได้ด้วย นอกจากนี้ การเขียนบันทึกสาระสำคัญ หลังจากการอ่านหรือในขณะการอ่านนั้นจะช่วยทบทวนในสิ่งที่อ่านมาทั้งหมดได้อีกด้วย

  1. การอ่านหนังสือที่ดีต้องรู้ที่มา กล่าวคือ ผู้อ่านควรจดจำแหล่งที่มาของหนังสือหรือข้อเขียนที่อ่าน บางที่อาจจะมีประโยชน์ต่อการอ้างอิง นอกจากนี้เมื่อผู้อ่านต้องการความรู้แบบต่อยอดแต่ไม่สามารถหาต้นฉบับหนังสือที่ผู้อ่านอ่านได้ แต่ผู้อ่านรู้จักจดจำหรือสังเกตแหล่งที่มาของหนังสือ รวมทั้งศึกษาภูมิหลังของหนังสือ ทั้งผู้แต่งหรือที่มาของหนังสือ จะทำให้ผู้อ่านสามารถหาความรู้ต่อยอดได้
  2. ผู้อ่านที่ดีควรติดตามและมีวิจารณญาณในการอ่าน  กล่าวคือ ผู้อ่านที่ดีควรติดตามในสิ่งที่อ่าน อาจจะเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่อ่านว่า มีความเป็นข้อคิดเห็นหรือข้อเท็จจริง และถ้าผู้อ่านคิดตาม ผู้อ่านจะมีความสามารถในการอ่าน การคิดตามอาจจะตัดสินได้ว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือผิดประการใด
  3. ผู้อ่านที่ดีควรรู้จักทบทวน กล่าวคือ หลังจากที่อ่านหนังสือแล้ว ผู้อ่านจะต้องหมั่นทบทวนในสิ่งที่อ่านอยู่เสมอ ประการหนึ่งก็เพื่อให้ผู้อ่านนั้นรู้สึกว่าการอ่านหนังสือนั้นจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้อ่านได้ โดยที่ผู้อ่านจะต้องหมั่นทบทวนซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้งจนจำขึ้นใจ
  4. ในยุคปัจจุบัน เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี สารสนเทศ และข้อมูลข่าวสาร มีข่าวสารต่าง ๆ เลื่อนไหลเข้ามาในกระแสของโลกอย่างมากมาย ทั้งข้อมูลด้านดี และข้อมูลด้านลบ ที่ทำให้ผู้อ่านต้องอ่านและใช้ดุลพินิจในการตีความ การอ่านเร็วมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้ายิ่งอ่านเร็วและสามารถเข้าใจได้เลย ก็จะทำให้เราสามารถตักตวงในสิ่งที่อ่านได้มาก เพราะยุคนี้คนต้องมีความรู้มาก เป็นยุคที่ต้องแข็งขัน ต้องตักตวงไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีสาระหรือมีความบันเทิง การจะอ่านได้เร็วนั้นต้องฝึกหัดให้มาก ๆ และอ่านบ่อย ๆ
  5. ผู้อ่านต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะอ่านพอสมควร  หรือมีความสนใจในเรื่องที่จะอ่าน รวมทั้งควรเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการอ่าน เพราะเมื่อผู้อ่านไม่มีความรู้พื้นฐาน หรือไม่มีความสนใจในเรื่องที่จะอ่านแล้ว จะทำให้การอ่านนั้นไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จน้อย
  6. ผู้อ่านต้องฝึกจับใจความ กล่าวคือ ผู้อ่านอ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสารคดี หรือบันเทิงคดี ล้วนจะต้องมีใจความสำคัญอยู่ ดังนั้นผู้อ่านจะต้องจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านให้ได้
  7. อ่านแล้วเล่าต่อ กล่าวคือ การอ่าน ถ้าอ่านอย่างเดียวโดยไม่มีการทบทวนหรือเล่าต่อ ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านลืมในสิ่งที่อ่านไปทั้งหมดได้ หรือจำได้เพียงบางอย่าง แต่เมื่อผู้อ่านไปเล่าต่อแล้ว ความรู้นั้นก็จะกลับมาเหมือนกับเป็นการทบทวนให้ผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง

 

ประโยชน์ของการอ่าน

  1.   เป็นการสนองความต้องการของมนุษย์
  2.   ทำให้มนุษย์เกิดความรู้  ทักษะต่าง ๆ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
  3.   ทำให้มนุษย์เกิดความคิดสร้างสรรค์  ความเพลิดเพลินบันเทิงใจและเกิดความบันดาลใจ
  4.   เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  5.   ทำให้มนุษย์ทันต่อเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของโลก
  6.   เป็นการส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์
  7.  ช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาสังคม  การเมือง  เศรษฐกิจและปัญหาส่วนตัว

 

คุณสมบัติของนักอ่านที่ดี 

  1.   มีนิสัยรักการอ่าน
  2.   มีจิตใจกว้างขวางพร้อมที่จะอ่านหนังสือที่ดีมีคุณค่าได้ทุกประเภท
  3.   มีเจตคติที่ดีต่อการอ่านและเรื่องที่อ่าน
  4.   หมั่นหาเวลาหรือจัดเวลาสำหรับการอ่านให้กับตนเองทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
  5.   เป็นคนรักหนังสือและแสวงหาหนังสือที่ดีอ่านอยู่เสมอ
  6.   มีความสามารถในการเลือกหนังสือที่ดีอ่าน
  7.   มีความอดทน  มีอารมณ์หรือมีสมาธิในการอ่าน
  8.   มีสุขภาพกาย  สุขภาพจิตที่สมบูรณ์
  9.   มีความเบิกบาน  แจ่มใส  และปลอดโปร่งอยู่เสมอ
  10.   มีนิสัยใฝ่หาความรู้  ความคิด  และประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
  11.   มีทักษะในการอ่านสรุปความ  วิเคราะห์ความ  และวินิจฉัยความ
  12.   มีความคิดหรือมีวิจารณญาณที่ดีต่อเรื่องที่อ่านสามารถที่จะแยกแยะข้อเท็จจริง  ความถูกต้อง ความเหมาะสมต่าง ๆ และสามารถเลือกนำไปใช้ประโยชน์
  13.   มีนิสัยชอบจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบในการอ่านและเห็นว่ามีคุณค่า
  14.   มีความจำดี  รู้จักหาวิธีช่วยจำ  และเพิ่มประสิทธิภาพของการจำ
  15.   มีนิสัยชอบเข้าร้านหนังสือและห้องสมุด
  16.   มีโอกาสหรือหาโอกาสพูดคุยกับผู้รักการอ่านด้วยกันอยู่เสมอ  เพื่อแลกเปลี่ยน ทรรศนะในการอ่านให้แตกฉานยิ่งขึ้น
  17.   มีนิสัยหมั่นทบทวน  ติดตาม  ค้นคว้าเพิ่มเติม

 

วิธีอ่านหนังสือที่ดี

วิธีการอ่านหนังสือที่ดี  มีขั้นตอน  ดังนี้

  1.  อ่านทั้งย่อหน้า  การฝึกอ่านทั้งย่อหน้าควรปฏิบัติ  ดังนี้

1.1  พยายามจับจุดสำคัญของเนื้อหาในย่อหน้านั้น

1.2  พยายามถามตัวเองว่าสามารถตั้งชื่อเรื่องแต่ละย่อหน้าได้หรือไม่

1.3  ดูรายละเอียดนั้นว่ามีอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับจุดสำคัญ  มีอะไรบ้างที่ไม่เกี่ยวข้อง และอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง  เกี่ยวข้องกันอย่างไร

1.4  แต่ละเรื่องติดต่อกันหรือไม่  และทราบได้อย่างไรว่าติดต่อกัน

1.5.  วิธีการเขียนของผู้เขียนมีอะไรบ้างที่เสริมจุดสำคัญเข้ากับจุดย่อย

  1.   สำรวจตำรา  หรือหนังสือนั้น ๆ ก่อนที่จะทำการอ่านจริง  ดังนี้

2.1  ดูสารบัญ  คำนำ  เพื่อทราบว่าในเล่มนั้น ๆ มีเนื้อหาอะไรบ้าง

2.2  ตรวจดูบทที่จะอ่านว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง

2.3  อ่านคำนำของหนังสือและบทนำในแต่ละบทด้วย

2.4  พยายามตั้งคำถามแล้วค้นหาคำตอบอย่างคร่าว ๆ

  1.    อ่านเป็นบท ๆ  หลังจากได้ทำการสำรวจหนังสือแล้ว  ผู้อ่านจะได้ความรู้เกี่ยวกับผู้แต่ง  ภูมิหลัง ตลอดจนความมุ่งหมายในการแต่งหนังสือ  แล้วจึงเริ่มอ่านหนังสือเป็นบท ๆ โดยปฏิบัติ ดังนี้

3.1  อ่านทีละบทโดยไม่หยุดจนจบบท  อาจจะหยุดเพื่อจดบันทึกใจความสำคัญบ้าง ในบางครั้งก็ได้

3.2  อ่านบทเดิมอีกครั้ง  เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อและประโยคแรกของแต่ละย่อหน้า ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ  ก็อ่านข้อความในแต่ละย่อหน้าใหม่  ถ้าอ่านประโยคแรกแล้วจำได้ว่า เนื้อความอะไรบ้างที่ผ่านไปยังย่อหน้าอื่นได้

3.3  จดบันทึก  เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้ตอนแรก

  1.  การอ่านแบบข้ามหรืออ่านแบบคร่าว ๆ  การอ่านแบบข้ามหรืออ่านแบบคร่าว ๆ มิได้ให้ความเข้าใจอะไรมากนัก  จะใช้ได้ดี ต่อเมื่อ

4.1 ต้องการทราบข้อความบางอย่างเท่านั้น  เช่น หมายเลขโทรศัพท์ ความหมายของ คำใดคำหนึ่ง

4.2  ต้องการทราบว่าควรอ่านทั้งหมดหรือไม่   ช่วยให้ทราบคร่าว ๆ ว่าในแต่ละบท เป็นอย่างไร  เพราะเป็นการอ่านเฉพาะหัวข้อหรือข้อสรุปเท่านั้น

  1. สะสมประสบการณ์และคำศัพท์ให้มากที่สุด

การที่ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เดิมและความรู้ เกี่ยวกับคำศัพท์ที่สะสมไว้   เมื่ออ่านเรื่องใหม่จึงสามารถนำเอาความรู้เดิมมาถ่ายโยงสัมพันธ์กับความรู้ใหม่  เพื่อเพิ่มความเข้าใจในเรื่องที่อ่านได้ดียิ่งขึ้น การสะสมประสบการณ์ความรู้และคำศัพท์นั้นสามารถทำได้โดยการอ่าน ปทานุกรม พจนานุกรม  เพื่อรู้ศัพท์ต่าง ๆ และอ่านให้มาก ๆ เพื่อสะสมประสบการณ์และเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลา

 

การเตรียมพร้อมเพื่อการอ่าน

การอ่านจะดำเนินไปได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และองค์ประกอบที่อยู่ภายใน

ร่างกาย การอ่านท่ามกลางบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งประสิทธิและประสิทธิผลในการอ่าน ทั้งนี้ควรคำนึงถึง

  1. การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อม สถานที่ที่เหมาะกับการอ่านควรมีความเงียบสงบ ตัดสิ่งต่างๆ ที่

รบกวนสมาธิออกไป มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสม มีโต๊ะที่มีความสูงพอเหมาะและเก้าอี้ที่นั่งสบายไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป

  1. การจัดท่าของการอ่าน ตำแหน่งของหนังสือควรอยู่ห่างประมาณ 35-45 เซนติเมตร และหน้าหนังสือจะต้องตรงอยู่กลางสายตา ควรนั่งให้หลังตรงไม่ควรนอนอ่าน ทั้งนี้เพื่อให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เกิดการตื่นตัวต่อการรับรู้ จดจำ และอ่านได้นาน
  2. การจัดอุปกรณ์ช่วยในการอ่าน การอ่านอาจมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น กระดาษสำหรับบันทึกดินสอ ปากกา ดินสอสี
  3. การจัดเวลาที่เหมาะสม สำหรับนักศึกษาที่ต้องมีการทบทวนบทเรียนควรอ่านหนังสือในช่วงที่เหมาะสมคือช่วงที่ที่ไม่ดึกมาก คือ ตั้งแต่ 20.00 – 23.00 น. เนื่องจากร่างกายยังไม่อ่อนล้าเกินไปนัก หรืออ่านในตอนเช้า 5.00-6.30 น. หลังจากที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ในการอ่านแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 50 นาทีและให้เปลี่ยนแปลงอิริยาบถสัก 10 นาทีก่อนลงมืออ่านต่อไป
  4. การเตรียมตนเอง ได้แก่ การทำจิตใจให้แจ่มใส มีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ และมีสมาธิในการอ่าน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีสุขภาพสายตาที่ดี ตัดปัญหารบกวนจิตใจให้หมด การแบ่งเวลาให้ถูกต้อง และมีระเบียบวินัยในชีวิตโดยให้เวลาแต่ละวันฝึกอ่านหนังสือ และพยายามฝึกทักษะใหม่ๆ ในการอ่าน เช่น ทักษะการอ่านเร็วอย่างเข้าใจ เป็นต้น

การเลือกสรรวัสดุการอ่าน

การเลือกสรรวัสดุการอ่าน ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการอ่าน เช่น การอ่านเพื่อการศึกษา การอ่านเพื่อหาข้อมูลประกอบการทำงาน การอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน การอ่านเพื่อฆ่าเวลา การรู้จักเลือกวัสดุการอ่านที่มีประโยชน์จะช่วยให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ตามเป้าหมาย การเลือกสรรวัสดุการอ่านมีความสัมพันธ์กับการเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศในห้องสมุด เช่น

  1. การอ่านเพื่อความรู้ เช่น ตำราวิชาการ
  2. การอ่านเพื่อความบันเทิงใจ
  3. การอ่านเพื่อเป็นกำลังใจ เสริมสร้างปัญญา เช่น หนังสือจิตวิทยา หนังสือธรรมะ
  4. การอ่านเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

เมื่อเลือกวัสดุการอ่านหรือหนังสือได้แล้ว ก็จะต้องกำหนดว่าต้องการอะไรข้อมูลในลักษณะใดจาก

หนังสือเล่มนั้น ขอบเขตของข้อมูลในลักษณะกว้างหรือแคบแต่ลึกซึ้ง ทั้งนี้เพื่อกำหนดรูปแบบการอ่านเพื่อความต้องการต่อไป

 

วิธีการอ่านที่เหมาะสม

การอ่านมีหลายระดับและมีวิธีการต่างๆ ตามความมุ่งหมายของผู้อ่าน และประเภทของสื่อการอ่าน

การอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเขียนรายงาน อาจใช้วิธีอ่านต่าง ๆ เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การ

อ่านผ่าน การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุปความ และการอ่านวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การอ่านสำรวจ คือ การอ่านข้อเขียนอย่างรวดเร็ว เพื่อรู้ลักษณะโครงสร้างของข้อเขียน สำนวนภาษา เนื้อเรื่องโดยสังเขป เป็นวิธีอ่านที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกสรรสิ่งพิมพ์ สำหรับใช้ประกอบการค้นคว้า หรือการหาแนวเรื่องสำหรับเขียนรายงาน และรวบรวมบรรณานุกรมในหัวข้อที่เขียนรายงาน
  2. การอ่านข้าม เป็นวิธีอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจเนื้อหาของข้อเขียน โดยเลือกอ่านข้อความบางตอน เช่น การอ่านคำนำ สาระสังเขป บทสรุป และการอ่านเนื้อหาเฉพาะตอนที่ตรงกับความต้องการ เป็นต้น
  3. การอ่านผ่าน เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา (Scanning Reading) โดยผู้อ่านจะทำการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายในข้อเขียน เช่น คำสำคัญ ตัวอักษร หรือ สัญลักษณ์ แล้วอ่านรายละเอียด

เฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่

  1. การอ่านจับประเด็น หมายถึง การอ่านเรื่องหรือข้อเขียนโดยทำความเข้าใจสาระสำคัญในขณะที่อ่าน มักใช้ในการอ่านข้อเขียนที่ไม่ยาวนัก เช่น บทความ การอ่านเร็วๆ หลายครั้งจะช่วยให้จับประเด็นได้ โดยการอ่านมีเทคนิคคือ ต้องสังเกตคำสำคัญ ประโยคสำคัญที่มีคำสำคัญ และทำการย่อสรุปบันทึกประโยคสำคัญไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
  2. การอ่านสรุปความ หมายถึง การอ่านโดยสามารถตีความหมายสิ่งที่อ่านได้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจเรื่องอย่างดี สามารถแยกส่วนที่สำคัญหรือไม่สำคัญออกจากกัน รู้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น ส่วนใดเป็นความคิดหลัก ความคิดรอง การอ่านสรุป ความมีสองลักษณะคือ การสรุปแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละตอน และสรุปจากทั้งเรื่อง หรือทั้งบท การอ่านสรุปความควรอย่างอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งพอให้รู้เรื่อง แล้วอ่านละเอียดอีกครั้งเพื่อเข้าใจเรื่องอย่างดี หลักจากนั้นตั้งคำถามตนเองในเรื่องที่อ่านว่าเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องราว

อย่างไร แล้วเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสำนวนภาษาของผู้สรุป

  1. การอ่านวิเคราะห์ การอ่านเพื่อค้นคว้าและเขียนรายงานโดยทั่วไปต้องมีการวิเคราะห์ความหมายของข้อความ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนอาจใช้คำและสำนวนภาษาในลักษณะต่าง ๆ อาจเป็นภาษาโดยตรงมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ภาษาโดยนัยที่ต้องทำความเข้าใจ และภาษาที่มีความหมายตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องคำศัพท์และสำนวนภาษาดี มีประสบการณ์ ในการ อ่านมากและมีสมาธิในการอ่านดี ย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ตรงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ และสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดี

 

ลักษณะของนักอ่านที่ดี      

ผู้ที่จะเป็นนักอ่านที่ดี  ควรมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. มีสมาธิ
  2. มีสมรรถภาพในการอ่าน
  3. อ่านหนังสือเร็ว
  4. มีพื้นฐานความรู้ทางภาษาดี
  5. มีนิสัยรักการอ่านและชอบบันทึก
  6. มีความจำดี
  7. มีความรู้เรื่องการใช้ห้องสมุด
  8. ชอบสนทนากับผู้มีความรู้
  9. หมั่นทบทวนติดตาม เรื่องที่อ่านสม่ำเสมอ
  10. มีวิจารณญาณในการอ่าน
  11. อ่านทน
  12. อ่านเป็น

 

เคล็ดลับ 10 ประการที่ทำให้เป็นคนอ่านเร็ว

  1. เริ่มอ่านในตอนเช้า มีคำพูดที่ว่าคนเราสามารถมีสมาธิและอ่านได้นานขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเริ่มการอ่านตั้งแต่เช้าของวัน
  2. อ่านในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยอยู่ให้ห่างจากสิ่งที่ทำให้ไขว้เขว นั่นหมายถึงย้ายไปอยู่ห้องที่เงียบ ๆ ปิดทีวี วิทยุและโทรศัพท์มือถือ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ใกล้หน้าต่างหรือประตูเพราะเป็นที่ที่มีแนวโน้มที่จะมีเสียงรบกวน คุณไม่ควรปล่อยให้ลูกอ่านหนังสือในที่ที่สบายจนเกินไป เช่น บนเตียงนอนเพราะเป็นที่ที่ใจและกายเราต้องการจะพักผ่อน ลูกควรมีความรู้สึกตื่นตัวโดยนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ
  3. อ่านคร่าว ๆ เพื่อใจความหลัก ให้ลูกคุณทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างของสิ่งที่จะอ่าน อ่านสารบัญผ่าน ๆ มองหาหัวข้อและการแบ่งบท เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะสามารถบอกได้ว่าส่วนไหนควรอ่านโดยละเอียดและส่วนไหนสามารถอ่านแบบผ่าน ๆ ได้ ลูกคุณควรจะฝึกตีความใจความสำคัญของสิ่งที่อ่านโดยดูจากประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของย่อหน้า
  4. ใช้ตัวชี้ ลูกคุณอาจใช้ นิ้ว ปากกา หรือการ์ดเป็นตัวชี้ มันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของดวงตาโดยการใช้สิ่งชี้เพื่อนำสายตาเวลาอ่านระหว่างบรรทัดได้เร็วขึ้นและยังช่วยให้เข้าใจข้อมูลได้เร็วขึ้น
  5. ฝึกฝนการอ่านหลายคำในคราวเดียว ถึงแม้ว่าเราจะเคยถูกสอนให้อ่านทุกคำ ทุกตัวอักษรมาก่อน แต่มันไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภายในการอ่านเพราะไม่ใช่ว่าคำทุกคำจะสำคัญ ลูกคุณสามารถพัฒนาความเร็วในการอ่านได้อย่างมากด้วยการอ่านหลาย ๆ คำในบรรทัดในคราวเดียวกัน
  6. เรียนรู้ที่จะแยกแยะคำหลัก การเน้นความสนใจที่คำหลักในประโยคเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกพัฒนาความเร็วในการอ่าน ลูกคุณควรเรียนรู้ที่จะอ่าน “คำเสริม” อย่างผ่าน ๆ เช่น พวก คำเชื่อม อย่างคำว่า และ, แต่, ทั้ง ๆ ที่ ฯลฯ และควรมองหาคำซ้ำ คำที่ตัวอักษรหนา และคำที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของแนวคิดของเรื่องนั้น ๆ
  7. จดโน้ต ลูกคุณควรเขียนโน้ตสรุปความคิด ความเข้าใจคร่าว ๆ จากสิ่งที่อ่าน วิธีนี้ทำให้ลูกคุณกลับมาอ่านจากโน้ตได้โดยไม่ต้องไปอ่านซ้ำใหม่ทั้งหมด
  8. ฝึกตัวเอง ไม่ให้อ่านซ้ำ คนส่วนใหญ่จะหยุดและอ่านประโยคหรือข้อความเดิมซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจความหมายอย่างถูกต้อง แต่การกระทำนี้อาจทำให้ติดเป็นนิสัยและจริง ๆ แล้วการอ่านซ้ำก็ไม่จำเป็น
  9. หยุดพักเมื่อเหนื่อย หากลูกคุณอ่านในเวลาที่พวกเขารู้สึกเหนื่อย มันจะทำให้การอ่านและการทำความเข้าใจของพวกเขาช้าลง และการอ่านนี้จะจบลงอย่างเสียเวลาเปล่า เนื่องจากเด็ก ๆ จะไม่สามารถจับใจความจากสิ่งที่อ่านได้ ดังนั้นควรให้ลูกคุณหยุดพักจากการอ่านในระยะเวลาสั้น ๆ และกลับไปอ่านใหม่หลังจากได้พักเพียงพอแล้ว
  10. หมั่นฝึกฝน ท้ายที่สุด ฝึกเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อค้นหาว่าวิธีไหนที่เหมะกับลูกของคุณที่สุด

 

การอ่านจับใจความ

การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วน

ใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง

ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด

ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุด

เพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญ

ของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือสิ่งที่เป็น

สาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง

ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ไดจุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้าโดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลังสำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความสังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง

 

แนวการอ่านจับใจความ

การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้

  1. ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือเพื่อบอกเจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  2.   สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้กว้างขวางและรวดเร็ว
  3.   ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย
  4. ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ

อย่างถูกต้องรวดเร็ว

  1. ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบจะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

 

ขั้นตอนการอ่านจับใจความ

  1. อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง
  2. อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำ

ให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน

  1. อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง
  2. เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง

 

 

 

วิธีการอ่านข้อความง่าย ๆ  มีดังนี้

  1. อ่านไป 1 รอบก่อน
  2.   อ่านรอบที่ 2 แล้วตั้งคำถามว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร (who,  what, when , where , why )  เขียนไว้ข้างๆโจทย์ เราจะได้จำได้ ไม่หลงลืม
  3. ตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกทีละข้อ (ควรจะหัดทำข้อสอบการอ่านให้มาก ๆ จะได้รู้หลักการทำและเกิดทักษะและเกิดความกระจางในความคิด
  4. เมื่อเราทราบจุดประสงค์แล้วก็ทำ ให้เลือกคำตอบได้ว่าข้อใดควรจะเป็นชื่อเรื่องมากที่สุด

 

การอ่านกับวิธีจำ

ผู้ประสบความสำเร็จทางการศึกษา ในทุกสาขาวิชา จะมีคุณสมบัติที่เหมือนกันข้อหนึ่งคือ รักการอ่าน และ สามารถจับใจความได้เร็ว เพราะการอ่าน เป็นวิธีหาความรู้ใส่ตัวที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด ประหยัดที่สุด

ทุกครั้งที่จะอ่าน ควรจินตนาการล่วงหน้าถึงเรื่องที่จะอ่านก่อนว่าเกี่ยวข้องกับอะไร การอ่านด้วยวิธีนี้จะทำให้จำแม่น จำเฉพาะเนื้อหาสำคัญ และมองภาพองค์รวมแบบแผนผังได้ (mind mapping) โดยมีศูนย์กลางเริ่มต้นจากส่วนที่สำคัญที่สุด แล้วแตกแขนงไปที่ส่วนประกอบอื่นๆ

การอ่านเป็นภาพ จะช่วยให้จำแม่น เช่น ในเด็กเล็กที่อ่าน ก.เอ๋ยกอไก่ หรือ A แอ๊นท์ มด ก็คือ การแปลงอักษรให้เป็นภาพ ทุกครั้งที่นักเรียนท่อง ภาพไก่ กับ ภาพมดจะผุดขึ้นมา ทำให้จำได้ง่ายขึ้น

การจำเป็นภาพ เมื่อเวลาเรียกข้อมูลย้อนกลับขึ้นมา ก็จะออกมาเป็นภาพ เปรียบเสมือนการเปิดคลิปวิดีโอ ที่เก็บสะสมไว้ในสมอง แต่ถ้าจำเป็นคำ ก็เหมือนกับการเปิดไฟล์ตัวอักษรที่เก็บไว้ ซึ่งรายละเอียดน้อยกว่ากันมาก

ขณะอ่านทุกครั้ง ควรพักเป็นระยะๆ เพื่อหลับตา และจินตนาการถึงภาพที่ได้จากการอ่าน เป็นการเห็นเรื่องที่อ่านโดยใช้ตาใน ซึ่งในทางการแพทย์พบว่า ภาพที่เห็นขณะหลับตา สมองจะเก็บไว้เป็นความทรงจำระยะยาว

ข้อมูลบางอย่าง การนำมาเขียนในรูปของแผนผัง แผนภาพ จะเข้าใจง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการจับสลากแบ่งสายในการแข่งขันฟุตบอลโลก จะมีการเขียนเป็นแผนภาพ โยงไปมาเพื่อให้ผู้ชมสามารถจำได้ภายในครั้งเดียว

ในการอ่าน ถ้าสามารถนำข้อมูลที่อ่านมาเขียนเป็น แผนภูมิ แผนผัง กราฟ หรือใช้ตารางทางสถิติ จะช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้น การนำข้อมูลในหนังสือเรียน มาทำเป็นภาพ ตารางหรือกราฟ ด้วยตนเอง จะมีประโยชน์มาก

ส่วนการอ่านวิชาที่ต้องท่องจำมากๆ อาจจะใช้เทคนิคช่วยจำได้ เช่น ถ้าต้องการจำตัวอักษร ค ต ล ข ร ม โดยห้ามสลับตำแหน่ง การจำโดยตรงจะยากมาก ให้จำเป็นประโยค “คนตัวเล็กขับรถเมล์ ” แล้วจินตนาการภาพรถเมล์ที่มีคนตัวเล็กกำลังขับอยู่ เทคนิคนี้จะทำให้จำได้แม่น ในกรณีที่เป็นภาษาอังกฤษก็เช่นกัน สมมติว่าต้องการจำ ตัวอักษรตัวแรกของหัวข้อที่อ่าน 5 หัวข้อ คือ t,a,m,s,o,f,h ให้นำมาแต่งเป็นประโยค “ There are many sand on father’s head ” แล้วก็นึกถึงภาพพ่อที่มีทรายอยู่เต็มศีรษะ

อีกเคล็ดลับ สำหรับการจำตัวเลข ก็คือ ให้แปลงจำนวนตัวเลขเป็นจำนวนพยัญชนะ เช่น ต้องการจำตัวเลขชุดหนึ่ง ได้แก่ 52146233 จะแต่งเป็นประโยคได้ว่า “ There is a bird flying in the sky” จำนวนตัวอักษรของแต่ละคำ คือตัวเลขที่จะจำ แล้วจินตนาการให้เห็นภาพนกกำลังบินบนท้องฟ้า การจำเป็นภาพ แม้จะได้ดูตัวเลขนี้เพียงครั้งเดียว รอบเดียว ก็สามารถจำไปได้หลายปีหรืออาจจะตลอดไป

ถ้าต้องการจำชื่อจังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี ( P ) ลพบุรี ( L ) นนทบุรี ( N ) ราชบุรี ( R ) สุพรรณบุรี ( S ) กาญจนบุรี ( K ) สมุทรสงคราม ( S ) สมุทรสาคร ( S ) อ่างทอง ( A ) สระบุรี ( S ) ชัยนาท

( C ) สิงห์บุรี ( S ) อยุธยา ( A ) เราสามารถนำตัวย่อมาเรียงเป็นประโยค “ L RAK P NAC 5 ส ” (อ่านว่า แอล รักพี่แน็ค 5 ส.) ซึ่งการเรียงประโยคหรือตัวย่อไม่จำเป็นต้องถูกหลักไวยากรณ์ เพียงแต่ขอให้จำได้ก็พอ และลักษณะประโยคของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ภูมิหลัง ประสบการณ์ ความทรงจำเก่าๆ ระดับการศึกษา ฯลฯ เมื่อจำประโยคได้ ก็ให้นำมาจินตนาการยามว่าง เช่น บนรถเมล์ ตอนพักกลางวัน ฯลฯ ว่า

“ แอลรักพี่แน็ค ” หมายถึงจังหวัดอะไรบ้าง และ “ 5ส ” คือจังหวัดอะไร

 

อ่านย้อนกลับ

ตามปกติคนเราจะอ่านหนังสือจากหน้าไปหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเรื่องสั้น หรือนวนิยาย การอ่านบทสรุปหรือตอนจบก่อน เป็นเรื่องที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด แต่ การอ่านเพื่อการเรียนรู้ จะตรงกันข้าม ยิ่งรู้รายละเอียดล่วงหน้ามากเท่าไหร่ จะทำให้ประสิทธิภาพของการอ่านเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อต้องการจะเริ่มต้นอ่าน ให้มองไปที่ส่วนท้ายของบทความหรือหนังสือก่อน บทสรุปส่วนใหญ่จะอยู่ที่ส่วนท้ายของแต่ละบท แต่ละตอน รวมไปถึง บทคัดย่อ สารบาญ และคำนำของผู้เขียน การเข้าใจเนื้อหาอย่างคร่าวๆ จะทำให้สามารถจับจุดสำคัญของสิ่งที่กำลังจะอ่านได้ บทสรุปที่บันทึกไว้ในสมองล่วงหน้า จะช่วยให้รู้ว่า ส่วนไหนของเนื้อหาที่สำคัญ และควรเน้นอ่านเป็นพิเศษ ผู้บริหารบางคนจะให้เลขา ช่วยสรุปให้ เลขาที่สรุปเก่งๆ เงินเดือนสูงมาก เพราะสามารถแบ่งเบาภาระของผู้บริหารได้

ในการอ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้น ถ้าอ่านตอนจบก่อน ความสนุกจะหายไปทันที ซึ่งตรงกันข้ามกับการอ่านหนังสือเพื่อการเรียนรู้ ถ้าอ่านตอนจบก่อน กลับจะทำให้ความสนุกในการเรียนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อรู้ผล สมองจะพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุโดยอัตโนมัติ เช่นในการอ่านนวนิยาย ถ้ารู้ก่อนแล้วว่าพระเอกจะถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตในตอนจบ เมื่อย้อนกลับมาอ่านอย่างวิเคราะห์จากต้นเรื่อง สมองจะพยายามมองหาเงื่อน วิเคราะห์ถึงบุคลิก นิสัยใจคอ บุคคลใกล้ชิด สิ่งแวดล้อม หาเหตุและปัจจัย ที่จะทำให้พระเอกต้องมาเสียชีวิตในบั้นปลาย อย่างละเอียด ทำให้จับส่วนสำคัญได้ สามารถปะติดปะต่อเรื่องราว ได้อย่างชัดเจน และขณะอ่าน สายตาจะสะดุดที่บทของพระเอกเป็นหลัก ส่วนตัวประกอบอื่นๆ จะแยกย่อยออกไป เช่นเดียวกับการอ่านหนังสืออื่นๆ พยายามหาส่วนสำคัญที่สุดหรือพระเอกของเนื้อหานั้นให้ได้ก่อนจากบทสรุป

การอ่านนวนิยาย เรื่องสั้นหรือนิทาน เราต้องการรู้ว่า ถ้าเหตุและปัจจัย เป็นแบบนี้ แล้ว ผลสรุปตอนจบ จะเป็นอย่างไร แต่การอ่านเพื่อการเรียนรู้จะตรงกันข้าม คือ ต้องการรู้ว่า ถ้าผลสรุปเป็นแบบนี้ มันมีเหตุและปัจจัย มาจากอะไร

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ง่ายกว่าการอ่านหนังสืออื่น เนื่องจาก มีบทสรุปจากส่วนพาดหัวที่ใช้ภาษาอย่างเร้าใจ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสนใจ เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะอ่านข่าวเรื่องอะไร ความสนใจบวกกับการรู้บทสรุปล่วงหน้า ทำให้การอ่านง่ายขึ้น เช่น ข่าวกีฬาที่พาดผลการแข่งขันว่า

“ กังหันเชือดคอไก่ 3 -2 ” หมายความว่า ในการแข่งขันฟุตบอลฮอลแลนด์ชนะฝรั่งเศส 3 – 2 เมื่อรู้ผลสรุปก่อนแล้วค่อยอ่านจะทำให้การอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เพียงรอบเดียวก็จำรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะเรารู้ผลสรุปก่อน แล้วจึงค่อยอ่านเพื่อหาเหตุปัจจัย ว่าทำไม กังหันเชือดคอไก่