พระพุทธเจ้า เปรียบบัวกี่เหล่า

เรื่องนี้มีที่มา จากเรื่องในพุทธประวัติที่ว่า ท้าว สหัมบดีพรหมมาอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดสัตว์โลก ซึ่งระพุทธเจ้าได้พิจารณาสัตว์โลกอุปมาเหมือนดอกบัวในแง่มุมต่างๆ ก่อน ที่จะตอบรับอาราธนาท้าวสหัมบดีพรหม

ส่วนใหญ่เข้าใจว่า ดอกบัวที่พระพุทธเจ้าทรง พิจารณามีด้วยกัน 4 เหล่า บางกลุ่มแย้งว่าที่ถูกมี 3 เหล่า เรื่องนี้สรุปได้ดังนี้

กลุ่มที่บอกว่าบัว 3 เหล่า เพราะอ้างอิงจากพระไตรปิฎก ซึ่งเหตุการณ์ในตอนนี้มีหลายจุดที่ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึง พุทธประวัติหลังตรัสรู้ เช่น ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ (พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ ), ในปาสราสิสูตร  และ ในโพธิราชกุมารสูตร

ซึ่งสรุปจากพระสูตรได้ว่า

ทรงอุปมา สัตว์โลกดังดอกบัว 3 เหล่า (ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือดอกบุณฑริกใน กอบุณฑริก) อยู่ในน้ำ 3 ระดับ (คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และพ้นน้ำ)

กลุ่มที่บอกว่าบัว 4 เหล่าเพราะอ้างอิงจาก อรรถกถา
เช่น อรรถกถาปาสราสิสูตร กล่าวว่า
ในดอกอุบลเหล่านี้เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่ เหล่า นั้นคอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่า ใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมอยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำธรรมชาติเลี้ยงไว้ เหล่านั้นก็จะบานในวันที่ ๓. ส่วนดอกอุบลที่อยู่ ในสระเป็นต้น แม้เหล่าอื่นอยู่ใต้น้ำยังมีอยู่ เหล่าใดจักไม่บานเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ ยังไม่ขึ้นสู่บาลี (ไม่อยู่ในพระไตรปิฎก) ก็พึงแสดง เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ ๔ อย่างเหล่านั้นฉันใด แล้วก็เปรียบกับ บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ในบุคคล ๔ เหล่านั้น
1) บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อม กับเวลายกหัวข้อธรรม บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู.
2) บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียก ว่า วิปัจจิตัญญู.
3) บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดย อุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ส้องเสพคบหาเข้าใกล้ กัลยาณมิตร จึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ.
4) บุคคลใดฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำ มากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ

พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้ สำเร็จประโยชน์ในอัตตภาพนี้เท่านั้นแก่บุคคล ๓ ประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้น ปทปรมะมี วาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล

โดยสรุปคือสัตว์ใน 3 แดนโลกธาตุแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พอสอนให้บรรลุธรรมได้ (ภัพพบุคคล) และกลุ่มที่สอนให้บรรลุธรรมไม่ได้ (อภัพพบุคคล) คือ พวก ปทปรมะ แต่พอเป็นปัจจัยใน ชาติต่อๆไป

ซึ่งในกลุ่มภัพพบุคคลนี้ ได้แก่ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู และ เนยยะ. อรรถกถาบอกว่า บุคคลเหล่านี้มีจริต 6 จริต คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริตและพุทธิจริต.

ส่วนกลุ่ม อภัพพบุคคล หรือ ปทปรมะ ซึ่ง ยังแปลว่า มีบทหรือหนทางที่ยาวไกลกว่าจะตรัสรู้ อาจจะมี ทั้งพวกที่ดี เช่น พวกพระโพธิสัตว์, พวกที่ปรารถนาเอตทัตคะ หรือ อัครสาวก, กัลยาณปุถุชน  และพวกที่ไม่ดี เช่น พวก มิจฉาทิฏฐิ ก็ได้ ไม่ใช่พวกที่ไม่ดีอย่างเดียว อย่างที่หลายคนเข้าใจ

สรุป

ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าเล่าพุทธประวัติด้วย
พระองค์เอง ว่าพิจารณา ดอกบัว 3 เหล่า คือบัวปทุม
บัวอุบล บัวบุณฑริก บางดอกของแต่ละเหล่า อยู่
ในน้ำ 3 ระดับ คือ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และ พ้นน้ำ

แต่อรรถกถาเป็นแบ่งเป็น 4 เหล่าโดยแบ่งตาม
ระดับที่อยู่ในน้ำ คือ พื้นน้ำ ในน้ำ ปริ่มน้ำ และ
พ้นน้ำ เปรียบเทียบกับคน 4 จำพวกคือ ปทปรมะ
เนยยะ วิปัจจิตัญญู และ อุคฆฏิตัญญู ตามลำดับ

 อ้างอิง

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ (พระไตรปิฏกเล่มที่ ๔ )

ปาสราสิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=5384&Z=5762)

โพธิราชกุมารสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระ สุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7663&Z=8236)

เรามักได้ยินได้ฟังเสมอที่มีผู้พูดว่า “เปรียบด้วยพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า”
ขอเน้นตรงที่ “พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า”
อันนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ เป็นดอก บัว ๓ เหล่า เท่านั้นครับ ๔ เหล่าไม่มี ที่ ๔ เหล่านี้เป็นเนื้อความในอรรถกถาหลายแห่ง เหมือนกันที่ท่านอธิบายบุคคล ๔ จำพวก
บุคคล ๔ จำพวกที่พระพุทธเจ้าตรัสทรงแสดงไว้ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุก- นิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๓๓
ประเภทที่ ๑ อุคติตัญญู คนที่รู้อะไรได้เร็ว เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดงก็รู้ได้ อย่างที่พระอัสสชิแสดงธรรมแก่พระสารีบุตรหรือท่านอุปติสสะ ตอนนั้นยังเป็นปริพาชก อยู่ พระอัสสชิยกหัวข้อขึ้นแสดงเพียงแต่ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับของธรรมเหล่านั้นเพราะเหตุดับไป พระมหาสมณะคือพระพุทธเจ้า มีปกติตรัสอย่างนี้”
เพียงเท่านี้ท่านอุปติสสะหรือพระสารีบุตรในกาลต่อมาก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผล
ประเภทที่ ๒ วิปจิตัญญู ต้องจำแนก แจกแจงหัวข้อให้ละเอียดแล้วจึงจะเข้าใจ เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดงไม่สามารถเข้าใจได้ ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ ต้องแจงหัวข้อออกไปให้ละเอียด
ประเภทที่ ๓ เนยยะ เป็นพวกที่พอแนะนำได้ เป็นเวไนยโย เป็นบุคคลที่พอแนะนำได้ ต้องคอยพร่ำสอนกันไปเรื่อยๆ บ่อยๆ
ประเภทที่ ๔ ปทปรมะ ตามตัวแปลว่ามีบทเป็นอย่างยิ่ง คือ สอนให้รู้อะไรมากไม่ได้ พอรู้ได้บ้างเล็กน้อย
นี่แหละครับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวกเอาไว้ ทีนี้ พระอรรถกถาจารย์ไปอธิบาย ๔ จำพวกนี้เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า
บุคคลประเภทที่ ๑ อุคติตัญญูเปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว รอรับ แสงอาทิตย์พร้อมที่จะบาน เมื่อรับแสงอาทิตย์ก็บาน
บุคคลประเภทที่ ๒ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ ซึ่งจะโผล่มาพ้นน้ำในวันต่อไป
บุคคลประเภทที่ ๓ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ จะโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำในวันต่อไป
บุคคลประเภทที่ ๔ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ติดตม หรือดอกบัวใต้ตม ซึ่งจะตกเป็นเหยื่อของปลาและเต่า
อันนี้เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ มีในอรรถกถาหลายแห่ง เช่น อรรถกถา-ทีฆนิกาย อรรถกถามัชฌิมนิกาย อรรถกถาสังยุตนิกาย ก็ปรากฏพระอรรถกถาจารย์อธิบายเอาไว้
แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภจริงๆ นั้น ท่านปรารภถึงดอกบัว ๓ เหล่าเท่านั้น ไม่มี เหล่าที่ ๔!!
ในวินัยปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๙ พระคันธรจนาจารย์ได้เล่าถึงพุทธประวัติสั้นๆย่อๆ มาถึงตรงที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาที่จะไปโปรดหมู่สัตว์ ซึ่งหมู่สัตว์ทั้งหลายมีอินทรีย์แก่บ้างอ่อนบ้าง มีปัญญาที่พอจะแนะนำได้เร็วบ้าง แนะนำได้ช้าบ้าง มีอาการดีบ้าง มีอาการทราม บ้าง พอสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง สอนให้รู้ได้ยากบ้าง เปรียบเหมือนดอกบัวซึ่งมี ๓ เหล่า คือ เหล่าที่ ๑ ก็โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ เหล่าที่ ๒ ก็อยู่ปริ่มน้ำ เหล่าที่ ๓ ก็อยู่ใต้น้ำ มีเท่านี้ครับ ดอกบัวที่อยู่ติดตมไม่มี พระพุทธเจ้าไม่เคยปรารภ ไม่เคยตรัสถึง ไม่เคยพูดถึง
ทีนี้ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๒๓ ชื่อปาสราสิสูตร พระพุทธเจ้าทรงเล่าเอง ทรงเล่าความเป็นมาของพระองค์ตั้งแต่ปรารภที่จะเสด็จออกบรรพชา เรื่อยมาจนถึงตรงนี้ คือ ทรงปรารภจะโปรดสัตว์ พระพรหมมาอารธนาให้แสดงธรรม ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๑๑๕ ก็ มีข้อความเหมือนกัน และปรากฏในสังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๕๕๗ อันนี้ พระคันธรจนาจารย์เป็นผู้เล่า
ตกลงว่าที่พระพุทธเจ้าทรงเล่ามี ๒ แห่ง คือในปาสราสิสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ กับโพธิราชกุมารสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ นอกนั้นเป็นคำที่พระคันธรจนาจารย์ผู้รจนา คัมภีร์ได้เล่าเอาไว้ แต่เนื้อหาเหมือนกันทั้ง ๔ แห่ง ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เพียงแต่ปรากฏอยู่ในที่ต่างกัน พระพุทธเจ้าทรงเล่าเองบ้าง พระคันธรจนาจารย์เป็นผู้เล่าบ้าง
คราวนี้ลองมาพิเคราะห์ดูที่เราพูดกันทั่วไปเกือบจะทั้งบ้านทั้งเมือง “พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเปรียบเหมือนดอกบัว 4 เหล่า” นี่ก็คงเอามาจากอรรถกถาที่พระพุทธเจ้า ตรัสจริงๆ หรือแม้แต่พระคันธรจนาจารย์ เล่า แต่ปรารภว่าพระพุทธเจ้าทรงปรารภก็จะเป็นดอกบัว ๓ เหล่าตลอด ไม่เป็นดอกบัว ๔ เหล่า
ผมมาวินิจฉัยตรงปทปรมะ ที่เปรียบเหมือนดอกบัวที่ติดตม มีแต่จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่าตามที่ว่าไว้ในอรรถกถา สำหรับดอกบัวนั้นเป็นไปได้ที่มันอยู่ติดตม ก็จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่า แต่พอเรามาพิจารณาถึงบุคคล บุคคลที่เกิดมาแล้วพัฒนาได้ มันจะไม่สูญไปเลยเหมือนดอกบัวเหล่าที่ ๔ ดอกบัวเหล่าที่ ๔ พอปลาหรือเต่ากินแล้วมันก็จะสูญไปเลย
แต่บุคคลประเภทปทปรมะนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เราทิ้งบุคคลประเภทนี้ สอนได้ ยาก รู้อะไรได้ยาก แต่สอนได้ คนทุกจำพวกสอนได้ จะสอนได้เร็ว สอนได้ปานกลาง หรือสอนได้ช้าก็ตาม สมมติว่าในชาตินี้เขาเกิดมาเป็นปทปรมะ รู้อะไรได้ช้า สอนให้รู้ได้ช้า แต่ในโอกาสต่อไปเขาค่อยๆพัฒนาขึ้นทีละน้อยๆ เขากลายเป็นคนฉลาดได้ คือมนุษย์เรานี้บางชาติก็ฉลาด บางชาติก็โง่ ดูตัวอย่างพระจูฬปันถก บางชาติก็ฉลาด บางชาติก็โง่แสนโง่ ในชาติที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็โง่เหลือเกินเกือบจะเป็นปทปรมะทีเดียว แต่เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงโปรดให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงบุคคลประเภทที่ ๔ คือปทปรมะก็จริง แต่ไม่น่าจะเปรียบด้วยดอกบัวเหล่าที่ ๔ ซึ่งจะต้องเป็นเหยื่อของปลาและเต่า เพราะว่าดอกบัวเกิดมาแล้วอยู่ติดตม และถ้าเป็นอาหารของปลาและเต่าแล้วก็หายไปเลย ปรากฏอีกไม่ได้ แต่คนเราพัฒนาได้ อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า บางชาติจะเป็นคนโง่ บางชาติจะเป็นคนฉลาด หรือคนที่โง่มาก่อน ถ้าพัฒนาให้ถูกต้องก็จะค่อยๆ ฉลาดขึ้นได้ทำนองนี้ ทางพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราทอดทิ้งบุคคลประเภทนี้ แต่ให้ค่อยๆ สอนไป แล้วเขาก็จะดีได้เหมือนกัน อันนี้เป็นวินิจฉัยของผมครับสำหรับเรื่องดอกบัว ๓ เหล่า หรือดอกบัว ๔ เหล่า
ขอได้โปรดจำไว้เพียงว่า อย่าพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า ถ้าเปรียบด้วยดอกบัวก็เปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าบุคคลเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า แต่ถ้าจะพูดว่าเปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า ก็ไม่พูดว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัส เป็นแต่เพียงว่าเป็นข้อความที่ปรากฏในอรรถกถา
ทั้งนี้ขอเสนอให้เป็นแง่คิดเอาไว้นะครับ เรื่องดอกบัว ๓ เหล่า หรือ ๔ เหล่า ที่ถูกต้อง
(จากหนังสือสิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง)

(จาก ธรรมลีลา ฉบับ 104 กรกฎาคม 52 โดยอาจารย์วศิน อินทสระ)