ชุดสีน้ำตาลทอง รองเท้าสี อะไร

หากคุณผู้อ่านเป็นผู้ชายที่คุ้นชินกับการแต่งกายในแนว Classic Men’s Wear รวมถึงชื่นชอบการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบ Formal เช่น ชุดสูทหรือทักสิโด้ MenDetails เชื่อว่าคุณเองน่าจะคุ้นเคยกับคำเตือนที่แทบทุกสำนักแฟชั่นและสไตล์ของผู้ชายมักบอกตรงกันว่า “อย่านำสีดำและสีน้ำตาลมาใช้ร่วมกัน” เช่น ไม่ควรใส่ชุดสูท หรือกางเกงขายาวสีดำ คู่กับรองเท้าหนังสีน้ำตาล และในทางกลับกันก็ไม่ควรใส่กางเกงขายาวสีนำ้ตาลไม่ว่าจะอ่อนหรือเข้ม คู่กับรองเท้าหนังสีดำ เป็นต้น


กูรูแฟชั่นมักแนะนำให้ผู้ชายใช้รองเท้าหนังสีน้ำตาลคู่กับชุดสูทสีกรมท่า และหลีกเลี่ยงการใส่กับสูทสีดำทุกกรณี

แต่ถ้าถามต่อไปว่า “ทำไมล่ะ?” ก็ในเมื่อเราอยากใส่สีดำคู่กับสีน้ำตาล เพราะรู้สึกว่ามันก็ดูสวยงามดี ไม่เห็นจะมีปัญหาตรงไหน ทำไมจะใส่ไม่ได้? คำถามนี้เองจึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ที่จะรวบรวมข้อมูล และเกร็ดเล็กน้อยจากความเข้าใจของ MenDetails เพื่อที่จะพยายามอธิบายให้ทราบกันว่า เบื้องหลังของการไม่นิยมใช้สีดำคู่กับสีน้ำตาลนั้น มันมีที่มาอย่างไร และสมควรไหมที่เราจะ ‘Break the rule’ หรือโยนกฎข้อนี้ทิ้งไปจากสารบบเสียทีในยุคปัจจุบัน


Old British Gents said “No Brown in Town”

ต้นกำเนิดของเครื่องแต่งกายในรูปแบบ Classic men’s wear มักมีที่มาจากประเทศอังกฤษเป็นสำคัญ และคนอังกฤษโดยเฉพาะชนชั้นสูงทั้งหลายนั้นก็ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของการตั้ง “กฎเกณฑ์พิธีรีตอง” มาใช้กำหนดแกมบังคับ ให้เกิดการแต่งกายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รูปแบบหนึ่งของกฎเกณฑ์ที่เรามักพบเจอกันเป็นประจำนั่นก็คือ “ลำดับชั้นของความสุภาพและความเป็นทางการของเครื่องแต่งกาย” ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, กางเกง, รองเท้า หรือแม้แต่ “หมวก” ก็โดนจัดลำดับเช่นกัน ซึ่งแม้หลายครั้งจะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่สุดท้ายก็ได้รับการยอมรับและนำไปใช้กันแพร่หลายในสังคมผู้ชายในอังกฤษโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงลอนดอนเสมอมา


สีน้ำตาลสำหรับ Classic Men’s Wear จากทางอังกฤษนั้น ถือเป็นสีที่สะท้อนความเป็น “ชนบท” (Countryside)


เสื้อแจ็กเก็ตสำหรับกิจกรรมล่าสัตว์ของผู้ชายยุคก่อนหน้านี้ จะใช้ผ้า Tweed และแน่นอนว่านิยมใช้ “สีน้ำตาล” เป็นหลัก


รองเท้าเจาะรู หรือ Brog ของทางไอร์แลนด์ เป็นรองเท้าที่เกษตรกรใส่ในชนบท และมักมีสีน้ำตาล ซึ่งไม่นิยมใส่เข้าเมือง

และหากเป็นเรื่องของ “สีสัน” ในการแต่งกาย โดยดั้งเดิมชาวอังกฤษแบ่งแยกสีดำและสีน้ำตาลออกจากกันอย่างชัดเจน British Gentlemen ยกสีดำให้เป็นสีที่สุภาพที่สุดและเป็นทางการที่สุด ขณะเดียวกันก็ผลักไสสีน้ำตาลให้เป็นสีลำดับรอง ที่สงวนไว้สำหรับเกษตรกร และกิจกรรมลำลองยามว่างของตัวเองในชนบท เช่นเวลาเดินเที่ยวเล่นในป่าในสวน หรือออกล่าสัตว์หาความเพลิดเพลินด้วยเหตุนี้ “สีน้ำตาล” จึงกลายเป็น “สีต้องห้าม” ที่ British Gentlemen ในยุคสมัยก่อนนั้น ไม่เอามาสวมใส่ในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงลอนดอน ที่จะสงวนไว้สำหรับเครื่องแต่งกายที่สุภาพและเป็นทางการสูง ตัวอย่างเช่น พวกเขามักจะใส่ชุดสูทสีดำ หรือสีเทาเข้ม Charcoal Grey และรองเท้าสีดำสนิทเท่านั้น อันเป็นที่มาของกฎแห่งสไตล์ที่บอกว่า “No Brown in Town” หรือ “อย่าใส่สีน้ำตาลเข้าลอนดอน” นั่นเอง


ชายชาวอังกฤษมักนิยมใส่สูทสีเทา หรือสีกรมท่า ยามเดินทางหรืออาศัยในเมืองใหญ่ และเก็บสีน้ำตาลไว้ใส่ในชนบทหรือต่างจังหวัด


“เพราะเรามันคนละชั้น”

ลำดับความลำลองที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงของสีดำและสีนำ้ตาลนี่เอง ที่มีส่วนทำให้การแต่งกายด้วยสีดำกับสีน้ำตาลคละเคล้าปะปนในชุดเดียวกันนั้น เป็นอะไรที่สังคมในขณะนั้น “รับไม่ได้” การใส่สูทสีดำ คู่กับรองเท้าสีนำ้ตาล เหมือนเป็นการพยายามผสมความสุภาพกับความลำลองของชนบทเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ความเคร่งครัดกฎระเบียบการแต่งกายในสมัยก่อนนั้น “ตั้งแง่” และอาจโดนดูแคลนว่าแต่งกายอย่างไม่มีความรู้และไม่มีกาลเทศะเหมือนพวก “บ้านนอกเพิ่งเข้ากรุง” ก็ไม่ปาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความเจ้ายศเจ้าอย่างของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวก็มีมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ยึดถือกันมาตลอดในสังคมของการแต่งกายแบบ Formal Wear สำหรับผู้ชาย


เส้นแบ่งของ Formal และ Casual ที่ไม่ชัดเจนอีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน

วิวัฒนาการของสไตล์และแฟชั่นสำหรับผู้ชาย ค่อยๆ คลี่คลายไปในแนวทางของความลำลอง (Casual) ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆในยุคปัจจุบัน การเติบโตของชนชั้นกลาง ที่ไม่ได้มีพื้นฐานผู้ดีอังกฤษยุคเก่าหัวโบราณ รวมถึงการถือกำเนิดของรัฐชาติใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันอะไรกับกฎเกณฑ์ “No Brown in Town” แบบสุภาพบุรุษผู้ดีอังกฤษ ทำให้สีน้ำตาล และสีอื่นๆ ไม่ได้ดูด้อยกว่าสีดำเท่าไหร่นัก ขอให้เป็นชุดสูทกับรองเท้าหนังก็พอแล้ว นั่นทำให้ความเคร่งครัดเรื่อง “สีดำไม่เข้ากับสีน้ำตาล” ในเชิงกาลเทศะนั้น ค่อยๆถดถอยลงไป เหลือเพียงเหตุผลในแง่ของสีสัน ที่กูรูด้านสไตล์ มักยืนยันว่าสีดำกับสีนำ้ตาลนั้น มีเฉดสีที่เข้ากันได้ไม่ดี เพราะสีน้ำตาลเข้มก็ดูกลมกลืนกับสีดำเกินไป กลับกันสีน้ำตาลอ่อนหรือสีแทนก็ดูจะตัดกับสีดำแบบ “แปลกๆ” และไม่เป็นที่ถูกใจของแฟชั่นนิสต้าเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องของ “รสนิยมส่วนตัว” ที่ไม่มีเรื่องของความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมเข้ามาข้องเกี่ยวมากนักอีกแล้ว ด้วยเส้นแบ่งของความ Formal และ Casual ที่ไม่ชัดเจนอย่างยิ่งในปัจจุบัน “ถ้าผู้ชายสมัยนี้สามารถใส่รองเท้า Sneakers กับชุดสูท ไปงานกลางคืนได้ แล้วจะแคร์อะไรกับกฎโบราณๆ อย่างสีดำไม่เข้ากับสีน้ำตาลอีกเล่า?” 


การใส่สวมใส่ชุดสูทกับเสื้อยืดและรองเท้า Sneakers แบบนี้ ถือเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์หากเรายึดกฎระเบียบแบบตายตัว แต่ในปัจจุบันที่เส้นแบ่งของความสุภาพและความลำลองเริ่มจางลง การแต่งกายแนวนี้เป็นที่ยอมรับว่าดูดีได้เช่นกัน นี่จึงทำให้เรื่องของสีดำ VS สีน้ำตาลก็ดูกลายเป็นเรื่องเล็กๆ เด็กๆ ไปเองในที่สุด


รู้กฎ รู้เกณฑ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำตาม และรู้ว่าเมื่อไหร่ควร “แหกกฎ”

หากถามว่าผู้ชายในยุคปัจจุบันควรจะสนใจกฎเกณฑ์ที่ระบุว่า “สีดำไม่เข้ากับสีน้ำตาล” หรือไม่? คำตอบคือ “ควรรู้อย่างยิ่ง แต่ไม่ต้องใช้มันจริงๆ ตลอดเวลาก็ได้” เพราะเมื่อเรารู้ที่มาแล้วว่ามันมีเรื่องของกาลเทศะเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นยามใดที่เราต้องแต่งตัวอย่างสุภาพมากๆ เช่น ใส่ชุด Tail Coat ในงานที่มี Dress Code ระดับ White Tie หรือชุดทักสิโด้ สำหรับงานที่มี Dress Code ระดับ Black Tie หรือหากคุณมีอาชีพผู้พิพากษา หรือทนายความรับว่าความในศาลยุติธรรม หรือเป็นข้าราชการระดับสูงที่อาจต้องใส่สูทเพื่อเข้าเฝ้าเชื้อพระวงศ์ และร่วมงานพระราชพิธีต่างๆ สีน้ำตาลคือสีที่ต้องห้ามสำหรับงานระดับเหล่านี้ และอย่าใส่สีน้ำตาลร่วมกับสูทสีดำโดยเด็ดขาด เพราะด้วยคำว่า “กาลเทศะ” แล้วนั้น เราควรจะยึดกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในเชิงพิธี แม้มันจะดูโบราณแค่ไหนในความคิดของเราก็ตาม


ทักสิโด้ คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้ ด้วยความที่เป็นชุดที่ “เป็นทางการสูงมาก” ดังนั้น “สีน้ำตาล” คือสีต้องห้ามของชุดนี้ รวมถึงรองเท้าก็ต้องเป็นสีดำเท่านั้น

แต่ยามใดที่แต่งตัวแบบ “Casual” หรือลำลองสุดๆ สำหรับวันพักผ่อน เราสามารถ “แหกกฎโบราณ” ได้ไม่ยากนัก เช่น การใส่กางเกงยีนส์สีดำ คู่กับรองเท้าบู๊ทสีน้ำตาล หรือจะใส่กางเกงชีโน่สีแทนคู่กับ รองเท้า Sandal รัดส้นสีดำ ก็สามารถทำได้เช่นกัน นั่นเพราะเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจเรื่อง “กาลเทศะและความสุภาพ” ในขณะที่แต่งตัวแบบนี้ และเรื่องสีดำกับสีน้ำตาลก็จะกลายเป็นเพียง “รสนิยมส่วนตัว” ที่ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบของแต่ละคน และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบังคับอีกต่อไป 


David Beckham เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ค่อยแคร์เรื่องนี้เท่าไหร่ ในยามที่แต่งกายลำลองแบบนี้ และเขาก็ใส่ออกมาได้ดูดีอย่างยิ่ง


กางเกงที่ลำลองมากอย่างยีนส์ ต่อให้เป็นสีดำ ก็ไม่ได้ช่วยให้ดูสุภาพขึ้นเท่าไหร่นัก การใส่กับรองเท้าสีน้ำตาลในลุคที่สบายๆ จึงไม่ได้ดูขัดตาแต่อย่างใด | Hespokestyle.com

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าคุณเป็นผู้ชายที่รู้และเข้าใจกฎเกณฑ์ และความเหมาะสมในการใช้ รวมถึงรู้จัก “แหกกฎ” ได้อย่างชาญฉลาด คุณจะเป็นผู้ชายที่มีสไตล์มากขึ้นกว่าเดิม, แต่งตัวได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม และเป็นสุภาพบุรุษที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้เพียงสักนิดก็ยังดีกว่าผู้ชายที่ไม่รู้, ไม่สนใจ และไม่คิดจะสนใจแน่นอนครับ