องค์ประกอบ ของนาฏศิลป์ การเคลื่อนไหว

นาฏยศัพท์และทักษะการเคลื่อนไหว

การแสดงนาฏศิลป์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายเลียนแบบท่าคนและสัตว์ด้วยท่าทางอ่อนช้อยนุ่มนวลจึงเกิดเป็นท่ารำหรือนาฏยศัพท์ขึ้น  ซึ่งการปฏิบัติท่าทาง  กิริยาอาการต่างๆ นั้นสามารถสื่อความหมายได้แทนการพูดหรือเจรจา  โดยนาฏยศัพท์ที่มีอยู่มากมายหลายท่าสามารถประดิษฐ์เป็นท่วงท่าการร่ายรำที่มีความหมาย  (โกวิท  ประวาลพฤกษ์และคณะ. 2545: 60)


ทักษะการเคลื่อนไหว

นาฏศิลป์เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่ใช้การเคลื่อนไหวและการจัดระเบียบร่างกายของมนุษย์อย่างมีจังหวะ  ลีลา  ทำให้เกิดภาษาท่าทางที่สามารถสื่อความหมายแทนภาษาพูด                    (สุมนมาลย์  นิ่มเนติพันธ์ และสุมนรตี  นิ่มเนติพันธ์. ม.ป.ป. : 104)

การเคลื่อนไหวท่าทางสื่ออารมณ์  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการใช้  แขน  ขา  มือ  เท้า  ส่วนต่างๆของร่างกาย  สีหน้าแววตาต่างๆ  แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา  ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกมานั้นเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันเช่น  อารมณ์รัก  โกรธ  เสียใจ  เป็นต้น  การเคลื่อนไหวท่าทาง  เช่นการยืน  เดิน  วิ่ง  สามารถนำมาสร้างสรรค์ประดิษฐ์เป็นท่าทางต่างๆ  ให้เกิดความสวยงามเพื่อนำมาใช้เป็นท่ารำต่างๆ  การเคลื่อนไหวท่าทางสื่ออารมณ์  เป็นการเคลื่อนไหวที่นำมาใช้ในการแสดงต่างๆ  เพื่อสื่อความหมายแทนคำพูดของตัวละครให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าตัวละครนั้นมีอารมณ์อย่างไร  และเข้าใจท่าทาง  อารมณ์ของตัวแสดงได้ง่ายขึ้น (อรวรรณ  ชมวัฒนา และวีร์สุดา  บุนนาค. 2553 : 113)

หลักการแสดงนาฏศิลป์จะเน้นการแสดงออกทางการเคลื่อนไหวที่มีระบบและงดงามใน 2 ลักษณะ คือ การฟ้อนรำและการเคลื่อนไหวต่างๆ  ที่ไม่สื่อความหมายหรืออารมณ์ที่เฉพาะเจาะจง เช่น รำหน้าพาทย์  รำเพลงช้า เพลงเร็ว ฯลฯ และการฟ้อนรำที่ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น แขน ขา มือ เท้า เรือนร่าง และใบหน้าที่แสดงออกถึงอารมณ์และการสื่อความหมาย  ซึ่งเป็นลักษณะการรำใช้บท  และการแสดงท่าทางในละคร เช่นรำฉุยฉาย  การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์  และการแสดงละครในบทบาท  เป็นต้น  จึงเป็นศิลปะในการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการฟ้อนรำและการแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้ง 3 ส่วน  คือ  ส่วนกิ่งของร่างกาย ได้แก่ ศีรษะ แขน  ขา มือ เท้า ส่วนตัวเรือนร่าง  และส่วนใบหน้าให้ประสานสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนและสวยงาม  ตลอดจนมีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่สื่อไปยังผู้ชมด้วย (โกวิท  ประวาลพฤกษ์ และคณะ. 2545 : 69)

                สรุปว่าทักษะการเคลื่อนไหว  หมายถึง  การปฏิบัติท่าทางเคลื่อนไหวที่สื่อทางอารมณ์ความรู้สึก โดยใช้ อวัยวะส่วนต่างๆ  เพื่อสื่อความหมายในการแสดง

นาฏยศัพท์

                นาฏยศัพท์  หมายถึง ภาษาที่ใช้เป็นสัญลักษณ์และสื่อความหมายกันในวงการนาฏศิลป์ไทย

(ธิดารัตน์  ภักดีรักษ์. 2549 : 39)

นาฏยศัพท์  เป็นศัพท์ที่ใช้เฉพาะในวงการนาฏศิลป์  เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกท่าทางที่ปฏิบัติ หรือกิริยาอาการต่างๆ ที่ปฏิบัติเกี่ยวกับนาฏศิลป์  ( จีรพันธ์  สมประสงค์. 2547 : 200)

นาฏยศัพท์  คือ  คำภาษาที่ใช้เรียกเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงนาฏศิลป์ไทย  โดยเกี่ยวข้องกับลักษณะท่ารำที่ใช้ประกอบการแสดงแต่ละประเภท  (สุมิตร  เทพวงษ์. 2548 : 183)

ลักษณะท่ารำไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้ต้องมีศัพท์เฉพาะทางด้านท่ารำเพื่อสื่อความหมายของท่ารำนั้นๆ  ไปในแนวทางเดียว  ศัพท์เฉพาะทางนาฏศิลป์เรียกว่า  นาฏยศัพท์  ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะในการร่ายรำตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า  (อรวรรณ  ชมวัฒนาและวีร์สุดา  บุนนาค. 2553 : 105)

          การศึกษาเรื่องนาฏยศัพท์  โดยทำความเข้าใจและฝึกปฏิบัติตามคำศัพท์นั้นๆ เช่น กระทบ ตั้งวง จีบ ฉายมือ กันวง กดเกลียวข้าง  เหล่านี้ล้วนแต่จะต้องปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความสามารถของแต่ละคนทั้งสิ้น  การยึดถือเอานาฏยศัพท์เป็นแบบแผนนับว่าไม่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและยังจะเพิ่มความแม่นยำขึ้นอีกด้วย  (พิชัย  ปรัชญานุสรณ์ และคณะ. 2548 : 89)

สรุปความหมายของนาฏยศัพท์  คือ  ศัพท์ที่ใช้สื่อความหมายในวงการนาฏศิลป์ 


                 ประเภทของนาฏยศัพท์

                 นาฏยศัพท์กับการแสดงนาฏศิลป์ไทยแต่ละประเภท   นับได้ว่ามีความสำคัญเกี่ยวข้องกัน   เพราะเป็นส่วนที่จะทำให้ท่ารำที่ปรากฏออกมานั้นเด่นชัดขึ้น 

                  นาฏยศัพท์แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ   หมวดนามศัพท์   หมวดกิริยาศัพท์   หมวดนาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด

                 1. นามศัพท์   หมายถึง ศัพท์ที่เรียก ชื่อท่ารำ หรือชื่อท่าที่บอกอาการกระทำของผู้นั้น เช่น วง จีบ สลัดมือ คลายมือ กรายมือ ฉายมือ ปาดมือ กระทบ กระดก ยกเท้า ก้าวเท้า ประเท้า ตบเท้า กระทุ้ง กระเทาะ จรดเท้า แตะเท้า ซอยเท้า ขยั่นเท้า ฉายเท้า สะดุดเท้า รวมเท้า โย้ตัว ยักตัว ตีไหล่ กล่อมไหล่  รวมมือ

                 2.  กิริยาศัพท์   หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกในการปฏิบัติบอกอาการกิริยา    แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้ 

2.1  ศัพท์เสริม หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกเพื่อปรับปรุงท่าทีให้ถูกต้องสวยงาม เช่น กันวง ลดวง ส่งมือ ดึงมือ หักข้อ หลบศอก เปิดคาง กดคาง ทรงตัว เผ่นตัว ดึงไหล่ กดไหล่ ดึงเอว กด-เกลียวข้าง ทับตัว หลบเข่า ถีบเข่า แข็งเข่า กันเข่า เปิดส้น ชักส้น

                        2.2  ศัพท์เสื่อม หมายถึง ศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อท่ารำหรือท่วงทีของผู้รำที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้รำรู้ตัว และแก้ไขท่าทีของตนให้ดีขึ้น เช่น วงล้า วงคว่ำ วงเหยียด วงหัก วงล้น คอดื่ม คางไก่ ฟาดคอ เกร็งคอ หอบไหล่ ทรุดตัว ขย่มตัว เหลี่ยมล้า รำแอ้ รำลน รำเลื้อย รำล้ำจังหวะ รำหน่วงจังหวะ

                 3. นาฏยศัพท์เบ็ดเตล็ด   หมายถึง ศัพท์ต่างๆที่ใช้เรียกในภาษานาฏศิลป์ นอกเหนือไปจากนามศัพท์ และกิริยาศัพท์ เช่น จีบยาว จีบสั้น ลักคอ เดินมือ เอียงทางวง คืนตัว  อ่อนเหลี่ยม  เหลี่ยมล่าง


                 ลักษณะต่างๆของนาฏยศัพท์    แบ่งตามการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนี้

1.  ส่วนศีรษะ  ได้แก่

                                 เอียง  คือ การเอียงศีรษะ  ต้องกลมกลืนกับไหล่และลำตัวให้เป็นเส้นโค้ง  ถ้าเอียงซ้าย

ให้หน้าเบือนทางขวาเล็กน้อย   ถ้าเอียงขวาให้หน้าเบือนทางซ้ายเล็กน้อย

                                 ลักคอ  คือ  การเอียงคนละข้างกับไหล่ที่กดลง  ถ้าเอียงซ้ายให้กดไหล่ขวา  ถ้าเอียงขวาให้กดไหล่ซ้าย

                                 กดคาง   คือ  ไม่เชิดหน้าหรือเงยหน้ามากเกินไป

                        2.  ส่วนแขน ได้แก่ 

                               ตั้งวง   คือ  การตั้งมือโดยให้นิ้วทั้ง 4 เรียงชิดกัน  กระดกข้อมือขึ้นหักนิ้วหัวแม่มือเข้าหาฝ่ามือทอดแขนให้โค้งพองาม  อาจตั้งวงพร้อมกันทั้ง 2 มือ หรือมือเดียวก็ได้   วง มี 4 ชนิดดังนี้

                                      2.1  วงบน   ตัวพระอยู่ระดับแง่ศีรษะ  ตัวนางอยู่ระดับหางคิ้ว  ต้องยกลำแขนให้สูงทอดลำแขนให้โค้งได้รูปจากระดับไหล่ไปข้างๆ  ให้ลำแขนส่วนบนลาดจากไหล่เล็กน้อย

วงบนตัวพระ ปลายนิ้วชี้อยู่ระดับแง่ศีรษะ   วงบนตัวนาง  ปลายนิ้วชี้อยู่ระดับหางคิ้ว

                                      2.2  วงกลาง   คือส่วนโค้งของลำแขนอยู่ระหว่างวงบนกับวงล่าง  ให้ศอกอยู่ระดับเอว  ทอดแขนให้ปลายนิ้วอยู่ระดับไหล่

                                      2.3  วงล่าง  คือส่วนโค้งของลำแขนที่ทอดโค้งลงเบื้องล่างปลายนิ้วอยู่ระดับหน้าท้อง  หรือระดับหัวเข็มขัด  ตัวพระให้ส่วนโค้งของลำแขนห่างออกจากลำตัวมากกว่าตัวนาง

                                     2.4  วงหน้า คือส่วนโค้งของลำแขนที่โค้งอยู่ข้างหน้า  โดยตัวพระปลายนิ้วมือ อยู่ระดับข้างแก้ม ข้างเดียวกับวง  ส่วนตัวนางปลายนิ้วจะอยู่ตรงระดับปาก

3.  ส่วนมือ  ได้แก่

                               มือแบ  คือ  นิ้วชี้  กลาง  นาง  ก้อย  ติดกัน  ตึงนิ้วหัวแม่มือ  กาง หลบไปทางฝ่ามือ  หักข้อมือไปทางหลังมือ   แต่มีบางท่าหักข้อมือไปทางฝ่ามือ  เช่น ท่าป้องหน้า 

                               มือจีบ  คือ  การกรีดนิ้ว  โดยเอานิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจรดกัน  ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดข้อแรกของปลายนิ้วชี้ ให้ตึงนิ้ว  นิ้วกลาง  นาง  ก้อย  กรีดห่างกัน  หักข้อมือไปทางฝ่ามือ    จีบมี 5 ลักษณะดังนี้

                                      3.1  จีบหงาย  คือการจีบแล้วหงายฝ่ามือขึ้นปลายนิ้วชี้ ชี้ขึ้นข้างบน  ถ้าอยู่หน้าท้องเรียกว่าจีบหงายชายพก

                                      3.2   จีบคว่ำ     คือการจีบแล้วคว่ำฝ่ามือลง ปลายนิ้วชี้ ชี้ลงล่าง  หักข้อมือเข้าหาลำแขน

                                      3.3  จีบหลัง  คือ  การจีบส่งลำแขนไปข้างหลัง  ตึงแขน  พลิกข้อมือให้ปลายนิ้วชี้ขึ้น  แขนตึง แล้วส่งแขนให้สูงไปข้างหลัง

                                     3.4  จีบปรกหน้า  คือ  การจีบที่คล้ายกับจีบหงาย   แต่หันจีบเข้าหาลำตัวด้านหน้า   ทั้งแขนและมือชูอยู่ด้านหน้า   ตั้งลำแขนขึ้น  ทำมุมที่ข้อพับตรงศอก  หันจีบเข้าหาหน้าผาก

                                      3.5                   จีบปรกข้าง  คือ การจีบที่คล้ายกับจีบปรกหน้า   แต่หันจีบเข้าหาแง่ศีรษะลำแขนอยู่ข้างๆระดับเดียวกับวงบน

                                      จีบล่อแก้ว   ลักษณะท่าทางคล้ายจีบมือ    ใช้นิ้วกลางกดข้อที่1  ของนิ้วหัวแม่มือหักปลายนิ้วหัวแม่มือคล้ายวงแหวน   นิ้วที่เหลือเหยียดตึง  หักข้อมือเข้าหาลำแขน

                         4.  ส่วนลำตัว   ได้แก่                

                                      4.1 ทรงตัว   คือ การยืนให้นิ่ง  เป็นการใช้ลำตัวตั้งแต่ศีรษะ  ตลอดถึงปลายเท้า ในท่าที่สวยงาม   ไม่เอนไปทางใดทางหนึ่งขณะที่ยืน

                                      4.2 เผ่นตัว   คือ กิริยาอาการทรงตัวชนิดหนึ่งมาจากท่าก้าวเท้า   แล้วส่งตัวขึ้น  โดยการยกเข่าตึง   เท้าหนึ่ง ยืนรับน้ำหนักอีกเท้าหนึ่งอยู่ข้างๆ

                                      4.3 ตึงไหล่   คือ  การรำหลังตึง   หรือดันหลังขึ้น  ไม่ปล่อยให้หลังค่อม

                                       4.4 กดไหล่  คือ กิริยากดไหล่โน้มตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง   ทำพร้อมกับการเอียงศีรษะ  กดลงเฉพาะไหล่  ไมให้ตะโพกเอียงไปด้วย

                                      4.5 ตีไหล่  คือ  กดไหล่แล้วบิดไหล่ ข้างที่กดมาข้างหน้า

                                      4.6 ยักตัว  คือ  กิริยาของลำตัวส่วนเกลียวหน้า   ยักขึ้นลง ไหล่จะขึ้นลงตามไปด้วย   แต่ตะโพกอยู่คงที่  และลักคอด้วย

                                       4.7 ตึงเอว  คือ  กิริยาของเอวด้านหลังตั้งขึ้นตรงไม่หย่อนตัว 

5.  ส่วนเข่าและขา   ได้แก่ 

                                      5.1 เหลี่ยม  คือ  กิริยาของเข่าที่แบะห่างกัน  เมื่อก้าวเท้าพระต้องกันเข่า  ให้เหลี่ยมกว้าง  ส่วนนางก้าวข้างต้องหลบเข่า  ไม่ให้มีเหลี่ยม

                                     5.2 จรดเท้า  คือ  อาการของเท้าข้างใดข้างหนึ่งที่วางอยู่ข้างหน้า  น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าหลัง  เท้าหน้าจะใช้เพียงปลายจมูกเท้า  แตะเบาๆไว้กับพื้น (จมูกเท้าคือบริเวณเนื้อโคนนิ้วเท้า )

                                      5.3 แตะเท้า  คือ  การใช้ส่วนของจมูกเท้า แตะพื้น แล้ววิ่งหรือก้าว  ขณะที่ก้าว ส่วนอื่นๆ ของเท้า ถึงพื้นด้วย

                                     5.4 ซอยเท้า  คือ  กิริยาที่วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน  แล้วยกส้นเท้าขึ้น  ย่อเข่าลงเล็กน้อย แล้วย่ำด้วยปลายเท้าทั้งสองข้างสลับกัน  การซอยเท้าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  การเก็บเท้า

                                      5.5 ขยั่นเท้า  คือ  กิริยาเหมือนซอยเท้า   ต่างกันที่ขยั่นต้องไขว้เท้า  แล้วทำกิริยาเหมือนซอยเท้า  ถ้าขยั่นเคลื่อนที่ไปทางขวาก็ให้เท้าซ้ายอยู่หน้า  ถ้าขยั่นเคลื่อนที่ไปทางซ้ายก็ให้เท้าขวาอยู่หน้า

                                      5.6 ฉายเท้า  คือ  กิริยาที่ก้าวหน้า  แล้วต้องการลากเท้าที่ก้าว มาพักไว้ข้างๆ  ให้ใช้จมูกเท้า จรดพื้น เผยอส้นเท้าเล็กน้อย  แล้วลากมาพักไว้เหมือนเหลื่อมเท้า  โดยหันปลายเท้าที่ฉายมาให้อยู่ด้านข้าง

                                      5.7 ประเท้า  คือ  อาการที่สืบเนื่องจากการจรดเท้า  โดยยกจมูกเท้าขึ้น  ใช้ส้นเท้าวางกับพื้น  ย่อเข่าลงพร้อมทั้งแตะจมูกเท้าลงกับพื้นแล้วยกเท้าขึ้น 

                                      5.8 ยกเท้า  คือ  การยกเท้าขึ้นไว้ข้างหน้า   เชิดปลายเท้าให้ตึง  หักข้อเท้าเข้าหาลำขา  ตัวพระกันเข่าออกไปข้างๆ ส่วนสูง  ระดับเข่าข้างที่ยืน  ตัวนางไม่ต้องกันเข่า  ส่วนสูงอยู่ต่ำกว่าเข่าข้างที่ยืน  ชักส้นเท้าและเชิดปลายนิ้ว

                                      5.9 ก้าวหน้า  คือ  การวางฝ่าเท้าลงบนพื้นข้างหน้า  โดยวางส้นเท้าลงก่อน  ตัวพระจะก้าวเฉียงไปข้างๆตัวเล็กน้อย  เฉียงปลายเท้าไปทางนิ้วก้อย  กันเข่าแบะให้ได้เหลี่ยม  ส่วนตัวนางวางเท้าไปข้างหน้าไม่ต้องกันเข่า   ปลายเท้าเฉียงไปทางนิ้วก้อยเล็กน้อย

                                      5. 10 ก้าวข้าง  คือ  การวางเท้าไปข้างๆตัว  ปลายเท้าเฉียงไปทางนิ้วก้อยมาก   ตัวนางต้องหลบเข่าตามไปด้วย

                                      5.11 ก้าวไขว้  คือ  การก้าวเท้าคล้ายเท้าหน้าแต่ไขว้เท้าให้มากกว่าการก้าวหน้า  ลักษณะก้าวไขว้นี้  ตัวนางนิยมใช้

                                      5.12 กระทุ้ง  คือ  การกระแทกจมูกเท้าที่อยู่ด้านหลังครั้งหนึ่งก่อนแล้วกระดกเท้า  โดยยกเท้าที่กระแทกไปด้านหลัง   

5.13 กระดกหลัง  คือ  กระทุ้งเท้าและถีบเข่าไปข้างหลังมากๆ   ให้เข่าทั้งสองข้างแยกห่างจากกัน  ให้ส้นเท้าชิดก้นมากที่สุด  หักปลายเท้าลง ย่อเข่าที่ยืนลงให้มาก

                                      5.14 กระดกเสี้ยว  คล้ายกระดกหลัง  แต่เบี่ยงขามาข้างๆและไม่ต้องกระทุ้งเท้า  มักทำต่อเนื่องจากการก้าวข้าง   หรือท่านั่งกระดกเท้า

                                     5.15 การถัดเท้า  คือ  การวางเท้าใดเท้าหนึ่งไว้ข้างหลังด้วยจมูกเท้า  เพื่อยันรับน้ำหนักและเปิดส้นเท้าหลัง   ส่วนอีกเท้าหนึ่งวางไว้ข้างหน้าเต็มเท้า  โดยวางไขว้เท้ากับเท้าหลัง ให้ปลายนิ้วเฉียงไปข้างหน้าเล็กน้อย  แล้วถัดจมูกเท้าที่อยู่ข้างหน้าไปกับพื้น  ให้ปลายนิ้วข้างหน้าทั้งห้าเชิดขึ้น  เปิดส้นเท้าแล้วยกส้นเท้าขึ้นเล็กน้อย   กลับมาวางไขว้ไว้ข้างหน้าตามเดิม 

                                      5.16 การวางส้น  คือ  การใช้ส้นเท้าวางแตะพื้น  โดยเปิดปลายเท้าขึ้นใกล้กับเท้าอีกข้างหนึ่งซึ่งวางเต็มเท้า  โดยหักข้อเท้าขึ้น 

การรำตีบท


            การรำตีบท คือ การใช้ภาษาท่าสำหรับสื่อความหมายในการแสดงระหว่างผู้ชมกับผู้แสดง  ท่าทีใช้อาจเป็นการเลียนแบบมาจากธรรมชาติ หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยนำท่ามาจากนาฏยศัพท์และพื้นฐานท่ารำจากนาฏศิลป์ไทยนำมาปรับและเรียบเรียงให้สอดคล้องความหมายกับคำร้องหรือคำประพันธ์  (สุมิตร  เทพวงษ์. 2548 : 203)

การรำตีบทหรือการรำใช้บท  คือ  การรำตามบทร้องหรือบทประพันธ์ที่รวมถึงบทละคร  บทพากย์  บทเจรจา  ถ้าจะกล่าวโดยสรุปการตีบทก็คือ  การถอดบทประพันธ์  หรือคำประพันธ์นั้นๆ  ออกมาเป็นท่ารำ  การคิดท่ารำประกอบคำประพันธ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของ                   ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ  เช่นเดียวกับการแต่งคำประพันธ์หรือบทกวีจะไพเราะเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ  ภูมิ-ปัญญาของผู้ประพันธ์บทกวีนั้น  (อรวรรณ  ชมวัฒนา และวีร์สุดา  บุนนาค. 2553 : 110)

        

หลักสำคัญในการรำตีบท

                                การรำตีบทในการแสดงนาฏศิลป์  เพื่อให้เกิดความถูกต้องและสวยงามจึงมีหลักในการพิจารณาดังนี้

                                1. ควรคำนึงถึงประเภทของการแสดง  เพราะการแสดงแต่ละประเภท  จะมีรูปแบบการตีบทที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลีลาท่าทาง  หรือความหมายที่แสดงออกมา

                                2. ควรมีความรู้พื้นฐานของท่ารำ  (แบบแผนนาฏศิลป์ไทย)  ที่เป็นรูปแบบได้ปฏิบัติกันมา เช่น การยึดรูปแบบแม่ท่าจากการรำ  เพลงช้า  เพลงเร็ว  หรือรำแม่บทใหญ่  เป็นต้น  นำมาประดิษฐ์ใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับการแสดงชนิดนั้น

                                3. ควรคำนึงถึงทำนองเพลง  ท่วงทำนองเพลงจะมีผลต่อการตีบท  เพราะทำนองเพลงไทยมีหลากหลาย  ทั้งเป็นทำนองไทยและทำนองไทยออกภาษา  เช่น  ลาว  จีน  แขก  ชวา  มอญ  เป็นต้น  หากได้ศึกษาทำนองเพลงจะทำให้การตีบทดูสวยงามและเหมาะสม

                                4. ควรคำนึงถึงบทร้อง  การแสดงนาฏศิลป์ที่มีบทร้องเพื่อบรรยายให้ทราบเรื่องราว การตีบทควรให้ได้พอเหมาะกับคำร้อง  หรือประโยคของคำร้องในท่วงทำนองนั้นๆ

                                5. ควรคำนึงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ  ที่ปรากฏในการแสดงเพื่อลีลา  ภาษาท่าในการตีบทให้เหมาะสมกับการแสดงตามเชื้อชาตินั้นๆ

                                6. ควรคำนึงถึงลักษณะของตัวละคร  เพราะการตีบทจะใช้ท่าทีที่ต่างกัน

วิธีการรำตีบท

1. ไม่ใช้ท่าซ้ำ  ในวรรคที่ติดๆกัน  และมีความหมายคล้ายกัน

2. มีการใช้มือสลับกันไปทั้งมือซ้าย มือขวา และหลีกเลี่ยงการใช้มือข้างเดียวในการตีบทนั้นๆ

3. การเอียงศีรษะต้องให้เหมาะสม  และสัมพันธ์กับการใช้มือและเท้า    ตลอดทั้งจังวะเพลงที่ปรากฏ

4. หากมีบทเจรจา  ควรตีบทให้ตรงกับบทเจรจา  อย่าให้เหลื่อมบทเจรจา  เพราะจะทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนได้

5. มีการใช้ท่าที่สวยงามถูกต้อง  ให้ความหมายเด่นชัด

6. ควรตีบทแสดงเฉพาะท่าที่สำคัญในวรรคนั้นๆ  โดยไม่ต้องตีบททุกคำ

7. รู้จักดัดแปลงการรำตีบทไม่ให้ขัดเขินกับตำแหน่งของผู้แสดง

                สรุปว่า  การรำตีบท  คือการใช้ภาษาท่าสำหรับสื่อความหมายในการแสดง  เป็นการรำตามบทร้องหรือบทประพันธ์  โดยใช้ภูมิปัญญาของผู้ประดิษฐ์ท่ารำ ในการปรับเรียบเรียงท่าให้สวยงาม เช่น  ระบำมงคลปฐพีศรีสุราษฎร์  เป็นต้น

                                 

การแปรรูปแถว


            ในการแสดงประเภทระบำจะเป็นการแปรแถวในลักษณะต่างๆ  โดยเน้นความสมดุลของเวทีให้มีการเคลื่อนไหว  แปรแถวในรูปแบบต่างๆ  โดยใช้เนื้อที่ต่างๆ ของเวทีให้เกิดความสวยงามสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม  ซึ่งลักษณะการแปรแถวของนาฏศิลป์ไทยมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แปรแถวเป็นรูปปากพนัง  แปรเป็นแถวตอน  แปรแถวเป็นรูปวงกลม  แปรแถวเฉียงแปรแถวหน้ากระดาน  แปรแถวเป็นรูปสามเหลี่ยม  เป็นต้น  ซึ่งการแปรแถวดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ออกแบบท่ารำ  (สุดใจ  ทศพร และคณะ. 2547 : 142)

                การแสดงนาฏศิลป์ไทยสมัยโบราณไม่นิยมแปรแถวให้หลากหลายเหมือนในปัจจุบันนิยม  มักจะนิยมแถวตรง  แถวเรียงหน้ากระดาน  หรือแถวตอนคู่ หรือลักษณะวงกลม  โดยประดิษฐ์ท่ารำ  ให้เหมือนกัน  ปัจจุบันได้รับอิทธิพลการแสดงของต่างประเทศ  จึงนำมาประดิษฐ์ท่ารำของนาฏศิลป์ไทยให้มีการแปรแถว ตั้งซุ้ม ซึ่งผู้ประดิษฐ์ท่ารำจะต้องคำนึงถึงความกลมกลืนเป็นหลักด้วย  (สุมนมาลย์  นิ่มเนติพันธ์ และสุมนรตี  นิ่มเนติพันธ์. ม.ป.ป. : 51)

จุดประสงค์ในการแปรรูปแถวสำหรับการแสดงหมู่  เพื่อมิให้ผู้ชมเบื่อหน่าย  ให้มีการเคลื่อนไหวบ้าง  จะได้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่งดงามแปลกตา  มีหลักที่ควรคำนึงดังนี้

1. ถ้าเครื่องแต่งกายหลากสี  การแปรรูปแถวควรคำนึงถึงสีเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม  กลมกลืนกันอย่างสวยงามเป็นระเบียบ

                                2. การแปรรูปแถวไม่ควรแปรถี่จนเกินไป  ทำให้ผู้ชมไม่ทันได้เห็น

                                3. ถ้าผู้แสดงมีสีผิวต่างกัน  ควรหลีกเลี่ยงการแปรรูปแถวที่แยกคนต่างผิวให้ห่างกัน  อย่าให้มาชิดกัน

4. ถ้าผู้แสดงมีรูปร่างต่างกัน  ในด้านความสูง  ควรหลีกเลี่ยงรูปแถวที่เป็นวงกลม

                                5. ถ้าผู้แสดงฝีมือต่างกันจนเห็นได้ชัด  ควรจัดแยกให้ห่างกัน  หรือเปลี่ยนลีลาให้ถืออุปกรณ์การแสดง  เช่น ช่อดอกไม้  เป็นต้น

                                6. การแปรแถวให้งดงามแปลกตา  ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้ประดิษฐ์ท่ารำนั่นเอง


































 
 
 
 
 

องค์ประกอบของนาฏศิลป์ไทยมีอะไรบ้าง

Enrolment options.
องค์ประกอบนาฏศิลป์ไทย.
1. การฟ้อนรำหรือลีลาการใช้ท่ารำ.
2. จังหวะที่ใช้ในการแสดง.
3. ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง.
4. คำร้องหรือเนื้อร้อง.
5. การแต่งกาย การแต่งหน้า.
6. อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดง.
หลักและวิธีการสร้างสรรค์การแสดงโดยใช้องค์ประกอบนาฏศิลป์.

องค์ประกอบที่สําคัญของนาฏศิลป์มีอะไรบ้าง

องค์ประกอบของนาฏศิลป์ก็จะประกอบไปด้วยการร้อง การบรรเลงดนตรี และการฟ้อนรำ ทั้งนี้เพราะการแสดงออกของนาฏศิลป์ไทยจะต้องอาศัยบทร้องทำนองเพลงประกอบการ แสดง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมาเป็นนาฏศิลป์ไทยได้ จะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ

องค์ประกอบนาฏศิลป์ทำให้การแสดงเป็นอย่างไร

นาฏศิลป์ไทยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1. ลีลาท่ารำ เป็นท่าทางเยื้องกรายฟ้อนรำที่อ่อนช้อยสวยงาม แสดงออกของอารมณ์ สื่อความหมายชัดเจน 2.ดนตรีประกอบ ดนตรีเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมให้การแสดงสมบูรณ์และสร้างบรรยากาศในการแสดงให้สมจริงอีกด้วย

องค์ประกอบนาฏศิลป์ในข้อใดช่วยในการเคลื่อนไหวให้พร้อมเพรียง

จังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างสรรค์การแสดง ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยมีทั้งการแสดงที่มีจังหวะ ช้า เร็ว และปานกลาง ผู้แสดงต้องสามารถเข้าใจจังหวะ จับจังหวะในการแสดงได้ซึ่งจะทำให้การสร้างสรรค์การแสดงมีความหมายงาม พร้อมเพรียง เช่น ในการแสดงระบำหมู่ต่าง ๆ เมื่อผู้แสดงเข้าใจจังหวะก็จะสามารถสร้างสรรค์ให้พร้อมเพรียง ...