เลิกกิจการต้องแจ้งประกันสังคมไหม

สรุปจากสิทธิประโยชน์ของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เคยมีรายได้จากการทำงานนั้น มีมติ ครม.ใหม่ มีคำชี้แจงจากทางราชการเพิ่มเติม  อันเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องอ่านหลายๆ รอบ เพื่อทำความเข้าใจจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องและไม่เสียสิทธิประโยชน์ในช่วงเกิดโรคระบาด COVID-19 ในประเทศไทยเพราะเป็นเรื่องโรคอุบัติใหม่ ที่ทางราชการเองก็ไม่ได้กำหนดแผนงาน และมิได้ตั้งงบประมาณล่วงหน้ามาก่อน  มาตรการต่างๆ ก็ปรับแก้ตามสถานการณ์  จึงปรากฏว่ามีการกำหนดเงื่อนไขออกมาใหม่ๆ เป็นระยะๆ  การทำความเข้าใจในเงื่อนเวลาที่ต่างกัน ข้อมูลจะต่างกัน *เอกสารนี้ เป็นการสรุปข้อมูลรายละเอียด ภายหลังจากประกาศล่าสุด ณ วันที่ 8 เมษายน 2563

สำหรับ กรณีเกิดโรคระบาดอันตราย COVID-19 นี้ จะถือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ใช้อ้างในการที่ฝ่ายนายจ้าง จะหยุดประกอบกิจการ และ ไม่ให้ลูกจ้างมาทำงาน และ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ได้นั้น  เฉพาะกรณีที่ทางราชการสั่งปิดกิจการนั้นๆ เป็นการชั่วคราว  อันเนื่องมาจาก COVID-19 โดยที่ฝ่ายนายจ้างมิได้กระทำความผิดใดๆ เท่านั้น เช่น ทางราชการ หรือ ผู้ว่าราชการ กทม. หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ได้มีคำสั่งให้นายจ้างปิดกิจการชั่วคราว เช่น ร้านค้าต่างๆในตลาด ในห้างสรรพสินค้า ที่มิได้ขายอาหาร ที่มิได้ขายยา ที่ไม่ได้ขายสิ่งที่จำเป็นในช่วงการมีโรคระบาด เช่น ขายเสื้อผ้าตามแฟชั่น  ขายนาฬิกา ขายเครื่องสำอาง ขายของเด็กเล่น ในห้างฯ ในตลาดต่างๆ เป็นต้น ต้องปิดกิจการเป็นการชั่วคราว

 เมื่อทางราชการสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว จึงถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" ที่นายจ้างจะเปิดกิจการทำการค้าขาย หรือ ทำธุรกิจใดๆ ไม่ได้  ในห้างสรรพสินค้า หรือ ในตลาดนั้นๆ  หรือ กิจการนอกตลาด เข่น ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย/ทำเล็บ ร้านสักบนร่างกาย  ร้านนวดตัว  เป็นต้น ทำให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ที่เรียกว่า เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง โดยนายจ้างไม่ต้องไปออกคำสั่งให้หยุดงาน เพราะทางราชการ มีคำสั่ง ไม่ให้เปิดดำเนินธุรกิจ  กรณีนี้ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างได้  โดย สำนักงานประกันสังคม  หรือ สปส. จะเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนในการขาดรายได้ให้แทน  โดยเดิมเมื่อปลายเดือนมีนาคม 63 นั้น  สปส.กำหนดจ่ายให้ในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 60 วัน ล่าสุด มีการปรับจากอัตราร้อยละ 50 เป็นอัตราร้อยละ 62 ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน นั้น  นอกจากเพิ่มอัตราแล้ว ก็ได้ขยายเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันอีกด้วย

แต่ถ้า นายจ้างมิได้ถูกสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ เช่น โรงงานต่างๆ แต่นายจ้างต้องปิดการในการดำเนินธุรกิจชั่วคราว เพราะวัตถุดิบไม่มีพอที่จะผลิต ในกรณีนี้ นายจ้างต้องทำตามมาตรา 75 คือ ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อแรงงานเขตพื้นที่ และ ตัวลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ตลอดช่วงการปิดกิจการชั่วคราว

สำหรับกิจการที่ทางราชการมิได้สั่งให้ปิด แต่ ปิดกิจการเอง เพราะ มีลูกค้าน้อย ไม่ได้มีเหตุผลและความจำเป็นเพียงพอ หรือ เป็นกิจการที่ปล่อยละละเลย ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันความปลอดภัย จนมีการติดเชื้อโรคระบาดในสถานประกอบการนั้นๆ ในกรณีนี้ ได้ถูกทางราชการสั่งปิด เพื่อทำความสะอาดสถานที่ทำการ เพราะ นายจ้างทำผิด หากเป็นกรณีดังกล่าว แม้ไม่มีการประกอบกิจการในช่วงเวลาดังกล่าว นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเต็ม 100% ในช่วงให้ลูกจ้างหยุดงาน

ในกรณี เกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นายจ้างประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่า โรคระบาดอาจมีอยู่ยาว โดยสายป่านของนายจ้างสั้น ทำกิจการต่อไปอาจล้มละลาย หรือ เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจึงตัดสินใจเลิกกิจการ หรือ เลิกจ้างลูกจ้างไปก่อนดีกว่า ในกรณีนี้  สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน ให้ลูกจ้าง ร้อยละ 70 จนกว่า ลูกจ้างจะได้งานใหม่ ทั้งนี้ ไม่เกิน 200 วัน  (แต่นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือ  ไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน ตามอัตรา ในมาตรา 118 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ในอัตราเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย (30 วัน/90 วัน/180 วัน/ 240วัน/ 300 วัน / 400 วัน)

ส่วนกรณีลูกจ้าง ตัดสินใจลาออก ไม่อยากทำงานเป็นลูกจ้างอีกแล้ว ในสถานการณ์เกิดโรคระบาด  COVID-19 อาจตัดสินใจ ไปประกอบอาชีพอื่นใดก็ตาม สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้ ในอัตราร้อยละ 45 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน 

สำหรับลูกจ้างในระบบประกันสังคม ที่ยังส่งเงินไม่ครบ 6 เดือน ตามกำหนด หรือ ไม่ได้สิทธิตามเอกสารสรุปในหน้าแรก หรือ เป็นผู้ประกันตนในมาตราอื่นๆ หรือ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ที่เคยยื่นระบบภาษี ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และ มีสัญชาติไทย มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ในเดือนเมษายน-มิถุนายน ล่าสุด มีการขยายระยะเวลา ออกไปเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท ในเดือน เมษายน - กันยายน 2563 ตามมติ ครม.เมื่อ 7 เมษายน 2563

(ส่วนผู้ที่ไม่มีรายได้ มาก่อนเกิดโรคระบาดอันตราย หรือ มีรายได้ตามเดิม ถือว่า ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หรือ เพราะ มีรายได้ตามปกติอยู่แล้ว  หรือ  ได้รับเงินช่วยเหลือในทางใดทางหนึ่งจากภาครัฐ  เช่น ได้รับบำนาญ ก็ได้รับบำนาญตามอัตราเดิม แม้จะไปประกอบการค้า หลังเกษียณอายุ  แม้ความจริง ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  ก็ถือว่า ได้รับผลกระทบไม่มาก ก็จะต้องถูกตัดสิทธิ  ในเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท โดยถือเกณฑ์การได้รับบำนาญเป็นหลัก หรือ ได้รับเงินสงเคราะห์ในการเป็นผู้สูงอายุ ที่มีอายุครบ 60,70,80,90………ก็ยังคงได้รับในอัตราเดิม  หรือ กิจการงานก่อสร้าง ถือว่า  ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 แต่ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  กระทรวงการคลัง ได้มาชี้แจงว่า จะไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000.-บาทดังกล่าว)

สำหรับคำถามเพิ่มเติม ที่ว่า

  1. ถ้าบริษัทฯ อยากขอปิดกิจการชั่วคราวบางส่วน หรือ ทั้งหมด ต้องทำอย่างไร และ มีผลต่อนายจ้าง ลูกจ้างอย่างไร

คำตอบ : กิจการของนายจ้างรายใดก็ตาม ที่มิได้เป็นกิจการที่ ทางราชการสั่งปิด แต่เพราะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้มีลูกค้ามาใช้บริการน้อย หรือ ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการเลย นั้น

~ ถ้า บริษัทฯ หรือ นายจ้าง สั่งให้หยุดดำเนินการ และ มิได้ให้พนักงานมาทำงาน  บริษัทฯ หรือ นายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้าง ไม่น้อยกว่า 75% ตลอดช่วงหยุดกิจการชั่วคราว โดย บริษัทฯ หรือ นายจ้าง ต้องทำเอกสารเป็นหนังสือ แจ้งแรงงานเขตพื้นที่ที่  บริษัทฯ หรือ นายจ้าง ตั้งอยู่  และ ทำหนังสือ แจ้งตัวพนักงานที่ต้องให้หยุดงาน ไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนการให้หยุดงาน

~ แต่ ถ้า ทางราชการสั่งให้หยุดดำเนินการ  บริษัทฯหรือนายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง  เพราะ เป็นเหตุสุดวิสัย ที่นายจ้างคือบริษัทฯ จะฝ่าฝืนคำสั่ ผู้ว่ากทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ในการไปเปิดให้บริการไม่ได้  ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออันตราย พ.ศ.2558  เพราะถ้าบริษัทฯหรือนายจ้าง ฝ่าฝืน  จะมีตวามผิดและมีโทษถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

     2. การใช้สิทธิเบิกประกันสังคมให้พนักงาน

คำตอบ :

~ ในการเบิกประกันสังคมนั้น พนักงานผู้ประกันตน ต้องทำเรื่องขอเบิกเงินทดแทนกรณีว่างงาน หรือ เงินทดแทนการขาดรายได้เอง

~ ส่วนบริษัทฯ หรือ นายจ้าง ต้องทำหนังสือแจ้งสำนักงานประกันสังคมว่าได้หยุด หรือ ปิดกิจการส่วนไหน มีพนักงานรวมกี่คน ใครบ้าง ที่ไม่ได้ค่าจ้าง หรือ ได้ค่าจ้างเพียงบางส่วน เป็นใครบ้าง ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้พนักงานได้รับรายได้ลดลง

~ พนักงานผู้ประกันตน ไปยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้ 62% ของค่าจ้าง (ใช้ค่าจ้างตามจริง ที่ส่งประกันสังคม โดยสูงสุดไม่เกินฐานค่าจ้าง 15,000.- ) จนกว่า จะกลับมาทำงานใหม่ โดยได้ค่าจ้างเต็ม 100% เป็นเวลา ไม่เกิน 90 วัน (ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อเกิน 90 วัน คณะกรรมการประกันสังคม จะมีมติออกมาเพิ่มเติมต่อไป 

     3.การชดเชยรายได้ให้กับลูกจ้างตามเงื่อนไขของกฏหมาย

คำตอบ :

3.1 งานในส่วนที่ทางราชการสั่งให้หยุดดำเนินการ ~ ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง

3.2 งานที่ทางราชการ มิได้สั่งให้หยุดดำเนินการ ถ้า บริษัทฯ หรือ นายจ้าง สั่งให้หยุดการทำงาน ต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน ไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม

3.3 ถ้าให้พนักงานทำงานจากบ้าน Work from home บริษัทฯ หรือ นายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างเต็ม 100%

เลิกกิจการต้องแจ้งประกันสังคมไหม

สำหรับตารางที่แนบท้ายมานี้ นั้น 3 ช่องด้านซ้าย เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแล คือ

ช่องที่ 1 เป็นกรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ หรือ เลิกจ้างพนักงาน นั้น นายจ้างต้องทำหนังสือแจ้งพนักงานที่จะเลิกจ้างล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และ จ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงาน ในอัตราเท่ากับค่าจ้างสุดท้าย 1 เดือน / 3 เดือน / 6 เดือน / 8 เดือน / 10 เดือน / 10.33 เดือน

ช่องที่ 2 นายจ้างสั่งหยุดกิจการชั่วคราว เพราะ มีผู้มาใช้บริการน้อยมาก แต่ ทางราชการ มิได้สั่งให้ปิดกิจการ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานตลอดช่วงหยุดกิจการชั่วคราว  ไม่น้อยกว่าค่าจ้างเดิม 75%

ช่องที่ 3 เป็นเรื่องของสมาคมโรงแรม/ท่องเที่ยว/การบิน กำลังร้องขอให้รัฐสั่งปิดกิจการขั่วคราว เพื่อจะเข้าเกณฑ์เหตุสุดวิสัย ที่ฝ่ายนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง เหมือน ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านนวด สนามกีฬา สนามมวย ร้านค้าทั่วไปที่ไม่มีความจำเป็นที่จะเปิดดำเนินการ ในช่วงเกิดโรคระบาดอันตราย ที่เปิดจำหน่ายในตลาด ในห้างสรรพสินค้า หรือ ในสถานที่ต่างๆ

สำหรับด้านขวามือ ในตาราง เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

ช่องที่ 1  ถ้านายจ้างปิดกิจการ หรือ เลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างทำหนังสือแจ้ง สปส. ส่วนลูกจ้าง ยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน สปส.จะจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงาน ให้ 70% (ไม่เกินฐานค่าจ้าง 15,000 บาท) จนกว่าจะได้งานใหม่ แต่ ไม่เกิน 200 วัน

ช่องที่ 2 กรณีรัฐ หรือ ผู้ว่า กทม. หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่นั้นๆ  สั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว ให้นายจ้างทำหนังสือแจ้ง สปส. โดยพนักงานไปยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ได้ 62% จนกว่า จะเปิดกิจการตามปกติ แต่ไม่เกิน 90 วัน

ช่องที่ 3 กรณีที่พนักงานถูกกักตัว เพราะ มีความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า หรือ ถูกกักตัว เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ เนื่องจากกลับมาจากต่างประเทศ ให้นายจ้างทำหนังสือแจ้ง สปส. โดยพนักงานไปยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ได้ 62% ของค่าจ้างที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม แต่ ไม่เกินฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จนกว่า จะเปิดกิจการตามปกติ แต่ไม่เกิน 90 วัน