แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

เพชรบุรี : วันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565 คณะทำงานกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และภาคีร่วมพัฒนา จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนระดับตำบล จังหวัด และกลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชน ปี 2565 ณ ห้องประชุมวรชัยเยาวปราณี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ อาคารที่ 26  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจาก 4 จังหวัด ผู้บริหารเจ้าหน้าที่ พอช. ผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมรวมประมาณ 70 คน

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

นางสุรนุช บุญจันทร์ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร และผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนงานกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งกับองค์กรชุมชนตั้งแต่ระดับตำบลและระดับจังหวัด จนสามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในระดับกลุ่มจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีการกำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์องค์กรชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง ยังเชื่อมโยงแผนงาน/ โครงการ กับหน่วยงานภาคีทั้งในระดับตำบลและระดับจังหวัด

“ในการนี้  เพื่อให้เกิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์องค์กรชุมชนอย่างมีคุณภาพและนำสู่การขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ได้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ภายใต้การหนุนเสริมจากสำนักงานภาคกลางและตะวันตก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงได้มีการจัดเวทีพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบล จังหวัด กลุ่มจังหวัด โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาศักยภาพผู้นำสภาองค์กรชุมชน ให้เกิดทักษะในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายปี 2565” นางสุรนุชกล่าว

ต่อมา ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นคลังปัญญา เป็นที่รวมความรู้ช่วยเหลือชุมชน วันนี้เป็นโอกาสดีที่ท่านทั้งหลายมาใช้ในการทำแผนพัฒนาชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด แผนเป็นเครื่องมือในการทำให้คนมาทำงานร่วมกัน มาคิดร่วมกัน เป็นการคิดจากคนข้างล่างมาสู่ข้างบน

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

“การให้คนมีส่วนร่วม ต้องช่วยกันคิดแล้วหาจุดร่วมให้ได้ เกิดเป็นแผนที่การเดินทางสู่อนาคต ฉะนั้น เป็นโอกาสดีที่ใช้แผนเป็นเครื่องมือในการคิดร่วมกันภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ที่ทุกคนมาจากหลายกลุ่มหลายวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ยินดีให้ความร่วมมือในการทำงาน ในส่วนของมหาวิทยาลัยทำแผนของพัฒนาเพื่อยกระดับฐานล่างขึ้นไป ในที่สุดเราได้มา 4 เรื่องในระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นซึ่งทำ 4 เรื่อง คือ ด้านเศรษฐกิจฐานล่าง  สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าทุกองค์กรใช้แผนเป็นเครื่องมือ วันนี้ท่านมาจากหลายพื้นที่มารวมกันเป็นสิ่งที่ดี จะได้แลกเปลี่ยนกัน อย่างน้อยสิ่งที่ได้จะถูกนำมากำหนดเป็นแผน เราได้รับรู้ร่วมกันว่าเส้นทางการทำงานร่วมกันในอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร และที่สำคัญอย่างยิ่งทำให้เราเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดเป็นเส้นทาง มหาวิทยาลัยเองก็พยายามทำบทบาทหน้าที่ของตนเองไปตามเส้นทางนี้” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีกล่าว

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

นายอำนวย คำเขียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน โดยได้กล่าวว่าแผนพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นรากฐานในการพัฒนาท้องถิ่น หรือการพัฒนาจังหวัด การสำรวจข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้ทราบความต้องการของหมู่บ้านและสามารถกำหนดอนาคตการพัฒนาหมู่บ้านได้ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างวิถีชีวิตประชาธิปไตย การพัฒนาศักยภาพผู้นำของหมู่บ้าน/ชุมชน สร้างพลังชุมชนและใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน และโดยชุมชนและเพื่อชุมชน

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

ในส่วนของการปฏิบัติการทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ดร.อุษา เทียนทอง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสมุทรสงคราม และคณะทำงานกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 เป็นผู้นำจัดกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวได้มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยรายจังหวัด ในการทบทวนแผนพัฒนาระดับจังหวัด และร่วมกันสรุปประมวลเป็นแผนพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด โดยมีเนื้อหาหลัก ประกอบด้วย การวิเคราะห์ศักยภาพจังหวัด (swot) กำหนดวิสัยทัศน์ จัดทำแผนกิจกรรมโครงการ

          “วันนี้จะทำแผนกลุ่มจังหวัด ซึ่งตนเองเป็นคณะกรรมการแผนกลุ่มจังหวัดอยู่ด้วย จึงเห็นจุดอ่อนของกลุ่มจังหวัดที่ผ่านราชการ ดังนั้น หากภาคประชาชนทำโครงการแบบนี้แล้วผลักดันให้ไปบรรจุอยู่ในกลุ่มจังหวัดด้วย เราจะได้งบประมาณมาขับเคลื่อนงาน ทั้งนี้ การที่โครงการของเราไม่ได้ไปบรรจุเพราะเรายังไม่มีแผนโครงการที่ถูกหลอมรวมเป็นของกลุ่มจังหวัดไปเสนอกับเขา ที่ผ่านมาเป็นเพียงการจัดทำแผนจังหวัดของตัวเอง ถ้าวันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อแชร์ข้อมูลที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัดร่วมกัน โดยการทำต้องมีการเทข้อมูลแต่ละด้านของแต่ละจังหวัด เพื่อมาดูว่าเมื่อหลอมรวมกันจะเป็นอย่างไร ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น” ดร.อุษากล่าว

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

ในช่วงสุดท้าย นายธีรพงศ์ พร้อมพอชื่นบุญ ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตก ได้กล่าวสรุปและปิดเวทีประชุมว่า การจัดทำแผนพัฒนาหากจะไปให้สุดต้องไปถึงทดสอบตัวชี้วัดว่าสามารถตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของคนข้างล่างได้อย่างไร การทำแผนของพวกเราคือการมาร่วมกันคิด เราต้องกลับไปถามคนข้างล่างว่าเขาคิดอย่างไร เพื่อให้เป็นระบบการทำแผนที่มีข้อมูลอย่างแท้จริง สิ่งที่เรากำลังทำมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ขบวนองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการทำแผนที่มาจากข้างล่าง มาจากการคิดและปัญหาที่แท้จริง และที่สำคัญคือเนื้อหาที่เสนอมาถูกต้องทั้งหมด แต่เพียงแค่เนื้อหาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีแรงที่มาช่วยผลักดัน ต้องใช้พลังของพวกเราเพื่อนำไปสู่นโยบายและการทำจริง

“ในการทำแผนของภาคประชาชน เราต้องเชื่อมโยงคนจากหลายๆ ระดับ ทั้งหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และหลายๆ จังหวัด รวมถึงภูมินิเวศ สิ่งที่เรากำลังทำนี้เป็นความจริง เป็นสิ่งที่เราอยากทำ แต่บางเรื่องไม่ตรงกับนโยบาย หากเราจะเปลี่ยนต้องใช้เวลา คิดว่าช่องทางที่ 1 คือ ช่องทางปกติผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่องทางที่ 2 คือ ระดับภูมิภาค และ 3 คือ ไปตามหน่วยงานที่มีโครงการสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำ เราทำแผนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมทั้ง แผนที่เราจะทำเองโดยไม่ต้องอาศัยคนอื่น ดังนั้น เราต้องสกัดให้ได้ว่าแผนของเราจะเข้าไปจุดไหน ไม่อย่างนั้นจะแก้ไม่ครบถ้วนทุกมิติ อะไรที่เราทำเอง อะไรที่หน่วยงานภาคเอกชนจะทำร่วมกับเรา กับอะไรที่เราเสนอแนวนโยบายให้หน่วยงานส่วนกลางมาทำให้ ซึ่งเราต้องแตกเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน” ผู้อำนวยการภาคกลางและตะวันตกกล่าว

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 66-70

เรวดี อุลิต รายงาน / ปริดา ศิริเมือง ถ่ายภาพ

เข้าชมแล้ว: 107