ความขัดแย้งระหว่างประเทศในเอเชีย

เป็นที่รับรู้กันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นไปอย่างไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าใดนัก ขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอด แม้ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง หนึ่งในวัฒนธรรมที่มีเหมือนกันของทั้งสองประเทศคือภาษามลายู และภาษาก็เป็นหนึ่งในเหตุแห่งความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นส่งผลให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อกัน เกิดอคติ และกระทบกระทั่งในโอกาสต่างๆ เสมอ โดยเฉพาะในสื่อและสังคมออนไลน์

  ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

ความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศเริ่มต้นขึ้นในปี 1957 เมื่อมาเลเซียประกาศเอกราช แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติสามารถสืบย้อนไปได้ไกลกว่านั้นตั้งแต่ก่อนหน้าที่ทั้งสองประเทศจะเป็นเอกราช อย่างน้อยที่สุดที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีวิจายา (หรือศรีวิชัย) ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 จนถึงอาณาจักรสมุทราปาไซ ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตามมาด้วยยุคล่าอาณานิคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของทั้งสองดินแดนดำเนินมาตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยมีสายสัมพันธ์ทางเชื้อชาติและภาษามลายูเป็นตัวร้อยรัดที่สำคัญ ในปัจจุบัน มีคนที่มีเชื้อสายจากกลุ่มคนในประเทศอินโดนีเซียตั้งรกรากในมาเลเซียจำนวนมาก เช่น คนที่มีเชื้อสายชวาตั้งรกรากบริเวณชายฝั่งตะวันตกของยะโฮร์ เซอลังงอร์ และเปรัค  ชาวบูกิสอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณชายฝั่งตะวันออกของยะโฮร์ ปาหัง และตรังกานู คนจากอาเจะห์ตั้งรกรากที่เกาะปีนัง เคดาห์ และเปรัค เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1967 และมีความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่หลายด้าน ในความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจจำนวนมาก มีการลงทุนโดยนักธุรกิจมาเลเซียในประเทศอินโดนีเซีย เช่น อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ในขณะที่แรงงานจากอินโดนีเซียก็เข้าไปทำงานในภาคธุรกิจแรงงานในประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก เช่น แม่บ้าน งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ประมง เป็นต้น ในด้านการศึกษา ทั้งสองประเทศมีการส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำทุกปี

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่ได้ราบรื่นโดยตลอด แต่มีช่วงที่ความสัมพันธ์เกิดสะดุดและเกิดความขัดแย้งเป็นระยะๆ โดยความขัดแย้งของทั้งสองประเทศมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่หลังจากมาเลเซียประกาศเอกราชได้ไม่นาน กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ต้นยุคทศวรรษ 1960 เมื่อมาเลเซียต้องการผนวกดินแดนบริเวณซาวักและซาบาห์บนเกาะบอร์เนียว (ตามการเรียกของมาเลเซีย) หรือเกาะกาลิมันตัน (ตามการเรียกของอินโดนีเซีย) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง นำไปสู่การประกาศนโยบายเผชิญหน้า (Konfrontasi) กับมาเลเซียระหว่างปี 1963-1965 โดยประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งอินโดนีเซียในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ ซูการ์โนซึ่งชูนโยบายชาตินิยมเข้มข้นมองว่า การรวมดินแดนซาราวักและซาบาห์เข้ากับสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศอินโดนีเซีย และมองว่าอังกฤษอยู่เบื้องหลังเรื่องดังกล่าว ส่วนมาเลเซียเป็นเพียงหุ่นเชิดของอังกฤษเท่านั้น เนื่องจากอังกฤษต้องการคงอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคนี้ต่อไป และในปี 1965 มาเลเซียได้รับการรับรองเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีซูการ์โนได้คัดค้านอย่างหนัก แต่เมื่อการคัดค้านไม่เป็นผล อินโดนีเซียจึงประกาศถอนตัวออกจากองค์การสหประชาชาติ

หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในอินโดนีเซียจากซูการ์โนมาเป็นซูฮาร์โตในปี 1966 ท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศก็เปลี่ยนไปสู่การประนีประนอมกันมากขึ้น จนสามารถร่วมกันเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งอาเซียนได้ในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนขึ้นในปี 1969 ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะซีปาดัน (Sipadan) และ ลีกิตตัน (Ligitan) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ในน่านน้ำใกล้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลของรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียต่างอ้างความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนดังกล่าว ข้อพิพาทนี้ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่าสามทศวรรษ จนกระทั่งในปี 1997 คู่กรณีทั้งสองเห็นพ้องต้องกันที่จะนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้พิจารณา เนื่องจากว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงและจัดการปัญหาดังกล่าวแบบทวิภาคีได้ และในปี 2002 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินว่าหมู่เกาะซีปาดันและลีกิตตันอยู่ในดินแดนประเทศมาเลเซีย

นอกจากความขัดแย้งทางเขตแดนแล้ว ทั้งสองประเทศยังเกิดความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ท่ารำ ผ้าบาติก กริช เรินดัง (อาหาร) อังกะลุง และกาเมอลัน (เครื่องดนตรี) เป็นต้น

 การช่วงชิงความเป็น ‘เจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู’

 

ในปี 2007 เกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศเรื่องการอ้างความเป็นเจ้าของเพลง ‘ราซา ซายัง-ซายังเงอ’ (Rasa Sayang-Sayange) เมื่อประเทศมาเลเซียใช้เพลงนี้ประกอบคลิปโฆษณาท่องเที่ยวมาเลเซียซึ่งเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2007 รัฐมนตรีท่องเที่ยวของมาเลเซียกล่าวว่าเพลง ‘ราซา ซายัง-ซายังเงอ’ เป็นเพลงของคาบสมุทรมลายู ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาลูกู (Maluku) ประเทศอินโดนีเซีย ก็อ้างว่าเพลงดังกล่าวเป็นของประเทศอินโดนีเซีย เพราะเป็นเพลงพื้นบ้านที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของจังหวัดมาลูกูมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การอ้างสิทธิ์เหนือเพลงนี้ของมาเลเซียจึงเป็นเพียงการอ้างลอยๆ ขณะที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวของมาเลเซียโต้กลับว่า ชาวอินโดนีเซียไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเพลง ‘ราซา ซายัง-ซายังเงอ’ เป็นเพลงพื้นบ้านของอินโดนีเซียจริงๆ

นอกจากเรื่องเพลงแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง ทั้งสองประเทศยังทะเลาะกันเรื่องว่าใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมการใช้กริช โดยนักการเมืองมาเลเซียคนหนึ่งได้ถือกริชไปงานประชุมประจำปีของพรรค UMNO และประกาศว่ากริชเป็นวัฒนธรรมของมาเลเซีย จนก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวอินโดนีเซีย และทั้งสองประเทศต่างประกาศว่าผ้าบาติก วายังกูลิต (การเชิดหนังตะลุง) และอาหารที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วโลกที่ชื่อ ‘เรินดัง’ เป็นวัฒนธรรมของประเทศตนเอง

ปี 2009 เกิดข้อพิพาทอีกครั้งเมื่อ Discovery Channel นำเสนอสารคดีท่องเที่ยวชื่อ ‘Enigmatic Malaysia’ โดยในตัวอย่างสารคดีมีภาพการฟ้อนรำที่เรียกว่า ‘ตารี เป็นเด็ต’ (Tari Pendet) ซึ่งเป็นการรำอวยพรของบาหลี ส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียลุกขึ้นมาเดินขบวนประท้วงที่สวนวัฒนธรรมเดนปาซาร์ เกาะบาหลี ข่าวนี้ถูกนำเสนอในสื่อของอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ส่งจดหมายประท้วงไปยังมาเลเซีย ซึ่งต่อมา รัฐบาลมาเลเซียได้กล่าวขอโทษและโบ้ยว่าเป็นความผิดของ Discovery-Asia Pacific ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสารคดีดังกล่าว

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของเครื่องดนตรี ‘อังกะลุง’ และ ‘กาเมอลัน’ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้บรรจุกาเมอลันเป็นมรดกแห่งชาติตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่อินโดนีเซียทำการประท้วงและอ้างว่า ทางองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้รับรองว่ากาเมอลันเป็นมรดกวัฒนธรรมของอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 20004 แล้ว ต่อมาในปี 2010 มาเลเซียอ้างว่ารัฐยะโฮร์เป็นแหล่งกำเนิดเครื่องดนตรีอังกะลุง ในขณะที่อินโดนีเซียยืนยันว่าอังกะลุงถือกำเนิดที่เมืองบันดุงของชาวซุนดา หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของอินโดนีเซีย

แม้กระทั่งเพลงชาติของมาเลเซียที่ชื่อว่า ‘เนอการากู’ (Negaraku) ซึ่งมีหมายความว่า ‘ประเทศของฉัน’ ก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในปี 2009 เมื่ออินโดนีเซียอ้างว่ามาเลเซียได้ดัดแปลงจากเพลงของอินโดนีเซียที่ชื่อว่า ‘เตอรัง บูลัน’ (Terang Bulan) ที่แปลว่า ‘จันทร์กระจ่าง’ โดยอินโดนีเซียอ้างว่า ทำนองเพลง ‘เนอการากู’ เหมือนกับทำนองเพลง ‘เตอรัง บูลัน’ ซึ่งประพันธ์โดยไซฟุล บะฮ์รี (Saiful Bahri) อดีตหัวหน้าวงออร์เคสตราจาการ์ตา ภายใต้สถานีวิทยุสาธารณรัฐอินโดนีเซียและเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1956 ก่อนหน้าที่มาเลเซียจะประกาศเอกราชในปี 1957 ขณะที่ทางมาเลเซียอ้างหลักฐานว่าเพลง ‘เนอการากู’ มาจากเพลงของรัฐเปรัค ซึ่งรับอิทธิพลทำนองมาจากเพลง ‘La Rosalie’ ของฝรั่งเศส และยังกล่าวอีกว่าเพลง ‘เตอรัง บูลัน’ ก็เอาทำนองมาจากเพลง ‘La Rosalie’ เช่นเดียวกัน การที่อินโดนีเซียอ้างว่ามาเลเซียลอกเพลงจากอินโดนีเซียจึงไม่สมเหตุสมผล

ข้อพิพาทของทั้งสองประเทศปะทุขึ้นอีกในปี 2012 เมื่อเว็บไซด์ Bernama ของมาเลเซียรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียจะขึ้นทะเบียนระบำ ‘ตอร์-ตอร์’ (Tor-tor) และ ‘กอร์ดัง ซัมบิลัน’ (Gordang Sambilan) เป็นมรดกแห่งชาติ นำไปสู่การมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวอินโดนีเซีย โดยระบำทั้งสองแบบเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์มันไดลิง (Mandailing) ซึ่งปัจจุบัน อาศัยอยู่ทั้งที่บริเวณทางเหนือของเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) และในประเทศมาเลเซีย เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่ากลุ่มชาติพันธุ์มันไดลิงมีการตั้งถิ่นฐานในดินแดนดังกล่าวและมีการเผยแพร่วัฒนธรรมตั้งแต่ราวปี 1800 ก่อนหน้าที่จะเกิดประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเสียด้วยซ้ำ ต่อมา ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2018 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ระบำ ‘ตอร์-ตอร์’ และ ‘กอร์ดัง ซัมบิลัน’ ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดอันอลังการเพื่อเป็นการเน้นย้ำว่า นี่คือวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย

ท่ามกลางความขัดแย้งและการโต้ตอบกันไปมาอย่างเผ็ดร้อนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ชาวอินโดนีเซียได้เรียกชื่อประเทศมาเลเซียอย่างล้อเลียนว่า ‘มาลิงเซีย’ (Malingsia) แทนคำว่า Malaysia โดยคำว่า ‘maling’ ในภาษามลายูหมายถึง ‘หัวขโมย’ เป็นการจิกกัดของชาวอินโดนีเซียที่มองว่ามาเลเซียเป็นหัวขโมย ชอบขี้ตู่ทึกทักเอาวัฒนธรรมของอินโดนีเซียไปเป็นของตน มีการเอาคำว่า ‘Malingsia’ ไปใช้ในสื่อออนไลน์และนำไปพิมพ์สกรีนบนเสื้อยืดล้อเลียนคำขวัญการท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซียจาก “Visit Malaysia” เป็น “Visit Malingsia”

ดังที่กล่าวในตอนต้นว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่ได้มีแต่ความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว การที่ทั้งสองประเทศยอมรับกติกาและคำตัดสินของศาลโลกก็ถือว่าเป็นการแก้ไขข้อพิพาทที่ดี และในเดือนเมษายน ปี 2011 มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ Kerinci ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศมาเลเซียกับรัฐบาลท้องถิ่นอำเภอ Kerinci จังหวัด Jambi บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายหวังว่า การสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแน่นแฟ้นขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันเป็นเรื่องปกติ การอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกันก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมหลายอย่างร่วมกัน ผ่านทางการติดต่อไปมาหาสู่ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คน และการเผยแพร่วัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนการเข้ามาของอาณานิคม เมื่อรัฐชาติของทั้งสองถือกำเนิดขึ้น แนวคิดเรื่อง ‘วัฒนธรรมแห่งชาติ’ และ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ จึงนำไปสู่ความต้องการอ้างความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมดังกล่าว และการที่ทั้งสองประเทศใช้ภาษามลายูเหมือนกัน ในด้านหนึ่งทำให้ทั้งสองประเทศเข้าใจภาษาของกันและกันได้อย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการใช้ภาษามลายูเช่นเดียวกัน และการโต้เถียงโต้แย้งระหว่างกันก็ยิ่งสร้างความเจ็บปวดโกรธแค้นได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถจิกกัดด้วยภาษาซึ่งเข้าใจกันได้อย่างดีนั่นเอง

Related Posts

  • 'ทหาร' กับ 'การพัฒนาประชาธิปไตย' เป็นไปได้ไหม? : บทเรียนจากอินโดนีเซีย

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนเรื่องทหารกับการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียผ่านสามช่วงเวลา พร้อมทั้งตอบคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ

  • ชวนผู้อ่านตอบแบบสอบถาม ประเมินผลงาน The101.world

    101 ขอเชิญผู้อ่านร่วมบอกเล่าความคาดหวังและให้คำแนะนำทีมงานเกี่ยวกับผลงานในช่วง 2 ปีแรกของ The101.world และก้าวต่อไปในอนาคต เพื่อพัฒนาสื่อของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อ่านและสังคม

  • จับตา ASEAN Summit: RCEP ท่ามกลางสงครามการค้า

    ปิติ ศรีแสงนาม ชวนมองประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะนำไปสู่เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายอยู่มาก

  • การเมืองเรื่องยุบพรรค : ย้อนดูการยุบพรรคการเมืองของอินโดนีเซีย

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย ผ่านเรื่องการ 'ยุบพรรค' การเมืองในสามยุค

  • Multiconceptual World กับความเสี่ยงระดับโลก

    คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชาเขียนถึง Multiconceptual World หรือวิธีการมองโลกที่แตกต่างกันของคนในโลก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงครั้งใหญ่ของมวลมนุษย์

  • 'ทหาร' กับ 'การพัฒนาประชาธิปไตย' เป็นไปได้ไหม? : บทเรียนจากอินโดนีเซีย

    อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนเรื่องทหารกับการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียผ่านสามช่วงเวลา พร้อมทั้งตอบคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ

วัฒนธรรมมลายู การเมืองอินโดนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ภาษามลายู

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

ความขัดแย้งระหว่างประเทศในเอเชีย
ความขัดแย้งระหว่างประเทศในเอเชีย

เรื่อง: อรอนงค์ ทิพย์พิมล

อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนและสนใจประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ภาษาอินโดนีเซีย ขบวนการฝ่ายซ้าย การพัฒนาประชาธิปไตย และอิสลามกับการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้