การจัดการสุขภาพชุมชนและอนามัย สิ่งแวดล้อม

คือ การพยาบาลสาขาหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสุขภาพของชุมชน โดยนำความรู้ทางการพยาบาลศาสตร์ การสาธารณสุขศาสตร์ สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ฯลฯ มาใช้ในการปฏิบัตินำกระบวนการพยาบาล หรือกระบวนการแก้ปัญหามาใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับชุมชน และบุคคลากรอื่นในทีมสุขภาพ ในทุกขั้นตอนการวางแผนและดำเนินการด้านบริการเหมาะสมกับภาวะสุขภาพและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนโดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          การพยาบาลอนามัยชุมชน เป็นการดูแลสุขภาพของบุคคล ครอบครัวและชุมชนในเขตที่รับผิดชอบ ดูแลทั้งผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ที่ไม่เจ็บป่วย ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงโรคและผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วย ทั้งเรื้อรังและเฉียบพลัน โดยผสมผสานบริการครบถ้วนทั้ง 4 มิติ คือ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาโรค และการฟื้นฟูสภาพ ขจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของโรค และปัญหาสุขภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพิ่มศักยภาพและความสามารถดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพดี ลดการป่วย การตาย ความพิการจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีวิธีป้องกันได้ (ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ,2549:2)

          สถานที่ปฏิบัติงานของพยาบาลอนามัยชุมชน มีทั้งในสถานบริการและนอกสถานบริการทางสุขภาพดังนี้

          การปฏิบัติงานในสถานบริการ แก่ผู้มารับบริการเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล ได้แก่ ในคลินิกผู้ป่วยนอก คลินิกตรวจรักษาโรคเบื้องต้น คลินิกตรวจสุขภาพเด็กดี คลินิกวางแผนครอบครัว คลินิกตรวจก่อนคลอดและคลินิกตรวจหลังคลอด เป็นงานบริการด้านส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ส่งเสริมสขภาพจิต และส่งเสริมพัฒนาการ บริการด้านป้องกันโรคที่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงการให้สุขศึกษาและการให้คำปรึกษา การตรวจคัดกรองผู้ป่วย การรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อ

          การปฏิบัติงานนอกสถานบริการ ได้แก่ การดูแลสุขภาพแก่กลุ่มบุคคลในโรงงานโรงเรียน ในชุมชนสถานรับเลี้ยงเด็กวัยก่อนเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานพักฟื้น การเยี่ยมครอบครัวและผู้ป่วยตามบ้าน การตรวจคัดกรองโรค การรักษาขั้นต้นและส่งต่อ การป้องกันโรคส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต รณรงค์ให้วัคซีน การให้สุขศึกษา การให้คำแนะนำ ปรึกษาและบริการฟื้นฟูสภาพที่บ้านแก่ผู้ป่วยที่กลับจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ( ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ,2549:3 )

บทบาทหน้าที่ของพยาบาลในงานอนามัยชุมชน

          การพยาบาลอนามัยชุมชน การพยาบาลสาธารณสุข การพยาบาลชุมชน หรือการพยาบาลสาธารณสุขมีความหมายเดียวกัน ต้องนำศาสตร์ทางการพยาบาล วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ การสาธารณสุข สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ฯลฯ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย สถานที่ปฏิบัติงานไม่จำกัด ว่าต้องปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพ หรือนอกสถานบริการสุขภาพ หรือในชุมชน บริการในสถานบริการสุขภาพ พยาบาลอนามัยชุมชนทำงานแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งจะกล่าวถึงในเรื่องหน้าที่ของพยาบาลอนามัยชุมชน

          คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลอนามัยชุมชน พยาบาลวิชาชีพ ทุกคนสามารถปฏิบัติงานพยาบาลอนามัยชุมชนได้ พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการศึกษาเฉพาะทางด้านการพยาบาลสาธารณสุขเพิ่มเติมหลังจากจบหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพ และศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน หรือพยาบาลสาธารณสุขสามารถรับผิดชอบงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นผู้บริหาร นิเทศงาน วางแผนงาน ควบคุมกำกับ ประเมินผลงาน ในระดับอำเภอ จังหวัด ระดับประเทศเป็นผู้นำทางการพยาบาลอนามัยชุมชน ผู้ชำนาญการ นักวิจัย นักวิชาการ ทำหน้าที่สอน ฝึกอบรม เป็นต้น

          ลักษณะการปฏิบัติงานด้านการพยาบาลอนามัยชุมชน


1.       เป็นบริการเพื่อสุขภาพ บริการพยาบาลอนามัยชุมชนเป็นบริการเพื่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ในประเทศไทยเป็นบริการที่จ่ายโดยรัฐหรือองค์กรอาสาสมัคร ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ให้คำแนะนำให้การพยาบาลที่บ้าน การตรวจร่างกาย ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนอาจเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าตรวจทางห้องปฏิบัติ เอกซ์เรย์ ค่ายาหรือวัคซีน เฉพาะในส่วนที่รัฐไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้


2.       เป็นการดูแลต่อเนื่อง แบบองค์รวม และผสมผสาน ให้การดูแลสุขภาพของบุคคล ครอบครัวและชุมชนในเขตที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องตามภาวะสุขภาพและอายุ คำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกด้านรวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิต โดยผสมผสานบริการครบถ้วนทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคที่เป็นงานหลักและการรักษาโรค การฟื้นฟูสุขภาพ ขจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของโรค และปัญหาสุขภาพ


3.       เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือของชุมชน เพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อให้มีสุขภาพดีลดการป่วย การตาย ความพิการที่ป้องกันได้ การเสริมความเข้มแข็งทางสุขภาพให้ชุมชน (Empowerment) พยาบาลทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา (consultant)ให้ความรู้เพิ่มขีดความสามารถ (Enabling) ให้ความช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) แนะนำแหล่งประโยชน์อำนวยความสะดวก(Facilitating) เป็นปากเป็นเสียงและให้การสนับสนุน (supporting) รวมทั้งร่วมปฏิบัติงานที่ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการ(collaborating)


4.       ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดกับคนส่วนใหญ่และกลุ่มเสี่ยงก่อน ในการลำดับความสำคัญของการบริการ พยาบาลอนามัยชุมชนต้องการบริการปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ก่อน และมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการตามแก้ปัญหาท่เกิดขึ้นแล้ว(ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ,2549:9)


มาตรฐานการพยาบาลอนามัยชุมชน

             สมาคมพยาบาลอเมริกา (American Association, 1986) กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานพยาบาลอนามัยชุมชน ด้านต่างๆสรุปได้ดังนี้


1.       ด้านทฤษฏี พยาบาลอนามัยชุมชนต้องนำแนวคิด ทฤษฏีทางการพยาบาลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน


2.       ด้านการรวบรวมข้อมูล ต้องมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับบริการอย่างมีระบบ ครบถ้วนถูกต้อง ใช้ได้สะดวก


3.       ด้านการวินิจฉัยทางการพยาบาลต้องได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมไว้เกี่ยวกับภาวะสุขภาพของชุมชน ครอบครัวและบุคคล


4.       ด้านการวางแผนป้องกันทุกระดับ จากการวินิจฉัยทางการพยาบาล พยาบาลต้องวางแผนการปฏิบัติการพยาบาลที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับบริการ ระบุแนวทางที่ชัดเจนที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย(ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ, 2549 : 10)

5.       ด้านกิจกรรมบริการ ปฏิบัติการพยาบาลตามแผนเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพโดยให้ผู้รับบริการหรือชุมชนมีส่วนร่วม

6.       ด้านการประเมินผล ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและประเมินผลร่วมกันระหว่างผู้รับบริการและพยาบาลเกี่ยวกับความก้าวหน้า และผลที่จะได้รับทางสุขภาพอนามัยของผู้รับบริการ

7.       ด้านการประกันคุณภาพและพัฒนาวิชาชีพ

8.       ด้านการร่วมงานในระหว่างทีมสุขภาพบุคคลากรอื่นๆในกระบวนการทำงานเพื่อสุขภาพชุมชน

9.       ด้านการวิจัย 


แนวทางปฏิบัติงานด้านการพยาบาลอนามัยชุมชน

1.       ใช้กระบวนการแก้ปัญหา หรือกระบวนการพยาบาล


2.       ให้ความสำคัญปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ก่อน


3.       พัฒนาศักยภาพในการช่วยตนเองครอบครัวและชุมชนได้


4.       ประชาชนเป็นคนสำคัญที่สุดในการตัดสินใจแก้ปัญหาของตนเอง ครอบครัวและชุมชน


5.       การดูแลต่อเนื่อง


6.       ดูแลทุกคนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง(ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ,2549:14)


หน้าที่ของพยาบาลอนามัยชุมชน

1.      หน้าที่ด้านบริการพยาบาลอนามัยชุมชน ให้บริการชุมชนตามขอบเขตความรับผิดชอบลักษณะบริการเป็นบริการครบถ้วน(comprehensive care) ผสมผสานและต่อเนื่อง( Integrative care )

ผสมผสานบริการ 4 ด้าน เน้นการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค


1.1บริการด้านการรักษา


1.2บริการด้านการป้องกันโรคและปัญหาสุขภาพ


1.3บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ


1.4บริการด้านการฟื้นฟูสุขภาพ


2.       ด้านการบริหารจัดการ พยาบาลอนามัยชุมชนเป็นผู้บริหารงานจัดการที่ดีในงานส่วนที่รับผิดชอบเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างราบรื่นอย่างประหยัดกำลังคน เวลา และงบประมาณ ได้แก่การประสานงาน การควบคุมกำกับ การนิเทศงาน การประเมินผลงานการประสานงานที่ดีจะทำให้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ร่วมงานและประชาชน


2.1   ในการบริหารงานด้านพยาบาลเป็นผู้วางแผนงาน จำเป็นต้องทราบนโยบายของหน่วยงานเพื่อวางแผนดำเนินงานได้สอดคล้องกัน


2.2   จัดระบบงาน กำลังคน จัดทรัพยากรจังบประมาณ หาแหล่งประโยชน์ เตรียมให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานได้


2.3   ติดต่อประสานงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรตรวจ ควบคุมงาน นิเทศน์งาน ให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ เสร็จตามกำหนดเวลา


2.4   ประเมินผลงาน และแก้ไขข้อบกพร่อง ปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับการดำเนินงานขั้นต่อไป


3.       ด้านวิชาการ


3.1   การวิจัย มีส่วนร่วมในการวิจัย หรือทำการวิจัยเพื่อให้ได้ความรู้ใหม่เพื่อพัฒนาการพยาบาล การบริการด้านสุขภาพ การสาธารณสุข ฯลฯ


3.2   การฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลากรสุขภาพ นักเรียน นักศึกษา อาสาสมัคร สาธารณสุขของชุมชนประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้นำชุมชนหรือผู้ที่ประชาชนเชื่อถือมาปรึกษาเมื่อมีปัญหาสุขภาพ

บทบาทของพยาบาลอนามัยชุมชน มีดังนี้

1.       เป็นผู้บริการด้านสุขภาพ (Health care provider) ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ไม่ป่วยจึงเป็นการให้บริการ แบบครบถ้วนผสมผสานทั้งด้านการรักษา การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสภาพ แก่ ครอบครัว กลุ่มคน และชุมชน ทั้งในชุมชน ตามบ้าน โรงเรียน โรงงาน และในแผนกผู้ป่วยนอกของสถานบริการสาธารณสุข โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นสำคัญ


2.       เป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ( Health educator ) พยาบาลอนามัยชุมชนต้องมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องการให้สุขศึกษาในรูปแบบต่างๆให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด


3.       เป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ ( Advocator ) ทำให้ประชาชนได้มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิต่างๆของตนเองในด้านสุขภาพตามหลักสิทธิผู้ป่วย 


4.       เป็นผู้บริหารจัดการ (Manager)ให้การดำเนินงานต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น การจัดวางกำลังคน จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เวชภัณฑ์พร้อมพอเพียงในการดำเนินงาน การประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์กับทุกฝ่าย


5.       เป็นผู้ให้คำปรึกษา(Counselor) พยาบาลเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหากับทุกฝ่ายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งให้คำปรึกษาทางสุขภาพกับทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นๆด้วย เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข เป็นต้น


6.       เป็นผู้วิจัย (Researcher) การทำวิจัยหรือร่วมวิจัยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลให้มีความกก้าวหน้า เพื่อปรับปรุงการพยาบาลอนามัยชุมชนให้เป็นที่ยอมรับและเกิดประดยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนผู้รับบริการ


7.       เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Chang agent) เป็นผู้กระตุ้นหรือทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องจากพยาบาลเป็นผู้ทราบสถานะความเป็นอยู่ของชุมชน ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ทราบว่าชุมชนไม่ค่อยมีผู้สนใจออกกำลังกายจึงเป็นผู้จัดริเริ่มให้ชุมชนออกกำลังกายขึ้น


8.       เป็นผู้นำ (Leader) การมีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ พยาบาลเป็นผู้ที่ชุมชนเชื่อถือเป็นผู้นำในด้านสุขภาพที่ช่วยชี้แนะแนวทางให้ชุมชนในการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ของชุมชนเพื่อส่งเสริมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพชุมชน ครอบครัวหรือบุคคล


9.       เป็นผู้ประสานงาน (Co- ordinator) การพยาบาลอนามัยชุมชนเป็นงานที่ต้องประสานงานทุกระดับ ทั้งผู้ที่อยุในระดับที่ต่ำกว่า สูงกว่าหรือระดับเดียวกัน เพราะจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งทีมสหสาขาวิชาชีพและนอกทีมสหสาขา เช่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครุอาจารย์ เป็นต้น


10.   เป็นผู้ให้ความร่วมมือ (Collaborator) กับทุกฝ่ายที่จาช่วยกันพัฒนาชุมชน เช่น ทางการศึกษา ทางฝ่ายการเมือง การปกครอง เป็นต้น


พยาบาลอนามัยชุมชนแต่ละหน่วยงานอาจมีบทบาทที่เน้นหนักแตกต่างกันบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยุ่กับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน

          บทบาทหน้าที่ของพยบาลอนามัยชุมชนในระบบสุขภาพใหม่


          ปัจจุบันระบบสุขภาพอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน มีการพัฒนาระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ พยาบาลอนามัยชุมชนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนจากเดมที่มีบทบาทหน้าที่ให้บริการเชิงรุกบริการด้านการป้องกันโรคส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพผู้พิการชั่วคราวหรือเรื้อรัง มีการให้บริการตามบ้าน บริการในชุมชน ในโรงเรียน ในคลีนิกป้องกันโรคส่งเสริมสุขภาพ เช่น คลีนิกตรวจสุขภาพเด็กดี  คลีนิกตรวจและรับฝากครรภ์ ตรวจและดูแลหลังคลอด บริการวางแผนครอบครัว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง  พยาบาลจำเป็นต้องมีการปรับบทบาทให้สามารถเพิ่มการพัฒนาศักยภาพของชุมชน อย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับความสำคัญและมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อลดปัญหาของสุขภาพให้เห็นผลชัดเจน ประชาชนยอมรับลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของประชาชนและงบประมาณของประเทศ โดยรวม (ไพเราะ ผ่องโชค และคณะ,2549:21)


          งานรักษาเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเพียงการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน คัดกรองโรคและส่งต่อแพทย์ เมื่อมีการพัฒนาระบบสุขภาพแนวใหม่พยาบาลอนามัยชุมชนต้องให้ บริการที่เรียกว่า ใกล้บ้าน ใกล้ใจ คือ บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อถือยอมรับ และพอใของผ็ใช้บริการ เพื่อให้มารับบริการที่สถานบริการปฐมภูมิคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก่อน ไม่ข้ามขั้นไปรับบริการที่สถานพยาบาลตติยภูมิ เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายลดความแออัดได้อีกส่วนหนึ่ง


          พยาบาลที่จะให้บริการด้านการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่นต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง(การรักษาโรคเบื้องต้น) เป็นต้น


          คุณสมบัติที่เหมาะสมของพยาบาลที่จะปฏิบัติงานอนามัยชุมชนได้


1.       ด้านความรู้ จำเป็นที่ต้องมีคุณสมบัติด้านความรู้และทักษะด้านการพยาบาลสาขาต่างๆ ได้แก่ การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เด็ก สูตินรีเวช จิตเวช และสุขภาพจิต การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคเบื้องต้นผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทั่วไปและเฉิน และนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพยาบาลอนามัยชุมชน มีความรู้ด้านการสารณสุข เช่น การอนามัยสิ่งแวดล้อม  วิทยาการระบาด การป้องกันโรค และการควบคุมโรค การอาชีวอนามัย ชีวสถิติ โภชนาการชุมชน  สุขศึกษาชุมชน  ความรู้ในสาขาเฉพาะพยาบาลที่ปฏิบัติงาน เช่น พยาบาลอาชีวอนามัย พยาบาลสังกัดศูนย์วัณโรค ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเพิ่มจากพยาบาลวิชาชีพทั่วไป ความรู้ด้านสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อการเข้าถึงประชาชน ได้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้น ช่วยชี้แนะแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหา สามารถให้สุขศึกษาให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้คำปรึกษาแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม สามารถปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรหลายฝ่าย รวมทั้งประชาชนที่ระดับพื้นฐานความรู้และสังคมต่างกัน


2.       ทักษะด้านการสื่อสาร นอกจากความรู้ดังกล่าว พยาบาลต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นด้านการสื่อสาร ทั้งการพูด และการเขียน ( Verbal communication ) และการแสดงท่าที ( Non - Verbal communication ) เพราะในการทำงานต้องมีการสื่อสารมากให้เข้าใจตรงกันมากที่สุด ทั้งการพูด ฟัง อ่าน เขียน สอน ถ้าการสื่อสารไม่ดีจะเป็นอุปสรรคในการสื่อสารมาก


3.       ทักษะการเป็นผู้นำ กรทำงานต้องมีการบริหารจัดการ การตัดสินใจ การประสานงานพยาบาลทุกคนได้เรียนรู้วิธีการมาแล้ว ในการพยาบาลพื้นฐาน เมื่อปฏิบัติงานอนามัยชุมชนต้องนำทักษะนี้มาใช้มากขึ้นเพราะมีการทำงานร่วมกับประชาชนและผู้ร่วมงานที่อยู่ในระดับรองลงมา


4.       ศึกษาหาความรู้ต่อเนื่อง เนื่องจากวิทยาการทางการพยาบาล การแพทย์ การสาธารณสุข มีความก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว และสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาพปัญหามีการเปลี่นแปลง วิธีการแก้ไขปัญหาต้องพัฒนาอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานด้านนี้จำเป็นต้องศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ของตนเองตลอดเวลาเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนและดำเนินงานซึ่งจะมีผลสูงสุดต่อชุมชนที่รับผิดชอบ