เงินสงเคราะห์บุตร 2565 ประกันสังคม

คุณแม่ที่มีสิทธิประกันสังคม รู้กันหรือไม่ว่า เราสามารถขอรับผลประโยชน์ตอบทดแทนกรณีคลอดบุตร และสงเคราะห์บุตรกันได้ด้วยนะ แต่คุณแม่จะสามารถขอรับสิทธิได้ยังไง และเบิกได้เท่าไหร่ วันนี้เอนฟารวบรวมข้อมูลมาแบ่งปันคุณแม่กันค่ะ

Show

เลือกอ่านตามหัวข้อ

• สิทธิประโยชน์ ค่าคลอดบุตรประกันสังคม
• สิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม “กรณีสงเคราะห์บุตร”
• สิทธิประกันสังคม กรณีลาคลอด
• ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่
• เงินอุดหนุนบุตร
• ไขข้อข้องใจเรื่องสิทธิประกันสังคมของพ่อแม่กับ Enfa Smart Club

สิทธิประโยชน์ - ค่าคลอดบุตรประกันสังคม


หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ - ค่าคลอดบุตรประกันสังคม

  • การเบิกสิทธิประกันสังคม กรณีคลอดบุตร คุณแม่ที่มีสิทธิ์ในการเบิก จะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือน ก่อนการคลอดบุตร โดยประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายในกรณีคลอดบุตร ในอัตรา 15,000 บาท
  • คุณแม่มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน ในกรณีใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
  • หากคุณแม่ และคุณพ่อ เป็นผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิการเบิกคลอดบุตร ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และจำนวนครั้ง

เงินสงเคราะห์บุตร 2565 ประกันสังคม
เงินสงเคราะห์บุตร 2565 ประกันสังคม

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน และการพิจารณาการสั่งจ่าย กรณีคลอดบุตร

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม) กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  • สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดมาด้วย)
  • ในกรณีที่คุณพ่อ เป็นคนขอเบิกสิทธิ กรณีคลอดบุตร ให้แนบทะเบียนสมรส หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อรับรองของผู้ยื่นคำขอ รายชื่อธนาคารที่สามารถยื่นได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
  • ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานประกันสังคมสังหวัด และสาขา ที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข
  • การพิจารณาสั่งจ่าย จะสั่งจ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีที่ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน จะจ่ายโดยการใช้เช็ค

นอกจากนี้ ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งคำสั่ง ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดทดแทน

สิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม “กรณีสงเคราะห์บุตร”


นอกจากคุณแม่ จะสามารถเบิกค่าคลอดบุตร จากประกันสังคมได้แล้ว คุณแม่ยังสามารถเบิกค่าสงเคราะห์บุตรได้อีกด้วย โดยจะต้อง

  • เป็นผู้ประกันสังคม ตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39
  • ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • ประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  • บุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแต่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01) (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม)
  • กรณีที่ที่คุณแม่เคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
  • สำเนาสูติบัตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝด) 1 ชุด ในกรณีที่คุณพ่อขอใช้สิทธิ ใช้สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แนบมาพร้อมกับสำเนาสูติบัตรของบุตร 1 ชุด
  • ในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล ให้แนบเอกสารในการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุลมาด้วย 1 ชุด
  • ในกรณีผู้ประกันตนชาวต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ 1 ชุด
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรก ซึ่งมีชื่อรับรองของผู้ยื่นคำขอ รายชื่อธนาคารที่สามารถยื่นได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
  • เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน ทุกฉบับที่เป็นสำเนาให้เซ็นรับรองความถูกต้องทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ ในกรณีที่เอกสาร หรือหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

คุณแม่ หรือคุณพ่อ สามารถยื่นเอกสารขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขา ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริวเวณกระทรวงสาธารณสุข และสามารถยื่นขอรับได้ทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน ในกรณีที่คุณแม่ หรือคุณพ่อ ต้องการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร 3 คน ในคราวเดียวกัน สามารถใช้คำขอฯ ชุดเดียวกันได้

เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ โดยสำนักงานประกันสังคมจะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา และจะพิจารณาสั่งจ่ายเป็นรายเดือน ด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีฝากธนาคารของผู้รับประโยชน์ทดแทน

หากคุณแม่ หรือคุณพ่อ มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สอบถามรายละเอียด ได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือ www.sso.go.th

สิทธิประกันสังคม กรณีลาคลอด


ตามประกาศของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2540 ระบุว่า พนักงานหญิงสามารถลาคลอดได้สูงสุด 90 วัน แต่กฎหมายล่าสุดได้เพิ่มสิทธิ์ในการลาคลอดอีกเป็น 8 วัน รวมเป็น 98 วัน โดยจะนับวันลาคลอด และนับวันที่ลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดรวมอยู่ในสิทธิ์การลาคลอด 98 วันนี้ด้วย

ในส่วนของค่าจ้างนั้นผู้ลาคลอดจะได้รับค่าจ้าง โดยนายจ้างจ่าย 45 วัน ประกันสังคมจ่าย 45 วัน ส่วนอีก 8 วันที่เหลือไม่ได้มีการระบุว่าใครจะต้องเป็นคนจ่าย ดังนั้น นายจ้างและประกันสังคมมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างในอีก 8 วันที่เพิ่มมาโดยไม่มีความผิด

อย่างไรก็ตาม จำนวนวันในการลาคลอด การลาคลอดล่วงหน้า การรับเงินชดเชยจากองค์กร หรือหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสวัสดิการอื่น ๆ อาจขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท คุณแม่จำเป็นจะต้องสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กร

ข้อกำหนดค่าสิทธิการลาคลอดของประกันสังคม

  • จ่ายค่าประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
  • ค่าสิทธิการลาคลอดใช้ได้เฉพาะฝ่ายหญิงเท่านั้น ฝ่ายชายไม่สามารถเบิกใช้ได้
  • จ่ายให้ไม่เกินฐานเงินเดือน 15,000 บาท หากเงินเดือนมากกว่ากำหนด จะคิดแค่ 15,000 บาท
  • มีสิทธิได้รับค่าคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • มีระยะเวลาจ่ายเงินให้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน นับรวมวันหยุดราชการ
  • กรณีกลับมาทำงานก่อนถึง 90 วัน คุณแม่ยังคงได้รับเงินสงเคราะห์ตามปกติ

ค่าฝากครรภ์ ประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่


ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประกันสังคมจะจ่ายค่าฝากครรภ์ให้คุณแม่โดยปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท (จากเดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท) ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
  2. อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
  3. อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
  4. อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
  5. อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

เอกสารสำหรับเบิกค่าฝากครรภ์ ประกันสังคม

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส. 2-01(สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม)
  • ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการฝากครรภ์
  • ใบรับรองแพทย์ หรือสามารถใช้สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวแม่และเด็ก ที่มีชื่อแม่ผู้ตั้งครรภ์และรายละเอียดการบันทึกตามแต่ละช่วงอายุครรภ์แทนได้
  • หากคุณพ่อเป็นคนมาเบิกให้นำสำเนาทะเบียนสมรส หรือ หนังสือรับรองผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสมาด้วย (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของประกันสังคม) และหากแม่มาเบิกหลังคุณพ่อ ควรใส่เลขประจำตัวประชาชนของคุณพ่อเพื่อป้องกันการรับสิทธิ์ซ้ำ

เงินอุดหนุนบุตร


เงินอุดหนุนบุตร หรือเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เป็นโครงการเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมีหลักเกณฑ์ในการรับเงินอุดหนุนบุตร ดังนี้

สิทธิของเด็กแรกเกิด

  • มีสัญชาติไทย (พ่อและแม่มีสัญชาติไทย พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย)

  • เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนมีอายุครบ 6 ปี

  • อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี

  • ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน

ผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน

  • มีสัญชาติไทย

  • เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ

  • เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย

  • อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี

เอกสารประกอบการลงทะเบียน ประกอบด้วย

  • แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)

  • แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)

  • บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง

  • สูติบัตรเด็กแรกเกิด

  • สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)

  • สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (ในกรณีที่สมุดสูญหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)

  • กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสาร ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)

  • สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

โดยเอกสารต่าง ๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ เอกสารประกอบการลงทะเบียน 

สถานที่สำหรับลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร

สามารถลงทะเบียนได้ในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิด และผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้

กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต

เมืองพัทยา : ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล

ไขข้อข้องใจเรื่องสิทธิประกันสังคมของพ่อแม่กับ Enfa Smart Club


 เบิกค่าคลอดประกันสังคมภายในกี่วัน?

การเบิกค่าคลอดของประกันสังคม สามารถทำได้เลยนับตั้งแต่วันที่คลอด และหากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง โดยการเบิกค่าคลอดบุตรสามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) vย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับประกันสังคมได้ที่ โทร: 1506

 เบิกค่าคลอดบุตร โอนเข้าบัญชีกี่วัน?

เมื่อดำเนินการเบิกคลอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมจะถูกโอนเข้าบัญชีภายใน 5-7 วันนับจากวันที่เอกสารได้รับการอนุมัติแล้ว อย่างไรก็ตาม สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับประกันสังคมได้ที่ โทร: 1506

 เงินค่าคลอดบุตรไม่เข้าต้องดำเนินการอย่างไร?

หากครบกำหนดแล้วเงินค่าคลอดบุตรยังไม่เข้า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมในสาขาที่สะดวก หรือโทรสอบถามที่ 1506

เงินสงเคราะห์บุตร 2565 ประกันสังคม

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

  • ที่ตรวจครรภ์ แม่นยำแค่ไหน และใช้อย่างไรให้ถูกวิธี
  • สังเกต 6 อาการคนท้องระยะเริ่มต้น ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
  • อาการแพ้ท้อง รับมืออย่างไรให้ไม่แพ้
  • มีเพศสัมพันธ์ตอนท้องได้ไหม? อันตรายหรือเปล่า?
  • อยากมีลูกต้องทำไง? อยากท้องไวๆ ต้องมาดูเคล็ดลับนี้เลย
  • ท้องลม ท้องหลอก คือท้องจริงๆ หรือว่าท้องเทียม
  • แพ้ท้องแทนเมีย เรื่องจริงหรืออุปาทานกันแน่?
  • เลือดล้างหน้าเด็ก สัญญาณแรกสู่การตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรรู้
  • อาการเจ็บเต้านม ปวดเต้านมตอนท้องแบบนี้ ปกติหรือควรระวัง?
  • ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้