วิเคราะห์ ข่าว เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ

นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้จีนเดินหน้าเปิดเศรษฐกิจประเทศต่อไป เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid Zero) ไปสู่การใช้ชีวิตแบบเป็…

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือนก.ย.65 มีมูลค่า 24,919 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดว่าจะขย…

เว็บไซต์ tdri.or.th บันทึกคุกกี้เฉพาะประเภทที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง (Strictly Necessary Cookies) ภายใต้ฐานประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย (Legitimate Interests) เพื่อการทำงานพื้นฐานของเว็บไซต์เท่านั้น

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แถลงเปิดตัว 10 นโยบาย พลิกฟื้นประเทศไทย เมื่อ 6 ธ.ค. โดยนโยบายที่เป็นที่กล่าวถึงเกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้อง

ทันทีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดตัว 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้อง 600 บาทภายในปี  2570 และจบปริญญาตรีได้เงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท พลพรรครัฐมนตรีรัฐบาล "ประยุทธ์" และกลุ่มนายจ้าง ต่างประสานเสียงคัดค้าน

ภายหลังการเปิดตัวนโยบายนี้เพียงหนึ่งวัน น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องออกมาขยายความอีกครั้งว่า การขึ้นค่าแรง 600 บาท จะเป็นการขึ้นไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่จะเติบโตพร้อมกันทั้งระบบ ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

"เราไม่ได้บอกว่าเราจะเอางบประมาณมาใช้ ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณ อันนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจภาพรวม ที่เราจะทำให้เศรษฐกิจทั้งประเทศดีขึ้น" น.ส. แพทองธาร กล่าว พร้อมย้ำถึงการประกาศว่า เพื่อไทยตั้งเป้าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 5%

เมื่อพิจารณาประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของไทยแล้ว ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบ โดยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุคของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นจาก 215 บาท ต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดในปี 2565 ก็เป็นการขึ้นค่าแรงในรอบ 2 ปีนับจากปี 2563 โดยปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท

ท่ามกลางเสียงค้าน และการต้องออกโรงชี้แจงของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คำถามที่น่าสนใจคือ ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันของไทยนั้น เหมาะสมแค่ไหน และฝ่ายวิชาการคิดกันอย่างไร กับความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นเป็น 600 บาท

101 PUB ชี้ ค่าจ้างขั้นต่ำไทยไม่เคยไล่ทันสภาพเศรษฐกิจจริง

ค่าแรงขั้นต่ำ กำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐ นายจ้าง และลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน โดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน

การคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมด้วยอัตราสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของการปรับตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราการเจริญเติบโต อัตราเงินเฟ้อ สอดคล้องกับการขึ้นค่าจ้าง 2.5–6.6% ทั้งประเทศ โดยพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มมากกว่าพื้นที่อื่น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ชี้ว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แม้ค่าจ้างขั้นต่ำไทยเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มช้ากว่าค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตร และดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคกลุ่มรายได้น้อย ยกเว้นช่วงปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ในช่วงปี 2555-2556

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ข้อมูลจากปี 2556 จนถึงปี 2565 ;

  • ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ย (Average Wage) เพิ่มขึ้น 108 บาท/วัน กลายเป็น 587 บาท/วัน
  • รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น 151 บาท/วัน เป็น 757 บาท/วัน
  • ผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19 บาท/วัน เป็น 774 บาท/วัน

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 28-54 บาท/วัน เป็น 328-354 บาท/วัน

ผลการคำนวณค่าสหสัมพันธ์ของค่าจ้างขั้นต่ำกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแต่ละตัว ชี้ด้วยว่า "เมื่อคิดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมูลค่าที่แท้จริง ด้วยการขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออก ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงทศวรรษหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจที่คิดเป็นมูลค่าที่แท้จริงจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี"

"ไม่นับปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น แนวทางการกำหนดค่าจ้างปัจจุบันจึงไม่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดีขึ้น"

ค่าจ้างขั้นต่ำเติบโตเท่าต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร ความเห็นอีกด้านจาก ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า หากเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2544-2564 หรือในช่วง 20 ปี เติบโตราว 3.6% ต่อปี ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มในช่วงเดียวกัน 3.4% ต่อปี ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นน้อยกว่า แต่ไม่ได้มากเท่าที่มีการวิเคราะห์จากนักวิชาการบางส่วน

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ มองว่า หากเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นย้อนหลังไป อาจจะได้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังห่างจากอัตราวันละ 600 บาท พอสมควร

นอกจากนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องคำนึงถึงธุรกิจรายเล็กที่รายได้เพิ่มไม่เยอะเท่าการเติบโตของจีดีพีด้วยที่อาจขึ้นค่าแรงตามไม่ไหว

ที่มาของค่าแรง 600 บาท ธุรกิจแบบไหนจะรอดหรือร่วง

แล้วตัวเลข 600 บาทมาจากไหน ดร.นณริฏ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท น่าจะใช้หลักคิดของ "ค่าจ้างเพื่อชีวิต"

หลักคิดดังกล่าว สะท้อนค่าจ้างสำหรับแรงงานที่เพียงพอในการดูแลครอบครัว คือรวมคู่สมรส และบุตรธิดาอีก 1-2 คน ซึ่ง "จัดว่าเป็นเป้าหมายในอุดมการณ์ของรัฐสวัสดิการที่ใส่ใจชีวิตของแรงงานที่ดี"

อย่างไรก็ตาม ดร.นณริฏ มองว่า หากดำเนินการในกรอบ 5 ปี ตามที่พรรคการเมืองเสนอ ต้องระวังว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศจะรองรับได้แค่ไหน เพราะการขึ้นค่าแรงใน 5 ปี แปลว่า ค่าแรงต้องเพิ่มที่ 12.7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างมากน่าจะโตเฉลี่ยราวๆ 3.7% ต่อปี

"คิดง่าย ๆ ว่ารายได้ของธุรกิจโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.7% ต่อปี แต่ค่าแรงเพิ่ม 12.7% ทำให้ธุรกิจน่าจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก"

ดร.นณริฏ ชี้ว่า ถ้าธุรกิจขึ้นค่าแรงไหว ผลที่ตามมา คือ ธุรกิจจะผลักราคาไปให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาของแพงมากขึ้น เกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อ ราคาข้าวของแพง ถ้าธุรกิจขึ้นค่าแรงไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน คนก็จะตกงาน หรือต้องยอมทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำลง ไม่ได้ 600 บาทเพื่อให้ได้งาน

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า สำหรับกรณีประเทศไทย มีทั้งธุรกิจที่อาจสู้การขึ้นค่าแรงในอัตรานี้ได้ และธุรกิจที่ "ไม่ไหว"

"กรณีของไทยคงเป็นแบบกลาง ๆ ธุรกิจที่ไหว คือธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งจ่ายค่าแรงสูงไหว รวมทั้งธุรกิจพวกแนวเศรษฐกิจโมเดิร์นตอบโจทย์วัฒนธรรมบริโภคนิยม เช่น ร้านอาหารแฟรนไชส์ ส่วนนี้แรงงานน่าจะได้ประโยชน์ดี"

"แต่ธุรกิจที่ไม่ไหวซึ่งน่าจะมีเยอะมาก เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) กลุ่มธุรกิจส่งออกที่เน้นแข่งขันที่ค่าแรง น่าจะล้มหายตายจากไปเยอะมาก เพราะผลกระทบจากโควิดยังไม่หายมาเจอต้นทุนค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้นอีก"

โดยสรุปแล้ว นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า ถ้าจะเอาตัวรอดได้ก็ต้องเติบโตให้เร็วกว่าค่าจ้างโต หรือ คิดเป็นส่วนเพิ่ม คือ ต้นทุนการเติบโตของค่าแรง 12.7% ลบอัตราเจริญเติบโตเฉลี่ย 3.7% หรือต้องโต 9.0% ต่อปี

ควรขึ้นค่าแรงอาชีพในเศรษฐกิจสมัยใหม่ กับแรงงานมีทักษะ

ดร.นณริฏ เสนอวิธีทางนโยบายที่เป็นไปได้ว่า ค่าแรงควรขึ้นสำหรับแรงงานในกลุ่มเศรษฐกิจโมเดิร์น กลุ่มที่ตอบสนองต่อวัฒนธรรมบริโภคนิยมอาจจะรวมถึงบริการที่ผูกกับภาคท่องเที่ยว เช่น สปา คนขับรถ พนักงานโรงแรมกลุ่มนี้ควรได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นโดยได้แบ่งผลตอบแทนจากผลกำไรของธุรกิจให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ค่าแรงที่เพิ่มควรจะมาพร้อมทักษะ เช่น แรงงานในภาคบริการต้องพัฒนาทักษะ เช่น งานด้าน hospitality ส่วน แรงงานอุตสาหกรรมต้องมีทักษะวิชาชีพเฉพาะที่ตอบสนองต่อธุรกิจ อาจจะพ่วงกับการฝึกอบรมทักษะที่ธุรกิจต้องการ ไม่ใช่ให้ทุกคน แต่ให้ทุกคนที่เลือกที่จะพัฒนาศักยภาพตนเอง

"ผมคิดว่าโดยรวมแล้ว การตั้งเป้าหมายให้ค่าจ้างที่สูง เช่น 600 บาท ซึ่งพอเพียงต่อการดูแลครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่ต้องคิดต่อด้วยว่าคุณค่าของตัวเองดีพอไหมที่จะได้รับค่าจ้างดังกล่าว หากแรงงานสามารถเพิ่มความสามารถของตัวเองได้ดีพอ ธุรกิจจะยินดีจ่ายค่าจ้างสูง ๆ ให้อยู่ดี"

ย้อนไปดูปฏิกิริยาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในวันที่ พท. เปิดนโยบายว่า "ต้องไปดูว่าทำได้จริงหรือเปล่า" พร้อมบอกว่า "ต้องฟังผู้ประกอบการด้วย"

เช่นเดียวกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พรรคเพื่อไทยหากจะหาเสียงอะไร ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย อย่าหาเสียงเพราะ "นึกสนุก"

"สิ่งที่พูดออกมาเหมือนการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ การหาเสียงแบบนี้เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน แต่ตัวเองได้คะแนนเสียง เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และยังกระทบนักลงทุนต่างประเทศ..." รมว. แรงงานกล่าว

ขณะเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุเมื่อ 7 ธ.ค. ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก (SMEs) หยุดหรือยกเลิกกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว และรายใหญ่อาจมีการทบทวนแผนการจ้างงาน

ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน